xs
xsm
sm
md
lg

ตัวเมืองเชียงใหม่น่าห่วง!!! แชมป์พื้นที่มีมลพิษเกินค่ามาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวเมืองเชียงใหม่
กรีนพีซชี้เมืองใหญ่ของไทยในปี 2559 ยังเจอวิกฤตมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) โดยไม่มีเป้าหมายรับมือ เรียกร้องกรมควบคุมมลพิษยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศ

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ค เปิดเผยรายงานการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ปี 2559 โดยต่อเนื่องจากการจัดอันดับที่ได้นำเสนอครั้งแรกในปีที่ผ่านมา กรีนพีซได้ระดมพลังผู้คนลงชื่อ ออนไลน์เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษผนวกเอา PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่มีความแม่นยำในการระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพ และปกป้องตนเองจากมลพิษทางอากาศ

สำหรับการจัดลำดับเมืองที่มีปัญหามลพิษ PM2.5 โดยพิจารณาตามค่าเฉลี่ยรายปี ค่าเฉลี่ยสูงสุดรายเดือน และจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานตลอดทั้งปี พ.ศ. 2559 พบว่า พื้นที่ที่มีมลพิษ PM 2.5 ห้าอันดับแรกคือ เชียงใหม่(อ.เมือง) ขอนแก่น(อ.เมือง) ลำปาง(แม่เมาะ) กรุงเทพฯ(ดินแดง) และสมุทรสาคร(อ.เมือง) ตามลำดับ
10 ลำดับเมืองที่มีปัญหามลพิษ ฝุ่นละออง PM 2.5 ปี พ.ศ. 2559
นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “สิทธิในการอยู่ในอากาศที่สะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นประเด็นเร่งด่วน และมีผลกระทบสูงโดยเฉพาะด้านสุขภาพ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็น ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)ในพื้นที่เมือง ยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals) ที่ประเทศไทยยังอยู่ในระดับ “แย่” และไม่มีเป้าหมายในการรับมือ”

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งเป็นอนุภาคฝุ่นที่อันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบทางเคมีใดๆ ก็ตาม เช่น ปรอท แคดเมียม สารหนู และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) เป็นต้น นั้นยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน ในปี พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง การวิเคราะห์ข้อมูล ล่าสุดใน State of Global Air ระบุว่า PM2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในประเทศไทยประมาณ 37,500 คน ในปี 2558

มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตและเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ มะเร็งปอด โรคระบบทางเดินหายใจรวมถึงโรคหอบหืด ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในเดือนพฤษภาคม 2559 ระบุว่าประชาชนกว่าร้อยละ 80 ที่อาศัยอยู่ในเมืองในประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางและต่ำ กำลังเผชิญคุณภาพอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากสถานีตรวจวัด คุณภาพอากาศ 19 แห่ง พบว่าในปี พ.ศ.2559 มีพื้นที่ 10 แห่ง มีความเข้มข้นของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามข้อกำหนดของประเทศไทย (25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และพื้นที่ทั้ง 19 แห่งที่มีความเข้มข้น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก(10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

”ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่กรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 ในสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพิ่มขึ้นจากเดิม 12 สถานีเป็น 19 สถานีในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559) แต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ หากกรมควบคุมมลพิษยังไม่ยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศที่รวม PM2.5 เข้าไปด้วย นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมกันลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อปัญหาเร่งด่วน ด้านสุขภาพนี้และสร้างแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อทำให้อากาศดีขึ้น ลดมลพิษและปกป้องสุขภาพของประชาชน” นางสาวจริยา เสนพงศ์ กล่าวสรุป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น