xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวพม่าทางใหม่ เชื่อม“เชียงใหม่-ย่างกุ้ง-อินทร์แขวน-แม่สอด”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

พระธาตุอินทร์แขวน-เมืองไจก์โถ่ 1 ใน “5 มหาบูชาสถาน”
การเปิด “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ “เออีซี”(AEC : ASEAN Economic Community) ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างสำคัญต่อการพัฒนาในด้านต่างๆของกลุ่มประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การคมนาคม รวมไปถึงในด้าน“การท่องเที่ยว” ซึ่งเออีซีเป็นดังการเปิดประตูเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศต่างๆในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนให้สะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศ“สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา”หรือ“เมียนมา”หรือ“พม่า” เดิมเป็นดัง“ฤาษีแห่งเอเชีย” ที่ปิดประเทศซ่อนเร้นของดีต่อโลกภายในนอกมายาวนาน

กระทั่งมาในวันนี้หลังการเปิดเออีซี หลังการมีนายกรัฐมนตรีพลเรือน และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมียนมายุคใหม่ได้เปิดประเทศให้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
พระนอนใหญ่ที่สุดในโลก-เมาะละแหม่ง
เมียนมาวันนี้จึงเป็นดัง “อัญมณีแห่งเอเชีย” ที่ชาวต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุน มาทำธุรกิจ และมา“ท่องเที่ยว” สัมผัสมนต์เสน่ห์ของดีต่างๆของ(อดีต)ดินแดนฤาษีแห่งเอเชีย ที่วันนี้ตื่นขึ้นจากหลับใหล ซึ่งมากไปด้วยหลายสิ่งหลายอย่างอันน่าทึ่งชวนค้นหา

ด้วยเหตุนี้ทาง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ภูมิภาค ภาคเหนือ” จึงได้จับมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว จัดกิจกรรม “ส่งเสริมการขาย Road Show และสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง AEC ภูมิภาค ภาคเหนือ” ในเส้นทางเชื่อมโยงภาคเหนือของไทยกับประเทศเมียนมา ได้แก่ “เชียงใหม่-ย่างกุ้ง-ตองอู-พะโค(หงสาวดี)-ไจก์โถ่(พระธาตุอินทร์แขวน)-เมาะละแหม่ง-แม่สอด(จ.ตาก)” ขึ้น ในระหว่างวันที่ 19-24 มิ.ย. 60 ที่ผ่านมา

ย่างกุ้ง-ตองอู

ทริปนี้ “คณะส่งเสริมการขายจากเมืองไทย” ตั้งต้นกันที่จังหวัด “เชียงใหม่” ที่วันนี้ถือเป็นฮับทางการเดินทางท่องเที่ยวของภาคเหนือ โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมทางอากาศ ซึ่งนอกจากจะมีสายการบินต่างๆบินตรงจากกรุงเทพฯสู่เชียงใหม่แล้ว ยังมีเส้นทางบินตรงเชียงใหม่เชื่อมโยงกับจังหวัดใหญ่ๆในภูมิภาคต่างๆของไทย และเชื่อมโยงกับต่างประเทศอีกด้วย
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุดของชาวเมียนมา
นางสุจิตรา จงชาณสิทโธรองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคเหนือมีเชียงใหม่เป็นฮับในการเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ ททท. ยังมีนโยบาย“ท้าเที่ยวข้ามภาค” ชวนคนในภาคต่างๆ เช่น ภาคอีสาน ภาคใต้ ให้เดินทางข้ามภูมิภาคมายังจังหวัดเชียงใหม่ เที่ยวเชียงใหม่ แล้วเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศเพื่อนบ้านของเรา

จากเชียงใหม่คณะฯจากเมืองไทย ออกเดินทางสู่“กรุงย่างกุ้ง” ประเทศเมียนมา เพื่อพบปะผู้ประกอบการท่องเที่ยว และสำรวจแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทย
พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ยามราตรี
กรุงย่างกุ้ง เป็นอดีตเมืองหลวง(ก่อนย้ายไปยังเมืองหลวงปัจจุบันคือเนปิดอว์)และเมืองใหญ่อันดับหนึ่งของเมียนมา เป็นที่ประดิษฐาน“พระมหาเจดีย์ชเวดากอง” เจดีย์อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมียนมา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น บนยอดสุดของเจดีย์มีเพชรอยู่ 5,448 เม็ด ข้างบนสุดประดับทับทิม 2,317 เม็ด และเพชรเม็ดใหญ่ 76 กะรัต พร้อมด้วยมรกตเม็ดใหญ่อยู่ตรงกลาง

พระมหาเจดีย์ชเวดากอง นอกจากจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุดของชาวเมียนมา และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเมียนมาแล้ว ยังเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีมะเมีย(ม้า) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาอีกด้วย
เทพทันใจ เจดีย์โบตะทาวน์ ย่างกุ้ง
นอกจากพระมหาเจดีย์ชเวดากองที่เป็นไฮไลท์สำคัญแล้ว กรุงย่างกุ้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆที่คนไทยนิยมไปเที่ยวชมกัน อาทิ “เจดีย์โบตะทาวน์” ที่ภายในบรรจุพระเกศาธาตุ และมีเทพทันใจ ที่เชื่อว่าอธิษฐานสิ่งใดจะได้สมดังปรารถนา, “พระพุทธไสยาสน์เจาทัตยี” หรือ “พระนอนตาหวาน” เป็นพระนอนองค์ใหญ่มีความยาวกว่า 70 เมตร ได้ชื่อว่าเป็นพระนอนที่มีความงดงามที่สุดในเมียนมา และ “ตลาดสก๊อต”(ตลาดโบจ๊กอองซาน) แหล่งชอปปิ้งตลาดชื่อดังของเมียนมา ที่เป็นศูนย์รวมของสินค้าและของที่ระลึกต่างๆมากมาย

ต่อจากนั้นในวันถัดไปคณะฯจากเมืองไทย ออกเดินทางสู่เมือง“ตองอู” ใน“เขตพะโค”หรือ“หงสาวดี” ที่ตั้งอยู่ห่างจากย่างกุ้งทางทิศเหนือไปราว 220 กิโลเมตร
บรรยากาศเมืองตองอูยามเย็นในมุมมองผ่านทะเลสาบมองเห็นพระธาตุชเวซานดอร์
ตองอู เป็นหนึ่งในอดีตราชธานีเก่าแก่ของเมียนมา ในช่วง “ราชอาณาจักรหงสาวดี”(พ.ศ.1830-พ.ศ. 2094) ตองอูเป็นเมืองบ้านเกิดของ“พระเจ้าบุเรงนอง” 1 ใน 3 มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของเมียนมา และเป็นเมืองหลวงแรกที่“พระเจ้าเมงจีโย”ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ตองอูทรงสถาปนาขึ้น ต่อมาในสมัย“พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้”ที่เป็นราชบุตร และ“พระเจ้าบุเรงนอง” ได้ขยายราชอาณาจักรลงทางใต้สู่เมืองหงสาวดี
เดินวน 9 รอบ อธิษฐานขอพร รูปปั้นของพระเจ้าบุเรงนอง วัดเกามุดอร์
ภายในเมืองตองอูมีรอยอดีตเกี่ยวกับพระเจ้าบุเรงนองมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “วัดเกามุดอร์” วัดเก่าแก่ที่พระเจ้าบุเรงนองสร้างขึ้น ภายในวัดมีรูปปั้นของพระเจ้าบุเรงนองกำลังยืนสักการะองค์พระธาตุ ซึ่งมีความเชื่อว่าถ้าใครได้มาตั้งจิตอธิษฐานด้วยการถือศีลข้อใดข้อหนึ่งให้มั่นคง แล้วเดินวนขวารอบรูปปั้นพระเจ้าบุเรงนอง 9 รอบ คำอธิษฐานนั้นจะประสบความสำเร็จสัมฤทธิ์ผล

นอกจากนี้ตองอูยังมี “พระธาตุชเวซานดอร์” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง มีโรงแรม “Royal Kaytumadi Hotel” เป็นที่พักในบรรยากาศพระราชวังเก่าริมทะเลสาบอันสุดคลาสสิก
พระธาตุชเวซานดอร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองตองอู
นายโกโกจี(Mr.Ko Ko Gyi) ตัวแทนภาคการท่องเที่ยวเมืองตองอู เปิดเผยว่า ตองอูเป็นเมืองที่ยังไม่ค่อยเป็นรู้จักของคนไทยอย่างแพร่หลาย แต่ที่ผ่านมาก็มีคนไทยเข้ามาเที่ยวในตองอูบ้าง วันนี้ทางเมืองตองอูจึงมีโครงการเชิญชวนให้คนมาเที่ยว มีการนำทัวร์มาลง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่เน้นในเรื่องของอีโคทัวร์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งไทยและพม่ามีวัฒนธรรมบางส่วนที่คล้ายกัน

หงสาวดี-พระธาตุอินทร์แขวน

วันถัดไปคณะฯจากเมืองไทย เดินทางจากเมืองตองอูสู่เมือง“หงสาวดี” เมืองเอกของเขตพะโคหรือหงสาวดี ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่คนไทยรู้จักกันดี
เจดีย์ชเวมอดอร์ หรือ พระธาตุมุเตา แห่งเมืองหงสาวดี ที่เป็น 1 ใน “5 มหาบูชาสถาน”
หงสาวดี หรือ“พะโค” มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ “พระราชวังกัมโพชธานี” หรือ “พระราชวังบุเรงนอง”, “พระนอนชเวตาเลียว” หรือ “พระนอนยิ้มหวาน” และไฮไลท์สำคัญคือ “เจดีย์ชเวมอดอร์” หรือ “พระธาตุมุเตา” ที่เป็น 1 ใน “5 มหาบูชาสถาน” หรือ 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญสูงสุดที่ชาวเมียนมาให้ความเคารพนับถือ ในอดีตพระเจ้าบุเรงนองจะมาสักการะพระธาตุองค์นี้ทุกครั้งก่อนทำการออกรบ แล้วได้รับชัยชนะทุกครั้งไป ทำให้มีความเชื่อว่าใครที่มาสักการะพระธาตุมุเตาก็จะสมหวังประสบชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
พระนอนยิ้มหวาน เมืองหงสาวดี
โปรแกรมถัดไปเป็นการเดินทางลงใต้สู่เมือง“ไจก์โถ่” รัฐมอญ เพื่อไปสักการะ “พระธาตุอินทร์แขวน” หรือ “ไจก์ทิโย” 1 ใน 5 มหาบูชาสถาน ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพวงลวง ณ ระดับความสูง 3,615 ฟุต จากระดับน้ำทะเล

พระธาตุอินทร์แขวน มีลักษณะเป็นองค์เจดีย์ที่ตั้งอยู่บนก้อนหินทาสีทองขนาดใหญ่ ริมหน้าผาสูงชันอย่างหมิ่นเหม่ท้าทายแรงดึงดูดโลก ดูคล้ายจะตกแต่ไม่ตก นับเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของประเทศเมียนมาที่ชาวไทยนิยมเดินทางมาสักการะและชมความมหัศจรรย์ของพระธาตุอินทร์แขวนกันเป็นจำนวนมาก
พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจก์โถ่ 1 ใน 5 มหาบูชาสถาน ตั้งตระหง่านท้าทานแรงดึงดูดโลก
เมาะละแหม่ง-แม่สอด เส้นทางใหม่

สำหรับเมืองสุดท้ายของทริปหลังลงจากพระธาตุอินทร์แขวน คือ เมือง “เมาะละแหม่ง” หรือ “เมาะลำไย” เมืองหลวงของรัฐมอญ ซึ่งในอดีตที่นี่เคยมีตำนานรักอันลือลั่นระหว่าง “เจ้าน้อยศุขเกษม”แห่งเชียงใหม่ กับ“มะเมี๊ยะ” หญิงสาวชาวมอญที่หลายๆคนรู้จักตำนานรักอมตะนี้ผ่านบทเพลง “มะเมี๊ยะ” ของ “จรัล มโนเพ็ชร
โบสถ์โฮลี่ แฟมิลี่ เมาะละแหม่ง
เมาะละแหม่ง ปัจจุบันเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม เมืองนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “พระนอนใหญ่ที่สุดในโลก” แห่งวัดวินเส่งดอร์ยะ, “สะพานตาละวิน” สะพานข้ามแม่น้ำสาละวินที่ยาวเป็นอับสองของพม่า,สถาปัตยกรรมโคโลเนียลสไตล์อังกฤษในยุคอาณานิคม นำโดย “โบสถ์โฮลี่ แฟมิลี่” และ “โบสถ์เซนต์แพททริค” อันสวยงามคลาสสิกที่ด้านข้างเป็น “โรงเรียนเซนต์แพททริค” ซึ่งในอดีตเป็นโรงเรียนกินนอนที่เจ้าน้อยศุขเกษมถูกส่งตัวมาเรียนวิชาการป่าไม้ที่นี่

วัดยานาดาบงมิ้น” ที่ภายในงดงามไปด้วยงานไม้แกะสลักสุดวิจิตรและบัลลังก์สิงห์ที่จำลองย่อส่วนมาจากพระราชวังเมืองมัณฑะเลย์, “วัดพระมหามุนี” อันเป็นที่ประดิษฐานองค์“พระมหามุนี” ที่จำลองมาจาก “องค์พระมหามัยมุนีแห่งเมืองมัณฑะเลย์” 1 ใน 5 มหาบูชาสถานของเมียนมา
เจดีย์ไจ๊ตาลาน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองเมาะละแหม่ง
นอกจากนี้เมาะละแหม่งยังมี“เจดีย์ไจ๊ตาลาน” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง กับองค์พระธาตุเจดีย์สีทองอร่าม ตั้งอยู่บนเนินเขาท่ามกลางแวดล้อมของงานพุทธศิลป์อันสวยงาม บริเวณรอบๆลานเจดีย์ สามารถเดินชมวิวทิวทัศน์ของเมืองเมาะละแหม่งได้รอบทิศ โดยเฉพาะทางฝั่งทิศตะวันตก ที่เป็นจุดชมวิวและจุดชมพระอาทิตย์ตกยามเย็นเหนือแม่น้ำสาละวินอันสวยงาม

Land Link แม่สอดเชื่อมเมียนมา จีน อินเดีย

สำหรับเส้นทาง “เชียงใหม่-ย่างกุ้ง-ตองอู-พะโค(หงสาวดี)-ไจก์โถ่(พระธาตุอินทร์แขวน)-เมาะละแหม่ง-แม่สอด(จ.ตาก)” ถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ที่มี“ด่านแม่สอด”(แม่สอด-เมียวดี) เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญทางถนน(ทางบก)ระหว่างไทย-กับเมียนมา
ด่านถาวรแม่สอด-เมียวดี (ฝั่งไทย) ประตูสำคัญสู่ประเทศเมียนมา
ด่านแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก วันนี้ถือเป็น 1 ใน 2 ของด่านชายแดนถาวรประตูเชื่อม “ไทย-เมียนมา”ที่มีศักยภาพอย่างสูง(อีกด่านหนึ่งคือด่านแม่สาย จ.เชียงราย) ทั้งด้านการการค้า การลงทุน ระบบโลจิสติกส์ และการเดินทางท่องเที่ยว ที่นอกจากจะเชื่อมต่อระหว่างไทยกับเมียนมาแล้วในอนาคตยังสามารถเชื่อมต่อไปสู่จีนและอินเดียได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการเป็น Land Link เชื่อมกับกลุ่มประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียน

นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการตลาดในประเทศไทย ททท. กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม่สอดเติบโตเร็วมาก วันนี้การเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากแม่สอดไปตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะข้ามไปประเทศที่สาม คือไปจากเมียนมา ผ่านด่านเมียวดี-แม่สอด เข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.ตาก เดินทางไป จ.สุโขทัย ผ่านด่านภูดู่(จ.อุตรดิตถ์)-ด่านบ้านผาแก้ว(เมืองปากลาย สปป.ลาว) ได้อย่างสะดวกคล่องตัวยิ่งขึ้น
นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการตลาดในประเทศไทย ททท.(ภาพ : Boxbyday Jongchansitto)
“หลังเปิดเออีซี เมืองไทยถือเป็นศูนย์กลางของการเดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน ในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ถ้ามองแต่ตลาดไทย ไม่ได้มองตลาดเพื่อนบ้าน เราอาจเสียโอกาสทางการตลาดได้ ส่วนของผู้ประกอบการไทยวันนี้มีโอกาสที่จะเชื่อมโยงตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในเมืองไทย และนำนักท่องเที่ยวไทยออกไปเที่ยวยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบริเวณทางผ่านจากด่านชายแดนถาวรไทย-เมียนมานั้นมีศักยภาพมาก” นางสุจิตรากล่าว

ด้านนาย“พงค์ชัย ตันอรุณชัย” รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดตาก ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงศักยภาพของเส้นทางท่องเที่ยว “ไทย-เมียนมา” ที่ผ่านทางด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี ว่า

ปัจจุบันเส้นทางจากแม่สอดไปย่างกุ้ง หรือเมืองอื่นๆในเมียนมาไปแม่สอด ได้มีการพัฒนาให้สะดวกคล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะถนนเส้นใหม่ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดเมียวดีกับเมืองก๊อกกาเร็กนั้นสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว(มีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา)
ถนนสายใหม่เมียวดี-ก๊อกกาเร็ก ทำให้การเดินทางจากแม่สอดสู่เมาะละแหม่งสะดวกรวดเร็วขึ้น
ถนนเส้นนี้มีระยะทาง 45 กิโลเมตร เป็นถนนตัดใหม่ สภาพดี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 45 นาที (ขณะที่ถนนสายเก่า เป็นเส้นทางสมบุกสมบันลดเลี้ยวเคี้ยวโค้งขึ้นเขาลงเขา บางช่วงเป็นถนนลูกรังทำให้ต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่งถึง 3 ชั่วโมง กว่าจะผ่านพ้นเส้นทางสายนี้ไปได้ ส่วนในช่วงหน้าฝนบางครั้งอาจต้องใช้เวลานานถึง 4-5 ชม.หรือเป็นวัน เนื่องจากถนนลื่นและเลอะเปรอะไปด้วยดินโคลน)

นั่นจึงทำให้เส้นทางจากด่านแม่สอด-เมียวดีไปเมืองเมาะละแหม่ง(ระยะทาง 168 กม.)ซึ่งแต่เดิมต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหรือเป็นวันในหน้าฝน ปัจจุบันมีความสะดวกสบายรวดเร็วขึ้น โดยรถยนต์ใช้เวลาประมาณ 3-3.5 ชม. รถบัส รถใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 4 ชม. หรือหากใครจะเดินทางจากแม่สอดสู่พระธาตุอินทร์แขวน(ระยะทาง 260 กม.) หากออกจากแม่สอดเช้าก็จะถึงพระธาตุอินทร์แขวนในช่วงบ่าย หรือใครจะเดินทางจากแม่สอดสู่กรุงย่างกุ้ง(ระยะทาง 450 กม.) หากออกจากแม่สอดเช้าก็จะถึงกรุงย่างกุ้งในช่วงเย็นหรือค่ำ
เมืองเมาะละแหม่ง
นอกจากนี้พงค์ชัย ยังบอกว่ามีอีก 2 ปัจจัยหลักสำคัญนั่นก็คือ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ที่สร้างเสร็จแล้ว และถนนที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใกล้จะแล้วเสร็จ ทำให้ในอนาคตด่านแม่สอด-เมียวดี จะเป็นประตูที่จะดึงคนจากอินเดีย บังคลาเทศ และจีนตะวันตกเฉียงใต้ เข้าสู่ประเทศไทยอีกทางหนึ่ง

ปัญหา-อุปสรรค

อย่างไรก็ดีในเส้นทางเชื่อมโยงไทย-เมียนมาทางถนนวันนี้ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญคือเรื่องของ “วีซ่า” ซึ่งปัจจุบันทางรัฐบาลไทยและพม่า ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของวีซ่า โดยได้ยกเว้นวีซ่าระหว่างกันเป็นเวลาไม่เกิน 14 วัน แต่จะต้องเป็นในเส้นทางการเดินทางทางอากาศด้วยเครื่องบินผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติเท่านั้น ส่วนวีซ่าจากด่านทางบก ทางน้ำ ยังคงชะลอไว้ก่อน

ส่วนในกรณีที่ใช้บัตรผ่านแดน หรือ Border Pass ปัจจุบันทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและเมียนมาสามารถพำนักในพื้นที่กำหนดได้ 7 วัน โดยในฝั่งไทยจำกัดพื้นที่การท่องเที่ยวไว้ใน 3 อำเภอคือ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด และ อ.พบพระ ส่วนในฝั่งพม่าจำกัดพื้นที่การท่องเที่ยวไว้เฉพาะในขอบเขตจังหวัดเมียวดี(สุดขอบหมู่บ้านห้วยส่าน) ส่วนกรณีที่มีการนำรถยนต์ทั้งจากไทยหรือเมียนมา ข้ามไป-มา ระหว่างประเทศ ต้องนำรถกลับภายใน 1 วัน
โรงแรม โรยัล เกตุมดี เมืองตองอู
และด้วยปัจจุบันที่ยังคงติดข้อจำกัดในเรื่องของวีซ่าทางภาคพื้นดิน จึงมีข้อเสนอจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการเดินทางเชื่อมโยงด้วยบัตรผ่านแดน ดังนี้

เสนอให้มีการขยายขอบเขตพื้นที่ทางการท่องเที่ยวของ 2 ประเทศมากยิ่งขึ้น ฝั่งไทย อนุญาตให้เที่ยวได้ในพื้นที่ 5 จังหวัดตอนล่าง คือ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และสุโขทัย ส่วนฝั่งเมียนมาอนุญาตให้เที่ยวได้ในพื้นที่ 2 รัฐ คือ รัฐกะเหรี่ยง ที่มี “เมืองพะอัน” เป็นเมืองหลวง และรัฐมอญ ที่มีเมืองเมาะละแหม่ง เป็นเมืองหลวง และมีพระธาตุอินทร์แขวนแห่งเมืองไจท์โถ่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์สำคัญที่มีชาวไทยนิยมเดินทางไปสักการะกันเป็นจำนวนมาก

โดยข้อเสนอนี้ อาจมีการทดลองอนุญาต ให้ในช่วงเทศกาลของทั้ง 2 ประเทศ นักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ สามารถเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ชั้นในของแต่ละประเทศได้ แต่ต้องมีบริษัททัวร์รับรองรายชื่อนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้หากทางผู้เกี่ยวข้องสามารถแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆได้ข้อเท็จจริงที่สามารถทำได้(โดยเฉพาะด้านความมั่นคง) ก็จะทำให้การเดินทางทางบกด้วยรถยนต์เชื่อมโยงไทย-พม่า ผ่านทางด่านแม่สอด ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเทศเพิ่มมากขึ้น
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยพบปะผู้ประกอบการท่องเที่ยวเมียนมาที่เมืองย่างกุ้ง
******************************************
ในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวชาวเมียนมาเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย รวม 341,641 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 32 สร้างรายได้ 14,447 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 35 (หมายเหตุ : สถิตินักท่องเที่ยวรายสัญชาติ เป็นข้อมูลเบื้องต้น จากกรมการท่องเที่ยว)

ส่วนช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวเมียนมาเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย รวม 126,849 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 โดยในเดือนเมษายน มีจำนวน 40,727 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 12 (หมายเหตุ : สถิตินักท่องเที่ยวรายสัญชาติ เป็นข้อมูลเบื้องต้น จากกรมการท่องเที่ยว)
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น