xs
xsm
sm
md
lg

วัดรังสีรัตนวารี (วัดป่าเชิงเลน) วัดป่ากลางกรุง สุดสงบร่มเย็น อายุกว่า 200 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Facebook :Travel @ Manager

อุโบสถของวัดป่าเชิงเลน
ไม่น่าเชื่อว่าย่านถนนจรัญสนิทวงศ์จะมีวัดที่เงียบสงบ เหมาะสำหรับการนั่งวิปัสสนาหลีกหนีความวุ่นวาย แถมยังมีความร่มรื่น ร่มเย็น เพราะถูกห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์ วัดที่ฉันพูดถึงอยู่นี้ก็คือ "วัดป่าเชิงเลน" วัดป่าใจกลางกรุงเทพฯ นั่นเอง


*** ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งชื่อใหม่เป็น "วัดรังสีรัตนวารี"

บริเวณทางเดินเท้าเข้าสู่วัด
วัดรังสีรัตนวารี (วัดป่าเชิงเลน) แห่งนี้ตั้งอยู่สุดซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ติดริมคลองชักพระ พื้นที่โดยรอบถูกโอบล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เขียวขจี จึงทำให้ที่นี่สงบร่มเย็นมากๆ อีกทั้งพื้นที่ของวัดนั้นจะไม่สามารถนำรถเข้าไปได้ หากใครต้องการจะเข้าไปในวัดก็ต้องจอดรถไว้ด้านนอก แล้วเดินเท้าเข้าไปผ่านทางเดินริมคลองเล็กๆ ประมาณ 150 เมตร ก็จะถึงทางเข้าวัดที่มีก้อนหินจำลองก้อนใหญ่ติดป้ายชื่อวัดไว้ดูสงบเรียบง่าย

ก้อนหินจำลองขนาดใหญ่ด้านหน้าทางเข้า

“ศาลาการเปรียญ”
เมื่อฉันเดินผ่านก้อนหินก่อนนั้นเข้ามา ก็เหมือนหลุดจากสังคมเมืองที่วุ่นวายมาสู่วัดป่าที่เงียบสงบ เดินมาอีกสักหน่อยจะเห็น “ศาลาการเปรียญ” อยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งภายในจะมี “พระพุทธสิริสัตตราช” เป็นพระประธานอยู่ด้านบน และยังมีรูปหล่อของหลวงปู่ครูบาอาจารย์ของที่วัดในอดีตด้วย

“พระพุทธสิริสัตตราช” (องค์ด้านหลัง)

ภายในอุโบสถ
ไม่ไกลกันนักจะเป็นที่ตั้งของ “อุโบสถ” ขนาดค่อนข้างเล็ก ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ ผนังทั้งสี่ด้านของอุโบสถเปิดโล่งรับลมเย็นๆ รอบๆ อุโบสถนี้ยังมี “เสมา” เก่าแก่ของวัดที่ขุดพบ และทางวัดก็ยังคงเหลือแนวอิฐเก่าที่เป็นฐานรากของอุโบสถหลังเก่าอยู่ด้วย

ใบเสมาเก่าที่ขุดค้นพบ

แนวอิฐเก่าที่เป็นฐานรากของโบสถ์หลังเก่า

บริเวณรอบวัดล้อมรอบด้วยคลอง
จากประวัติของวัดนี้ที่หลวงพี่รูปหนึ่งได้เล่าให้ฟังนั้นได้ความว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ ซึ่งจากการตรวจสอบอิฐและวิธีการก่อสร้างพบว่าเป็นวัดรูปแบบเดียวกับวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าวัดนี้คงมีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี และถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างมาเนิ่นนาน เพราะถูกน้ำท่วมขังบ่อยจนทรุดโทรม เนื่องจากสถานที่ตั้งของวัดล้อมรอบไปด้วยคลอง

จนในปี 2532 พระอาจารย์อุทัย (ติ๊ก) ฌานุตฺตโม พระป่าสายอีสานศิษย์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีได้ธุดงค์มาพบวัดร้างนี้โดยบังเอิญ โดยเห็นเป็นบึงกว้างใหญ่ กลางบึงเป็นต้นอ้อขึ้นสูงกว่าที่อื่น ใต้พงอ้อเป็นกองอิฐปะปนอยู่ ซึ่งเป็นซากโบสถ์นั่นเอง ท่านจึงได้บูรณะวัดนี้ขึ้นใหม่จนเสร็จสมบูรณ์ลงในปี 2533

พระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่วัด
ภายในอุโบสถนี้มีพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่วัด ซึ่งแต่เดิมมีพระพุทธรูปสามองค์ด้วยกัน แต่ถูกตัดเศียรไป และในขณะที่บูรณะวัดก็พบว่ามีคนนำเศียรพระห่อผ้าขาวมาวางทิ้งไว้ เมื่อลองประกอบดูก็พบว่าพอดีกับองค์พระที่มีอยู่ จึงได้บูรณะขึ้นใหม่ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้นเพราะอีกสององค์ที่เหลือทรุดโทรมมากแล้ว และด้านข้างมีรูปปั้น “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี” ซึ่งเป็นพระป่าของทางภาคอีสานที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือของครูบาอาจารย์ที่วัดแห่งนี้ด้วย

“หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี”

”ศาลากลางน้ำ”
หลังจากกราบพระภายในอุโบสถแล้ว ฉันก็นั่งพักชมบรรยากาศภายในวัดอยู่สักครู่หนึ่ง และรู้สึกประทับใจกับความเงียบสงบของวัดแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากศาลาการเปรียญและอุโบสถแล้ว ในวัดยังมีมุมสงบอย่าง ”ศาลากลางน้ำ” ให้ผู้ที่มาหาความสงบได้นั่งวิปัสสนากัน แต่ที่วัดนี้จะไม่มีการมาปฏิบัติธรรมแบบค้างคืนสำหรับผู้หญิง แต่สามารถมานั่งปฏิบัติธรรมแบบไป-กลับได้

“กุฏิของพระสงฆ์”
ส่วน “กุฏิของพระสงฆ์”มีการจัดแยกส่วนกันอย่างชัดเจนเป็นระเบียบ ซึ่งปัจจุบันในวัดนี้มีพระอยู่เพียง 8 รูป เท่านั้นที่คอยดูแลวัดแห่งนี้ โดยกิจวัตรประจำวันจะเริ่มตั้งแต่ ตี 3 ของทุกวัน ฉันมื้อเดียว และจะต้องทำวัตรเย็นนั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน

สำหรับใครที่กำลังคิดว่าช่วงหลังวันออกพรรษานี้ จะไปทำบุญทอดกฐินที่ไหนดี ฉันขอแนะนำให้มาเที่ยวงานกฐินที่วัดป่าเชิงเลนแห่งนี้ ในวันที่ 8 ตุลาคม 60 อิ่มใจ อิ่มบุญ แถมยังได้มาสูดอากาศบริสุทธิ์ใจกลางเมืองด้วย

วัดรังสีรัตนวารี (วัดป่าเชิงเลน) ตั้งอยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ริมคลองชักพระ แขวงคลองบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กทม. การเดินทางจากด้านถนนจรัญสนิทวงศ์ ไม่ต้องขับรถเข้ามาในซอยจรัญฯ 37 ให้ขับเลยซอยไปแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน ขับรถตรงไปประมาณ 1.8 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายตรงสะพานเข้าถนนเอราวัณปาร์ค (ทางเข้าหมู่บ้านเศรษฐสิริ) ขับตรงไปอีกประมาณ 1 กม. จะเห็นป้ายบอกทางเข้าวัดป่าเชิงเลน จอดรถตรงถนนอาราวัณปาร์ค เดินเข้าไปตามทางเดินประมาณ 150 เมตร จะถึงทางเข้าวัด สอบถามรายละเอียดโทร.0-2865-5645 ถึง 6

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น