xs
xsm
sm
md
lg

“เกาะพยาม” มัลดีฟส์เมืองไทย...สโลว์ไลฟ์บนเกาะทรงเสน่ห์แห่งทะเลระนอง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
เกาะพยาม ได้รับฉายาว่าเป็นหนึ่งในมัลดีฟส์เมืองไทย
“มัลดีฟส์เมืองไทย”

เป็นฉายาของสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในบ้านเรา ทั้งแม่น้ำ ทะเล ทะเลสาบ ที่มีบรรยากาศและบางมุมมอง ชวนให้จินตนาการถึง“หมู่เกาะมัลดีฟส์” สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่ถือเป็นอีกหนึ่งเกาะในฝันสวรรค์ของคนรักทะเล

สำหรับหนึ่งในเจ้าของฉายามัลดีฟส์เมืองไทย นั่นก็คือ“เกาะพยาม” เพชรน้ำงามแห่งทะเลระนอง

1...

“เกาะพยาม” ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง เป็นเกาะใหญ่หนึ่งในสองเกาะของทะเลระนอง(อีกเกาะหนึ่งคือเกาะช้างที่มีขนาดใหญ่สุดของระนอง)ที่วันนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ภูมิภาค ภาคใต้ ได้ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
อ่าวเขาควาย ทอดตัวโค้งสวยงาม
เกาะพยามมีพื้นที่ประมาณ 35 ตารางกิโลเมตร(อยู่ห่างจากเกาะช้างมาทางใต้ประมาณ 4 กม.) ชื่อเกาะพยาม มีข้อมูลว่ามาจากคำว่า “พยายาม” ด้วยมีเรื่องเล่าขานกันว่า...

...มีเกาะแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง สมัยก่อนการเดินทางไปยังเกาะแห่งนี้ แต่ละวันมีเรือออกจากฝั่งเพียงเที่ยวเดียว ถ้าพลาดก็ต้องรอวันถัดไป ในขณะที่ขากลับนั้นก็ต้องอาศัยการโบกเรือที่แล่นผ่านไปแวะกลับฝั่งเป็นหลัก

นับเป็นเกาะที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการไปมาสู่ ชาวบ้านจึงเรียกเกาะๆนี้ ว่า “เกาะพยายาม” แต่ในภาษาใต้นิยมพูดห้วนๆสั้นๆ เกาะพยายาม จึงกร่อนเสียงเป็น “เกาะพยาม” มาจนทุกวันนี้...
บางมุมบนเกาะพยาม ที่มาของฉายามัลดีฟส์เมืองไทย
ส่วนฉายา“มัลดีฟส์เมืองไทย” ที่โดนใจใครหลายๆคน(และขัดใจใครหลายๆคน)นั้น มาจากบางมุมของเกาะพยาม(บริเวณบลูส์ สกาย รีสอร์ท) ที่ในยามน้ำขึ้นจะมีความสวยงามลงตัวของที่พักกลางน้ำ ผืนป่าชายเลน และผืนน้ำที่สวยใส กลายเป็นมนต์เสน่ห์สำคัญดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเยือนที่เกาะแห่งนี้

อย่างไรก็ดีบนเกาะพยามไม่ได้มีเสน่ห์แค่เฉพาะมุมมัลดีฟส์เมืองไทยเท่านั้น หากแต่บนเกาะแห่งนี้ยังมีอีกหลายแง่มุมให้เราได้ไปสัมผัสในมนต์เสน่ห์ความงามกัน ไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาติ หาดทรายชายทะเล วิวทิวทัศน์ วิถีชีวิต
พักผ่อนสสโลว์ไลฟ์ในบรรยากาศคืบก็ทะเลศอกก็ทะเล
นักท่องเที่ยวหลายๆคนจึงนิยมมาพักผ่อน ใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ในบรรรยากาศคืบก็ทะเลศอกก็ทะเล บนเกาะพยามแห่งนี้

2...

เกาะพยามมีพื้นที่ตอนกลางของเกาะ เป็นภูเขา ป่าไม้ ที่วันนี้ยังคงมีสัตว์ป่าอย่าง ลิง หมูป่า และนกชุกชุม โดยเฉพาะนกหายากอย่าง“นกเงือก”ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ไม่น้อย รวมไปถึงเหยี่ยวแดงที่มักบินโฉบฉวัดเฉวียนปรากฏอยู่ทั่วไป
บนเกาะพยามมีโอกาสพบเห็นนกเงือก(นกแก๊ก)ได้บ่อยครั้ง
ใครที่ไปเที่ยวบนเกาะพยาม หากไม่โชคร้ายเกินไป จะเห็น”นกแก๊ก”(นกเงือกขนาดเล็ก)ปรากฏตัวให้เห็น ไม่ว่าจะบินอยู่บนท้องฟ้า เกาะอยู่บนต้นไม้ หรือ บินผ่านหน้าผ่านตาเราไปแบบใกล้ชิด นั่นเนื่องจากคนบนเกาะนี้เขาอนุรักษ์พวกมันไว้ ไม่ไปล่าทำร้ายมัน มันจึงคุ้นชินกับคนบนเกาะไม่น้อย

มาถึงเสน่ห์สำคัญของเกาะพยามนั่นก็คือ ในส่วนของพื้นที่บริเวณรอบเกาะ ที่เป็นชายหาดสลับกับโขดหิน มีหาดทรายสวยๆงามๆอยู่หลายหาดด้วยกัน ซึ่งวันนี้ตามบริเวณหาดต่างๆมีที่พักผุดขึ้นมาไม่น้อย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังนิยมต่อเกาะแห่งนี้
วิถีชีวิตชาวมอแกน ดำน้ำจับสัตว์ทะเล
บนเกาะพยาม มีชุมชนดั้งเดิมคือชุมชนชาวมอแกน(ชาวเล) ที่วันนี้ยังคงอาชีพประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำในละแวกใกล้เคียงเกาะ เนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำยังมีความสมบูรณ์อยู่ ผู้ชายชาวมอแกนหลายๆคน วันนี้ยังใช้วิธีดำน้ำจับกุ้งมังกร(ลอบเตอร์)ด้วยมือแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ยังมีชุมชนดั้งเดิมของชาวบ้านที่เป็นชาวเกาะพยามรุ่นแรกๆ ที่บางข้อมูลระบุว่าเป็นชุมชนที่เริ่มจากหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการรุกรานของอังกฤษ ซึ่งครอบครองพม่าอยู่ในอดีต โดยการให้ชาวบ้านไปตั้งชุมชนอยู่บนเกาะพยามนั้นเป็นแนวคิดของ พระยาดำรงสุจริตมหิศวรภักดี(คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนองคนแรก ขณะที่บางข้อมูลก็ว่าชาวบ้านรุ่นแรกๆบนเกาะพยามนั้นอพยพมาจากเกาะสมุยแล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่
เกาะพยามมีพื้นที่ส่วนกลางเป็นภูเขาและป่าไม้
วันนี้บนเกาะพยามยังคงปรากฏอาชีพดั้งเดิมให้เห็นกับการทำสวนมะม่วงหิมพานต์(กาหยู)แหล่งใหญ่(เช่นเดียวกับเกาะช้าง)และคุณภาพดี มีทั้งที่ขายบนเกาะและส่งไปขายบนฝั่งระนอง ซึ่งชาวบ้านที่นี่ปลูกกันมาช้านานจนต้นมะม่วงสูงใหญ่

อีกทั้งยังมีการทำสวนยางที่ช่วงหนึ่งยางราคาดี(มาก) ชาวสวนหลายคนได้โค่นต้นกาหยูหันมาปลูกต้นยางแทน แต่วันนี้ยางราคาตก(มาก) ซึ่งหากสภาพการณ์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ในอนาคตอาจมีชาวสวนยางบางคนโค่นต้นยางแล้วหันกลับไปปลูกกาหยูเหมือนเดิม
ธุรกิจท่องเที่ยวที่โตวันโตคืนบนเกาะพยาม
อย่างไรก็ดีสำหรับเกาะพยามแล้ว วันนี้อาชีพที่มาแรงที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น อาชีพในแวดวงด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะพยามที่กำลังโตวันโตคืน

3...

จากท่าเรือปากน้ำบนฝั่งระนอง หากนั่งเรือธรรมดา ใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง(ขึ้นอยู่กับสภาพคลื่นลม) หรือใครอยากย่นเวลา(แต่ว่าจ่ายแพงหน่อย)ก็ให้นั่งสปีดโบ้ทที่จะใช้เวลาประมาณ 40 นาที ก็เดินทางมาถึงยังเกาะพยาม ที่สะพานท่าเทียบเรือ ณ อ่าวแม่หม้าย ปากประตูใหญ่สู่เกาะพยาม
วัดเกาะพยาม
อ่าวแม่หม้าย(ชื่อเฉพาะ) เป็นชุมชนใหญ่ที่สุดบนเกาะที่มีความคึกคักมาก ที่นี่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมเชื่อมไปยังอ่าวต่างๆบนเกาะ เป็นจุดขึ้น-ลง เรือ ไป-กลับ เกาะและฝั่ง เป็นจุดเช่าเรือโดยสาร เรือไปดำน้ำเที่ยว จุดเช่ามอเตอร์ไซค์ จุดจ้างวินมอเตอร์ไซค์ จุดเช่าจักรยาน หรือจุดจ้างรถอีแต๊กบรรทุกของ นอกจากนี้ที่อ่าวแม่หม้ายยังเป็นแหล่งการค้า แหล่งรวมร้านอาหาร และแหล่งแสงสีในยามค่ำคืน

ใกล้ๆกับสะพานท่าเรือขึ้นไปทางเหนือเป็นที่ตั้งของ “วัดเกาะพยาม” ที่มีโบสถ์กลางทะเล บนหลังคาประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางลีลาหันหน้าออกสู่ทะเล มีสะพานปูนทอดยาวสู่ตัวโบสถ์ นับเป็นวัดที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น และเป็นจุดสังเกตเห็นแต่ไกลยามนั่งเรือมาสู่เกาะ
อ่าวกวางปีบ
เหนือจากวัดขึ้นไปไม่ไกลจะเป็น “อ่าวหินขาว” ที่มีก้อนหินสีขาวก้อนใหญ่ตั้งเด่นอยู่ริมทะเล และเป็นที่ตั้งของ “ศาลพ่อตาหินขาว” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านที่นี่ให้ความเคารพนับถือกันอย่างมาก โดยมีตำนานเรื่องเล่าว่าพ่อตาหินขาวได้มาเข้าฝันบรรพบุรุษของพวกเขา พร้อมชี้บอกทิศทางให้มาตั้งรกรากที่นี่

เมื่อขึ้นเหนือไปจนสุดเกาะจะเป็น “อ่าวไม้ไผ่” จากนั้นหากข้ามฝั่งไปโซนตะวันตกจะเป็น “อ่าวกวางปีบ” อ่าวที่มีความร่มรื่น สงบเป็นส่วนตัว มีหาดทรายสวยงาม

และถ้าลงไปทางใต้ของท่าเรือจะเป็น “แหลมหิน” แล้วต่อด้วย “อ่าวมุก” ที่มีบรรยากาศสงบเป็นส่วนตัว และมีรีสอร์ทหรูชื่อดังไปเปิดอยู่บริเวณนั้น อันเป็นที่มาของฉายา“มัลดีฟส์เมืองไทย
บรรยากาศชวนเอนกายพักผ่อน
ส่วนห่างจากฝั่งอ่าวมุกไปไม่ไกลจะเป็นที่ตั้งของ“เกาะขาม” ที่เมื่อยามน้ำลดจะเกิดสันทรายเชื่อม 2 เกาะเข้าด้วยกัน ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกเกาะขามว่า “เกาะปลาวาฬ” ตามรูปร่างลักษณะของมัน

นอกจากนี้บนเกาะพยามยังมีอีก 2 จุดไฮไลท์สำคัญนั่นก็คือ “อ่าวใหญ่” และ “อ่าวเขาควาย
อ่าวใหญ่
อ่าวใหญ่” ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะพยาม มีขนาดและพื้นที่ใหญ่สมชื่อ มีลักษณะเป็นเวิ้งโค้งอ่าวยาวราว 4 กม. อ่าวใหญ่ยามน้ำลดจะมองเห็นหาดทรายอันกว้าง ใหญ่ ยาว ค่อยๆลาดเทลงสู่ทะเล มีทรายที่ละเอียดแน่น เดินสบายเท้า

หาดทรายที่อ่าวใหญ่เป็นทราย 2 สี ผสมกัน คือ สีเหลืองกับสีเทา ยามน้ำลงจะมองเห็นเป็นริ้วๆ ตามคลื่นซัดสาด ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานาการสร้างสรรค์จากธรรมชาติอันน่ายล
ริ้วทรายที่อ่าวใหญ่
ชายหาดของอ่าวใหญ่ ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนมีลำคลองเล็กไหลผ่าน และไหลลงสู่ทะเลซึ่งเราสามารถเดินลุยฝ่าข้ามธารน้ำจืดตื้นๆยามช่วงที่ไหลผ่านหาดทรายได้

อ่าวใหญ่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่แห่งความครึกครื้นบนเกาะพยาม ที่มีทั้งที่พักราคาประหยัดให้เลือกมากหลาย จึงเป็นที่นิยมของเหล่าแบ็คแพ็คเกอร์ มีบาร์เบียร์ ร้านเหล้า ร้านอาหาร เก้าอี้ชายหาด นวด รวมไปถึงเป็นแหล่งทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเล่นน้ำ อาบแดด เดินเล่น วอลเล่ย์บอลชายหาด เป็นต้น
อ่าวเขาควาย เพลินกายเพลินใจ
ส่วนอ่าวเขาควาย ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ มีลักษณะเป็นอ่าวโค้งยาวประมาณ 2 กม. มุมทั้ง 2 โค้งโง้งเข้ามาคล้ายเขาควาย อ่าวเขาควายในวันนี้ยังเป็นอ่าวที่มีความสงบ แม้จะมีที่พักขึ้นอยู่มากพอตัว แต่ก็ไม่ถึงกับพลุกพล่าน ยามน้ำลงจะเห็นหาดทรายเป็นแนวทอดยาวกว้างไกล
อ่าวเขาควายช่วงหนึ่งมีสีอมชมพูจากหอยทับทิม
พื้นที่อ่าวเขาควายแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วย คืออ่าวเขาควายเหนือ-ใต้ มีหาดทรายเป็น 2 สี คือช่วงหนึ่งเป็นสีขาวเนียน อีกช่วงหนึ่งเป็นสีอมชมพู เพราะมีหอยทับทิมตัวเป็นๆและเศษซากอยู่ที่บริเวณชายหาดเป็นจำนวนมาก

บริเวณอ่าวเขาควายในช่วงปลายๆยังมี “เขาทะลุ” หรือ "หินทะลุ" เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของอ่าว(ใกล้ๆกับเกาะพยามยังมีเกาะทะลุ ที่ปลายเกาะด้านหนึ่งเป็นโพรงช่องหินมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้านบน)
หินทะลุ
เขาทะลุหรือหินทะลุ มีลักษณะเป็นภูเขาหินลูกเล็กๆ ตรงปลายถูกน้ำกัดเซาะเป็นช่องโพรง ขาดให้เราสามารถเดินมุดลอดผ่านไป-มาได้ ซึ่งนักท่องเที่ยวหลายคนนิยมใช้ช่องเขาทะลุเป็นกรอบ เฟรม สำหรับถ่ายรูป ดูเก๋ไก๋ไปอีกแบบ
หินทะลุ ในมุมมองที่เห็นสามช่อง
ด้วยความที่อ่าวเขาควายตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดีของเกาะ ที่แม้จะไม่เห็นพระอาทิตย์ตกแบบเต็มๆกลางท้องทะเล หากแต่เห็นเยื้องๆ มีภูเขาตั้งขวางเป็นเหลี่ยมบัง แต่ก็ถือเป็นฉากเป็นองค์ประกอบที่น่ายลไปอีกแบบ

นับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของเกาะพยามที่ถือเป็นดังเพชรน้ำงามแห่งท้องทะเลระนอง ซึ่งวันนี้ธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะพยามกำลังโตวันโตคืน
ตะวันลับฟ้าที่หน้าอ่าวเขาควาย
ด้วยเหตุนี้หลายๆคนที่เคยไปสัมผัสกับความพิสุทธิ์และความสงบงามของเกาะแห่งนี้จึงอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ถ้าเกาะพยามไม่มีการวางแผนรองรับ ขาดมาตรการวางแผนบริหารจัดการที่ดี ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงจากการท่องเที่ยว การเติบโตที่ถาโถมเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอาจเกิดปัญหาต่างๆตามมาอย่างกับเกาะท่องเที่ยวรุ่นพี่ๆหลายๆเกาะ
สะพานทอดข้ามลำคลองแห่งผืนป่าชายเลน
สำหรับเกาะพยามแล้ว ควรคงเสน่ห์ของธรรมชาติอันพิสุทธิ์ และวิถีอันเรียบง่ายเอาไว้ให้ยั่งยืนนาน

เกาะพยาม จึงไม่ควรพยายามที่จะ เดินตามรอยเกาะชื่อดังหลายๆแห่ง ที่ถูกธุรกิจท่องเที่ยวถาโถมจนเสียศูนย์ ยากเกินกว่าจะฟื้นคืน
เจ้าถิ่น ยืนส่งตะวัน
**************************************************
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูล แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัด ชุมพร ระนอง เชื่อมโยงกับเกาะพยาม รวมไปถึงที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทาง ได้ที่ ททท. สำนักงานชุมพร(พื้นที่รับผิดชอบชุมพร ระนอง) โทร. 0-7750-1831-2 , 0-7750-2775-6
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น