xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวญี่ปุ่น เยือนฮอลันดา ดูสมบัติล้ำค่า ที่ “อยุธยา” เมืองเก่าของเรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม ประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัย
“อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน จิตใจอาวรณ์มาเล่ากันสู่กันฟัง อยุธยาแต่ก่อนนี้ยัง เป็นดังเมืองทองของพี่น้องเผ่าพงศ์ไทย” ฉันฮัมเพลง “อยุธยาเมืองเก่า” อยู่ในใจ ขณะที่กำลังออกเดินทางมาเที่ยวยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับทาง “เคทีซี” ที่ได้จัดทริปทำดีกลางปี “รับรู้ รู้รักษ์ พักรบ” เพื่อร่วมสืบสานประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมสู่คนรุ่นหลัง ซึ่งฉันรู้สึกดีมากที่ในทริปนี้ได้มีโอกาสเดินทางมาสัมผัสและรับรู้เรื่องราวประวัติศสาสตร์ของอยุธยาที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองมรดกโลก

ฉันเริ่มต้นทริปเยือนอยุธยาด้วยการไปชมวัดเก่าที่เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่ายิ่ง ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าเมื่ออดีตอยุธยาเคยรุ่งเรืองเพียงใด โดยวัดที่มานี้คือ “วัดบรมพุทธาราม” ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา วัดแห่งนี้เมื่ออดีตเป็นพระอารามหลวง เป็นวัดที่สมเด็จพระเพทราชากษัตริย์อยุธยาองค์ที่ 28 แห่งราชวงค์บ้านพลูหลวง โปรดให้สร้างขึ้นในบริเวณย่านป่าตองอันเป็นนิวาสสถาน (บ้าน)เดิม กล่าวกันว่าสมเด็จพระเพทราชาทรงได้รับแรงบันดาลใจจากกระเบื้องที่ใช้มุงหลังคาพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาทภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่เมืองลพบุรี จึงได้สั่งทำกระเบื้องเคลือบสีเดียวกันมามุงหลังคาพระอุโบสถ วิหาร วัดนี้จึงมีอีกชื่อเรียกว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ”
เจดีย์ทรงปรางค์ ที่วัดบรมพุทธาราม
แม้ปัจจุบันนี้จะไม่ได้เห็นหลังคาวัดที่มุงด้วยกระเบื้องเคลือบอันสวยงาม แต่ภายในวัดยังคงหลงเหลือร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองทางประวัติศาสตร์ให้ได้ยลกันอยู่ มีพระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานแอ่นโค้งเป็นรูปท้องเรือสำเภา ซุ้มประตูหน้าต่างตกแต่งด้วยลายปูนปั้นที่มีความงดงาม ภายในพระอุโบสถดูขรึมขลัง มีพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัยประดิษฐานเป็นพระประธาน และมีเจดีย์ทรงปรางค์ 2 องค์ตั้งเรียงกันอยู่ให้ได้ชมความเก่าแก่
สุสานเจ้าพระยาบวรราชนายก
ชมวัดบรมพุทธารามแล้ว เดินเท้ามาไม่ไกลภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ นั่นคือ “สุสานพระยาบวรราชนายก” เจ้าคุณกลางเมือง (เฉกอะหมัด) เป็นปฐมจุฬาราชมนตรีของชาวมุสลิมในประเทศไทย และเป็นต้นสกุลของไทยมุสลิมหลายนามสกุล และสกุลบุนนาค

ท่านเฉกอะหมัด เป็นพ่อค้าแขกชาวเปอร์เซียที่เดินทางเข้ามาทำการค้าสำเภายังกรุงศรีอยุธยา พร้อมด้วยน้องชายของท่าน ตั้งแต่ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ราวปี พ.ศ. 2143) มีความเจริญก้าวหน้าในด้านการค้ากับราชสำนัก จนได้รับความไว้วางพระทัยในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และเติบโตในงานราชการ จากพระยาเฉกอหะหมัดรัตนราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าขวา จุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทย และได้รับพระราชทานที่ดินตั้งชุมชนอยู่ในพระนครด้านใต้ ท่านรับใช้ราชการบ้านเมืองก้าวหน้า จนดำรงตำแหน่งออกญาบวรราชนายก ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง และถึงอนิจกรรมในรัชกาลนี้ โดยศพของท่านถูกนำมาฝังไว้ที่ป่าช้าแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคูเดิม
ด้านในสุสานเจ้าพระยาบวรราชนายก
สุสานแห่งนี้มีความงดงามเป็นอย่างมาก ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เป็นอาคารรูปโดมทองอันสง่างาม ด้านในมีแท่นสี่เหลี่ยมเหนือหลุมศพของท่านซึ่งแท่นเป็นหินอ่อนสีชมพู จะมีผู้คนมากราบไหว้ท่านอยู่เนืองๆ ซึ่งท่านถือว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีคุณูปการต่ออยุธยาเป็นอย่างยิ่ง
พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ
ได้กราบท่านเฉกอะหมัดแล้ว ฉันออกทัวร์วัดกันต่อ มุ่งหน้ามายัง “วัดราชบูรณะ” สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา เป็นหนึ่งในวัดที่ใหญ่ และมีความเก่าแก่มากที่สุดในพระนครศรีอยุธยา และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่กล่าวขานกันมาก เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2499 ได้ถูกกลุ่มคนร้ายเข้ามาลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน

"วัดราชบูรณะ" เป็นโบราณสถานที่มีความยิ่งใหญ่ ที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยของพระอารามหลวงในสมัยอยุธยาอันทรงคุณค่า และมีรอยอดีตที่แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของอยุธยาทางด้านพระพุทธศาสนาให้ได้ชมมากมาย มีจุดเด่นอยู่ที่ปรางค์ประธานขนาดใหญ่ ที่ตั้งเด่นเป็นสง่า องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงบนฐานสี่เหลี่ยมถือเป็นปรางค์แบบไทย ที่นิยมทำฐานสูง มีเจดีย์อยู่ทั้งสี่ทิศ มีตรีมุขและบันไดทางขึ้นทั้งสามด้านทางทิศตะวันออก ส่วนยอดเรียวแหลมสูง คล้ายฝักข้าวโพด
วัดราชบูรณะโบราณสถานที่ยิ่งใหญ่
พระปรางค์ประธานนี้ สามารถเดินขึ้นไปด้านบนได้ มีไฮไลท์อยู่ที่ด้านในปรางค์จะมีทางเดินบันไดให้เดินลงไปชมกรุโบราณที่ทางกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ. 2500 แม้ภายในกรุจะไม่มีสมบัติเก่าล้ำค่าให้ชมแล้ว เพราะนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา แต่ก็ยังมีภาพจิตกรรมโบราณอันงดงามให้ได้ยล
หลวงพ่อขาว ประดิษฐานในพระวิหารวัดแม่นางปลื้ม
จากวัดราชบูรณะ ออกเดินทางกันต่อมาที่ “วัดแม่นางปลื้ม” เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ที่ไม่ได้ใหญ่โตนัก แต่มีความเงียบสงบร่มรื่นดี เป็นวัดที่งดงามด้วยโบราณสถานที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา วัดแม่นางปลื้มเป็นฐานที่พม่ายิงปืนใหญ่เข้าไปในกำแพงพระนคร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วัดไม่ถูกเผาทำลายเหมือนวัดอื่นๆ
เจดีย์ทรงระฆังคว่ำฐานสิงห์ล้อม ที่วัดแม่นางปลื้ม
ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมหลายอย่าง มีพระวิหารเก่าแก่ที่ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อขาว” หรือ “พระพุทธนิมิตมงคลศรีรัตนไตร” พระประธานองค์สีขาวบริสุทธิ์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามและมีความศักดิ์สิทธิ์ ฉันได้กราบขอพรพระท่านเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง

จากนั้นเดินออกจากพระวิหาร มาชมเจดีย์ที่ตั้งอยู่ด้านหลัง เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสิงห์ล้อม ศิลปะสมัยอยุธยาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมร มีความสมบูรณ์สวยงามเป็นอย่างมาก และฉันยังได้เข้าไปชมพระอุโบสถหลังใหม่ ที่ด้านในมีพระพุทธรูปให้ได้เข้ากราบขอพร
สมบัติโบราณล้ำค่ามากมายจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
หลังจากได้ทัวร์ไหว้พระจนอิ่มบุญกันแล้ว ฉันออกเดินทางไปชมสมบัติชาติที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีกันที่นี่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 และเปิดให้เข้าชมเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ที่นี่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และศิลปวัตถุที่พบใน จ.พระนครศรีอยุธยา และจากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานที่สำคัญๆ ไว้มากมาย ซึ่งจัดแสดงไว้ภายใน 3 อาคาร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา มีโบราณวัตถุมากหลายให้ชม
ฉันได้เข้าไปชมภายในอาคารตึกเจ้าสามพระยา ซึ่งเป็นอาคารหลักที่สำคัญที่สุด ด้านในอาคารชั้นล่างมีการจัดแสดงพระพุทธรูปโบราณที่งดงามอันล้ำค่ามากมาย และมีงานแกะสลักไม้ฝีมือช่างสมัยอยุธยาอันตื่นตาให้ได้ชม ด้านบนมีของโบราณหลากหลายให้ได้ชมมากมายไม่ว่าจะเป็น ใบเสมาโบราณ ตู้พระไตรปิฎก พระพุทธรูปเก่าแก่ และมีห้องที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุโบราณให้ได้สักการะ ห้องจัดแสดงทองคำ พระทองคำ ของโบราณมากหลายที่ได้มาจากกรุวัดราชบูรณะ ซึ่งการได้มาเห็นสมบัติของชาติ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นของโบราณที่ทรงคุณค่าและล้ำค่ามากมายขนาดนี้ ทำให้ฉันรับรู้ได้เลยว่าอยุธยาเมืองเก่าของเรานั้นมีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองเพียงใด
เรื่องราวท้าวทองกีบม้า ที่หมู่บ้านญี่ปุ่น
หลังจากได้ชมสมบัติชาติอันตื่นตาตื่นใจแล้ว ฉันเดินทางมาเที่ยวที่ “หมู่บ้านญี่ปุ่น” ซึ่งเมื่ออดีตในสมัยกรุงศรีอยุธยามีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก ญี่ปุ่นก็เป็นชนชาติหนึ่งที่ได้เข้ามาอยู่ในอยุธยา ทำให้เกิดชุมชนชาวญี่ปุ่นขึ้น ภายในหมู่บ้านญี่ปุ่นนี้มีเรื่องราวความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่นให้ได้ชม มีอาคารนิทรรศการนำเสนอความรุ่งเรืองของบ้านเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แสดงเส้นทางการค้าขาย การเดินเรือต่างๆ มีการจำลองสินค้าที่ญี่ปุ่นนำมาขายกับไทย อาทิ พัดญี่ปุ่น ดาบญี่ปุ่น และสินค้าที่ญี่ปุ่นซื้อจากไทย อาทิ ไม้ฝาง งาช้าง หนังกวาง

มีอาคารจัดแสดงมัลติมีเดียเล่าเรื่องราวของชาวญี่ปุ่น ที่เข้ามารับราชการในราชสำนักอยุธยา อย่างท่านยามาดะ นางามาซะ และท้าวทองกีบม้า พร้อมกับมีนิทรรศการของยามาดะ นางามาซะ (ออกญาเสนาภิมุข) ขุนนางชาวญี่ปุ่นในราชสำนักอยุธยา เป็นหัวหญ้าชาวญี่ปุ่นและเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นออกญาเสนาภิมุข มีรูปปั้นของออกญาเสนาภิมุข ชุดนักรบญี่ปุ่นสมัยโบราณ และมีดาบอยุธยาให้ชม

แล้วก็เรื่องราวของท้าวทองกีบม้า (มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา) เป็นชาวอยุธยาลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น ที่ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งท้าวทองกีบม้า หัวหน้าพนักงานวิเสทกลาง (ครัว) ดูแลของหวานแบบเทศ และได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นตำรับขนมตระกูลทอง ไม่ว่าจะเป็น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของโปรตุเกส และด้านในมีการจัดสวนสไตล์ญี่ปุ่นสวยๆ มีศาลาให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจ เดินถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลิน
หมู่บ้านฮอลันดา จัดแสดงนิทรรศการแสดงเรื่องราวชาวฮอลันดา
ครั้นเดินชมหมู่บ้านญี่ปุ่นจนทั่วแล้ว ฉันเดินทางมาปิดทริปเที่ยวอยุธยากันที่ “หมู่บ้านฮอลันดา” โดยชาวฮอลันดาได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในปลายช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่อมาปี พ.ศ. 2151 จึงได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเอกาทศรถให้ตั้งสถานีการค้าแห่งแรก แล้วปี พ.ศ. 2177 สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงตอบแทนการที่ Dutch East India Company หรือ วีโอซี (VOC) ให้ความช่วยเหลือทางการทหารด้วยการส่งเรือไปช่วยกองทัพสยามในกรณีพิพาทกับปัตตานี ได้พระราชทานที่ดินผืนใหญ่สำหรับก่อตั้งสถานีการค้า ซึ่งติดแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่นอกเกาะเมือง สะดวกต่อการขนถ่ายสินค้าขึ้นลงเรือ

“หมู่บ้านฮอลันดา” ในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นมาใหม่บนพื้นที่เดิม เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ ข้างล่างเป็นคาเฟ่และร้านค้า ส่วนด้านบนเป็นห้องนิทรรศการจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์บอกเล่าความเป็นมาของความสัมพันธ์กว่า 400 ปีของไทยและเนเธอร์แลนด์ ที่เริ่มจากการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา Dutch East India Company หรือ วีโอซี (VOC) ที่ได้เข้ามาค้าขายกับอยุธยา มีการจัดแสดงสินค้าที่ชาวฮอลันดามาซื้อขายกับชาวอยุธยา มีข้าวของเครื่องใช้สมัยเก่า บอกเล่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การติดต่อค้าขายของชาวฮอลันดา และมิตรไมตรีความสัมพันธ์กับชาวไทย

เรียกว่าการได้มาเที่ยว “อยุธยา” ในทริปนี้ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกกระตุ้นปลุกจิตสำนึกในใจ ว่าเราคนไทยควรจะต้องช่วยกันอนุรักษ์สมบัติชาติที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ไว้ เพื่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้รู้จักและรู้รักษ์ประวัติศาสตร์ชาติไทย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น