xs
xsm
sm
md
lg

“อุ้มพระดำน้ำ” จากศรัทธา สู่ประเพณีหนึ่งเดียวในไทย ที่ “เพชรบูรณ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
พิธีอุ้มพระดำน้ำ ปี 2559 (ภาพ : ททท.พิษณุโลก)
ความผูกพันของคนไทยกับสายน้ำ รวมถึงความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แสดงให้เห็นได้จากตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์สำคัญที่มีความเกี่ยวพันกับสายน้ำ อาทิ หลวงพ่อพระพุทธโสธร ที่มีตำนานเล่าว่าได้ลอยน้ำมาถึงหน้าวัดโสธร แล้วชาวบ้านก็ได้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ในพระวิหาร หลวงพ่อบ้านแหลม ก็มีตำนานเล่าขานเช่นกันว่าได้ลอยน้ำมาแล้วจมอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง ก่อนจะอัญเชิญขึ้นมาบนฝั่ง

กระทั่ง “พระพุทธมหาธรรมราชา” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และสำคัญยิ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็มีตำนานกล่าวขานกันว่าถูกอัญเชิญขึ้นแพแล้วลอยมาตามน้ำ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์แพแตก แล้วจมลงที่เมืองเพชรบูรณ์ จากนั้นจึงถูกอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้บนบก เพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะบูชามาจนถึงทุกวันนี้

และจากตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระพุทธมหาธรรมราชานี้ ก็มีประเพณีสำคัญของเมืองเพชรบูรณ์ที่เกี่ยวข้องกับตำนานนี้ด้วยเช่นกัน นั่นคือ “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” ที่ถือว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในไทย และได้รับการสืบสานต่อกันมาหลายร้อยปีแล้ว
พระพุทธมหาธรรมราชา (องค์จำลอง)
ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าถึงตำนานของพระพุทธมหาธรรมราชาและประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ว่า ตามตำนาน พระพุทธมหาธรรมราชา เป็นพระพุทธรูปศิลปะลพบุรีหรือที่เรียกกันว่าศิลปะขอม สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เหตุที่เชื่ออย่างนั้นเพราะว่า กษัตริย์ขอมปกติแล้วจะนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู แต่มีกษัตริย์ขอมอยู่พระองค์เดียว คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่นับถือศาสนาพุทธ และมีการสร้างพระปางนี้ขึ้นมา แล้วก็อัญเชิญไปประดิษฐานที่อโรคยศาลหรือโรงพยาบาล ที่ได้สร้างไว้ตามรายทางราชมรรคา พระพุทธรูปที่เป็นลักษณะนี้ก็คือพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ และบนพระหัตถ์จะมีหม้อยาหรือหม้อน้ำมนต์อยู่ เนื่องจากพระปางนี้เมื่อสร้างแล้วจะนำไปประดิษฐานที่อโรคยศาล เมื่อชาวบ้านไปหาหมอที่อโรคยศาลก็จะนำน้ำมนต์นี้กลับบ้านไปด้วย

“พระปางแบบนี้ก็มีอยู่เยอะ แต่เฉพาะองค์ที่มาอยู่ที่เพชรบูรณ์เรามาตั้งชื่อใหม่ว่าพระพุทธมหาธรรมราชา แต่ปางนี้เรียกกันทั่วไปว่า พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา ส่วนพระพุทธมหาธรรมราชา เราเชื่อว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งร่วมสมัยเดียวกันกับพ่อขุนผาเมือง และมีบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า พ่อขุนผาเมือง เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็น่าจะได้รับพระราชทานพระองค์นี้มา จากนั้นตามหลักศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม พ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวก็ยกทัพไปตีสุโขทัยคืนจากขอม แล้วพอกลับมา มเหสีซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็เกิดโมโหว่าทำไมไปตีเมืองของพ่อ ก็เลยเผาเมืองราดทิ้ง จากนั้น ก็มีการอันเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาหนีไฟมาตามลำน้ำสักที่คดเคี้ยว พอมาถึงแถวเมืองเพชรบูรณ์แพก็แตก แล้วพระก็จมน้ำ เหตุการณ์นี้เราเชื่อว่าเกิดก่อนสมัยสุโขทัย ก็ราวๆ 800 ปี”
ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์
“จากนั้นเวลาผ่านมา จนกระทั่งถึงช่วงกลางกรุงศรีอยุธยา ปกติแล้วจะมีปลาอยู่ในลำน้ำสักมาก แต่พอถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ก็เกิดปาฏิหาริย์ วันนั้นชาวบ้านหาปลาไม่ได้เลยสักตัว แล้วก็เกิดฝนฟ้าคะนอง ในลำน้ำสักมีน้ำวนเกิดขึ้น จากนั้นก็มีพระพุทธรูปผุดขึ้นมา ชาวบ้านก็เลยไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาจากน้ำ ซึ่งก็คือพระพุทธมหาธรรมราชาองค์นี้ แล้วก็นำไปมอบให้เจ้าเมืองเพื่อให้เก็บรักษาไว้ที่วัด”

“ต่อมาอีกหนึ่งปี ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 อยู่ๆ พระก็หายไป ไปหาที่ไหนก็ไม่เจอ แล้วก็มีคนบอกว่าให้ไปลองดูที่ที่พบท่านครั้งแรก บริเวณนั้นเรียกว่าวังมะขามแฟบ ปรากฏว่าเห็นพระพุทธรูปองค์นี้กำลังดำผุดดำไหว้อยู่ในน้ำ ก็เลยไปอัญเชิญกลับมาที่เดิม แล้วก็ตกลงกันว่าจากนั้นทุกวันสารทไทยก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปดำน้ำที่เดิมที่พบท่าน แล้วจะให้ปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยไป จนมาถึงตอนนี้ก็ราว 400 กว่าปี คนเพชรบูรณ์ก็ยึดถือปฏิบัติกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมา บางปีน้ำน้อย บางปีน้ำมาก ก็จะทำทุกปี”
พระพุทธมหาธรรมราชา (องค์จำลอง) ประดิษฐาน ณ วัดไตรภูมิ
“สำหรับพิธีอุ้มพระดำน้ำ จะมีการดำเฉพาะทิศเหนือและทิศใต้ เพื่อเป็นการจัดสมดุลให้แม่น้ำ ลำน้ำสักเป็นต้นน้ำ และมีพื้นที่ลาดชัน เวลาน้ำมาก็จะขึ้นเร็วลงเร็ว และคนเพชรบูรณ์มีความผูกพันกับระดับน้ำมาก ปีไหนที่น้ำมาเยอะ ก็จะดำน้ำโดยหันพระพุทธมหาธรรมราชาไปทางทิศใต้ก่อน ส่วนปีไหนที่น้ำน้อยก็จะหันไปทางทิศเหนือก่อน เป็นการขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยควบคุมธรรมชาติ นอกจากนี้ ในพิธีก็จะต้องมีเจ้าเมืองเป็นผู้ดำน้ำ เป็นกุศโลบายของคนโบราณที่จะให้ช่วยกันรักษาคุณภาพของน้ำ ไม่อย่างนั้นเจ้าเมืองก็ต้องดำน้ำเน่าไปเอง”

“ประเพณีอุ้มพระดำน้ำที่เพชรบูรณ์ ไม่ใช่เป็นพิธีกรรมงมงายหรือเป็นเรื่องไสยศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วก็คือการแฝงด้วยกุศโลบายของคนโบราณที่จะทำให้คนได้เกิดขวัญกำลังใจ ได้ช่วยการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นจุดรวมใจเพื่อช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง และเป็นการที่ทำให้คนได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนามากขึ้น”
ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร บริเวณที่จัดพิธีอุ้มพระดำน้ำ
ด้านการจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำในปี 2560 นี้ ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวถึงการจัดงานว่า มีความพร้อม 100% แล้ว เนื่องจากทางเทศบาลได้มีการจัดงานต่อเนื่องกันมาตลอดระยะเวลา 20 ปี และในปีนี้เป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมา

“การจัดงานในวันที่ 19 กันยายน ช่วงเช้า เวลา09.09 น. จะเป็นพิธีบวงสรวงเทพเทวดา เป็นการบอกกล่าวว่าเราจะทำพิธีอุ้มพระดำน้ำ ขอให้การจัดงานราบรื่น แล้วก็มีการเสี่ยงทายทิศการดำน้ำว่า ผู้ว่าฯ จะดำทิศใดบ้างในหกครั้ง คือดำทิศเหนือกับใต้ แต่การดำจะเลือกดำตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องเสี่ยงทายว่าดำครั้งที่หนึ่งทิศไทน ใต้หรือเหนือ ดำครั้งที่หนึ่งเสี่ยงทายทิศแล้วก็เสี่ยงทายคำอธิษฐานอีก คำอธิษฐานจะมีประกอบว่าเป็นเรื่องของการคมนาคม การเศรษฐกิจ การเกษตร เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ก็จะมีอยู่ในคำเสี่ยงทายคู่กันไปด้วย เพื่อจะบอกว่าปีนี้เพชรบูรณ์จะเป็นอย่างไร”
พระพุทธมหาธรรมราชา (จำลอง) ณ หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
ส่วนในช่วงเย็นของวันที่ 19 กันยายน เวลา 17.29 น. จะมีพิธีอัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชา จากวัดไตรภูมิ เพื่อแห่ไปรอบตัวเมืองเพชรบูรณ์ โดยขบวนแห่ ทั้ง 11 ขบวนในปีนี้เน้นความเป็นอัตลักษณ์ของเมืองเพชรบูรณ์ ขบวนแรกเป็นขบวนองค์พระ เป็นการแสดงถึงความศรัทธาที่ชาวเพชรบูรณ์มีต่อองค์พระมหาธรรมราชามาอย่างยาวนาน โดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมขบวนนี้ด้วย จากนั้นจะเป็นขบวนเทิดไท้สดุดีจักรีวงศ์ ขบวนขบวนศรีเทพเมืองมรดกโลก ขบวนวัฒนธรรมไทหล่ม ขบวนแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ขบวนดินดำน้ำชุ่มวิเชียรบุรี ขบวนดินแดนแห่งความสุขของคนอยู่และผู้มาเยือน ขบวนเพชรบูรณ์ดินแดนแห่งความรุ่งเรือง เป็นต้น โดยในขบวนต่างๆ ก็จะรวบรวมของดีของจังหวัดเพชรบูรณ์นำมาสอดแทรกให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้สัมผัส

“ในวันที่ 20 กันยายน เป็นเรื่องของการอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชามาดำน้ำ มีการอัญเชิญองค์พระมาจากวัดไตรภูมิ มาทำพิธีที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เวลา 10.39 น. โดยในขบวนอัญเชิญพระทางน้ำจะมีเรือประกอบในพิธี 28 ลำ เมื่อมาถึงบริเวณพิธีก็จะมีการตั้งจิตอธิษฐานเพื่อส่งเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 จากนั้นก็จะเรี่มพิธีอุ้มพระดำน้ำตามการเสี่ยงทาย สุดท้ายก็จะมีการนำเครื่องมงคลที่อยู่ในเรือทั้ง 28 ลำมาแจกจ่ายให้กับผู้ที่เข้าร่วมงาน”

“ตอนกลางคืนจะมีการแสดงแสงสีเสียง เทสกาลอาหารอร่อย ที่องค์พระใหญ่ (พุทธอุทยานเพชบุระ) แสงสีเสียงมี 5 วัน แต่วันแรกจะเป็นการซ้อมใหญ่ แต่งตัวเหมืองจริงแต่ไม่แต่งหน้า การแสดงชมฟรี เป็นการแสดงตำนานการเกิดประเพณีอุ้มพระดำน้ำ แล้วก็มีการสอดแทรกว่าปีนี้เราอยากให้ประชาชนเป็นอย่างไร เรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง ปีนี้จะเป็นเรื่องเทิดไท้กับเรื่องส่งเสด็จ งานมีวันละรอบ ตอน 20.00 น. ใช้เวลาแสดงประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที”
พิธีอุ้มพระดำน้ำ ปี 2559 (ภาพ : ททท.พิษณุโลก)
ทางด้าน นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้กล่าวถึงประเพณีอุ้มพระดำน้ำว่า “เดือนกันยายนนี้มีความสำคัญกับเพชรบูรณ์ คือวันแรม 15 ค่ำเ ดือน 10 มีประเพณีที่เรียกว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลก คือ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ที่มีมาเกือบสี่ร้อยปีแล้ว ในปีนี้เราจะจัดยิ่งใหญ่อลังการกว่าทุกปี พิธีอุ้มพระดำน้ำ เป็นพิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ ใครมาร่วมงานแล้วก็จะมีความเป็นสิริมงคลกับตัวเองไปตลอดทั้งปี หลังจากอุ้มพระดำน้ำแล้วก็จะทำให้แม่น้ำนั้นมีความศักดิ์สิทธ์ไปด้วย หลายคนก็ตักน้ำไปบูชากัน ในฐานะที่เป็นคนเพชรบูรณ์โดยกำเนิด ขอขอบคุณคนที่ช่วยกันสืบสานประเพณีนี้มาโดยตลอด พิธีนี้ถือว่าเป็นพิธีที่สร้างศรัทธา แล้วก็ทำให้คนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน”

สำหรับ “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” ในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2560 ณ พุทธอุทยานเพชบุระ วัดไตรภูมิ และวัดโบสถ์ชนะมาร อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยมีทั้งขบวนแห่รอบเมือง พิธีอุ้มพระดำน้ำ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันพายเรือทวนน้ำ การแสดงแสงเสียงตำนานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ และเทศกาลอาหารอร่อย ณ พุทธอุทยานเพชบุระ อีกด้วย

ผู้สนใจมาร่วมงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพิษณุโลก (ดูแลพิษณุโลก, เพชรบูรณ์) โทร.0 5525 2742-3, 0 5525 9907 และสามารถสอบถามรายละเอียดของแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยง ที่พัก ร้านอาหารได้กับทาง ททท. ด้วยเช่นกัน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น