xs
xsm
sm
md
lg

เด็ดไม่แพ้รถม้า! "รถรางลำปาง" ชมบ้านไม้หลังงามชุมชนท่ามะโอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นั่งรถรางชมชุนชนท่ามะโอ
มาเที่ยว “ลำปาง” กิจกรรมหนึ่งที่หลายคนอยากลองก็คือการนั่งรถม้า

แต่นอกจากจะมานั่งรถม้าแล้ว วันนี้เราอยากแนะนำอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือการ “นั่งรถรางเพื่อการท่องเที่ยว ชุมชนท่ามะโอ” ที่จัดทำโดยชาวชุมชนท่ามะโอ ชุมชนเก่าแก่ในลำปาง ที่มีของดีน่ายล ทั้งบ้านเรือนงดงาม วัดวาอารามเก่าแก่ และน้ำจิตน้ำใจของคนในชุมชนที่มีให้แก่ผู้มาเยือน

สำหรับ “ชุมชนท่ามะโอ” อยู่ในตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง อยู่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำวัง บริเวณนี้เป็นชุมชนเก่าแก่โบราณของเมืองลำปาง คำว่ามะโอก็หมายถึงต้นส้มโอนั่นเอง ที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคที่ลำปางมีอุตสาหกรรมทำป่าไม้เป็นอุตสาหกรรมหลัก เราจึงเห็นบ้านเรือนในบริเวณนี้เป็นบ้านไม้โบราณอายุร่วมร้อยปีที่ล้วนสร้างจากไม้สัก ไม้แดง และไม้อื่นๆ ในป่าของลำปาง โดยบ้านที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดีในย่านนี้ก็เช่น “บ้านเสานัก” นั่นเอง
ซุ้มประตูโขงหน้าวัดประตูป่อง
ส่วนรถรางที่เราจะไปท่องเที่ยวกันนี้มีต้นทางขึ้นรถอยู่ที่ลานเอนกประสงค์หน้าวัดประตูป่อง ซึ่งขณะนี้ก็พร้อมแล้วที่จะพาเราออกเดินทางไปชมสิ่งต่างๆ ในเส้นทาง โดยตลอดเส้นทางจะมีวิทยากรท้องถิ่นที่น่ารักเปี่ยมอัธยาศัยไมตรีและข้อมูลความรู้แน่นปึ้ก มาคอยบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆในเส้นทางที่รถรางวิ่งผ่าน ช่วยทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวอันหลากหลายในลำปางอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

จากวัดประตูป่อง รถวิ่งไปตามถนนป่าไม้เลียบริมแม่น้ำวัง ผ่านต้นไม้ร่มรื่น บ้านเรือนสวยงาม วิทยากรชี้ให้ดูบ้านไม้สีฟ้าพร้อมบอกว่า ที่นี่เคยเป็นบ้านถิ่นกำเนิดของหลวงพ่อเกษม เขมโก พระเกจิชื่อดังชาวลำปาง โดยบริเวณนี้เรียกว่า “ท่าเก๊าม่วง” หรือท่าน้ำที่มีต้นมะม่วงมาก ก่อนจะเข้าสู่ถนนพระแก้ว ผ่าน “ตลาดรัษฎา” หรือ “ตลาดหัวขัว” หรือหมายถึงตลาดที่อยู่หัวสะพานรัษฎานั่นเอง
วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก
เรากำลังมุ่งหน้ามายัง “วัดปงสนุก” วัดเก่าแก่และมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย รถรางจอดที่นี่ 20 นาทีให้เราลงไปชมและถ่ายรูปที่วัดปงสนุกกัน วัดปงสนุกเป็นวัดสำคัญคู่ลำปางมาช้านาน และในปี 2551 วัดนี้ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม (Award of Merit) มีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ “วิหารพระเจ้าพันองค์” วิหารโถงขนาดเล็กแต่งดงามยิ่งนักด้วยศิลปะผสมผสาน ทั้งจีน พม่า ล้านนา และรัตนโกสินทร์ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป 4 ทิศประทับนั่งหันหลังชนกัน อีกทั้งยังมีองค์พระธาตุ วิหารพระนอนอยู่ใกล้เคียงกันอีกด้วย
พระพุทธรูป 4 ทิศในวิหารพระเจ้าพันองค์
บ้านไม้เก่าแก่บนถนนวังเหนือ
จากนั้นเราเดินทางกันต่อย้อนกลับมาที่ “ถนนวังเหนือ” ถนนวังเหนือในอดีตเคยเป็นกำแพงเมืองของเวียงเขลางค์นครรุ่นที่ 1 แต่ตอนนี้ได้สร้างถนนทับไปแล้วไม่เหลือซากของกำแพงให้เห็น ถนนสายนี้เงียบสงบและบรรยากาศดีน่าเดินเล่นมากๆ มีบ้านไม้สวยๆ รูปทรงพื้นถิ่นโบราณให้ชมหลายหลังเลยทีเดียว ปัจจุบันถนนสายนี้จัดทำเป็น “ถนนสายวัฒนธรรม” โดยจะเปิดเป็นถนนคนเดินทุกๆ วันศุกร์ในช่วงเย็นไปจนถึงค่ำ โดยจะมีทั้งของกินพื้นเมือง ของฝากของที่ระลึกมาขาย รวมถึงมีการแสดงทางวัฒนธรรมให้ชมอีกด้วย ขอบอกว่าไม่ควรพลาดเลยทีเดียว
กู่เจ้าย่าสุตา
บนถนนวังเหนือรถวิ่งผ่าน “กู่เจ้าย่าสุตา” ที่สันนิษฐานเป็นซุ้มประตูโขงของวัดกากแก้วในอดีต เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาที่มีลวดลายปูนปั้นเทวดาอยู่ทั้ง 4 มุม ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2523
วัดแสนเมืองมา
รถวิ่งต่อมายังถนนท่ามะโอ และแวะให้ชมความงามของ “วัดแสงเมืองมา” ที่วิหารวัดของวัดสร้างเมื่อประมาณปี 2469 ในสมัยของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย วิหารวัดแสงเมืองมาเป็นวิหารรูปทรงพื้นเมือง มีภาพจิตรกรรมบนฝาผนังที่มีงดงามแต่ลบเลือนไปมากแล้ว

จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนประตูม้า ที่จริงๆ น่าจะมาจากคำว่า “ม่า” ซึ่งหมายถึงสิ่งชั่วร้าย สิ่งไม่ดี เพราะประตูนี้เป็นประตูผีที่นำร่างคนตายออกไปเผายังสุสานนอกเมือง รถรางพาเราผ่านประตูม้า ที่ยังคงมองเห็นร่องรอยของกำแพงเมืองเก่า
รูปเหมือนของหลวงพ่อเกษมด้านหน้าสุสานไตรลักษณ์ พร้อมรถม้าลำปาง
เรามุ่งหน้าไปที่ “สุสานไตรลักษณ์” หรือสถานปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อเกษม เขมโก ซึ่งท่านถือกำเนิดที่บ้านท่าเก๊าม่วง และได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับอดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง ท่านเป็นพระนักปฏิบัติและมักจะปฏิบัติธรรมตามสุสาน ที่สุสานไตรลักษณ์นี้เป็นที่สุดท้ายที่ท่านมาปฏิบัติธรรมและได้มรณภาพที่นี่ ต่อมาผู้ลูกศิษย์ลูกหานับถือท่านจึงสร้างมณฑปและเก็บรักษาร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของท่านไว้ที่นี่ และได้สร้างรูปปั้นหลวงพ่อเกษมในท่ายืนไว้บริเวณด้านหน้า
พระเจดีย์ในวัดพระแก้วดอนเต้า
ย้อนกลับเข้าเมืองผ่านประตูม้าอีกครั้ง คราวนี้มุ่งหน้าไปยัง “วัดพระแก้วดอนเต้า” วัดเก่าแก่อายุกว่า 500 ปี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตยาวนานถึง 32 ปี ตามตำนานเล่าว่าพระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้จัดขบวนช้างไปรับพระแก้วมรกตมาจากเชียงราย เพื่อจะอัญเชิญมาประดิษฐานยังนครเชียงใหม่ แต่ช้างตื่นวิ่งเตลิดเข้าไปในนครลำปาง พระเจ้าสามฝั่งแกนจึงต้องยินยอมให้พระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้วดอนเต้าเป็นเวลาถึง 32 ปี ก่อนที่จะมีผู้อัญเชิญไปประดิษฐานยังเชียงใหม่แล้วก็ไปเมืองเวียงจันทน์ ก่อนจะมาอยู่ที่วัดพระแก้วที่กรุงเทพฯ ปัจจุบัน

นอกจากองค์พระแก้วมรกตจำลองแล้ว ภายในวัดพระแก้วดอนเต้านี้ยังมีปูชนียสถานที่สำคัญอีกหลายอย่าง อาทิ เจดีย์องค์ใหญ่ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มณฑปศิลปะพม่าที่งดงามประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีอายุเก่าแก่ และยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งล้านนาอีกด้วย
บ้านเสานัก
รถรางพาเราย้อนกลับมาตามถนนท่ามะโออีกครั้ง สองข้างทางของถนนท่ามะโอจะมีบ้านไม้เก่าเมื่อสมัยยุคที่มีการทำสัมปทานป่าไม้ไว้ให้ชมกัน ก่อนจะมาถึง “บ้านเสานัก” บ้านไม้สักโบราณอายุร่วม 100 กว่าปีบนถนนราษฎร์วัฒนา (ถ้าเข้าชมภายในบ้านจ่ายค่าเข้าชมเอง) ชื่อ “บ้านเสานัก” หมายถึง “บ้านเสามาก” เพราะใช้เสาไม้สักสร้างบ้านมากถึง 116 ต้น เราสามารถเข้าไปชมบรรยากาศและความเป็นอยู่ของคนในยุคโบราณได้
บ้านร้อยปี
รถรางพาลัดเลาะเข้ามาบนถนนป่าไม้ ที่ชื่อถนนป่าไม้เพราะที่นี่มีสำนักงานเกี่ยวกับสัมปทานป่าไม้ในยุคที่อุตสาหกรรมป่าไม้กำลังรุ่งเรือง ที่นี่เราได้มาชม “บ้านร้อยปี” หรือ บ้านเลขที่ 1 ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายในสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง อาคารหลังนี้สร้างขึ้นในแบบทรงปั้นหยาครึ่งปูนครึ่งไม้ เดิมใช้เป็นออฟฟิศติดต่อจัดการเกี่ยวกับผู้มาทำสัมปทานป่าไม้ในลำปาง มีทั้งบริษัทต่างชาติและบริษัทชาวจีน คนพม่า อีกทั้งรัชกาลที่ 5 ยังเคยเสด็จมาประทับที่นี่ด้วย
บ้านหลุยส์ ที เลียวโนแวนส์
มีบ้านไม้อีกหลังหนึ่งที่งดงามและมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมป่าไม้เมืองลำปางคือ “บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “บ้านหลุยส์” ที่หากไม่ได้มากับรถรางคงจะหาทางเข้าไม่ได้เป็นแน่ เพราะบ้านหลุยส์นี้ตั้งอยู่ภายในเขตบ้านพักพนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
บ้านหลุยส์ที่เก่าแก่แต่ยังคงสวยงาม
ในอดีตลำปางมีการสัมปทานป่าไม้จากชาวตะวันตกอยู่หลายชาติ บริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น และบ้านหลุยส์หลังนี้ก็คือสำนักงานของบริษัทนั่นเอง อาคารหลังนี้แม้จะเก่าแก่แต่ก็สวยคลาสสิคมากๆ เป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยาครึ่งปูนครึ่งไม้ มีการฉลุไม้ตรงโค้งบานประตู และมีมุก 8 เหลี่ยมยื่นออกมาด้านหน้า แต่ตัวอาคารค่อนข้างเก่าแก่มาก จึงไม่อนุญาตเข้าไปหรือขึ้นไปบนตัวบ้านเพราะอาจเกิดอันตรายได้ ชมแต่เพียงรอบนอกเท่านั้น
วิหารวัดประตูป่อง
จากบ้านหลุยส์ เรากลับมาที่วัดประตูป่องที่อยู่ไม่ไกลกันอีกครั้ง เป็นจุดสุดท้ายและเป็นการปิดท้ายของเส้นทางรถรางที่งดงาม เพราะ “วัดประตูป่อง” มีงานศิลปกรรมอันงดงามหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปะปูนปั้น งานแกะสลักไม้ และงานภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารฝีมือจิตรกรร่วมสมัยที่ใช้สีสันสดใส วาดเป็นเรื่องราวของป๋าเวณีสิบสองเดือน (ประเพณีสิบสองเดือน) ของชาวล้านนา และภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเหนือที่น่าสนใจยิ่ง
ภายในวิหารวัดประตูป่องที่มีจิตรกรรมฝาผนังงดงาม
จิตรกรรมฝาผนังวาดภาพชาวบ้านกับการปั่นฝ้าย
นอกจากนี้วัดประตูป่องยังมี “เงาพระธาตุ” (หัวกลับ) ในกุฏิหลังเก่า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอันซีนลำปางที่มีเสน่ห์และยังไม่เป็นที่รู้จักกันสักเท่าไร

นับได้ว่ากิจกรรมนั่งรถรางเที่ยวของชุมชนท่ามะโอเป็นอีกหนึ่งการเปิดมุมมองใหม่ในลำปาง ที่หากไม่ได้มานั่งรถรางก็คงจะไม่ได้ชม ไม่ได้เห็น และไม่รู้ว่าในย่านชุมชน “ท่ามะโอ” นั้นมีสิ่งที่น่ายลมากถึงเพียงนี้



*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *


“รถรางเพื่อการท่องเที่ยว ชุมชนท่ามะโอ” เปิดให้บริการในวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีวันละ 2 รอบด้วยกันคือ 09.00 น. และ 13.00 น. อัตราค่าบริการ ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ส่วนในวันธรรมดาจะให้บริการเฉพาะแบบเหมาคัน โดยนักท่องเที่ยวบุคคลทั่วไป คิดเที่ยวละ 800 บาท ส่วนนักเรียนนักศึกษาคิดเที่ยวละ 500 บาท สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ที่โทร. 08 1950 9098  และผู้ที่สนใจมาท่องเที่ยวในลำปาง สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว ที่กิน ที่พัก ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง (ดูแลลำปาง, ลำพูน) โทร. 0 5422 2214 หรือเบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย โทร.1672
กำลังโหลดความคิดเห็น