โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)

ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง(5 คน)นำโดย นาย“ยุทธนันท์ แก้วพิทักษ์” จาก อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ได้เข้าไปดำน้ำหากุ้งก้ามกรามใน“ถ้ำวังกล้วย” ที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านคีรีวง ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล พวกเขาบังเอิญได้ไปพบกับซากดึกดำบรรพ์(ฟอสซิล)ชิ้นหนึ่ง มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลไหม้ น้ำหนักประมาณ 5.3 กก. ยาวประมาณ 44 ซม. สูงประมาณ 16 ซม.ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามันคือฟอสซิลอะไร? และมีความสำคัญอย่างไร?
กระทั่งเมื่อนำฟอสซิลดังกล่าวมาผ่านกระบวนการต่างๆก่อนนำให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ พบว่าฟอสซิลชิ้นนี้เป็นกระดูกฟันกรามของช้าง“สเตโกดอน” ที่มีชีวิตอยู่ในยุคไมโอซีนตอนปลายถึงต้นยุคไพลสโตซีน มีอายุประมาณ 1.8 ล้านปีมาแล้ว เป็นช้างรุ่นที่ 6 ในวิวัฒนาการของสัตว์ตระกูลช้างที่มีอายุเก่าแก่กว่าช้าง“แมมมอธ”(รุ่นที่ 8-อายุราว 20,000 ปีก่อน)ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีเสียอีก

นี่นับเป็นอีกหนึ่งการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไทย ซึ่งหลังจากนี้ทางเจ้าของพื้นที่นำโดยนาย“ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ”หรือ“นายกโอเล่ย์”นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของฟอสซิลดังกล่าว ได้นำทีมชาวบ้านพัฒนาถ้ำวังกล้วยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกับเรียกขานถ้ำแห่งนี้เสียใหม่ว่า “ถ้ำเลสเตโกดอน” ตามลักษณะของถ้ำที่มีธารน้ำไหลผ่าน ผนวกกับชื่อของซากฟอสซิลกรามช้างสเตโกดอนที่ประสบพบเจอในถ้ำแห่งนี้
ถ้ำเลสเตโกดอน
ถ้ำเลสเตโกดอนมีความยาวกว่า 4 กม. เป็นถ้ำธารลอดในเทือกเขาหินปูน ซึ่งมีลักษณะเด่นคือมีน้ำทะเลไหลเข้าไปในถ้ำ(ในช่วงน้ำทะเลหนุน) จนถูกยกให้เป็นถ้ำน้ำเค็มที่ยาวที่สุดในเมืองไทย

นอกจากฟอสซิลของช้างสเตโกดอนแล้ว ภายในถ้ำแห่งนี้ยังมีการค้นพบฟอสซิลฟันกรามของช้างเอลิฟาสที่เป็นบรรพบุรุษของช้างเอเชีย อายุประมาณ 1.1 ล้านปี พบฟอสซิลของแรดสมัยไพลสโตซีน(ประมาณ 2 ล้าน-11,700 ปีมาแล้ว) พบฟอสซิลกระซู่ เต่า หอย หมึก รวมไปถึงขวานหินของมนุษย์โบราณ รวมแล้วซากดึกดำบรรพ์ที่พบนั้นกว่า 300 ชิ้นเลยทีเดียว
ปัจจุบันหน้าถ้ำเลสเตโกดอนมีการสร้างประติมากรรมช้างโบราณ แรดโบราณ โดยเฉพาะช้างสเตโกดอนไว้เป็นสัญลักษณ์ให้ผู้มาเยือนได้รับรู้ถึงลักษณะและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน

ขณะที่ภายในถ้ำเลสเตโกดอนนั้นงดงามไปด้วยหินงอกหินย้อยที่สวยงามหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หินงอกหินย้อยตามเพดาน-ผนังถ้ำ หินประกานเพชร หินที่มีสายน้ำไหลผ่านดูคล้ายม่านน้ำตกเล็กๆภายในถ้ำ เสาหิน หินรูปหลอด ทำนบหิน ซึ่งปัจจุบันถ้ำเลสเตโกดอนยังคงเป็น“ถ้ำเป็น” ซึ่งนักท่องเที่ยวห้ามไปแตะ จับ สัมผัส หินงอกหินย้อยที่กำลังเติบโตมีชีวิตภายในถ้ำอย่างเด็ดขาด!!!

สำหรับการเข้าไปเที่ยวในถ้ำเลสเตโกดอน นักท่องเที่ยวต้องนั่งเรือคายักเข้าไป โดยจุดลงเรือจะอยู่ที่หน้าปากถ้ำ บริเวณบ้านคีรีวง ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า ติดกับถนนทางหลวงหมายเลข 416 เรือแคนูลำหนึ่งบรรทุกได้ 3 คน คือนักท่องเที่ยว 2 คน และนายท้าย 1 คน ที่เป็นทั้งฝีพายและไกด์คอยให้ข้อมูลต่างๆ กับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่จะล่องเรือคายักจะต้องสวมเสื้อชูชีพ หมวกกันกระแทก พร้อมทั้งมีไฟฉาย เพราะในถ้ำจะมืดสนิท
และด้วยการบริหารจัดการที่ดีทำให้ถ้ำเลสเตโกดอนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือรางวัล“กินรี”ประจำปี 2558 มาครอง การันตีในคุณภาพและความตั้งใจจริงของชาวชุมชน
พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า

หลังการค้นพบฟอสซิลฟันกรามของช้างสเตโกดอน นอกจากการพัฒนาถ้ำวังกล้วยให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในไฮไลท์ไม่ควรพลาดของผู้มาเที่ยวจังหวัดสตูลแล้ว ยังได้มีการสร้าง “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า”ขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาฟอสซิลที่พบในท้องที่ อ.ทุ่งหว้า และใน จ.สตูล พร้อมทั้งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ให้ผู้สนใจได้เข้าไปเที่ยวชม
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอาคารชั้นเดียว ภายในมีการจัดแสดงสิ่งน่าสนใจต่างๆ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับช้างตั้งแต่ช้างในยุคดึกดำบรรพ์ ช้างดึกดำบรรพ์ที่พบในสตูล ช้างต้นคู่พระบารมีของในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมถึงตำนานความเชื่อเกี่ยวกับช้างต่างๆที่ผูกพันกับวิถีคนไทย

นอกจากนี้ก็ยังมีประวัติความเป็นมาของอำเภอทุ่งหว้า ซากขวานหินของมนุษย์โบราณ พร้อมทั้งมีการจัดแสดงฟอสซิลต่างๆที่ค้นพบในจังหวัดสตูลให้ชมกัน นำโดยไฮไลท์คือ ฟอสซิสกรามช้างสเตโกดอน และฟอสซิลกระดูกฟันของแรดโบราณ
สตูลดินแดนแห่งมหายุคพาลีโอโซอิก

“ฟอสซิลแลนด์ แดนสตูล”
เป็นฉายา(ใหม่)ของจังหวัดสตูลอันเนื่องมาจากการค้นพบฟอสซิลมากมายในจังหวัดแห่งนี้ ซึ่งนอกจากการค้นพบสำคัญคือฟอสซิลสกรามช้างสเตโกดอนแล้ว การค้นพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตต่างๆใน“มหายุคพาลีโอโซอิก”นั้นก็ถือว่ามีความสำคัญยิ่งไม่แพ้กัน

มหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic) มีอายุประมาณ 542-251 ล้านปี(ก่อนยุคไดโนเสาร์-มหายุคมีโซโซอิก-251-65 ล้านปี) เป็นยุคแห่งสัตว์ทะเล สิ่งมีชีวิตพวกสาหร่ายดึกดำบรรพ์ และภูเขาสาหร่ายก่อนที่จะมีสัตว์มีครีบเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
มหายุคพาลีโอโซอิกแบ่งออกเป็น 6 ยุค ได้แก่ แคมเบรียน ออร์โดวิเชียน ไซรูเลียน ดีโวเนียน คาร์บอนิเฟอรัส และ เพอร์เมียน (หลังยุคเพอร์เมียนก็เข้าสู่มหายุคมีโซโซอิกซึ่งถือเป็นยุคทองของไดโนเสาร์)

สำหรับการค้นพบที่เด่นๆในมหายุคพาลีโอโซอิกในสตูลนั้นก็อย่างเช่น การพบซากฟอสซิลจำนวนมากในบริเวณ“เขาน้อย”(ลำดับชั้นหินเขาน้อย-บ้านทุ่งเสม็ด ต.กำแพง อ.ละงู) เป็นเนินเขาเตี้ยๆที่มีซากฟอสซิลหลากหลายอยู่ในเนื้อหินแทบทุกตารางเมตรของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น พลับพลึงทะเล แบรคิโอพอด(หอยกาบคู่) ไทรโลไบต์(สัตว์ที่มีรยางค์เป็นข้อปล้อง เป็นต้นตระกูลแมงดาทะเลโบราณ)

และ แกรปโตไลต์ สัตว์ทะเลขนาดเล็กมีลักษณะเป็นเส้น เมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายจะเห็นเป็นยักคล้ายฟันเลื่อยอาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม ฟอสซิลแกรปโตไลต์จะดูคล้ายรอยขีดเขียนบนก้อนหิน
การค้นพบซากฟอสซิลบริเวณ“ศาลทวดโต๊ะสามยอด”(ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า) ซึ่งมีการค้นพบซากหอยกาบคู่ และซากหอย“นอติลอยต์”(สัตว์ในชั้นเดียวกับหมึก หมึกยักษ์ และนอติลุส) ขนาดใหญ่และชัดเจนมาก

การค้นพบหินสาหร่ายที่ แหล่ง“หินสาหร่าย ศาลทวดบุญส่ง”(บ้านทุ่งเสม็ด ต.กำแพง อ.ละงู) มีลักษณะเป็นหินโผล่คล้ายจอมปลวกขนาดใหญ่ ชั้นหินบางวางเรียงซ้อนกันดูสวยงามแปลกตา
หินสาหร่ายเกิดจากการก่อตัวของ “สาหร่ายสโตมาโตไลต์” ที่มีความสำคัญต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เพราะเป็นตัวสร้างออกซิเจนให้กับสิ่งมีชีวิตเริ่มแรกในยุคแคมเบรียน(ประมาณ 500 ล้านปีมาแล้ว) จนกระทั่งเริ่มมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆตามมา

ทั้งนี้การค้นพบฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิกในสตูลนั้น นอกจากจะเป็นหลักฐานสำคัญในการแสดงถึงความเป็นแหล่งฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว ที่สตูลยังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครบทั้ง 6 ยุค หนึ่งเดียวในเมืองไทย และเป็นเพียงไม่กี่แห่งในโลก หรืออาจเป็นเพียงแห่งเดียวในโลกเลยก็ว่าได้ ที่มีการค้นพบฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิกครบทั้ง 6 ยุคเช่นนี้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งไม่น้อยเลย
อุทยานธรณีสตูล

ทั้งการค้นพบฟอสซิสกรามช้างสเตโกดอน ฟอสซิลกระดูกฟันของแรดโบราณ ซากดึกดำบรรพ์แห่งมหายุคพาลีโอโซอิกครบทั้ง 6 ยุค และการค้นพบฟอสซิลจำนวนมากในจังหวัดสตูล ทำให้ทางชุมชนท้องถิ่นของสตูลภายใต้การนำของ นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า และพี่เลี้ยงคือ“กรมทรัพยากรธรณี”ที่คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ ได้ร่วมกันเดินหน้าผลักดันสตูลให้เป็น“อุทยานธรณี” ที่มุ่งความสำคัญให้ก้าวไกลไปในระดับโลกเลยทีเดียว
อุทยานธรณี(Geopark) หมายถึงพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งธรณีวิทยา แหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา ที่มีคุณค่าต่อประเทศ/โลก รวมถึงแหล่งทางด้านโบราณคดี(Archeology) นิเวศวิทยา(Ecology) และศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่มีคุณค่าของโลก (Culture) บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น โดยประชาชน เพื่อประชาชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับอุทยานธรณีสตูล ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมด 2,597 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยามากกว่า 70 แห่ง ครอบคลุมทั้งบนบกและในทะเล อาทิ ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต น้ำตกธารปลิว หินเขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย เกาะไข่-หาดหินงามแห่งหมู่เกาะตะรุเตา ทะเลแหวกเกาะหว้าหิน-เกาะลิดีเล็ก เป็นต้น

นอกจากนี้อุทยานธรณีสตูลยังมีความผูกพันกับวิถีชุมชน อย่างเช่น “โรงเรียนกำแพงวิทยา”(ต.กำแพง อ.ละงู) ที่มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาขึ้นภายในโรงเรียน เพื่อแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ชาวชุมชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจ “วิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติก”(บ้านปากบาง ต.ละงู อ.ละงู) ที่ได้นำลักษณะต่างๆของซากฟอสซิลมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะวาดลวดลายลงบนผ้าบาติกผืนงาม เป็นต้น
อุทยานธรณีโลก

ด้วยความโดดเด่นของความเป็นเมืองแห่งอุทยานธรณี บวกกับความมุ่งมั่นของชาวจังหวัดสตูลในการเดินหน้าผลักดันในเรื่องของอุทยานธรณี วันนี้อุทยานธรณีสตูลได้รับการพัฒนาจากระดับท้องถิ่นจนขึ้นชั้นเป็นเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศแห่งแรกของประเทศไทย และกำลังจะก้าวต่อไปสู่อุทยานธรณีระดับโลก
โดยมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559 ได้เห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกขององค์การยูเนสโก ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลอย่างเป็นทางการภายในปี 2561

ทั้งนี้หากอุทยานธรณีสตูลได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุทยานธรณีโลก จะถือเป็นอุทยานแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะผลจากการเป็นอุทยานธรณีโลก จะนำมาซึ่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งยังเป็นการเปิดจังหวัดสตูลสู่มิติใหม่ทางการท่องเที่ยว (ที่ไม่ใช่มีเฉพาะแค่เกาะหลีเป๊ะที่คนเข้าไปใช้ทรัพยากรกันจนเละอย่างเช่นทุกวันนี้) ซึ่งจะนำรายได้มากระจายลงสู่ท้องถิ่นอีกมากโข

อย่างไรก็ดีสำหรับเรื่องนี้ “ดร.ทศพร นุชอนงค์” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ที่เป็นหนึ่งในคนสำคัญผู้ร่วมผลักดันอุทยานธรณีสตูลให้กลายเป็นอุทยานธรณีโลก ได้เปิดเผยว่า
“ถ้าหากอุทยานธรณีสตูลได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก นับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งสำหรับประเทศไทย ส่วนถ้าหากว่าพลาดหวังไปก็ไม่ใช่เรื่องน่าเสียใจ เพราะสิ่งสำคัญคือการจุดประเด็นให้ชุมชนคนท้องถิ่นหันมาหวงแหน ดูแล และอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเองให้ดำรงคงอยู่ เพื่อความยั่งยืนตลอดไป”

* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง(5 คน)นำโดย นาย“ยุทธนันท์ แก้วพิทักษ์” จาก อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ได้เข้าไปดำน้ำหากุ้งก้ามกรามใน“ถ้ำวังกล้วย” ที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านคีรีวง ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล พวกเขาบังเอิญได้ไปพบกับซากดึกดำบรรพ์(ฟอสซิล)ชิ้นหนึ่ง มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลไหม้ น้ำหนักประมาณ 5.3 กก. ยาวประมาณ 44 ซม. สูงประมาณ 16 ซม.ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามันคือฟอสซิลอะไร? และมีความสำคัญอย่างไร?
กระทั่งเมื่อนำฟอสซิลดังกล่าวมาผ่านกระบวนการต่างๆก่อนนำให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ พบว่าฟอสซิลชิ้นนี้เป็นกระดูกฟันกรามของช้าง“สเตโกดอน” ที่มีชีวิตอยู่ในยุคไมโอซีนตอนปลายถึงต้นยุคไพลสโตซีน มีอายุประมาณ 1.8 ล้านปีมาแล้ว เป็นช้างรุ่นที่ 6 ในวิวัฒนาการของสัตว์ตระกูลช้างที่มีอายุเก่าแก่กว่าช้าง“แมมมอธ”(รุ่นที่ 8-อายุราว 20,000 ปีก่อน)ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีเสียอีก
นี่นับเป็นอีกหนึ่งการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไทย ซึ่งหลังจากนี้ทางเจ้าของพื้นที่นำโดยนาย“ณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ”หรือ“นายกโอเล่ย์”นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของฟอสซิลดังกล่าว ได้นำทีมชาวบ้านพัฒนาถ้ำวังกล้วยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกับเรียกขานถ้ำแห่งนี้เสียใหม่ว่า “ถ้ำเลสเตโกดอน” ตามลักษณะของถ้ำที่มีธารน้ำไหลผ่าน ผนวกกับชื่อของซากฟอสซิลกรามช้างสเตโกดอนที่ประสบพบเจอในถ้ำแห่งนี้
ถ้ำเลสเตโกดอน
ถ้ำเลสเตโกดอนมีความยาวกว่า 4 กม. เป็นถ้ำธารลอดในเทือกเขาหินปูน ซึ่งมีลักษณะเด่นคือมีน้ำทะเลไหลเข้าไปในถ้ำ(ในช่วงน้ำทะเลหนุน) จนถูกยกให้เป็นถ้ำน้ำเค็มที่ยาวที่สุดในเมืองไทย
นอกจากฟอสซิลของช้างสเตโกดอนแล้ว ภายในถ้ำแห่งนี้ยังมีการค้นพบฟอสซิลฟันกรามของช้างเอลิฟาสที่เป็นบรรพบุรุษของช้างเอเชีย อายุประมาณ 1.1 ล้านปี พบฟอสซิลของแรดสมัยไพลสโตซีน(ประมาณ 2 ล้าน-11,700 ปีมาแล้ว) พบฟอสซิลกระซู่ เต่า หอย หมึก รวมไปถึงขวานหินของมนุษย์โบราณ รวมแล้วซากดึกดำบรรพ์ที่พบนั้นกว่า 300 ชิ้นเลยทีเดียว
ปัจจุบันหน้าถ้ำเลสเตโกดอนมีการสร้างประติมากรรมช้างโบราณ แรดโบราณ โดยเฉพาะช้างสเตโกดอนไว้เป็นสัญลักษณ์ให้ผู้มาเยือนได้รับรู้ถึงลักษณะและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน
ขณะที่ภายในถ้ำเลสเตโกดอนนั้นงดงามไปด้วยหินงอกหินย้อยที่สวยงามหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หินงอกหินย้อยตามเพดาน-ผนังถ้ำ หินประกานเพชร หินที่มีสายน้ำไหลผ่านดูคล้ายม่านน้ำตกเล็กๆภายในถ้ำ เสาหิน หินรูปหลอด ทำนบหิน ซึ่งปัจจุบันถ้ำเลสเตโกดอนยังคงเป็น“ถ้ำเป็น” ซึ่งนักท่องเที่ยวห้ามไปแตะ จับ สัมผัส หินงอกหินย้อยที่กำลังเติบโตมีชีวิตภายในถ้ำอย่างเด็ดขาด!!!
สำหรับการเข้าไปเที่ยวในถ้ำเลสเตโกดอน นักท่องเที่ยวต้องนั่งเรือคายักเข้าไป โดยจุดลงเรือจะอยู่ที่หน้าปากถ้ำ บริเวณบ้านคีรีวง ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า ติดกับถนนทางหลวงหมายเลข 416 เรือแคนูลำหนึ่งบรรทุกได้ 3 คน คือนักท่องเที่ยว 2 คน และนายท้าย 1 คน ที่เป็นทั้งฝีพายและไกด์คอยให้ข้อมูลต่างๆ กับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่จะล่องเรือคายักจะต้องสวมเสื้อชูชีพ หมวกกันกระแทก พร้อมทั้งมีไฟฉาย เพราะในถ้ำจะมืดสนิท
และด้วยการบริหารจัดการที่ดีทำให้ถ้ำเลสเตโกดอนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือรางวัล“กินรี”ประจำปี 2558 มาครอง การันตีในคุณภาพและความตั้งใจจริงของชาวชุมชน
พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า
หลังการค้นพบฟอสซิลฟันกรามของช้างสเตโกดอน นอกจากการพัฒนาถ้ำวังกล้วยให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในไฮไลท์ไม่ควรพลาดของผู้มาเที่ยวจังหวัดสตูลแล้ว ยังได้มีการสร้าง “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า”ขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาฟอสซิลที่พบในท้องที่ อ.ทุ่งหว้า และใน จ.สตูล พร้อมทั้งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ให้ผู้สนใจได้เข้าไปเที่ยวชม
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอาคารชั้นเดียว ภายในมีการจัดแสดงสิ่งน่าสนใจต่างๆ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับช้างตั้งแต่ช้างในยุคดึกดำบรรพ์ ช้างดึกดำบรรพ์ที่พบในสตูล ช้างต้นคู่พระบารมีของในหลวง รัชกาลที่ 9 รวมถึงตำนานความเชื่อเกี่ยวกับช้างต่างๆที่ผูกพันกับวิถีคนไทย
นอกจากนี้ก็ยังมีประวัติความเป็นมาของอำเภอทุ่งหว้า ซากขวานหินของมนุษย์โบราณ พร้อมทั้งมีการจัดแสดงฟอสซิลต่างๆที่ค้นพบในจังหวัดสตูลให้ชมกัน นำโดยไฮไลท์คือ ฟอสซิสกรามช้างสเตโกดอน และฟอสซิลกระดูกฟันของแรดโบราณ
สตูลดินแดนแห่งมหายุคพาลีโอโซอิก
“ฟอสซิลแลนด์ แดนสตูล”
เป็นฉายา(ใหม่)ของจังหวัดสตูลอันเนื่องมาจากการค้นพบฟอสซิลมากมายในจังหวัดแห่งนี้ ซึ่งนอกจากการค้นพบสำคัญคือฟอสซิลสกรามช้างสเตโกดอนแล้ว การค้นพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตต่างๆใน“มหายุคพาลีโอโซอิก”นั้นก็ถือว่ามีความสำคัญยิ่งไม่แพ้กัน
มหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic) มีอายุประมาณ 542-251 ล้านปี(ก่อนยุคไดโนเสาร์-มหายุคมีโซโซอิก-251-65 ล้านปี) เป็นยุคแห่งสัตว์ทะเล สิ่งมีชีวิตพวกสาหร่ายดึกดำบรรพ์ และภูเขาสาหร่ายก่อนที่จะมีสัตว์มีครีบเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
มหายุคพาลีโอโซอิกแบ่งออกเป็น 6 ยุค ได้แก่ แคมเบรียน ออร์โดวิเชียน ไซรูเลียน ดีโวเนียน คาร์บอนิเฟอรัส และ เพอร์เมียน (หลังยุคเพอร์เมียนก็เข้าสู่มหายุคมีโซโซอิกซึ่งถือเป็นยุคทองของไดโนเสาร์)
สำหรับการค้นพบที่เด่นๆในมหายุคพาลีโอโซอิกในสตูลนั้นก็อย่างเช่น การพบซากฟอสซิลจำนวนมากในบริเวณ“เขาน้อย”(ลำดับชั้นหินเขาน้อย-บ้านทุ่งเสม็ด ต.กำแพง อ.ละงู) เป็นเนินเขาเตี้ยๆที่มีซากฟอสซิลหลากหลายอยู่ในเนื้อหินแทบทุกตารางเมตรของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น พลับพลึงทะเล แบรคิโอพอด(หอยกาบคู่) ไทรโลไบต์(สัตว์ที่มีรยางค์เป็นข้อปล้อง เป็นต้นตระกูลแมงดาทะเลโบราณ)
และ แกรปโตไลต์ สัตว์ทะเลขนาดเล็กมีลักษณะเป็นเส้น เมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายจะเห็นเป็นยักคล้ายฟันเลื่อยอาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม ฟอสซิลแกรปโตไลต์จะดูคล้ายรอยขีดเขียนบนก้อนหิน
การค้นพบซากฟอสซิลบริเวณ“ศาลทวดโต๊ะสามยอด”(ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า) ซึ่งมีการค้นพบซากหอยกาบคู่ และซากหอย“นอติลอยต์”(สัตว์ในชั้นเดียวกับหมึก หมึกยักษ์ และนอติลุส) ขนาดใหญ่และชัดเจนมาก
การค้นพบหินสาหร่ายที่ แหล่ง“หินสาหร่าย ศาลทวดบุญส่ง”(บ้านทุ่งเสม็ด ต.กำแพง อ.ละงู) มีลักษณะเป็นหินโผล่คล้ายจอมปลวกขนาดใหญ่ ชั้นหินบางวางเรียงซ้อนกันดูสวยงามแปลกตา
หินสาหร่ายเกิดจากการก่อตัวของ “สาหร่ายสโตมาโตไลต์” ที่มีความสำคัญต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เพราะเป็นตัวสร้างออกซิเจนให้กับสิ่งมีชีวิตเริ่มแรกในยุคแคมเบรียน(ประมาณ 500 ล้านปีมาแล้ว) จนกระทั่งเริ่มมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆตามมา
ทั้งนี้การค้นพบฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิกในสตูลนั้น นอกจากจะเป็นหลักฐานสำคัญในการแสดงถึงความเป็นแหล่งฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว ที่สตูลยังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครบทั้ง 6 ยุค หนึ่งเดียวในเมืองไทย และเป็นเพียงไม่กี่แห่งในโลก หรืออาจเป็นเพียงแห่งเดียวในโลกเลยก็ว่าได้ ที่มีการค้นพบฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิกครบทั้ง 6 ยุคเช่นนี้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งไม่น้อยเลย
อุทยานธรณีสตูล
ทั้งการค้นพบฟอสซิสกรามช้างสเตโกดอน ฟอสซิลกระดูกฟันของแรดโบราณ ซากดึกดำบรรพ์แห่งมหายุคพาลีโอโซอิกครบทั้ง 6 ยุค และการค้นพบฟอสซิลจำนวนมากในจังหวัดสตูล ทำให้ทางชุมชนท้องถิ่นของสตูลภายใต้การนำของ นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า และพี่เลี้ยงคือ“กรมทรัพยากรธรณี”ที่คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ ได้ร่วมกันเดินหน้าผลักดันสตูลให้เป็น“อุทยานธรณี” ที่มุ่งความสำคัญให้ก้าวไกลไปในระดับโลกเลยทีเดียว
อุทยานธรณี(Geopark) หมายถึงพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งธรณีวิทยา แหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา ที่มีคุณค่าต่อประเทศ/โลก รวมถึงแหล่งทางด้านโบราณคดี(Archeology) นิเวศวิทยา(Ecology) และศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่มีคุณค่าของโลก (Culture) บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น โดยประชาชน เพื่อประชาชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับอุทยานธรณีสตูล ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมด 2,597 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยามากกว่า 70 แห่ง ครอบคลุมทั้งบนบกและในทะเล อาทิ ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต น้ำตกธารปลิว หินเขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย เกาะไข่-หาดหินงามแห่งหมู่เกาะตะรุเตา ทะเลแหวกเกาะหว้าหิน-เกาะลิดีเล็ก เป็นต้น
นอกจากนี้อุทยานธรณีสตูลยังมีความผูกพันกับวิถีชุมชน อย่างเช่น “โรงเรียนกำแพงวิทยา”(ต.กำแพง อ.ละงู) ที่มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาขึ้นภายในโรงเรียน เพื่อแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ชาวชุมชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจ “วิสาหกิจชุมชนปันหยาบาติก”(บ้านปากบาง ต.ละงู อ.ละงู) ที่ได้นำลักษณะต่างๆของซากฟอสซิลมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะวาดลวดลายลงบนผ้าบาติกผืนงาม เป็นต้น
อุทยานธรณีโลก
ด้วยความโดดเด่นของความเป็นเมืองแห่งอุทยานธรณี บวกกับความมุ่งมั่นของชาวจังหวัดสตูลในการเดินหน้าผลักดันในเรื่องของอุทยานธรณี วันนี้อุทยานธรณีสตูลได้รับการพัฒนาจากระดับท้องถิ่นจนขึ้นชั้นเป็นเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศแห่งแรกของประเทศไทย และกำลังจะก้าวต่อไปสู่อุทยานธรณีระดับโลก
โดยมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559 ได้เห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกขององค์การยูเนสโก ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลอย่างเป็นทางการภายในปี 2561
ทั้งนี้หากอุทยานธรณีสตูลได้รับการคัดเลือกให้เป็นอุทยานธรณีโลก จะถือเป็นอุทยานแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะผลจากการเป็นอุทยานธรณีโลก จะนำมาซึ่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งยังเป็นการเปิดจังหวัดสตูลสู่มิติใหม่ทางการท่องเที่ยว (ที่ไม่ใช่มีเฉพาะแค่เกาะหลีเป๊ะที่คนเข้าไปใช้ทรัพยากรกันจนเละอย่างเช่นทุกวันนี้) ซึ่งจะนำรายได้มากระจายลงสู่ท้องถิ่นอีกมากโข
อย่างไรก็ดีสำหรับเรื่องนี้ “ดร.ทศพร นุชอนงค์” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ที่เป็นหนึ่งในคนสำคัญผู้ร่วมผลักดันอุทยานธรณีสตูลให้กลายเป็นอุทยานธรณีโลก ได้เปิดเผยว่า
“ถ้าหากอุทยานธรณีสตูลได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก นับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งสำหรับประเทศไทย ส่วนถ้าหากว่าพลาดหวังไปก็ไม่ใช่เรื่องน่าเสียใจ เพราะสิ่งสำคัญคือการจุดประเด็นให้ชุมชนคนท้องถิ่นหันมาหวงแหน ดูแล และอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเองให้ดำรงคงอยู่ เพื่อความยั่งยืนตลอดไป”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com