วันหยุดสุดสัปดาห์นี้ “ตะลอนเที่ยว” ขอพาย้อนเวลาไป “ตามรอยไดโนเสาร์” กันที่แหล่งค้นพบไดโนเสาร์ที่สำคัญในภาคอีสานบ้านเรา ซึ่งในภูมิภาคนี้ในสมัยโบราณมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มน้ำขนาดใหญ่ จึงเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของไดโนเสาร์นานาพันธุ์ เมื่อพวกมันสูญพันธุ์ซากของไดโนเสาร์ก็จะถูกตะกอนแม่น้ำกลบฝังไว้จนกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์หลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้ตามรอย ถ้าพร้อมแล้วก็ไปลุยกันเลย
ตามรอยไดโนเสาร์ที่ จ.ขอนแก่น
“อุทยานแห่งชาติภูเวียง” อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ที่นี่เป็นแหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์ครั้งแรกของไทย และเป็นแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์สำคัญอีกด้วย โดยมี “หลุมขุดค้นฟอสซิลไดโนเสาร์” ทั้งหมด 9 หลุม แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม 4 หลุม ทุกหลุมจะสร้างอาคารกระจกครอบหลุมขุดค้นไว้ เพื่อเป็นการดูแลรักษาและป้องกันไม่ให้กระดูกเกิดความเสียหาย
เริ่มที่ “หลุมขุดค้นที่ 1” (ประตูตีหมา) เป็นหลุมขุดที่มีความสำคัญมาก โดยพบตั้งแต่ปี 2525 ที่นี่พบกระดูก “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” เพื่อเทิดพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่มากกว่า 20 ชิ้น และพบกระดูกหลายชิ้นของ “คอมพ์ซอกนาธัส” ไดโนเสาร์ตัวเล็กเท่าแม่ไก่
ส่วน “หลุมขุดค้นที่ 2” (ถ้ำเจีย) พบเมื่อเดือนกันยายน 2530 ที่นี่พบฟอสซิลกระดูกคอของไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) หรือไดโนเสาร์กินพืช จำนวน 6 ชิ้นวางเรียงต่อกัน ต่อมาคือ “หลุมขุดค้นที่ 3” (ห้วยประตูตีหมา) มีลักษณะเป็นอาคารห้องกระจกหลังย่อมๆ สร้างครอบซากฟอสซิลเอาไว้ (เพื่อเป็นการดูแลรักษา ป้องกันไม่ให้กระดูกเกิดความเสียหาย ) ค้นพบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 ที่นี่พบกระดูกไดโนเสาร์ส่วนกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครงขนาดใหญ่หลายชิ้น ฝังตัวอยู่ในชั้นหินทราย อายุประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว เป็นไดโนเสาร์ชนิดกินพืช (Sauropod) ภูเวียง โกซอรัส สิรินธรเน เช่นกัน
หลุมสุดท้ายคือ “หลุมขุดค้นที่ 9” (หินลาดยาว) ค้นพบเมื่อเดือนสิงหาคม 2536 ที่นี่พบกระดูกตรงส่วนสันหลังหลายชิ้นโผล่มาจากชั้นหินทรายสีแดง และก็มีกระดูกสะโพกด้านซ้าย กระดูกโคนหางกว่า 10 ชิ้น ของไดโนเสาร์กินเนื้อ (carnosaur) ซึ่งเป็นกระดูกสกุลและชนิดใหม่ของโลกที่ขุดค้นพบ มีชื่อว่า “สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส" หรือ “ไทรันสยาม” มีความยาวประมาณ 7 เมตร ลักษณะกระดูกบ่งว่าเป็นบรรพบุรุษของทีเร็กซ์
นอกจากนั้นในอุทยานแห่งชาติภูเวียง ยังมี “พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง” ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมอีกด้วย โดยภายในอาคารพิพิธภัณฑ์จะแบ่งการจัดแสดงออกเป็นหลายๆ ส่วน ส่วนแรกเป็นการบอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับจักรวาลและโลกต่อด้วยส่วนของการเล่าถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันนี้ ถัดจากนั้นมาจะเป็นส่วนของการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับหินและแร่ธาตุต่างๆ
บริเวณใจกลางห้องพิพิธภัณฑ์จะเจอกับหุ่นจำลองไดโนเสาร์ตัวใหญ่ยักษ์ (ทำจากแท่งเหล็ก) หลายตัว รวมไปถึงมีฟอสซิลไดโนเสาร์จำลอง (จากเรซิ่น) จัดแสดงอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่ขุดค้นพบที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ ที่มีการขุดค้นพบ
ส่วนต่อไปคือ “สวนไดโนเสาร์” จะเป็นการจำลองบรรยากาศของป่าดึกดำบรรพ์โลกล้านปี โดยทำเป็นทางเดินไม้ให้เดินลัดเลาะไปตามจุดต่างๆ ระหว่างทางเดินสองข้างทางก็จะมีไดโนเสาร์ที่สำรวจพบที่ภูเวียงแห่งนี้ จำลองเป็นรูปร่างเหมือนจริงให้ได้ชมกัน อย่างเช่น ไดโนเสาร์กินเนื้อไทรันสยาม, ไดโนเสาร์กินพืชภูเวียง โกซอรัส ที่ยืนคอยาวอยู่ โดยจะมีข้อมูลอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับไดโนเสาร์แต่ละตัวไว้อย่างครบครัน
ตามรอยไดโนเสาร์ที่ จ.กาฬสินธุ์
“พิพิธภัณฑ์แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว” ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่นี่มีเรื่องเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ.2513 “พระครูวิจิตรสหัสคุณ” เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ได้พบวัตถุประหลาด ซึ่งท่านคิดว่าเป็นไม้กลายเป็นหิน จึงไม่ได้ดำเนินการอะไรเพิ่มเติม กระทั่งเกือบ 10 ปีผ่านไป มีคณะนักธรณีวิทยาเดินทางมาสำรวจพื้นที่แถบนี้ถึงได้รู้ว่า ไม้กลายเป็นหินอันที่จริงมันคือ “กระดูกไดโนเสาร์” นั่นเอง และในบริเวณแห่งนี้ยังเป็นแหล่งไดโนเสาร์กินพืชจำนวนมากที่สุดในเมืองไทยเท่าที่มีการค้นพบ คือมีมากกว่า 700 ชิ้น (ข้อมูลจาก ททท.)
ด้วยความที่มีกระดูกไดโนเสาร์มากและจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลรักษา จึงมีการจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” ขึ้นที่ภูกุ้มข้าว ใกล้ๆ กับแหล่งขุดค้น เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บซากฟอสซิล สถานที่จัดแสดงด้านไดโนเสาร์ ศูนย์วิจัย รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ ที่ภายหลังการเปิดอย่างเต็มรูปแบบของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในปี พ.ศ.2550 ผู้คนต่างก็หลั่งไหลมาตามรอยไดโนเสาร์ที่กาฬสินธ์ุกันไม่ได้ขาด
“พิพิธภัณฑ์สิรินธร” เป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ เป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในแบ่งเป็นโซนต่างๆ ทั้งหมด 8 โซน เริ่มตั้งแต่ “โซน 1 จักรวาลและโลก” นำเสนอเรื่องราวตั้งแต่กำเนิดโลกและจักรวาล ปูพื้นมาสู่ “โซน 2 เมื่อชีวิตแรกปรากฏ” เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคต่างๆ
ก่อนส่งต่อเข้าสู่ “โซน 3 พาลีโอโซอิก มหายุคแห่งวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณ” เช่น หอยงวงช้าง ไทรโลไบต์ พาราดอกไซเดส เป็นต้น จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่ยุคของไดโนเสาร์ครองโลกใน “โซน 4.1 มีโซโซอิก มหายุคแห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์” ที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับไดโนเสาร์อย่างละเอียด ด้วยเทคนิคอันน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งแสง สี เสียง และหุ่นจำลอง ทั้งโครงกระดูก ซากฟอสซิล ป่าดึกดำบรรพ์ และหุ่นจำลองไดโนเสาร์เสมือนจริงที่ทำออกมาได้อย่างน่าทึ่ง
สำหรับไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์จะอยู่บริเวณโถงไดโนเสาร์ใน “โซน 4.2 ไดโนเสาร์ไทย” ที่จัดแสดงเรื่องราวของไดโนเสาร์ 8 สายพันธุ์ ที่ค้นพบในเมืองไทยอย่างละเอียดได้แก่ "อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชชิ" เป็นไดโนเสาร์กินพืชที่เก่าแก่ที่สุดในโลก, ”สเตโกซอร์” ไดโนเสาร์กินพืช มีแผ่นกระดูกขนาดใหญ่เรียงเป็นแถวอยู่บนหลัง ดูต่างจากชนิดอื่นๆ, “ฮิปซิโลโฟดอน” ไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็กของไทย
"ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน" ไดโนเสาร์ซอโรพอดชนิดแรกของไทย, "สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส" ไดโนเสาร์กินเนื้อที่เก่าแก่ที่สุดในโลก, "สยามโมซอรัส สุธีธรนี” ไดโนเสาร์ที่มีการศึกษาวิจัยชนิดแรกของไทย, "กินรีมิมัส" ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ ขนาดราว 1-2 เมตร และ "ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ" ไดโนเสาร์ปากนกแก้วชนิดแรกที่พบในไทย
ต่อไปคือ “โซน 5 วิถีชีวิตไดโนเสาร์” จะได้เห็นการใช้ชีวิตของไดโนเสาร์ เช่น การกลืนกรวดช่วยย่อยของไดโนเสาร์ซอโรพอด, การใช้หัวชนกันของไดโนเสาร์แพคคีเซฟาโลซอรัสตัวผู้ เพื่อแย่งตำแหน่งจ่าฝูง เป็นต้น โซนต่อมาคือ “โซน 6 คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์” จะได้เห็นห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการอนุรักษ์ดูแลกระดูกไดโนเสาร์ที่ค้นเจอ
จากนั้นจะเข้าสู่ “โซน 7 ซีโนโซอิก มหายุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” จะแสดงให้เห็นถึงช่วงหลังจากไดโนเสาร์สูญพันธุ์ หรือเป็นช่วง 65 ล้านปีที่ผ่านมา ที่เริ่มมีช้าง แรด ค้างคาว ลิง ฯลฯให้เห็น ก่อนวิวัฒนาการมาสู่ “โซน 8 เรื่องของมนุษย์” ในปัจจุบัน
นอกจากที่ภูกุ้มข้าวแล้ว ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ยังมีอีกไฮไลต์ของการชมรอยเท้าไดโนเสาร์อยู่ที่ “วนอุทยานภูแฝก” ต.ภูแลนช้าง อ.นาคู อีกด้วย ซึ่งรอยเท้าไดโนเสาร์ที่พบที่นี่มีความชัดเจนมากถึง 7 รอย จากร่องรอยที่สำรวจพบทั้งหมด 21 รอย ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2539 โดยเด็กหญิงสองคนที่มาเที่ยวกับครอบครัว
ลักษณะเป็นรอยเท้าของ "ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่" ประทับอยู่บนลานหินที่เป็นทางลำห้วยเหง้าดู่ เชิงเขาภูแฝก บริเวณเทือกเขาภูพาน (เป็นหินยุคครีเตเซียสตอนต้น อายุประมาณ 140 ล้านปี) เมื่อเวลาหน้าน้ำเยอะๆ จะเห็นรอยเท้าไดโนเสาร์ 4 รอยเท่านั้น
รวมถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ยังมีซากปลาโบราณอายุกว่า 150 ล้านปีให้ชมด้วย อยู่ที่ “ดินแดนฟอสซิลปลาโบราณภูน้ำจั้น” ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายน์ โดยที่นี่ขุดค้นพบเป็นปลาชนิดใหม่ 3 ชนิด ได้แก่ “ไทยอิกธิส พุทธบุตรเอนซิส” เป็นปลากินพืชขนาดยาวประมาณ 40 ซ.ม. เกล็ดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หนา แข็ง มันวาว, “อีสานอิกธิส พาลัสทริส” เป็นปลากินเนื้อขนาดใหญ่ยาวประมาณ 96 ซ.ม. เกล็ดคล้ายชนิดแรก, “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส มาร์ตินี” หรือ “ปลาปอดภูน้ำจั้น” ชนิดนี้กินทั้งพืชและสัตว์ เกล็ดเป็นรูปครึ่งวงกลม รูปร่างเรียวยาวคล้ายปลาไหล
ตามรอยไดโนเสาร์ที่ จ.นครพนม
“แหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์ท่าอุเทน” ต.พนอม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม บนถนนทางหลวงแผ่นดิน 212 ท่าอุเทน - บ้านแพง ห่างจากอำเภอท่าอุเทน 27 กม. เป็นอาคารพร้อมทางเดินสำรวจโดยรอบลานหินไดโนเสาร์ เดิมที่นี่เป็นบ่อเหมืองหินของเอกชน ต่อมามีการขุดค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์มากมายกว่า 1,000 รอย
โดยรอยเท้าที่พบที่นี่ได้แก่ "รอยเท้าของไดโนเสาร์ซอโรพอด" ไดโนเสาร์กินพืช มีคอยาว เดิน 4 ขา, "รอยเท้าของไดโนเสาร์อิกัวโนดอน" เดินได้ทั้ง 2 ขา และ 4 ขา นิ้วหัวแม่มือมีลักษณะเป็นเดือยแหลใช้สำหรับป้องกันตัว, "รอยเท้าของไดโนเสาร์ออร์นิโธมิโมซอร์" หรือ "ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ" วิ่งเร็ว มักอยู่ด้วยกันเป็นฝูง รอยเท้าที่พบเป็น 3 นิ้วชัดเจน คล้ายรอยเท้าไก่ ปลายนิ้วมีรอยเล็ยแหลมคม และ "รอยเท้าจระเข้" จะมีขนาดรอยเท้าเล็กกว่าไดโนเสาร์
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โทร. 0-2621-9637, 0-2621-9641 หรือที่ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager