เรารู้จัก “นครสวรรค์” ในฐานะที่เป็นประตูจากภาคกลางไปสู่ภาคเหนือ หรือประตูจากภาคเหนือมาสู่ภาคกลาง โดยมีสะพานเดชาติวงศ์เป็นตัวเชื่อม แต่ถ้าหากจะให้นึกถึงการมาท่องเที่ยวที่จังหวัดนครสวรรค์ หลายคนอาจจะต้องนึกอยู่นาน เพราะชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนี้ก็มีที่คุ้นเคยอยู่ไม่กี่แห่ง เช่น บึงบอระเพ็ด ปากน้ำโพ เป็นต้น
แต่ “ตะลอนเที่ยว” ขอบอกเลยว่า จังหวัดนี้มีที่เที่ยวที่น่าสนใจอยู่อีกไม่น้อย มีทั้งธรรมชาติ วัดวาอาราม ประวัติศาสตร์ และชุมชน ที่ล้วนแต่มีเรื่องราวและความสวยงามไม่แพ้ที่อื่นๆ
เริ่มต้นออกเดินทางกันที่ “วัดจันเสน” (อ.ตาคลี) ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านจันเสน และพิพิธภัณฑ์จันเสน ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย เมื่อมาถึงที่วัดแห่งนี้ก็จะเห็น “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน” ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางวัด แต่ก่อนที่จะไปชมพระมหาธาตุเจดีย์ ขอแวะเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านจันเสนกันเสียหน่อย เนื่องจากในพื้นที่วัดนี้เป็นทั้งที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์ทอผ้า และยังเป็นศูนย์รวมของชุมชนอีกด้วย
ที่ชุมชนจันเสนนี้เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นริมทางรถไฟในอำเภอตาคลี มีการรวมกลุ่มชุมชนกันเป็น “กลุ่มสตรีทอผ้า” ซึ่งเป็นการทอผ้าแบบกี่กระตุก โดยลวดลายที่ทอกันนั้นก็เป็นลวดลายแบบเฉพาะตัวที่ชาวบ้านช่วยกันพัฒนาขึ้น เช่น ลายปลาเสือตอ ลายผักกูด หรือ ลายหม้อปูรณฆฏะ ซึ่งเป็นหม้อแบบโบราณที่ถูกขุดข้นพบในเมืองโบราณจันเสน
ดูการทอผ้าเสร็จแล้วก็เดินตรงมาที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีจันเสน ซึ่งบนเรือนยอดของพระเจดีย์นั้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ ส่วนด้านล่างนั้นจัดทำให้เป็น “พิพิธภัณฑ์จันเสน” ซึ่งภายในนั้นมีรูปปั้นหลวงพ่อโอด อดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน ประดิษฐานอยู่
ในพื้นที่ชุมชนจันเสนในปัจจุบันนี้ เรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าเป็น “เมืองโบราณจันเสน” เสน เมืองโบราณจันเสนเป็น เมืองโบราณที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีความชัดเจนในการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในสมัยทวาราวดีตอนต้นหรือประมาณ 1,500 ปีก่อน หลังการขุดสำรวจแล้วเสร็จและข่าวแพร่ออกไป จันเสนก็ถูกทอดทิ้งจากหน่วยงานทั้งหลาย (อีกครั้ง) เป็นช่องทางให้โบราณวัตถุมากมายบริเวณนั้น ถูกลักลอบขุดและจำหน่ายให้กับพ่อค่าวัตถุโบราณ กระทั่งพระครูนิสัยจริยคุณ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อโอด” เจ้าอาวาสวัดจันเสนในสมัยนั้น เกรงว่ามรดกทางวัฒนธรรมของชาติจะถูกลักลอบขุดไปเสียหมด จึงได้รวบรวมโบราณวัตถุที่แตกหักเสียหายจากการถูกลักลอบขุดนั้นมาเก็บไว้ที่วัดจันเสน ต่อมาจึงได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เพื่อจะจัดเก็บวัตถุดังกล่าวรวมถึงสิ่งของสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พระครูได้เก็บสะสมไว้จำนวนหนึ่งเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป จนกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์จันเสนในปัจจุบัน
ใกล้กันกับพิพิธภัณฑ์ก็จัดสร้างเป็น “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช” โดยภายในแบ่งการจัดแสดงออกเป็นสามส่วนคือ ชั้นล่างเป็นส่วนของการแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจันเสน ผ่านเครื่องมื่อเครื่องใช้ต่างๆ ชั้นถัดไปเป็นห้องเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อโอด ภายในมีรูปปั้นหลวงพ่อโอดประดิษฐานอยู่
ออกจากชุมชนจันเสนมา ก็ตรงมาที่ “วัดพรหมนิมิต” หรือ วัดหลังเขา (อ.ตาคลี) ที่นี่โดดเด่นด้วยพระอุโบสถสีเขียวสะดุดตา และที่แปลกไม่เหมือนใครก็คือ ใช้ขวดแก้วสีเขียวมาประดับประดาส่วนตัวของพระอุโบสถและหลังคา ยามที่ขวดแก้วสะท้อนแดดก็จะส่องแสงสีเขียวเปล่งประกายออกมา โดยการสร้างพระอุโบสถหลังนี้ด้วยขวดสีเขียวก็มาได้รับบริจาคขวดที่เหลือใช้มาจากชาวบ้านในละแวกนี้ นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง หากใครแวะเวียนมาก็สามารถแวะเข้ามาสักการะพระพุทธรูปพร้อมกับชมความงามของพระอุโบสถได้ แต่ต้องระวังตัวหน่อย เพราะภายในวัดมีลิงอาศัยอยู่เยอะพอควร
อีกหนึ่งวัดที่น่าสนใจในอำเภอตาคลี ก็คือ “วัดหนองโพ” ซึ่งหากใครได้แวะมาไหว้พระที่นี่ก็จะเห็น “พระมหาธาตุเจดีย์” ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าวัด ส่วนด้านล่างของพระเจดีย์ก็จัดเป็น “พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม” อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวออกเป็นหลายห้อง เริ่มจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของบ้านหนองโพ การตั้งถิ่นฐานของชาวหนองโพ ไปจนถึงการจัดแสดงอัตตชีวประวัติของหลวงพ่อเดิม อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ รวมถึงสิ่งของ เครื่องใช้ และคัมภีร์ต่างๆ
มาที่นครสวรรค์แล้ว ไม่แวะไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังก็เห็นจะไม่ได้ ที่ “บึงบอระเพ็ด” ก็นับว่าเป็นจุดท่องเที่ยวที่หลายๆ คนนิยมแวะเวียนมา ด้วยสภาพความเป็นธรรมชาติที่ยังคงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ประกอบกับมีกิจกรรมอื่นๆ ให้เลือกทำมากมาย
บึงบอระเพ็ด เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีพื้นครอบคลุม 3 อำเภอใน จ.นครสวรรค์ ได้แก่ อ.เมือง อ.ชุมแสง และ อ.ท่าตะโก
บึงบอระเพ็ดในอดีตถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก จึงได้รับการประกาศให้เป็น “เขตห้ามล่าสัตว์ป่า” ในปี พ.ศ. 2518 ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งโซนให้เป็นเขตพื้นที่หวงห้ามเขตอนุรักษ์ โซนท่องเที่ยว และเขตพื้นที่ที่อนุญาตให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำการประมงได้ เราจึงได้พบเห็นวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านลอยเรืออกหาปลายามเช้า มีลอบดักปลาวางอยู่หลายใบในพื้นที่ที่กำหนด รวมไปถึงบ้างมาเก็บบัวหลวง เก็บไหลบัว สายบัว(บัวสาย) เป็นต้น
นอกจากนี้บึงบอระเพ็ดยังมีนกน้ำ นกประจำถิ่น และนกอพยพอาศัยหากินอยู่มากมาย จนได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงนกน้ำของไทย” และเป็นแหล่งชมนกชั้นเลิศ 1 ใน 9 ของโลก นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญยิ่งของเมืองไทย ใครมาเที่ยวที่บึงบอระเพ็ด แล้วอยากออกไปชมทิวทัศน์ และนกสายพันธุ์ต่างๆ ที่นี่ก็มีบริการล่องเรือชมบึงบอระเพ็ดตลอดทั้งวัน แต่แนะนำให้มาตั้งแต่ช่วงเช้าๆ จะได้เห็นดอกบัวบานชูช่อสวยงาม วิถีชีวิตของชาวบ้าน แล้วยังอากาศไม่ร้อนมากนัก นั่งเรือชมบึงแบบสบายๆ
ด้านหน้าของบึงบอระเพ็ดยังมี “อาคารแสดงพันธุ์สัตว์น้ำบึงบอระเพ็ด” ภายในมีการแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดและน้ำเค็ม ที่เป็นไฮไลท์ก็คือ อุโมงค์น้ำจืดยาว 24 เมตร ให้เราได้สัมผัสปลาสายพันธุ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด แค่ได้นั่งดูปลาว่ายน้ำไปมาก็เพลิดเพลินมากแล้ว
ย้ายจากบึงบอระเพ็ดมาที่อำเภอชุมแสง ที่นี่มีวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองคือ “วัดเกยไชยเหนือ” (วัดบรมธาตุ) วัดเก่าแก่ที่ภายในวัดมีเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุฐานแปดเหลี่ยมซึ่งสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา
ส่วนที่ริมน้ำนั้นก็เป็นจุดสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน แม่น้ำทั้งสองสายมีความแตกต่างกันที่สีของน้ำ คือสีแดงและสีเขียว (แต่ในยามหน้าน้ำอาจจะสังเกตยากสักหน่อย) แม่น้ำน่านจะมีสีขุ่นแดงเนื่องจากระยะทางที่แม่น้ำน่านไหลผ่าน ส่วนมากจะไหลผ่านบริเวณดินที่น้ำกัดเซาะ และเกิดการพังทลายของดินลูกรัง ดินดาน ทำให้มีสีขุ่นแดง ส่วนแม่น้ำยมจะสีเขียวใส เนื่องจากไหลผ่านที่ราบลุ่มดินทราย
ในส่วนของชุมชนชุมแสงนั้นก็เป็นชุมชนสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ในราวห้าสิบถึงเกือบร้อยปีที่แล้ว ถือเป็นชุมชนริมน้ำน่านที่มีความคึกคักเป็นยิ่ง ที่นี่ถือเป็นทั้งท่าข้าวและเป็นชุมชนค้าขายริมน้ำอันสำคัญของนครสวรรค์ เนื่องจากมีการคมนาคมขนส่งไป-มาสะดวก ทั้งทางน้ำ ทางบก(เกวียน) และทางรถไฟ(สถานีชุมแสง) แม้ปัจจุบันจะไม่ได้เป็นแหล่งค้าขายที่คึกคักมากเหมือนสมัยก่อน แต่ที่นี่ก็ยังมีตลาดใหญ่ มีพ่อค้าแม่ค้าขายของอยู่ในตลาดและตามตรอกซอกซอยต่างๆ
ด้านหน้าตลาดมี “สะพานหิรัญนฤมิต” ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้ผู้คนจากสองฟากฝั่งน้ำสัญจรข้ามไป-มา โดยห้ามรถยนต์ 4 ล้อวิ่งผ่าน แม้จะเป็นสะพานเล็กๆ เป็นสะพานสร้างใหม่ แต่ว่าด้วยลักษณะอันโดดเด่นเป็นสะพานแขวนที่ทั้งรูปแบบ รูปทรง สีสัน และองค์ประกอบต่างๆ ดูสวยงามคลาสสิกลงตัว สะพานหิรัญนฤมิตจึงถือเป็นจุดเด่นแห่งใหม่ในอำเภอชุมแสง ที่ผู้ผ่านไป-มามักนิยมมาเซลฟี่ถ่ายรูปคู่กับสะพานแห่งนี้เป็นจำนวนมาก
ใกล้ๆ กันมี “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ที่ตั้งโดดเด่นอยู่ริมน้ำน่านไม่ไกลจากตลาดเท่าใดนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญคู่ชุมชนและเป็นหนึ่งในศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมแสง ซึ่งบริเวณรอบๆ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ มีการนำรูปปั้นไก่มาถวายแก้บนกันเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ก็ยังมี “ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง” ซึ่งเป็นศาลเก่าแก่คู่ชุมชน รูปเคารพองค์เจ้าพ่อแกะสลักจากขอนไม้ลอยน้ำ ที่มีเรื่องเล่าขานกันว่าเจ้าพ่อได้มาเข้าฝันชาวบ้านให้นำขอนไม้ลอยนี้มาแกะสลักเป็นรูปเคารพของท่าน นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าขานอันชวนทึ่งว่า เดิมที่นี่มีเจ้าพ่ออยู่องค์เดียว แต่ต่อมาท่านได้ไปประทับทรงให้ชาวบ้านแห่เรือขันหมากไปสู่ขอเจ้าแม่เกยไชย มาประทับอยู่ด้วยกันและกลายเป็นศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสงมาจนทุกวันนี้
ที่เที่ยวในนครสวรรค์ยังมีอีกมาก หากใครมีเวลาว่างลองเสาะหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ จะได้เปิดประสบการณ์กับจัดหวัดที่เหมือนจะเป็นทางผ่านแห่งนี้ แต่ถ้ายังคิดไม่ออกว่าจะไปที่ไหนดี ก็ลองเที่ยวตามเส้นทางที่ “ตะลอนเที่ยว” ไปมา ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทาง “ผู้หญิงท่องเที่ยวไทย” ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สัมผัสประวัติศาสตร์ ชมธรรมชาติ แวะไหว้พระให้อิ่มบุญ แถมการช้อปปิ้งอย่างสุขใจอีกด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครสวรรค์ โทร. 0-5622-1811-2 หรือที่ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com