xs
xsm
sm
md
lg

เช็คอินเส้นทางเที่ยว “ศรีเทพ-เพชรบูรณ์-หล่มสัก” เมืองโบราณ วันวาน สู่ปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
ปรางค์สองพี่น้อง ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
“เพชรบูรณ์” เค้าว่าเป็นเมืองมะขามหวาน ส่วนที่เที่ยวก็ต้องไปที่เขาค้อ แต่อันที่จริงแล้วเพชรบูรณ์มีอะไรมากกว่านั้น ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ อาหารการกิน ก็ล้วนแต่น่าสนใจไม่น้อย

อย่างถ้าพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ “ตะลอนเที่ยว” บอกเลยว่าต้องมาที่นี่ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” (อ.ศรีเทพ) ซึ่งจุดเริ่มต้นของการมาชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ก็ต้องเริ่มที่ “ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว” เพราะที่นี่จะมีนิทรรศการให้ความรู้พื้นฐานของเมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานสำคัญต่างๆ และยังมีศิลปะวัตถุจัดแสดงไว้ด้วย
เขาคลังใน
สำหรับพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพนั้นจะแบ่งออกเป็นเมืองใน และ เมืองนอก ในส่วนของ “เมืองใน” นั้นมีโบราณสถานขนาดใหญ่หลงเหลือให้ชมอยู่หลายแห่ง ได้แก่ “ปรางค์ศรีเทพ” ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบศิลปะเขมร สันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ราวพุทธศตวรรษ 16-17 และได้รับการซ่อมแซมให้เป็นพุทธสถานแบบมหายานในราวต้นพุทธศตวรรษ 18 แต่ไม่แล้วเสร็จ “เขาคลังใน” ศาสนสถานในพุทธศาสนา ซึ่งชื่อของเขาคลังในมีมาจากความเชื่อของคนท้องถิ่นที่เชื่อกันว่า เป็นคลังเก็บของที่มีค่าหรือคลังอาวุธสมัยโบราณ ที่น่าสนใจคือบริเวณฐาน จะมีรูปปั้นนูนต่ำเป็นรูปคนแคระกำลังแบกเขาคลังในอยู่ โดยคนแคระนั้นจะมีศีรษะเป็นทั้งคนและสัตว์ต่างๆ
รูปปั้นคนแคระ บริเวณฐานเขาคลังใน
“ปรางค์สองพี่น้อง” ปราสาทประธานก่อด้วยอิฐแบบศิลปะเขมร มีปราสาทขนาดเล็กตั้งอยู่ทางทิศใต้ซึ่งสร้างขึ้นเพิ่มเติมอยู่บนฐานเดียวกัน จึงเป็นที่มาของชื่อปรางค์สองพี่น้อง โดยที่ปรางค์องค์น้องนี้ จะมีทับหลังรูปพระอิศวรอุ้มนางปารวตีประทับนั่งอยู่เหนือโคนนทิ ส่วนในปรางค์องค์พี่นั้นพบแท่นสำหรับตั้งศิวลึงค์ตั้งอยู่

นอกจากนี้ภายในเมืองในยังพบโบราณสถานขนาดเล็กอีกหลายแห่ง รวมถึงสระน้ำและหนองน้ำที่กระจายอยู่ในพื้นที่เมืองใน ส่วนที่ “เมืองนอก” ก็มีโบราณสถานสำคัญคือ เขาคลังนอก ปรางค์ฤาษี และ ถ้ำเขาถมอรัตน์
การจัดแสดงในหอโบราณคดีเพชรบูรณ์อินทราชัย
ส่วนถ้าใครอยากรู้เรื่องราวของเมืองเพชรบูรณ์ทั้งในอดัตและปัจจุบัน ต้องเข้าเมืองมาชมที่ “หอโบราณคดีเพชรบูรณ์อินทราชัย” ที่นี่เป็นศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์หลังเก่า แล้วปรับปรุงมาให้เป็นหอโบราณคดีที่จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเพชรบูรณ์ มีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ แล้วก็ยังมีการจัดแสดงด้านวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในเพชรบูรณ์ด้วย

ซึ่งในตัวเมืองเพชรบูรณ์นั้น ก็มีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว “14 จุดสุดประทับใจ เที่ยวในเมืองเพชรบูรณ์” โดยสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งนั้นตั้งอยู่ในเขต อ.เมือง มีรถรางให้บริการนำชม (ให้บริการเป็นหมู่คณะ วันจันทร์-ศุกร์ สอบถามได้ที่ ศูนย์บริการท่องเที่ยวเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ โทร. 0-5672-1523) โดยเริ่มจุดแรกที่หอโบราณคดีเพชรบูรณ์อินทราชัย
หลวงพ่อเพชรมีชัย วัดมหาธาตุ
จากหอโบราณคดี ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวในเส้นทางนี้ อาทิ “หอภูมิปัญญาและวิถีชาวบ้านเพชรบูรณ์” ตั้งอยู่ในอาคารสำนักงานกาชาดเก่า จัดแสดงเรื่องการทำมาหากิน และอาชีพดั้งเดิมของชาวเพชรบูรณ์ 6 เรื่อง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มะขามหวาน ใบยาสูบ หาของป่า และ วิถีชีวิตริมแม่น้ำป่าสัก

“วัดมหาธาตุ” เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีเจดีย์เก่าแก่ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ในเจดีย์มีการขุดค้นพบจารึก พระพุทธรูปสมัยต่างๆ และพระเครื่อง ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อเพชรมีชัย” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่สันนิษฐานว่าสร้างมาพร้อมกับวัด
พระพุทธมหาธรรมราชา ประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ
“วัดไตรภูมิ” เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก เป็นวัดสำคัญที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเพชรบูรณ์ โดยพระพุทธรูปองค์นี้ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีตำนานว่าถูกอัญเชิญขึ้นแพแล้วลอยมาตามน้ำ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์แพแตก แล้วจมลงที่เมืองเพชรบูรณ์ จากนั้นจึงถูกอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้บนบก เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะบูชามาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นตำนานที่มาของ “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” ที่สืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปีแล้ว
ข้อมูลต่างๆ ในหอนิทรรศการกำแพงเมือง
“หอนิทรรศการกำแพงเมือง” จัดแสดงรายละเอียดการสร้างกำแพงเมืองทั้งในสมัยสุโขทัยและอยุธยา และยังมีข้อมูลของกำแพงเมืองในต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับวัดโบราณและตำนานพื้นบ้านของเมืองเพชรบูรณ์ด้วย
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์
“ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์” เสาหลักเมืองของที่นี่เป็นศิลาจารึกอักษรขอม เขียนเป็นภาษาสันสกฤตเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ สันนิษฐานว่าน่าจะอัญเชิญมาจากเมืองศรีเทพตั้งแต่ครั้งโบราณและมาประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ แล้วจึงอัญเชิญมาเป็นเสาหลักเมืองในภายหลัง จึงนับว่าเป็นเสาหลักเมืองที่ทรงคุณค่า มีความเก่าแก่นับพันปี
พุทธอุทยานเพชบุระ
“พุทธอุทยานเพชบุระ” เป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติฯ” ซึ่งสร้างจำลองมาจากพระพุทธมหาธรรมราชา ที่วัดไตรภูมิ บริเวณโดยรอบจัดทำเป็นสวนสำหรับพักผ่อน มีศาลากลางน้ำให้นั่งรับลมเย็นๆ

ซึ่งในเส้นทางท่องเที่ยว 14 จุดสุดประทับใจ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อีก ได้แก่ หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ ประติมากรรมมะขามหวาน หอเกียรติยศเพชบุระ วัดเพชรวราราม วงเวียนอนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์ หอนาฬิกาแชมป์โลกคู่แฝด และ สวนสาธารณะหนองนารี
ถนนคนเพ็ด-ซะ-บูน
หากใครมาเที่ยวในตัวเมืองเพชรบูรณ์ช่วงเย็นวันศุกร์ อย่าลืมแวะมาที่ “ถนนคนเพ็ด-ซะ-บูน” ตลาดยามเย็นที่เปิดเป็นถนนคนเดิน บริเวณถนนเพชรเจริญ หน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบูรณ์-ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ ที่นี่มีทั้งของกิน ของใช้ ของฝาก ให้เลือกชิมเลือกช้อปกันอย่างเต็มที่ โดยจะเริ่มคึกคักกันตั้งแต่ช่วงเย็นแดดร่มลมตก ไปจนถึงประมาณสองทุ่ม
ช่างตีมีดโบราณ ชุมชนบ้านใหม่
ออกจากตัวเมืองเพชรบูรณ์กันบ้าง มาที่ อ.หล่มสัก ที่นี่มีของดีก็คือการตีมีดแบบโบราณ ณ “ชุมชนบ้านใหม่” โดยชาวบ้านที่นี่มีการรวมกลุ่มกันสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น การตีมีดแต่ละเล่มต้องอาศัยฝีมือเฉพาะตัว เรียกได้ว่าเป็นงานแฮนด์เมดอย่างแท้จริง ซึ่งมีดของที่นี่มีทั้งมีดดาบ มีดทำครัว มีดทำการเกษตร และมีดแบบโบราณสำหรับนักสะสม โดยปัจจุบันกลุ่มตีมีดของชุมชนบ้านใหม่จะรับตีมีดตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งมา
พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์
ส่วนในตัวเมืองหล่มสักนั้นก็มีเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อย อย่างที่ “พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์” ที่บอกเล่าเรื่องราวของของเมืองหล่มสัก (เมืองลุ่ม หรือ เมืองหล่ม) ที่เดิมเป็นเมืองเล็กๆ ในบริเวณที่ราบลุ่ม มีเทืองเขาล้อมขนาบทั้งสามด้าน เมืองหล่มสักแห่งนี้เคยถูกยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด ในช่วงการปกครองระบอบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วก็ถูกยุบกลายมาเป็นอำเภอจนถึงในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังเคยมีแผนที่จะย้ายเมืองหลวงมาที่ จ.เพชรบูรณ์ และใช้พื้นที่เมืองหล่มสักนี้เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการอีกด้วย

ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 10 ห้อง เริ่มตั้งแต่ห้องประชาสัมพันธ์ ห้องภาพยนตร์ ห้องเมืองหล่มสักในอดีต ห้องเสน่ห์เมืองหล่มสัก ห้องหล่มสักเมื่อวันวาน ห้องจังหวัดหล่มศักดิ์ ห้องวัฒนธรรมล้านช้าง ห้องของกินบ้านเฮา และ ห้องเฮ็ดเวียดเฮ็ดงาน โดยพิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้เข้าชมฟรี วันละ 4 รอบ ในวันพุธ-ศุกร์ ส่วนวันเสาร์ เปิดให้ชมในช่วงเย็นเท่านั้น
ห้องเมืองหล่มสักในอดีต
และหากว่ามาที่หล่มสักในวันเสาร์ ชมพิพิธภัณฑ์กันเสร็จแล้ว อย่าลืมแวะมาเดิน “ถนนคนเดินไทหล่ม“ ที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองหล่มสัก บริเวณหอนาฬิกาใจกลางเมือง ซึ่งทั้งสองข้างทางก็ยังเป็นบ้านเรือนไม้สองชั้นเรียงรายกันไปตลอดถนน ในตลาดก็ขายทั้งของกิน ของใช้ ของฝาก แล้วยังมีอาหารท้องถิ่นให้ลองชิม มีการสาธิตตีมีดแบบโบราณให้ชมด้วย
ถนนคนเดินไทหล่ม
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพิษณุโลก (ดูแลพิษณุโลก, เพชรบูรณ์) โทร.0-5525-2742-3, 0-5525-9907 และสามารถสอบถามรายละเอียดของแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยง ที่พัก ร้านอาหารได้กับทาง ททท. ด้วยเช่นกัน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น