xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “6 มรดกไทย” ใน "บัญชีรายชื่อเบื้องต้น" มรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช หนึ่งในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น
ในช่วงการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-12 กรกฎาคม 2560 ณ เมืองคราคูฟ สาธารณรัฐโปแลนด์ จะมีการประกาศรายชื่อมรดกโลกแห่งใหม่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

แต่ขั้นตอนก่อนจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้นั้น จะต้องมีชื่ออยู่ใน “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” เสียก่อน จึงจะสามารถเข้ารับการพิจารณาจากคณะกรรมการมรดกโลกได้ โดยเริ่มแรกนั้นจะมีการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเพื่อให้บรรจุไว้ใน “บัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก” ที่จะสามารถทำได้โดยรัฐบาลของประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ที่มีอำนาจอธิปไตยเหนือแหล่งมรดกโลกนั้น

ประเทศที่ต้องการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศของตน ให้ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ขั้นตอนแรกจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติทั้งหมดภายในประเทศของตน บัญชีนี้เรียกว่า “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะมีเพียงสถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ ขั้นต่อมาประเทศนั้นๆ จะต้องเลือกรายชื่อสถานที่ที่ต้องการเสนอชื่อ มาจากบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อจัดทำเป็น "แฟ้มข้อมูล" โดยทางศูนย์มรดกโลกอาจให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการจัดทำแฟ้มข้อมูล
ปราสาทหินพนมรุ้ง
แฟ้มข้อมูลจะถูกตรวจสอบและพิจารณาจากองค์กรที่ปรึกษา ได้แก่ สภาระหว่างประเทศว่าด้วยโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี และ ศูนย์ระหว่างชาติว่าด้วยการศึกษา การอนุรักษ์ และปฏิสังขรณ์สมบัติทางวัฒนธรรม ในส่วนของมรดกทางวัฒนธรรม และ สหภาพการอนุรักษ์โลก ในส่วนของมรดกทางธรรมชาติ

เมื่อได้พิจารณาข้อมูลการประเมินคุณค่าที่องค์กรที่ปรึกษาได้นำเสนอแล้ว คณะกรรมการบริหารจะมีมติเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาตัดสินต่อไป โดยคณะกรรมการมรดกโลก จะมีการประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้ง ในการประชุมสมัยสามัญประจำปี เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่มีการเสนอชื่อแห่งใดบ้างที่สมควรได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ในส่วนของประเทศไทย มีสถานที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วจำนวน 5 แห่ง คือ นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา , เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง , แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และ ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

แต่สำหรับสถานที่ที่ได้ขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อพิจารณาเป็นมรดกโลกในอนาคต มีทั้งสิ้น 6 แห่ง ดังนี้
ปราสาทเมืองต่ำ
“เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ” อยู่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา และสุรินทร์ ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.2547 โดยในเส้นทางนี้ประกอบด้วยปราสาทหินสำคัญ 3 แห่ง คือ ปราสาทหินพิมาย อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 ด้วยศิลปะแบบปาปวน แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ลานชั้นใน โดดเด่นไปด้วยปรางค์ประธานหินทรายสีขาวหน้าบันและทับหลังส่วนใหญ่สลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามายณะและกฤษณาวตาร ลานชั้นนอก ประกอบด้วยบรรณาลัยสองหลังมีสระน้ำอยู่ทั้งสี่มุม และกำแพงล้อมรอบลานชั้นนอก ถัดจากกำแพงด้านนอกออกไปมีกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง

ปราสาทหินพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งสูงอดีตภูเขาไฟที่ดับสนิท สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เริ่มสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 15 และมีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ปราสาทหินพนมรุ้ง โดนเด่นไปด้วยตัวปราสาทที่ตั้งอยู่บนยอดเขาตามคติจักรวาล มี“ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์”อันโด่งดังสวยงามเป็นหนึ่งในสิ่งชูโรง พร้อมด้วยลวดลายสลักหินอันวิจิตรสวยงามอีกมากมาย นอกจากนี้ทุกๆ ปีในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปราสาทหินพนมรุ้งจะเกิดปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ส่องตรงลอดทะลุประตูทั้ง 15 ช่อง ที่มีคนเดินทางไปรอชมกันอย่างเนืองแน่น

และ ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นปราสาทอิฐศิลปะขอมแบบบาปวน มีเนินปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีสระน้ำล้อมรอบ ความเด่นของปราสาท คือ มีการจำหลักส่วนต่าง ๆ ด้วยลวดลายอันประณีตสวยงาม อยู่ใกล้กับโบราณสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น สระน้ำขนาดใหญ่ ขอบสระกรุด้วยศิลาแลงสอบลงไปถึงพื้นดินเดิม สระนี้มีน้ำขังอยู่ตลอดปี
ผืนป่าแก่งกระจาน
“กลุ่มป่าแก่งกระจาน” ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี พ.ศ.2554 เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาตะนาวศรี มีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ประกอบไปด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า อีก 1 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ในเขตนิเวศอินโดมาละยันซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภูมิศาสตร์ย่อย ของพืชพันธ์สัตว์ป่าหลายเขตมาบรรจบกัน อีกทั้งยังเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องไปกับเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของจระเข้น้ำจืด บริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
“วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช” อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.2555 โดยภายในวัดประดิษฐานพระบรมธาตุเมืองนคร หรือ “พระมหาธาตุเมืองนคร” หรือ “พระบรมธาตุเจดีย์” ตามตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นครั้งแรกประมาณ ปี พ.ศ. 854 ด้วยศิลปะแบบศรีวิชัย ภายในบรรจุพระทันตธาตุ (ส่วนฟันของพระพุทธเจ้า)

พระบรมธาตุเมืองนคร ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พระธาตุทองคำ” เนื่องจากปลียอดหุ้มด้วยทองคำเหลืองอร่าม ขณะที่ยามแสงแดดตกต้ององค์พระธาตุ เหลื่อมเงากลับทาบทอดไม่ถึงพื้น จนดูเหมือนพระธาตุไม่มีเงา จึงทำให้ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พระธาตุไร้เงา” อีกฉายาหนึ่ง

พระบรมธาตุเมืองนคร ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครศรีธรรมราช เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของภาคใต้ และของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ซึ่งไม่เฉพาะแค่ชาวไทยเท่านั้น หากแต่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่นิยมเดินทางมาสักการะบูชากันอย่างต่อเนื่อง
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.2547 ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรธานี เป็นสถานที่อันแสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ ซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติ ทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่างๆ กัน ปรากฏเป็นหลักฐานเกี่ยวกับ ชีวิตผู้คนในอดีตที่น่าสนใจหลายแห่ง พระพุทธบาทบัวบก เป็นบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาทนี้มีผักหนอกหรือบัวบกขึ้นอยู่มาก พระพุทธบาทหลังเต่า อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่าจึงเป็นที่มาของชื่อ พระพุทธบาทบัวบาน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองอันเก่าแก่ และมีการขุดค้นพบใบเสมาที่ทำด้วยหินเป็นจำนวนมาก ใบเสมาเหล่านี้สลักเป็นรูปบุคคล ศิลปะสมัยทวาราวดี
วัดพระธาตุดอยสุเทพ
“สถานที่ อนุสรณ์สถาน และพื้นที่ทางวัฒนธรรมในเชียงใหม่ เมืองหลวงแห่งล้านนา” ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.2558 โดยเสนอเป็นแบบกลุ่ม 6 กลุ่ม โดยสถานที่ทั้ง 6 ชุดนี้มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน แสดงถึงคุณค่ายอดเยี่ยมในระดับสากลของเชียงใหม่ ในฐานะเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา ซึ่งสถาปนาและคงอยู่ยาวนานผ่านประวัติศาสตร์จนถึงทุกวันนี้กว่า 700 ปี

สถานที่สำคัญ 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 พื้นที่ทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่เก่า ประกอบด้วย วัดพระธาตุดอยสุเทพ อุทยานฯ ดอยสุเทพ-ปุย เวียงเจ็ดลิน แม่น้ำปิง ลำน้ำแม่ข่า กลุ่ม 2 ประกอบด้วย กำแพงเมืองชั้นในทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูเมืองทั้ง 5 แจ่ง กลุ่ม 3 มีกำแพงเมืองชั้นนอก ซึ่งเรียกว่า "กำแพงดิน" กลุ่ม 4 วัดและโบราณสถานต่างๆ ในกำแพงเมืองชั้นใน เช่น วัดเจดีย์หลวง กลุ่ม 5 วัดนอกกำแพงเมือง เช่น วัดโลกโมฬี วัดเจ็ดยอด และสถานที่นอกตัวเมืองเชียงใหม่ อย่างเวียงกุมกาม ปัจจุบันเป็นอุทยานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี กลุ่ม 6 อนุสรณ์สถานร่วมสมัย แสดงให้เห็นการเผยแพร่ศาสนาเข้ามาในเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อาทิ อาคารเรียนแห่งแรกของปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โบสถ์ซิกข์แห่งแรก วัดศาลเจ้าในชุมชนจีนแห่งแรก
พระธาตุพนม
“พระธาตุพนม และสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง” ขึ้นทะเบียนประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.2560 พระธาตุพนมตั้งอยู่บริเวณวัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขงมีระยะห่าง 600 เมตร ตามความเชื่อพื้นถิ่นเชื่อว่าพระธาตุสร้าง โดยพระมหากัสสปะ พระอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประดิษฐาน พระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังจากปรินิพพานแล้ว 8 ปี โดยเป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ซึ่งพระธาตุได้รับการบูรณะและสักการบูชาจากประชาชนหลากหลายเชื้อชาติและภูมิภาคต่างๆ มาตลอดระยะหลายพันปี จึงถือว่าเป็นศาสนสถานที่มีคุณค่าโดดเด่น เป็นสากลมีคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น