เมื่อมาถึงช่วงเข้าพรรษาของทุกปี ฉันก็มักจะขับรถออกมานอกเมือง แวะมาไหว้พระทำบุญในช่วงที่มีวันหยุด ได้ทำบุญแล้วก็ถือโอกาสออกมาเที่ยวไปด้วยในตัว อย่างในครั้งนี้ ฉันก็เลือกจะเดินทางมาที่ “สุพรรณบุรี” เดินทางมาสะดวกสบาย แล้วก็ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก
มาถึงในตัวเมืองสุพรรณบุรีแล้ว ใครๆ ก็รู้ว่าจะต้องมากราบ “หลวงพ่อโต” ที่ “วัดป่าเลไลยก์” มิเช่นนั้นก็เหมือนมาไม่ถึงจังหวัดสุพรรณบุรี
ซึ่งที่ “วัดป่าเลไลยก์” นั้นก็มีนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนแวะเวียนกันเข้ามาอยู่ไม่ขาด ด้วยเหตุที่เป็นวัดดังประจำสุพรรณบุรี แล้วก็ยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่คนนิยมมากราบขอพรกัน
วัดแห่งนี้สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างมานับพันปีแล้ว โดยสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรือง และยังปรากฏในพงศาวดารเหนือที่กล่าวไว้ว่า พระเจ้ากาแตทรงให้มอญน้อยมาบูรณะ วัดป่าเลไลยก์ภายหลัง พ.ศ. 1724 ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
มาถึงวัดแล้วก็จะสามารถมองเห็น “พระวิหารหลวงพ่อโต” หลังใหญ่ หากสังเกตบริเวณหน้าบันจะเห็นเครื่องมหายพระมหามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จธุดงค์มาพบ สมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงมาปฏิสังขรณ์
ด้านหน้าพระวิหารมีพระพุทธรูปเป็นหลวงพ่อโตองค์จำลอง เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามากราบไหว้ จุดธูปเทียน ปิดทอง และยังเป็นจุดที่มาวางของแก้บน โดยมีความเชื่อกันว่าหากมาขอพรหลวงพ่อโตให้ประสบความสำเร็จใจด้านต่างๆ หากสำเร็จก็จะมาแก้บนตามคำขอด้วยไข่ต้ม ขนมจีนน้ำยา และพวงมาลัย
ภายในพระวิหารประดิษฐาน “หลวงพ่อโต” ที่ถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรี องค์พระเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางป่าเลไลยก์ขนาด ใหญ่สูง 23 เมตรเศษ สร้างตามแบบศิลปอู่ทองรุ่นที่สอง ซึ่งเป็นศิลปะฝีมือสกุลช่างอู่ทองแท้ ๆ เดิมทีองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง พระหัตถ์ขวาหัก ช่างได้สร้างวิหารครอบ โดยให้ผนังวิหารชิดกับพระหัตถ์ขวา ส่วนทางพระหัตถ์ซ้ายให้มีที่ว่าง ด้านหลังองค์พระสร้างชิดกับผนังวิหารทำให้แข็งแรง นับเป็นความชาญฉลาดของช่างเป็นอย่างยิ่ง
มีผู้สันนิษฐานว่า เดิมเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง พระกรทั้งสองข้างหักหายไป ผู้ที่มาบูรณใหม่ได้ทำเป็นปางป่าเลไลยก์ตามที่นิยมกันในสมัยหลัง ลักษณะประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุข้างซ้าย พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุข้างขวาในท่าทรงรับของถวาย
พูดถึงวัดป่าเลไลยก์ นอกจากจะคิดถึงหลวงพ่อโตแล้ว หลายคนอาจจะคุ้นกับชื่อวัดนี้จากวรรณคดีเรื่องขุนช้าง ขุนแผน เพราะชื่อวัดป่าเลไลยก์นี้ปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องช่วงที่ขุนแผนยังเด็ก ได้มาบวชเรียนที่วัดแห่งนี้ในชื่อว่าเณรแก้ว
และหากเดินชมภายในวัดก็จะเห็นว่ามีเรื่องราวเกี่ยวกับขุนช้างขุนแผนอยู่หลายจุดด้วยกัน เริ่มจากบริเวณระเบียงคดรอบพระวิหาร ก็มีภาพจิตรกรรมที่เขียนเป็นเรื่องราวในวรรณคดีขุนช้างขุนแผนในตอนต่างๆ ซึ่งด้านข้างรูปก็จะมีคำอธิบายไว้ด้วย
ส่วนด้านหลังวัดนั้นก็ยังมี “เรือนขุนช้าง” ที่เป็นเรือนไทยแบบโบราณ เป็นเรือนไม้สักขนาดใหญ่ ด้านบนเรือนก็มีภาพวาดตัวละครขุนช้าง มีภาพบรรยายเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน มีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยก่อน และมีพระพุทธรูปให้กราบสักการะขอพร
ได้กราบพระทำบุญให้สบายใจแล้ว บริเวณด้านนอกวัดก็ยังมีร้านค้า ร้านขายของที่ระลึกหลายอย่างที่น่าซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน หรือถ้าใครอยากเที่ยวเมืองสุพรรณบุรีต่อ ในตัวเมืองก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อุทยานมังกรสวรรค์ หอคอยบรรหารแจ่มใส ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย
หรือถ้าหากจะออกนอกเมืองสุพรรณบุรีมาอีกหน่อย แนะนำให้ไปลองเที่ยวตลาดเก่าทั้งหลาย ตั้งแต่ ตลาดสามชุก ตลาดศรีประจันต์ ตลาดเก้าห้อง หรือจะตรงไปที่บึงฉวาก ไปตื่นตากับสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ เรียกว่ามาไหว้พระเสร็จก็เที่ยวต่อ แถมยังได้ชิมของอร่อยและมีของฝากกลับบ้านไปด้วยแบบเต็มอิ่ม
* * * * * * * * * * * * * * * * *
“วัดป่าเลไลยก์” ตั้งอยู่ริมถนนมาลัยแมน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี การเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้ถนน 340 มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองสุพรรณบุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนน 321 (มาลัยแมน) ตรงไปเรื่อยๆ จะเห็นวัดตั้งอยู่ทางซ้ายมือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรีได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี โทร. 0-3552-5880, 0-3552-5863-4
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com