xs
xsm
sm
md
lg

จากทะเลโบราณนับล้านปีสู่ “อุทยานธรณีโคราช” ชมซากฟอสซิลใหญ่สุดในแดนอีสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทิวทัศน์ที่สวยงามจากวัดป่าภูสูง
นครราชสีมา หรือ โคราช เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างหลากหลาย ทางกรมทรัพยากรธรณีจึงได้จัดโครงการ “ตามรอยทะเลโบราณสู่อาณาจักรหินทราย...อุทยานธรณีโคราช” ที่จังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา เพื่อไปดูร่อยรอยของซากดึกดำบรรพ์นับล้านปี
ชมซากฟอสซิลปะการัง
รอยซากฟอสซิลนับล้านปี
จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สระบุรี ใช้ระยะเวลาเดินทางเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่นานก็มาถึงจุดหมายปลายทางแรก อยู่ที่แหล่งปะการังโบราณ "บ้านซับพริก" และ "วัดหัวโกรก" อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ภายในพื้นที่แห่งนี้มีก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในวัด บนก้อนหินก้อนนี้จะพบกับซากฟอสซิลปะการังและสัตว์ทะเลในยุคเริ่มแรกราวประมาณ 300 ล้านปีก่อน ฟอสซิลเหล่านี้ทับถมกัน ถูกชั้นตะกอนใต้ทะเลทับถมจนเป็นหินปูน เมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวมาเบียดชนกัน ทำให้แผ่นดินที่เคยอยู่ใต้ท้องทะเลถูกดันโป่งขึ้นมาเป็นภูเขา
ฟอสซิลที่ถูกทับถมกัน
ร่องรอยของซากฟอสซิลที่ยังมีให้เห็น
ชมแหล่งรวบรวมซากฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน
จากนั้นไปชมแหล่งรวบรวมซากฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน “พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน” เป็นแหล่งศึกษาประเภทธรณีวิทยา มีฟอสซิลที่หลากหลาย ส่วนใหญ่ขุดค้นพบได้ในภาคอีสานแล้วนำมาศึกษาวิจัย ภายในประกอบไปด้วย 3 อาคาร คือ อาคารจัดแสดงไม้กลายเป็นหิน ที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยพบเห็นมาก่อน อาคารจัดแสดงช้างดึกดำบรรพ์ ชมชากโบราณที่ค้นพบมากที่สุดในภาคอีสานถึง 10 สายพันธุ์ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น ช้างสี่งา ช้างงาจอบ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีงาช้างโบราณเก่าแก่ที่มีความยาวประมาณ 3 เมตร และชมสัตว์ร่วมยุคที่ได้รับการอนุรักษ์ศึกษาวิจัย อย่างเช่น ซากฟอสซิลปลาโบราณชนิดใหม่ของโลกที่มีความสมบูรณ์ที่สุด
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน
อาคารจัดแสดงช้างดึกดำบรรพ์
จำลองช้างสี่งา
งาช้างโบราณเก่าแก่ที่มีความยาวประมาณ 3 เมตร
ปราสาทหินพนมวันที่สร้างจากหินทราย
อีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจของเมืองโคราชนั้นคือ “ปราสาทหินพนมวัน” เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15 ชมแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งเดียวในอุทยานธรณีโคราช อารยธรรมโบราณที่หินทรายเข้าไปมีบทบาทในการสร้างดินแดน ซึ่งหินทรายที่นำมาสร้างนั้นมาจากหินทรายยุคโบราณ ในสมัยที่โคราชเคยเป็นทะเลมาก่อน ในรอบปราสาทเป็นลานกว้างมีระเบียงคด ประกอบด้วยประตูทางเข้า 4 ทิศ ทางด้านทิศตะวันออกมี “บาราย” หรือสระน้ำขนาดใหญ่ประจำชุมชน เรียกว่า “สระเพลง" ซึ่งยังคงสามารถใช้ประโยชน์ได้ถึงปัจจุบัน
วิวอันสวยงามมองจากวัดป่าภูสูง
ส่วนที่ “วัดป่าภูสูง” เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าที่อุดมสมบูรณ์บนหน้าผาของภูเขาสูง มีสะพานเรียบไปตามของผาชัน สามารถมองเห็นพื้นที่ราบด้านล่างเป็นทิวทัศน์ที่สวยงาม และมองเห็นแผ่นดินที่ยกสูงขึ้นอย่างชัดเจน บนหินทรายที่วัดป่าภูสูงยังพบร่องรอยของซากฟอสซิลหนอนชอนไชปรากฏให้เห็นอยู่หลายแห่ง
ซากฟอสซิลหนอนชอนไชปรากฏให้เห็น
พบร่องรอยการขุดตัดหินของมนุษย์ในอดีต
สำหรับ “ลานหินตัด” อยู่ที่บ้านมอจะบก ตำบลมิตรภาพ อ.สีคิ้ว มีลักษณะเป็นพื้นที่เนินมีหินทรายหมวดหินภูพาน พบร่องรอยการขุดตัดหินของมนุษย์ในอดีต ตัดเป็นก้อนเหลี่ยมที่ถูกตัดและบางส่วนถูกเคลื่อนย้ายออกไป เพื่อเป็นส่วนประกอบในการสร้างปราสาทหิน ในบริเวณแหล่งหินตัดนี้ยังพบลักษณะการเกิดกุมลักษณ์ หรือหลุมรูปหม้อ เป็นร่องรอยของการกระทำของน้ำไหลอีกด้วย
ส่วนประกอบในการสร้างปราสาทหิน
มาชมภาพเขียนที่วัดเขาจันทร์งาม
หลังจากนั้นเดินทางไปที่ “วัดเขาจันทร์งาม” ตั้งอยู่ที่ ตำบลลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว เป็นวัดที่มีสถานที่ปฏิบัติธรรม มีหินทรายโผล่เป็นแท่งหินที่ปรากฏร่องรอย มีรอยแตกและหินทรายปนกรวดของหมวดหินพระวิหาร แสดงโครงสร้างชั้นเฉียงระดับชัดเจน มีภาพเขียนสีเขาจันทร์งามเป็นแหล่งศิลปะถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความสวยงาม พบเพียงแห่งเดียวในจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน มีอายุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ประมาณ 3,000-5,000 ปีก่อน สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนสมัยก่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม และมีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน กิจกรรม และพิธีกรรม
ภาพเขียนโบราณอายุกว่า 3,000ปี
จากทะเลโบราณสู่อุทยานธรณีโคราช มีสถานที่ที่มีเรื่องราวอันทรงคุณค่าที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก หากใครมีโอกาสมาเที่ยวเมืองโคราชแล้ว ก็อย่าลืมแวะมาชมหรือศึกษาเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์นับล้านปีกันสักครั้ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น