“ประเทศจีน” เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์เรื่องราวยาวนานกว่า 5,000 ปี ซึ่งหลายเรื่องถูกหยิบยกมาดัดแปลงเป็นหนังสือหรือภาพยนตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก ครั้งนี้ “ตะลอนเที่ยว” จึงขอพามาตามรอยตัวละครดังอย่าง “เปาบุ้นจิ้น” และ “ขุนศึกตระกูลหยาง” กันที่เมืองไคฟง ในมณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันออกของประเทศจีน
สำหรับมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน มีเมืองหลวงคือ “นครเจิ้งโจว” ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางด้านการท่องเที่ยวของมณฑลนี้ และยังมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันสายการบิน “ไทยสมายล์” ได้เปิดเที่ยวบินตรง “กรุงเทพฯ-เจิ้งโจว” และเที่ยวบิน “เจิ้งโจว-กรุงเทพฯ” 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังเมืองต่างๆ ได้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
โดยจากนครเจิ้งโจวสามารถนั่งรถไฟความเร็วสูงมาเที่ยวที่ “เมืองไคฟง” หรือ “เมืองไคเฟิง” เมืองเก่าแก่ที่เคยเป็นเมืองหลวงต่อเนื่องยาวนานถึง 7 ราชวงศ์ โดยเจริญรุ่งเรืองที่สุดในสมัยราชวงศ์ซ่ง ที่สำคัญยังมีสถานที่ที่ถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดของเรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์เลื่องชื่อของประเทศจีน ได้แก่
“ศาลไคฟง”
สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1984 เป็นศาลาร้องทุกข์ของประชาชนและใช้ในการพิพากษาคดีของ “ท่านเปาบุ้นจิ้น” (เปากงฉือ/เปาเจิ่ง) ขุนนางที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่กล่าวขานในสมัยราชวงศ์ซ่ง
ภายในศาลไคฟงแบ่งออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ๆ โดยส่วนที่หนึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้ได้เห็นหน้าตาของท่านเปาตัวจริง เพราะมีภาพวาดของท่านเปาที่วาดตามรูปถ่ายที่ติดไว้หน้าสุสานจัดแสดงอยู่ ซึ่งท่านเปาตัวจริงนั้นไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบที่เราเห็นในโทรทัศน์ แต่จะมีรูปร่างเล็ก ไม่สูงมากนัก หน้าไม่ดำ และที่สำคัญไม่ได้มีพระจันทร์อยู่ที่บริเวณหน้าผาก
โดยเหตุที่ต้องแต่งให้ท่านเปาในโทรทัศน์มีลักษณะเช่นนั้นก็เพราะต้องการสื่อว่า ท่านมีตาที่สามหรือดวงตาวิเศษที่สามารถมองเห็นความจริงได้ และในการแสดงงิ้วของคนจีนนั้นเชื่อว่าคนที่อ้วนท้วมและมีผิวดำคล้ำ จะเป็นลักษณะของคนที่จิตใจดีมีเมตตานั่นเอง
ในส่วนนี้ยังมีแผ่นป้ายภาษาจีนที่เขียนเกี่ยวกับข้อกฎหมายและบทกวีที่เป็นคำสอนของท่านเปาจัดแสดงอยู่ รวมถึงมีแท่นศิลาจารึกที่สลักลงชื่อของขุนนางข้าราชการที่เมืองไคฟง ซึ่งในการมองหาชื่อของท่านเปาในแท่นศิลานี้สามารถทำได้ง่ายมาก ถึงแม้ไม่รู้ภาษาจีนก็มองหาเจอ เพราะตรงชื่อของท่านเปานั้นจะบุ๋มลงไป เนื่องจากผู้คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่มักจะชี้และจิ้มลงไปเรื่อยๆ ที่ชื่อของท่าเปาจนเห็นความแตกต่าง
นอกจากนั้นยังมีภาพตัวอักษรภาษาจีนที่แปลว่า “ภูเขา” ซึ่งเกิดจากการนำคำสองคำมารวมกัน เมื่อมองดูแล้วจะคล้ายใบหน้าของท่านเปา มีความหมายอีกนัยว่า “ท่านเปานั้นมีความยิ่งใหญ่เหมือนภูเขา” นั่นเอง
ส่วนที่สองจะเป็นห้องที่จัดแสดงเครื่องแบบของท่านเปา, เกี้ยวขนาดจำลองที่ท่านเปาใช้นั่งออกตรวจราชการ, โมเดลจำลองแผนผังของศาลไคฟงในยุคต่างๆ และภาพวาดสีใบหน้าของท่านเปา ถัดมาที่ส่วนที่สามจะมีรูปปั้นของท่านเปาในลักษณะนั่ง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์สูงตั้งตระหง่านกลางห้องให้คนเข้ากราบไหว้ขอพร และในห้องนี้ยังมีของที่ระลึกจำหน่ายด้วย
ส่วนที่สี่ถือว่าเป็นส่วนไฮไลต์ของศาลไคฟงเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นห้องที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของท่านเปาและตัวละครต่างๆ ซึ่งเป็นการจำลองเรื่องราวในตอน “ประหารราชบุตรเขย” พร้อมจัดแสดง “เครื่องประหาร” ทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ “เครื่องประหารหัวมังกร” มีลักษณะเป็นรูปมังกร ใช้สำหรับประหารชีวิตราชวงศ์ที่ได้กระทำความผิด “เครื่องประหารหัวพยัคฆ์” มีลักษณะเป็นรูปเสือ ใช้สำหรับประหารชีวิตขุนนาง และสุดท้ายคือ “เครื่องประหารหัวสุนัข” มีลักษณะเป็นรูปสุนัข ใช้สำหรับประหารชีวิตประชาชนทั่วไป
ส่วนสุดท้ายจะเป็นส่วนของรอบๆ ศาลไคฟงที่เรียกว่าเป็น “สวนของท่านเปา” เป็นสวนร่มรื่น บรรยากาศเย็นสบาย เพราะอยู่ติดกับแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) ตกแต่งด้วยสะพานหินและรูปปั้นหินต่างๆ เป็นอีกหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปและเดินเล่น
“ศาลามังกรหลงถิง”
สถานที่ต่อไปจะอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองไคฟง นั่นก็คือ “ศาลามังกรหลงถิง” ที่เคยเป็นพระราชวังของฮ่องเต้ถึง 6 ราชวงศ์ ที่ใช้เมืองไคฟงเป็นเมืองหลวง ได้แก่ ยุคห้าราชวงศ์สืบอาณาจักร (ประกอบไปด้วย ราชวงศ์โฮ่วเหลียง ราชวงศ์โฮ่วถัง ราชวงศ์โฮ่วจิ้น ราชวงศ์โฮ่วฮั่น ราชวงศ์โฮ่วโจว) และราชวงศ์ซ่ง
ซึ่งในช่วงราชวงศ์ซ่งนี้ได้สร้างสวนดอกไม้เพิ่มเข้ามา และในส่วนบริเวณทางเข้าจะมีทะเลสาบขนาบอยู่ทั้งสองข้างของทางเดิน โดยฝั่งขวาจะเป็นทะเลสาบที่ “ตระกูลหยาง” ตระกูลที่เป็นขุนศึกคู่ใจของฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งสร้างขึ้น ส่วนทางฝั่งซ้ายจะเป็นของ “ตระกูลพาน” ขุนนางข้างกายฮ่องเต้สร้างขึ้น
ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง สร้างเป็นดอยหรือยอดสูงขึ้นไปจากพื้นดิน จากนั้นในสมัยพระเจ้าคังซีแห่งราชวงศ์ชิงปี ค.ศ. 1692 ได้สร้างเก๋งจีนไว้ที่บนดอย เป็นการออกแบบของพระราชวังปักกิ่ง ลักษณะเป็นหลังคาสองชั้นตกแต่งอย่างสวยงาม เรียกเก๋งนี้ว่า "หลงถิง" ซึ่งแปลว่า “เก๋งมังกร” เมื่อถึงวันเกิดของฮ่องเต้จะมีการจัดพิธีที่เก๋งนี้ ซึ่งภายในเก๋งจะมี “แท่นหินแกะสลักมังกร” เล่ากันว่าเป็นที่นั่งของปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ซ่งตั้งอยู่ด้วย
หากขึ้นมาอยู่บนยอดดอยจะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์โดยรอบได้ และยังมีลมเย็นๆ พัดผ่าน เพราะห้อมล้อมไปด้วยทะเลสาบและต้นไม้ใหญ่ นอกจากนั้นในช่วงนี้ยังมีการจัดเทศกาลดอกไม้ยาวไปจนถึงสิ้นปี โดยจะเปลี่ยนพันธุ์ไม้ไปตามฤดูกาล
“ศาลเจ้าขุนศึกตระกูลหยาง”
ถัดจากศาลามังกรหลงถิงมาไม่ไกลนัก จะพบกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จีนอีกแห่งหนึ่งนั่นก็คือ “ศาลเจ้าขุนศึกตระกูลหยาง” ที่แต่เดิมเป็นบ้านของครอบครัวแซ่หยาง ซึ่งผู้ชายในตระกูลเป็นทหารมาตลอด 3 ชั่วอายุคน จนเมื่อมีเหตุที่ผู้ชายตระกูลหยางตายในสนามรบ ฝ่ายผู้หญิงซึ่งเป็นภรรยาหรือลูกหลานในตระกูลก็รับหน้าที่ออกรบแทน
ปัจจุบันได้มีการบูรณะซ่อมแซมให้กลายเป็นศาลเจ้า เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงความจงรักภักดี ความกล้าหาญของตระกูลหยางที่ได้ต่อสู้กับความอยุติธรรม นอกจากนั้นรอบๆ ตัวบ้านได้ปรับให้เป็นสวนสาธารณะ สามารถเข้ามานั่งเล่นพักผ่อนกันได้
ภายในจะมีศาลเจ้าที่มีรูปปั้นของบุคคลในตระกูลหยาง ซึ่งรูปปั้นสององค์ตรงกลางก็คือ หยางเย่ กับ หยางฟู่เหยิรน ภรรยาของเขา รวมถึงมีของที่ระลึกจำหน่ายด้วย ส่วนฝั่งตรงข้ามศาลเจ้าจะเป็นตึกทรงจีนสองชั้น โดยชั้นแรกจะจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งเกี่ยวกับเรื่องราวที่บรรดาผู้ชายตระกูลหยางกำลังประชุมการศึกสงครามกัน และชั้นที่สองจะเป็นหุ่นขี้ผึ้งที่แสดงเรื่องราวในตอนที่บรรดาผู้หญิงตระกูลหยางต้องออกรบแทน
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานที่น่าสนใจภายในเมืองไคฟง มณฑลเหอหนาน ซึ่งยังมีอีกหลายสถานที่ในอีกหลายเมืองที่ต้องห้ามพลาดแวะเวียนไปเที่ยวชม ครั้งหน้า “ตะลอนเที่ยว” จะพาไปเที่ยวที่ไหน รอติดตามต่อตอนต่อไปได้เลย!
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สายการบิน “ไทยสมายล์” ได้เปิดเที่ยวบินตรง “กรุงเทพฯ-เจิ้งโจว” 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเที่ยวบิน “เจิ้งโจว-กรุงเทพฯ” เปิดให้บริการ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในราคาเริ่มต้นที่ 4,860 บาท (ราคารวมทุกอย่างแล้ว) ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 1181 หรือที่ 0-2118-8888 หรือดูที่ www.thaismileair.com
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com