บูรณะเสร็จไปสดๆ ร้อนๆ สำหรับองค์พระปรางค์แห่งวัดอรุณราชวราราม ที่ก่อนหน้านี้มีการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมเข้าเฝือกมานานหลายปี มีโครงเหล็กนั่งร้านบดบังความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ สัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพฯ อยู่นานทีเดียว
แม้เพิ่งบูรณะเสร็จใหม่ๆ แต่ก็กลายเป็นกระแสข่าวร้อนเมื่อมีประเด็นว่า การซ่อมแซมนั้นทำให้ความงดงามของพระปรางค์ลดลง ด้วยสีสันที่ผิดแผกไปจากเดิม รวมถึงลวดลายของกระเบื้องโบราณที่ประดับตกแต่งก็หายไป แต่ทางวัดและอธิบดีกรมศิลป์ออกโรงแถลงยืนยันเองว่า การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ถอดแบบของเดิมอย่างละเอียด ส่วนสีที่ขาวขึ้นนั้นก็เกิดจากสีน้ำปูนเหมือนสมัยบูรณะในยุครัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ส่วนกระเบื้องของเดิมยังอยู่ถึง 60% เซาะออกแค่ 40% และเก็บไว้ใช้ในวันข้างหน้า
“วัดอรุณราชวราราม” เป็นวัดเก่าแก่ของกรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดประจำวัง เพราะอยู่ในเขตของพระราชวังเดิม จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา พอมาสมัยในกรุงรัตนโกสินทร์ วัดอรุณฯ ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 โดยในขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 1 นั้น พระองค์ได้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม และได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณนี้หลายๆ ด้านด้วยกัน โดยอัฐิของพระองค์ประดิษฐานอยู่ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ ปัจจุบันยังมีรูปตราครุฑตรงผ้าทิพย์เป็นเครื่องหมาย
ส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์และให้มีการจัดงานฉลองสมโภชขึ้น โดยทรงสถาปนาวัดอรุณฯ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกอันดับหนึ่ง และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งแรก
นอกจากนั้นแล้ว ในวัดอรุณฯ รวมถึงองค์พระปรางค์ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่คุณอาจยังไม่เคยรู้ ที่วันนี้เราจะพาไปชมกัน
1. กว่าจะมาเป็น “วัดอรุณราชวราราม”
ก่อนหน้าที่จะได้ชื่อว่า “วัดอรุณราชวราราม” วัดแห่งนี้เคยถูกเรียกในหลายชื่อด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ “วัดมะกอก” ที่สันนิษฐานว่ามาจาก “วัดบางมะกอก” ซึ่งเรียกไปตามที่ตั้งและลักษณะเด่นของสถานที่ซึ่งเดิมคงจะมีต้นมะกอกอยู่มาก และต่อมามีวัดอีกแห่งหนึ่งสร้างลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ จากวัดมะกอกเฉยๆ จึงได้ชื่อใหม่ว่า “วัดมะกอกนอก” (ส่วนวัดใหม่นั้นคือวัดมะกอกใน)
ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้กรีฑาพลล่องมาทางชลมารค พอมาถึงหน้าวัดมะกอกนอกยามรุ่งแจ้งพอดี วัดนี้จึงได้ชื่อใหม่ว่า “วัดแจ้ง” และครั้นเมื่อมีการปฏิสังขรณ์วัดแจ้งครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์จึงได้พระราชชื่อใหม่ให้สมเกียรติของวัดว่า “วัดอรุณราชธาราม” ก่อนที่ในสมัยรัชกาลที่ 4 จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชวราราม” ดังปัจจุบัน
2. เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมานานถึง 5 ปี!
ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ยังทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พระองค์ได้ตีเมืองเวียงจันทน์ แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์คือพระแก้วมรกตและพระบางลงมาด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดแจ้ง โดยอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในพระมณฑป มีการสมโภชใหญ่ถึง 7 วัน 7 คืน
องค์พระแก้วมรกตนั้นได้ประดิษฐานอยู่ที่นี่นานถึง 5 ปี ก่อนจะย้ายมาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวังอย่างในปัจจุบัน ส่วนพระบางนั้นได้อัญเชิญกลับคืนไปยังนครเวียงจันทน์ดังเดิม
3. องค์พระปรางค์เปรียบดัง “เขาพระสุเมรุ”
องค์พระปรางค์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด ฐานกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง และเหนือขึ้นไปอีกเป็นพระมหามงกุฎ
กลุ่มพระปรางค์ประกอบด้วยของปรางค์ประธานซึ่งมีความสูง 81.85 เมตร และปรางค์ทิศจำนวน 4 ปรางค์ เป็นปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ปรางค์ทิศตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์
ทั้งนี้การสร้างพระปรางค์นั้นเป็นไปตามคติไตรภูมิ โดยองค์ปรางค์เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุกลางทะเลสีทันดร แวดล้อมด้วยปรางค์ทิศทั้งสี่แทนสี่ทวีปในไตรภูมิ ได้แก่ อุตรกุรุทวีปด้านทิศเหนือ บุรพวิเทหทวีปด้านตะวันออก อมรโคยานทวีปด้านตะวันตก และชมพูทวีปด้านทิศใต้ซึ่งเป็นที่อาศัยของมนุษย์ โดยบริเวณฐานพระปรางค์มีสัตว์ป่าหิมพานต์ เช่น กินนร กินนรี มียักษ์แบกฐานพระปรางค์อยู่ชั้นล่างสุด ลิงแบกอยู่เหนือขึ้นมา และเทวดาแบกอยู่ชั้นบนสุด
4. พระปรางค์ดั้งเดิมสูงเพียง 8 วา เท่านั้น
พระปรางค์ของวัดอรุณฯ ที่เปรียบเป็นดังสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ นั้น แต่เดิมไม่ได้สูงใหญ่ถึงเพียงนี้ โดยพระปรางค์องค์เดิมที่อยู่คู่วัดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเดิมสูงเพียง 8 วา หรือ ประมาณ 16 เมตรเท่านั้น พอมาในสมัยรัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงพระราชดำริว่าควรจะเสริมสร้างให้ใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร จึงโปรดให้กำหนดที่ลงมือขุดราก แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน ต่อมารัชกาลที่ 3 จึงได้สืบสานพระราชดำริต่อจากพระราชบิดดา ได้สร้างเสริมพระปรางค์ขึ้นจนสำเร็จจนมีความสูง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ กับ 1 นิ้ว หรือประมาณ 81.85 เมตร ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ และยังคงแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ได้นี้แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
5. งดงามสมส่วนด้วย “ทรงจอมแห”
องค์พระปรางค์วัดอรุณแม้มีขนาดสูงใหญ่ แต่กลับดูไม่เทอะทะ หากแต่ดูสมส่วนงดงามลงตัว โดยรองศาสตราจารย์สมคิด จิระทัศนกุล จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านงานสถาปัตยกรรมไทยในอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้อธิบายถึงรูปทรงของพระปรางค์วัดอรุณฯ ไว้ในหนังสือ “รู้เรื่อง วัดวิหาร โบสถ์ เจดีย์ : พุทธสถาปัตยกรรมไทย” ว่า เป็น “ทรงจอมแห” โดยในหนังสือได้กล่าวไว้ดังนี้
“...ทรงจอมแห : หมายถึงรูปทรงของพระปรางค์ที่สร้างโครงรูปเส้นรอบนอกให้มีลักษณะแอ่นโค้งเหมือนอาการทิ้งน้ำหนักตัวของ “แห” ที่ถูกยกขึ้น รูปทรงเช่นนี้ความจริงถูกนำมาใช้กับการออกแบบพระเจดีย์สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาก่อนแล้ว ก่อนจะนำมาพัฒนาใช้กับรูปทรงพระปรางค์บ้าง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาที่บรรลุผลทางการออกแบบอย่างสูงสุดครั้งสุดท้าย โดยเฉพาะกับองค์พระปรางค์ประธาน วัดอรุณราชวรารามฯ ธนบุรี ที่ต้องถือว่ามีความงดงามที่สุดในกระบวนการพระปรางค์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งหมด
ซึ่งความสำเร็จของการออกแบบ “รูปทรงจอมแห” ของพระปรางค์แห่งนี้ อยู่ที่การเน้นส่วนฐานด้วยการซ้อนชั้นจำนวนนับไม่ถ้วนเพื่อเป็นการเสริมให้อาคารมีความสูงมากๆ จึงต้องยืดส่วนของฐานให้กว้างขึ้นกว่าปกติ เพียงพอให้สามารถเบียดทรวดทรงอาคารให้เกิดลักษณะที่แอ่นโค้งได้สำเร็จตามรูปทรงดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เรือนธาตุกับส่วนยอดอันเพรียวบางนั้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่หลงเหลือความยิ่งใหญ่ตระการตาอย่างต้นฉบับแบบเดิมของ “ทรงศิขร”อยู่เลย แต่ทว่ากลับสะท้อนถึงความสุนทรีย์แห่ง “รูปทรง” ลักษณะใหม่ที่งดงามอย่างหมดจด รวมทั้งความละเอียดในเชิงการออกแบบรูปแบบแผนผัง และองค์ประกอบตกแต่ง ซึ่งก็ยังสามารถสนองรับกับแนวคิดในเรื่องของ “คติจักรวาล” ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามคติเดิมอีกด้วย...”
6. พระมหามงกุฎนภศูลบนยอดปรางค์มาจากไหน??
บนยอดพระปรางค์อันสูงลิบนั้น หลายคนอาจยังไม่เคยเห็นว่ามีพระมหามงกุฎอันงดงามประดิษฐานอยู่ แต่เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ผ่านมา ทำให้ภาพของพระมหามงกุฎนั้นเผยโฉมสู่สายตาของคนไทย โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อได้มีการเสริมสร้างองค์พระปรางค์ขึ้นใหม่ ในครั้งนั้นเดิมยอดพระปรางค์จะทำป็นยอดนภศูลตามพระปรางค์แบบโบราณ แต่ครั้นใกล้วันฤกษ์ รัชกาลที่ 3 กลับโปรดให้ยืมมงกุฎที่หล่อไว้สำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องพระประธานในวัดนางนอง มาต่อบนยอดนภศูล
ดังนั้นหากใครอยากเห็นแบบของพระมหามงกุฎบนยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ แบบชัดๆ สามารถมาชมอย่างใกล้ชิดกันได้ที่วัดนางนอง ในย่านจอมทอง กรุงเทพฯ นี่เอง
7. ใครๆ ก็มีพระปรางค์วัดอรุณฯ อยู่ใกล้ตัว
ความงดงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็นภาพชินตาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ที่เมื่อมาเยือนเมืองไทยก็ต้องมาชมและถ่ายภาพความงามมุมนี้กลับไปเป็นที่ระลึก หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่าง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือ ททท. จึงได้ใช้ภาพของพระปรางค์วัดอรุณฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ หรือโลโก้ โดยนำไปประกอบกับเรือสุพรรณหงส์ ที่แสดงถึงความเป็นเมืองไทย โดยได้ใช้โลโก้นี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2505 แล้ว
ไม่เพียงโลโก้ของหน่วยงานเท่านั้น แต่พระปรางค์วัดอรุณฯ ยังอยู่ติดตัวใกล้ๆ คนไทยแทบทุกคนมาตลอดชีวิต ไม่เชื่อก็ลองหยิบเหรียญ 10 บาทมาพลิกด้านก้อยดูสิ
8. พระอาทิตย์ตกงดงามริมน้ำเจ้าพระยา
แม้จะได้ชื่อว่า “วัดอรุณฯ” ที่หมายถึงยามเช้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวัดอรุณฯ จะงดงามที่สุดก็คือยามเย็น เพราะพระอาทิตย์จะตกลับไปบริเวณด้านหลังวัดทางทิศตะวันตก ทิ้งไว้เพียงแสงฉาบทองที่ช่วยขับให้องค์พระปรางค์ดูโดดเด่นขึ้นเมื่อถ่ายภาพแบบย้อนแสง หรือซิลลูเอทท์ เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อมองมาจากฝั่งพระนคร
ภาพยามเย็นของวัดอรุณฯ นี้งดงามจนศิลปินแจ๊ซ-บอสซ่า ชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ “ลิซ่า โอโนะ” ได้นำเอาฉากภาพวัดอรุณยามโพล้เพล้มาเป็นปกอัลบั้มของเธอในชุดเอเชีย จนวัดอรุณฯ ของไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้นไปอีก
9. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเวลาและพระปรางค์วัดอรุณ
ปิดท้ายเรื่องน่ารู้ของพระปรางค์วัดอรุณกันด้วยเรื่องของ “เวลา”
ใน พ.ศ. 2463 ประเทศไทยเริ่มใช้เวลาอัตราโดยถือเอาเวลาของเมริเดียน 105° ตะวันออกของกรีนิช ซึ่งผ่านจังหวัดอุบลราชธานีเป็นมาตรฐานของเวลาอัตรา ฉะนั้นเวลาในประเทศไทยจึงเร็วกว่าเวลาสมมติกรีนิช 7 ชั่วโมง แต่ถ้าถือเอาเมริเดียนที่ผ่านพระปรางค์วัดอรุณฯ คือเมริเดียน 100° 29’ 33” แล้ว จะเร็วกว่าเวลาสมมติเพียง 6 ชั่วโมง 41 นาที 58 วินาที เท่านั้น
10. เตรียมตัวร่วมงานใหญ่ สมโภชพระปรางค์วัดอรุณฯ
เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์เสร็จสมบูรณ์แล้ว หลังจากนี้ก็จะมีพิธีสมโภชพระปรางค์วัดอรุณฯ ต่อไป โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2560 - 5 ม.ค. 2561 รวม 10 วัน ทั้งนี้ ในงานจะมีกิจกรรมสำคัญเกี่ยวกับพระปรางค์วัดอรุณ และประวัติศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรม เช่น การถวายสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพิธีสวดมนต์ข้ามปี และทำบุญตักบาตรต้อนรับปีใหม่ นิทรรศการเล่าขานตำนานวัดอรุณ นิทรรศการเล่าเรื่อง 250 ปี กรุงธนบุรี นิทรรศการภาพถ่ายวัดอรุณตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลาดย้อนยุคแสดงวัฒนธรรมไทยด้านอาหารคาวหวาน การแสดงหนังใหญ่ การแสดงตีกลอง เป็นต้น ก็ขอให้ติดตามข่าวกันต่อไป และไปร่วมงานสมโภชพร้อมๆ กัน
***ข้อมูลส่วนหนึ่งอ้างอิงจากหนังสือ “ประวัติวัดอรุณราชวราราม” จัดพิมพ์ในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพพระธรรมสิริชัย (บุญเลิศ โฆสโก) 19 เมษายน 2552 ณ เมรุปราสาทรามัญ วัดอรุณราชวราราม
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com