xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “กิ้งกือมังกรสีชมพู” หนึ่งเดียวในโลก ที่ “หุบป่าตาด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิ้งกือมังกรสีชมพู พบได้แห่งเดียวในโลกคือที่หุบป่าตาด
อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุทัยธานี นั่นก็คือ “หุบป่าตาด” ในพื้นที่ดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน อ.ลานสัก ซึ่งมีความโดดเด่นจากความงามที่น่าพิศวงของป่าโบราณแห่งนี้

หุบป่าตาดมีลักษณะเป็นป่าดึกดำบรรพ์ที่อุดมไปด้วย “ต้นตาด” หรือ “ต้นต๋าว” (Arenga pinrata) พืชตระกูลปาล์ม มีใบเป็นแฉกแผ่กว้างสยาย ชอบขึ้นในพื้นที่ป่าดงดิบที่มีอากาศเย็นชื้นสภาพหนาทึบ ส่วนที่ถือเป็นดังแม่เหล็กดึงดูดให้คนอยากไปสัมผัสก็คือบรรยากาศแห่งนี้ที่มีลักษณะเหมือนป่าโบราณป่าดึกดำบรรพ์ชวนให้นึกถึงหนังเกี่ยวกับไดโนเสาร์ต่างๆ เพราะที่นี่อวลเสน่ห์ไปด้วยต้นตาดหนาแน่นแผ่สยายใบร่มครึ้ม ช่วงกลางหุบมีเวิ้งถ้ำเป็นช่องประตูขนาดใหญ่สามารถเดินทะลุถึงกัน และระหว่างทางเดินเข้าไปชมด้านใน ก็ยังต้องเดินผ่านถ้ำมืดๆ ผ่านป่าครึ้มเขียวชอุ่มชุ่มชื้น
หุบป่าตาด จ.อุทัยธานี
ทางเดินเข้าสู่หุบป่าตาด
และความอุดมสมบูรณ์ของป่าแห่งนี้ ก็ยังทำให้มีสัตว์หลากหลายชนิดอาศัยอยู่ โดยเฉพาะ “กิ้งกือมังกรสีชมพู” ซึ่งสามารถพบได้เฉพาะที่หุบป่าตาดแห่งนี้ที่เดียวในโลก

“กิ้งกือมังกรสีชมพู” (Shocking pink millipede) ถูกค้นพบโดยสมาชิกในชมรมคนรักกิ้งกือ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 พบครั้งแรกที่หุบป่าตาด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จังหวัดอุทัยธานี และพบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก
ลักษณะเหมือนป่าดึดำบรรพ์
เมื่อ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา นำมาศึกษาภายใต้โครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน และร่วมกับ ศ.เฮนริค อิงฮอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งกือชนิดใหม่ของโลก และให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Desmoxytes purpurosea และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ ซูแทกซา (Zootaxa) ตั้งแต่ปี 2550 จนกระทั่งวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 สถาบันไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration : IISE) มหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ประกาศให้กิ้งกือมังกรสีชมพู เป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เป้นอันดับ 3 ของโลก รองจากการค้นพบปลากระเบนไฟฟ้าในแอฟริกา และการค้นพบฟอสวิลไดโนเสาร์ปากเป็ดอายุ 75 ล้านปี ในสหรัฐอเมริกา
ตัวอ่อนของกิ้งกือมังกรสีชมพู
เหตุที่ได้ชื่อว่า “กิ้งกือมังกรสีชมพู” เพราะอยู่ในวงกิ้งกือมังกร หรือ พาราดอก โซโซมาติดี และมีสีชมพูสดใสแบบช็อกกิ้งพิงค์ และมีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร พบได้ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูงและอุดมสมบูรณ์ เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 เช็นติเมตร มีจำนวนปล้องราว 20-40 ปล้อง และสามารถปล่อยสารประเภทไซยาไนต์ออกมาจากต่อมขับสารพิษข้างลำตัวเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรูธรรมชาติจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู เป็นต้น
สามารถพบกิ้งกือมังกรสีชมพูได้ในช่วงเดือน ส.ค.-พ.ย. ของทุกปี
ใครที่อยากจะเห็นตัวจริงของกิ้งกือมังกรสีชมพู สามารถมาชมได้ที่หุบป่าตาดแห่งนี้ ระหว่างทางเดินลองสังเกตดูข้างทาง ตามพื้น หรือใต้ต้นไม้ อาจจะมองเห็นกิ้งกือสีชมพูตัวเล็กๆ อยู่ด้วย หรือตามแอ่งน้ำข้างทางเดิน อาจจะเห็นก้อนสีชมพูเล็กๆ ลอยตัวอยู่บนผิวน้ำ นั่นก็คือตัวอ่อนของกิ้งกือมังกรสีชมพู โดยกิ้งกือมังกรสีชมพูนั้นจะสามารถเห็นได้ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ของทุกปี
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น