xs
xsm
sm
md
lg

ตามนายกไปเที่ยว ‘บ้านสนวนนอก’ ชมผ้าหางกระรอก เอกลักษณ์อีสานใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รอยยิ้มที่คนบ้านสนวนนอกมีพร้อมให้นักท่องเที่ยว
เวลาไปเที่ยวตามหมู่บ้านในต่างจังหวัด สิ่งที่ทำให้ประทับใจหลายๆ ครั้งอาจไม่ใช่ตัวสถานที่ แต่เป็นความประทับใจในผู้คน ในน้ำจิตน้ำใจและอัธยาศัยที่น่ารัก จนทำให้อยากกลับไปเยี่ยมเยือนอีกหลายๆ ครั้ง

“บ้านสนวนนอก” อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน...
หน้าตาของรถกระสวย
หมู่บ้านแห่งนี้อยู่จาก อ.ห้วยราช เพียง 2 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์เพียง 12 กิโลเมตร เท่านั้น เดินทางเข้าถึงได้สะดวกสบาย แต่เป็นหมู่บ้านที่ยังคงยึดถือวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่าย อาชีพหลักยังคงเป็นการทำนา และยามว่างเว้นจากการเกษตรก็ยังคงสืบสานการทอผ้าไหม “หางกระรอก” ตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงไหม สาวไหม ตีเกลียว ไปจนถึงการทอผ้าออกมาเป็นผืนงาม

ที่นี่จึงได้รับการส่งเสริมจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และอีกหลายหน่วยงาน ให้เป็น "หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมและวิถีชีวิตพอเพียง" ให้นักท่องเที่ยวที่รักการท่องเที่ยวชุมชน และสนใจเกี่ยวกับผ้าทอ หรืออยากมาสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายในถิ่นอีสานใต้ ได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตไหมทั้งกระบวนการ อีกทั้งในหมู่บ้านยังมีการผลิตงานฝีมืออีกหลายอย่าง อาทิ การทำกระดิ่งผูกคอวัว เครื่องจักสาน การแปรรูปกะลามะพร้าว เป็นต้น
นาเขียวขจีในหมู่บ้าน
วันนี้เราได้มาเยือนชุมชนบ้านสนวนนอก และตั้งใจพักค้างที่นี่ 1 คืนเพื่อจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของหมู่บ้านและได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้านให้ครบถ้วน โดยมีผู้ใหญ่บ้านบุญทิพย์ กะรัมย์ และพี่สำเริง โกติรัมย์ ประธานกลุ่มทอผ้าไหม มาต้อนรับด้วยความยินดีและพาชมสิ่งที่น่าสนใจภายในหมู่บ้าน โดยการนั่ง “รถกระสวย” หรือแท้จริงก็คือรถรางที่ตั้งชื่อให้เข้ากับหมู่บ้านทอผ้า หรือ “กระสวยทอผ้า” นั่นเอง
สะพานยายชุน
รถกระสวยพาเราแวะสักการะ “ศาลหลวงปู่อุดม” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือว่าเป็นดังผู้คุ้มครองหมู่บ้านแห่งนี้ให้อยู่เย็นเป็นสุข และที่อยู่ติดกับศาลหลวงปู่ก็คือ “วัดสนวนนอก” วัดสำคัญของชุมชนที่มีหลวงพ่อพระไม้เป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัด ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถหลังเก่า และรถยังพาวิ่งผ่าน “สะพานยายชุน” สะพานเล็กๆ แต่น่ารักที่ทอดผ่านคลองเล็กๆ ภายในหมู่บ้าน
ขุดไม้เพื่อทำกระดิ่ง หรือกระดึง
จากนั้นรถกระสวยจึงพาเราเข้าสู่หมู่บ้าน ไปเดินเที่ยวและไปทำกิจกรรมเรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นจากภูมิปัญญาชาวบ้านกัน โดยมีด้วยกัน 3 ฐาน คือ “ฐานทำกระดิ่ง” หรือกระดึงที่เอาไว้ห้อยคอวัวหรือควาย การทำกระดิ่งนั้นใช้ไม้เนื้อแข็งมาเลื่อยเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูหรือรูปทรงที่ต้องการ แล้วใช้สิ่วขุดเนื้อไม้ด้านในออก ติดกระดิ่งเข้าไปด้านใน เมื่อห้อยคอวัวหรือควายแล้วกระดิ่งจะส่งเสียงทำให้เจ้าของรู้ว่าวัวควายของตนอยู่บริเวณไหน แต่ก็มีนักท่องเที่ยวซื้อกระดิ่งเพื่อนำไปห้อยตกแต่งบ้านด้วยเช่นกัน
เลือกซื้อพัดขนาดเหมาะมือได้ที่ฐานจักสาน
“ฐานจักสาน” เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่ชาวบ้านนำเอาไม้ไผ่ ไม้สารพัดประโยชน์มาจักตอกเป็นเส้นๆ แล้วนำมาสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็น ข้อง สุ่ม กระด้ง กระจาด ฝาชี และยังเป็นของที่ระลึกติดไม้ติดมือไว้ใช้ได้ทันทีก็คือ “พัด” นั่นเอง
นกฮูกทำจากลูกมะพร้าวที่ฐานบ้านนก
และฐานที่สาม “ฐานบ้านนก” ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการนำเอามะพร้าวแก่มาประยุกต์ดัดแปลงเป็นนก แมงมุม ปู ฯลฯ เพื่อเป็นของตกแต่งบ้านและของที่ระลึกเก๋ๆ อีกทั้งกะลามะพร้าวยังนำมาทำเป็นแก้วกาแฟ กาน้ำก็ได้ด้วย ดูแล้วน่าใช้มากๆ
แก้วกาแฟทำจากกะลาดูน่าใช้
ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญ
ในวันนี้เรายังไม่ได้ชมกระบวนการผลิตผ้าไหม แต่จะไปจัดเต็มกันในวันรุ่งขึ้น ในช่วงเย็นจึงเป็นการพูดคุยกันสบายๆ พร้อมกับมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อเป็นการรับขวัญแขกผู้มาเยือน พ่อแก่แม่เฒ่าต่างมาร่วมพิธีนี้กันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มพร้อมคำอวยพรต่างๆ ก่อนจะแสดงการ “รำตรด” และ “รำกันตรึม” ซึ่งเป็นประเพณีการต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างสนุกสนาน ก่อนจะแยกย้ายกันพักผ่อน ขอบอกว่าที่พักที่นี่นอกจากจะมีโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐานแล้ว ก็ยังมีรีสอร์ทแสนสะดวกสบายอยู่ในหมู่บ้านให้เลือกตามความชอบของนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ร่วมกันตักบาตรยามเช้า
ยามเช้าวันรุ่งขึ้นเราเริ่มต้นวันอย่างเป็นมงคลด้วยการทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์ที่มาบิณฑบาตในหมู่บ้าน ก่อนจะไปเดิน Walking Tour ทั่วหมู่บ้านเพื่อชมกระบวนการผลิตผ้าไหมในแต่ละขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงไหม สังเกตได้ว่าที่ว่างของบ้านแต่ละหลังจะปลูกต้นหม่อนไว้เพื่อเป็นอาหารตัวไหม ใบหม่อนสีเขียวดูน่ากินไม่น้อย ตัวไหมของที่นี่จึงสมบูรณ์พร้อมให้เส้นใยคุณภาพดีมาถักทอเป็นผืน
ใบหม่อนเขียวน่ากิน
ขั้นตอนของการฟอก-ย้อมเส้นไหม
เมื่อได้เส้นใยไหมสีเหลืองทองมาแล้ว ต้องนำมาต้มเพื่อฟอกกาวออกจากเส้นไหม จนกลายเป็นไหมสีขาวนวลนิ่มเงางาม แต่หากอยากได้สีสัน ก็ต้องนำไปย้อมโดยมีทั้งสีธรรมชาติและสีเคมี แต่ที่สำคัญจะต้องนำเส้นไหมไป “ตีเกลียว” คือการนำเส้นไหมสองสีมาพันเป็นเกลียวจนเป็นเส้นเดียว หรือ “ควบเส้น” นั่นเอง นิยมใช้สีเหลืองควบกับสีเขียว หรือสีเหลืองควบกับสีแดง หรือจะควบมากกว่าสองเส้นสองสีก็ได้ จากนั้นค่อยนำไปทอเป็นผืนผ้า ซึ่งผ้าที่ทอออกมาก็จะมีสีสันเลื่อมลายเหลื่อมกันคล้ายกับหางกระรอก จึงเรียกผ้าทอลักษณะนี้ว่า “ผ้าหางกระรอก” อันเป็นภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวอีสานใต้นั่นเอง
เส้นไหมและผ้าทอน่าซื้อหา
ผ้าขาวม้าทอจากไหมหางกระรอก
ผ้าทอเหล่านี้ยังมีความสำคัญในการแต่งงานของคนในหมู่บ้าน โดยจะใช้ผ้าไหมลายยกดอกพิกุล ผ้าไหมหางกระรอก และผ้าโสร่งหรือผ้าขาวม้าที่ทอจากไหมเป็นลายช้างม้าอันเป็นลวดลายมงคลมอบเป็นของไหว้แก่ผู้ใหญ่ อีกทั้งเมื่อถึงฤดูทอดกฐิน ชาวบ้านก็จะถวายจีวรที่ทอจากผ้าไหมแก่พระสงฆ์ที่วัดสนวนนอกอีกด้วย
ตลาดโบราณในหมู่บ้าน
ผ้าทอหางกระรอกและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมต่างๆ อาทิ กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ ฯลฯ ถูกนำมาวางให้เลือกซื้อกันในบ้านแต่ละหลัง รวมถึงที่บริเวณ “ตลาดโบราณ” ก็จะมีสินค้าผ้าทอและขนมของกินต่างๆ มาขายทุกๆ วันเสาร์หรือเมื่อมีคณะดูงานมาเยี่ยมชมหมู่บ้าน ซึ่งถึงตอนนี้แต่ละคนก็เริ่มจะช้อปผ้าไหมหางกระรอกสวยๆ มาได้กันคนละผืนสองผืน
คุณป้าปั่นไหมอยู่ใต้ถุนบ้านร้อยปี
ตลาดโบราณนี้อยู่ใกล้ๆ กับบ้านร้อยปี ซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าแก่ของชุมชนที่ยังมีคนอาศัยอยู่ แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมบรรยากาศด้านบน อีกทั้งยังมีบริการให้เปลี่ยนชุดเป็นเสื้อคอกระเช้าและผ้าซิ่นสำหรับถ่ายรูปกับบ้านร้อยปีแห่งนี้อีกด้วย ซึ่งบ้านหลังนี้ก็เปิดเป็นโฮมสเตย์ด้วยเช่นกัน
นำเส้นไหมเหลือใช้มาถักทอเป็นสร้อยไหม
และก่อนจะลาจากหมู่บ้านสนวนนอกไป เราก็มาทำของที่ระลึกให้แก่ตัวเอง ด้วยกิจกรรม DIY ที่นำเอาเส้นไหมและรังไหมที่เหลือใช้มาให้แสดงฝีมืองานประดิษฐ์ เส้นไหมนั้นสามารถเอามาถักร้อยกับลูกปัด กลายเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ หรือข้อเท้าเก๋ๆ ส่วนรังไหมนั้นเอาไปตกแต่งกับพัดที่สานจากไม้ไผ่ กลายเป็นพัดแสนสวยที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก
ตกแต่งพัดด้วยรังไหม
อาหารพื้นบ้านรสเด็ด
อีกอย่างหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คืออาหารพื้นบ้านแสนอร่อยที่ทางชุมชนจัดให้เรา ไม่ว่าจะเป็นแกงกล้วย ต้มไก่ใบหม่อน ก้อยดักแด้ที่ได้จากการสาวไหม รวมไปถึง “ขนมตดหมา” ขนมเลื่องชื่อของบ้านสนวนนอกที่ใช้รากเครือตดหมามาเป็นส่วนผสม แม้ชื่ออาจจะทำให้คนไม่กล้ากิน แต่รสชาติหอมหวานคล้ายขนมจากก็ทำให้กินเพลินจนหยุดไม่ได้
ต้องมาลองขนมตดหมา
ตลอดการท่องเที่ยวในหมู่บ้านสนวนนอก นอกจากจะได้มาเห็นกระบวนการทอผ้าไหมและวิถีชีวิตต่างๆ ของชาวบ้านแล้ว ต้องขอบอกว่าคนในหมู่บ้านต่างมีมิตรไมตรีที่ดีงาม พร้อมจะแนะนำและให้ความรู้ และยินดีเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเรียนรู้อย่างเต็มใจ จึงเป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอย่างเราอยากเดินทางกลับไปเยือนอีกครั้งหนึ่ง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“บ้านสนวนนอก” ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ ผู้ใหญ่บ้านบุญทิพย์ โทร.08 5411 4435 หรือคุณสำเริง โทร.08 0472 4435 และสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชื่อมโยงในจังหวัดบุรีรัมย์ได้ที่ ททท.สำนักงานสุรินทร์ (ดูแลสุรินทร์, บุรีรัมย์) โทร.0 4451 4447-8

* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น