xs
xsm
sm
md
lg

"ผ้าทอเมืองน่าน" มรดกทางวัฒนธรรมที่้้ต้องรักษาและต่อยอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คงน่าเสียดายไม่น้อย หากผ้าทอเมืองน่านจะต้องเลือนหายไปตามกาลเวลา ผ้าทอที่ไม่ใช่แค่เพียงผืนผ้าสำหรับชาวน่าน หากแต่เป็นสิ่งบ่งบอกวิถีชีวิตและภูมิปัญญาล้ำค่า ใครเล่าที่จะมาบอกกล่าวเรื่องราวได้ดีไปกว่าคนท้องถิ่นแท้ๆ ที่ทอเองใส่เองอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่จะเหลือสักกี่ผืนให้คนรุ่นหลังได้ชม หากความนิยมผ้าทอของคนไทยค่อยๆ เลือนหายไป

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยการนำของ ดร.พรสุข จงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว จึงเข้ามาสนับสนุนชุมชน 3 แห่งในจังหวัดน่านที่มีการรวมกลุ่มทอผ้าในชุมชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา และกลุ่มทอผ้าบ้านมหาโพธิ ให้ฟื้นคืนชีพผ้าทอเมืองนานให้กลับมารุ่งเรืองเหมือนในอดีต ด้วยกระบวนการพัฒนา 2 ส่วน คือ การพัฒนาต่อยอดสินค้าผ้าทอมือและยกระดับการรวมกลุ่มสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ทั้งนี้ อพท. เชื่อมั่นว่าแนวคิดการทำกิจการเพื่อสังคมจะช่วยให้ชุมชนเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานและการบริหารจัดการต้นทุนและรายได้เหมือนภาคธุรกิจ แต่สิ่งที่เหนือกว่าธุรกิจทั่วไป คือ การกระจายรายได้และประโยชน์คืนสู่ชุมชน


ในระยะแรก อพท. ได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ชุมชนพัฒนาต่อยอดผ้าทอเมืองน่านคุณภาพเยี่ยมให้ไปไกลกว่าเดิม เช่น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิธีการเลือกสี ออกแบบลายผ้า พัฒนามาตรฐานการทอผ้าจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ คุณสุทธิพันธุ์ เหรา และคุณนคร บังเมฆ เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมให้ชุมชนร่วมมือกับนักออกแบบ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีน่านและแบรนด์อื่นๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาให้ตอบโจทย์ตลาดผู้ใช้ผ้าทอกลุ่มต่างๆ และเปิดช่องทางการขายให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น


อย่างไรก็ตามสินค้าที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ชุมชนเดินต่อไปได้ในระยะยาว เพราะปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้คือความเข้มแข็งของกลุ่มและการบริหารจัดการภายใน อพท. จึงติดอาวุธเพิ่มให้ชุมชนด้วยแนวคิดการทำกิจการเพื่อสังคม เริ่มจากการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานให้ชุมชนจากเมืองน่านทั้ง 3 แห่งได้ไปสัมผัสกิจการเพื่อสังคมต่างๆ ด้วยตนเองที่จังหวัดเชียงราย ได้แก่ การเยี่ยมชมกลุ่มสตรีทอผ้าศรีดอนชัย และโครงการพัฒนาดอยตุงฯ เพื่อศึกษาวิธีการรวมกลุ่มและการประกอบกิจการเพื่อสังคมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบอย่างการทำงานที่ประสบความสำเร็จ แม่ๆ กลุ่มทอผ้าเมืองน่านจึงได้เรียนรู้วิธีการทำงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง รวมถึงสามารถหยิบยกข้อดีในแต่ละสถานที่มาต่อยอดให้เหมาะกับชุมชนตัวเองได้


ณ วันนี้ชุมชนทอผ้าทั้ง 3 แห่งพร้อมแล้วที่จะก้าวต่อไปอย่างมืออาชีพมากยิ่งขึ้น ทุกคนภายในกลุ่มไม่ได้เป็นแค่แรงงานการผลิต แต่เป็นหุ้นส่วนซึ่งกันและกัน มีการกระจายรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนโดยในกระบวนการผลิตผ้าทอ 1 ผืน เท่ากับการจ้างงานคนในชุมชนถึง 4 คน จากกระบวนการเก็บฝ้าย อีดฝ้าย ย้อมฝ้ายและทอผ้า ยิ่งไปกว่านั้นผ้าทอ 1 ผืนยังได้แบ่งปันสิ่งดีๆ คืนกลับสู่ท้องถิ่น ด้วยการปันส่วนรายได้จากการขายผ้าเข้ากองทุนส่วนกลางเพื่อใช้พัฒนาชุมชนและดูแลสวัสดิการของสมาชิกด้วย


เพื่อให้ผ้าทอเมืองน่านเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปมากขึ้น อพท.จึงพาสื่อมวลชนจากแหล่งต่างๆ มาชื่นชมผ้าทอเมืองน่านเพื่อช่วยกันบอกต่อของดีที่ชาวน่านภาคภูมิใจกับผ้าทอฝีมือไร้เทียมทาน ซึ่งผ้าทุกๆ ผืนสามารถบอกเล่าความสุขและความตั้งใจชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยกลุ่มทอผ้าแต่ละแห่งมีอัตลักษณ์ของตนเอง ดังนี้


วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง มีสมาชิกกว่า 40 คน โดยลายผ้าเอกลักษณ์ของที่นี่คือลายบ่อสวก ซึ่งเป็นรูปไหดินเผาที่ขุดพบในพื้นที่ตำบลบ่อสวก ชาวบ้านเชื่อว่าหากใส่ลวดลายนี้จะทำให้ผู้สวมใส่เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย นอกจากนี้ บ้านซาวหลวงยังรวมกลุ่มกันเพื่อทำการท่องเที่ยวชุมชน เปิดให้เข้าชมวิธีการทอผ้าตั้งแต่กระบวนการเก็บเม็ดฝ้ายจนกระทั่งเกิดเป็นผ้าทอ 1 ผืน รับประทานอาหารท้องถิ่น พร้อมเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง เช่น พิพิธภัณฑ์เฮือนบ้านสวกแสนชื่น เตาเผาโบราณ ศาลปู่ฮ่อ เป็นต้น


วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา อีกหนึ่งกลุ่มทอผ้าที่มีศักยภาพในตำบลบ่อสวก ผ้าทอสีเอิร์ธโทนและลายเอกลักษณ์อย่างลายดาวล้อมเดือน มีที่มาจากในสมัยก่อนผู้หญิงจะนั่งทอผ้าแกะลายอยู่ในบ้านจนมืดค่ำ เมื่อทอผ้าก็จะมีเสียงกี่กระทบ ผู้ชายก็จะทราบว่ามีหญิงสาวอยู่และมาห้อมล้อม กลายเป็นที่มาของลายดาวล้อมเดือน จัดเป็นลายผ้าที่มีความอ่อนหวานและถ่ายทอดวีถีชีวิตชาวน่านได้เป็นอย่างดี


กลุ่มทอผ้าบ้านมหาโพธิ กลุ่มทอผ้าแห่งนี้ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านการทอผ้า โดยมีนางเพลินจิต พ่วงเจริญ อดีตผู้ใหญ่บ้านหญิงแกร่งเป็นผู้นำและมีวัดมหาโพธิเป็นศูนย์รวมความตั้งใจการอนุรักษ์ผ้าพื้นเมือง โดยเฉพาะลายผ้าโบราณอย่างลายคำเคิ้บ หรือฝ้ายเคลือบทอง และน่ายินดีที่ชาวบ้านมีวิสัยทัศน์ไกล ถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ในชุมชน รวมถึงเปิดพื้นที่กลุ่มให้เป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้เทคนิคการทอผ้าแก่ผู้ที่สนใจด้วย

ในวันนี้ชุมชนทั้งสามแห่งพร้อมแล้วที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านี้แก่ผู้ที่ชื่นชอบ รวมถึงต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสัมผัสวัฒนธรรมให้ถึงถิ่น ซึ่งหลายๆชุมชนยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาให้กับผู้สนใจได้ลองไปลงมือทำจริง ทั้งขั้นตอนการปั่นฝ้าย การทอ การย้อมสี รวมไปถึงนำกลับไปใช้เองได้อีกด้วย บอกได้คำเดียวว่า ถ้าได้เห็นกระบวนการทอแล้ว จะอดใจไม่ไหว อยากจะซื้อติดไม้ติดมือกลับไปสักผืน ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมกิจการทอผ้าหรือกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ ในจังหวัดน่าน สามารถติดต่อสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน (อพท.6) โทร. 054-771-077 E-mail : dastanan@dasta.or.th หรือ dasta.nan@gmail.com หรือติดต่อชุมชนได้โดยตรงที่ แม่วัลลภา อินผ่อง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง โทร 088 454 1005 แม่บุญนอง สายอุทธา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา โทร 085 364 9630 และแม่เพลินจิต พ่วงเจริญ กลุ่มทอผ้าบ้านมหาโพธิ โทร 081 023 4452
กำลังโหลดความคิดเห็น