xs
xsm
sm
md
lg

“บางปู” ยิ่งดูยิ่งมีเสน่ห์...ลอดอุโมงค์โกงกาง บนเส้นทางป่าชายเลนสุดสมบูรณ์/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
อุโมงค์โกงกาง ความสมบูรณ์แห่งป่าชายเลนยะหริ่ง
“ตำนานบางปู สืบรู้โกงกาง กระยางงามถิ่น ดินแดนอนุรักษ์”

นี่คือคำขวัญ“บางปู” ที่บ่งบอกถึงตัวตนของชุมชนแห่งนี้ได้อย่างชัดเจน

สำหรับบางปูแล้วนี่คืออีกหนึ่งอะเมซิ่งไทยแลนด์อันชวนค้นหา ซึ่งเมื่อได้มาสัมผัสก็ยิ่งรับรู้ถึงมนต์เสน่ห์ที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่มากยิ่งขึ้น

บางปู-อ่าวปัตตานี
บางปู ชุมชนริมอ่าวปัตตานีที่วันนี้มีกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนชวนให้ไปสัมผัส
บางปูที่ผมกล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่สถานตากอากาศบางปูในจังหวัดสมุทรปราการที่หลายๆคนรู้จักกันดี หากแต่เป็น“ตำบลบางปู”ที่ตั้งอยู่ใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี แห่งดินแดนด้ามขวานของไทย

บางปูเป็นชุมชนมุสลิมริม“อ่าวปัตตานี”ที่มีความเป็นมาเก่าแก่นับร้อยปี ชื่อชุมชนบางปูมีที่มาจากความเป็นแหล่งปู หรือบ้าน(ของ)ปู เนื่องจาก(ในอดีต)ในละแวกนี้มีปูดำอยู่เป็นจำนวนมาก(ด้วยอานิสงส์ของป่าชายเลนยะหริ่ง)
วิถีการทำประมงพื้นบ้านของชาวบ้านในบริเวณอ่าวปัตตานี
เดิมชาวบ้านบางปูจะประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้านประมาณ 70-80 % ตามมาด้วยการเลี้ยงเป็ดและประกอบอาชีพอื่นๆ ก่อนที่มาในวันนี้ชาวบ้านบางปูส่วนใหญ่จะหันมาประกอบอาชีพขายสินค้ามือสองเป็นหลัก แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนยังคงเหนียวแน่นกับการทำประมงพื้นบ้าน เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงปูดำตามสภาพธรรมชาติ และออกเรือหากุ้งหอยปูปลา

พูดถึงชุมชนบางปูแล้วจำเป็นที่ตะต้องพูดถึงอ่าวปัตตานีควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากอ่าวปัตตานีเป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งอาหารสำคัญของชุมชนบางปูและชาวบ้านชุมชนอื่นๆในละแวกนี้
แหลมตาชี อ่าวปัตตานี
อ่าวปัตตานี มีพื้นที่ประมาณ 74 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นรูปอ่าวโค้งรูปวงรี ปากอ่าวเปิดออกเชื่อมกับอ่าวไทย มี“แหลมตาชี”หรือ “แหลมโพธิ์”ที่เกิดจากสันทรายทับถมกันเป็นแนวยาวยื่นขนานกับแนวแผ่นดินใหญ่ไปในทะเล แบ่งพื้นที่อ่าวไทยกับอ่าวปัตตานีออกจากกัน

ชาวบ้านรอบๆอ่าวปัตตานีเรียกท้องน้ำบริเวณอ่าวปัตตานีว่า “ลาโอะ” ที่หมายถึง “ทะเลใน” และเรียกพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทยด้านนอกอ่าวปัตตานีว่า “ลาโอะ ลูวา” ที่หมายถึง “ทะเลนอก
นกน้อยเหินบิน เหนือน่านน้ำอ่าวปัตตานี
ในส่วนของทะเลในที่วันนี้อ่าวปัตตานีต้องเผชิญกับปัญหาทรัพยากรร่อยหรอ เนื่องจากที่ผ่านมามีคนบางกลุ่มใช้ทรัพยากรกันอย่างล้างผลาญไม่บันยะบันยัง แต่ในพื้นที่ทะเลในบริเวณก้นอ่าวปัตตานีวันนี้ยังมี“ป่าชายเลนยะหริ่ง”อันอุดมสมบูรณ์ เป็นดังโอเอซิสซึ่งเป็นทั้งปอดและพื้นที่สีเขียวที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของภาคใต้

ป่าชายเลนยะหริ่ง
ป่าชายเลนยะหริ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย
ป่าชายเลนยะหริ่งมีพื้นที่เกือบหมื่นไร่ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย ซึ่งวันนี้มีทั้งป่าชายเลนที่เป็นผืนป่าเก่าหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ป่าโบราณ” ที่เต็มไปด้วยป่าโกงกางหนาทึบ ต้นสูงใหญ่ โกงกางหลายๆต้นสูงเกินกว่า 10 เมตรขึ้นไป และป่าชายเลนที่กำลังเกิดใหม่อันเกิดจากธรรมชาติสรรค์สร้างและเกิดจากการปลูกป่าเพิ่มเติม

ป่าชายเลนยะหริ่ง ประกอบไปด้วยพืชพันธุ์ไม้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มถั่วขาว-ถั่วดำ กลุ่มไม้ตะบูนดำ กลุ่มไม้ตาตุ่มทะเล โกงกาง ฝาดดอกขาว เหงือกปลาหมอดอกขาว ขลู่ แสมขาว โพธิ์ทะเล ปรงทะเล ผักเบี้ยทะเล จาก ลำพู ลำแพน เป็นต้น
ซั้ง วิธีการจับปลาด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน
อย่างไรก็ดีป่าชายเลนยะหริ่งที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งนั้นก็เคยประสบปัญหาผืนทรัพยากรเสื่อมโทรม จากการที่เคยเป็นผืนที่สัมปทานตัดป่าโกงกางมาเผาถ่าน และชาวบ้านบางส่วนมุ่งใช้ทรัพยากรกันแบบไม่ใส่ใจในการอนุรักษ์ ไม่คำนึงถึงอนาคต

จนกระทั่งในช่วงปลายปี พ.ศ. 2553 เกิดพายุใหญ่พัดถล่มพื้นที่อ่าวปัตตานีอย่างหนัก ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ริมอ่าวถูกพายุพักถล่มบ้านเรือนพังทลายเสียหายกันเป็นจำนวนมาก แต่ชาวบ้านที่อยู่หลังพื้นที่ป่าชายเลนยะหริ่งได้รับผลกระทบเพียงถูกน้ำท่วมไม่นาน เนื่องจากว่ามีป่าชายเลนเป็นเกาะกำบังคอยรับพายุที่พัดถล่มถาโถม บ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่หลังผืนป่าชายเลนจึงได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย
ชุมชนท่องเที่ยวบางปู บ้านบาลาดูวอ
นั่นถือเป็นการจุดประกายสำคัญในการร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนยะหริ่งของชาวชุมชนส่วนใหญ่ ซึ่งวันนี้ด้วยอานิสงส์ความสำคัญของอ่าวปัตตานีและความสมบูรณ์ยิ่งของป่าชายเลนยะหริ่ง ทำให้เกิดกิจกรรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่อ่าวปัตตานีขึ้น เพื่อให้ชาวชุมชนได้รู้สึกหวงแหน รู้คุณค่า และช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ของตน เนื่องจากสร้างมารถสร้างรายเสริมจากการท่องเที่ยวอันเป็นผลที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

ท่องเที่ยวชุมชนบางปู
ประติมากรรมปูดำ บ้านบาลาดูวอ
สำหรับหนึ่งในกลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชนบริเวณริมอ่าวปัตตานีก็คือ กลุ่ม“การท่องเที่ยวโดยชุมชน ชุมชนท่องเที่ยวบางปู” ที่มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอยู่ที่ “บ้านบาลาดูวอ” ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่ทางชุมชนได้จัดสร้างประติมากรรมปูดำไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน

ขณะที่ในส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวของกลุ่มนี้ก็มีทั้ง การล่องเรือชมป่าชายเลนผืนใหญ่ สัมผัสไฮไลท์นั่งเรือลอดอุโมงค์โกงกาง ชมนกหลากหลายชนิดจำนวนมาก สัมผัสวิถีชาวประมงพื้นบ้าน ตกปลาในอ่าวปัตตานี กินอาหารพื้นบ้านรสเด็ด นอนโฮมสเตย์ ล่องเรือชมหิ่งห้อย(ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย.)ซึ่งที่นี่ได้ชื่อว่ามีหิ่งห้อยยามราตรีอยู่เป็นจำนวนมากนับหมื่นๆตัว ทำให้เกิดบรรยากาศหิ่งห้อยเล่นเวฟที่แต่ละกลุ่มจะสลับสับเปลี่ยนพากันเปล่งแสงอออกมา
นกกาน้ำ พบเห็นได้ทั่วไปที่ป่าชายเลนยะหริ่ง
นอกจากนี้ในช่วงหน้าแล้ง(สำหรับผู้มาโฮมสเตย์)ก็ยังมีกิจกรรม “ล่องเรือดูดาว ชมอ่าวปัตตานี” เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ ซึ่งกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้คิดราคาถูกมาก

ถือว่าคุ้มสุดๆหากใครได้มีโอกาสมาเยือนที่นี่

อาหารพื้นบ้านรสเด็ด
บ้านบาลาดูวอ
เมื่อผมกับคณะเดินทางมาถึงยังชุมชนท่องเที่ยวบางปู “บ้านบาลาดูวอ” ที่พี่“คมกริช เจะเซ็ง”หรือ “แบกี” และ ลุง“แวอูเซ็ง หะยีสอเฮาะ” ชายอายุ 70 ปีที่ยังคงแข็งแรงได้นำทีมออกมาต้อนรับ
นักท่องเที่ยวล้อมวงกินอาหารพื้นบ้านรสเด็ด
หลังพูดคุยทักทายให้ข้อมูลกันในเบื้องต้น ทางชุมชนก็จัดชุดอาหารเที่ยงกับเมนูพื้นบ้าน มาให้เราได้ลิ้มรสเติมพลังกันก่อนที่จะออกเที่ยวสัมผัสกับสิ่งน่าสนใจในชุมชนแห่งนี้
ยำสาหร่ายผมนาง
สำหรับอาหารเที่ยงมื้อนี้ ต้องบอกว่างานดีมาก หลักๆแล้วเป็นฝีมือของลุงแวอูเซ็ง ที่จัดมาให้กับเมนูพื้นบ้านรสเด็ดประกอบด้วย “ต้มยำไก่”รสกลมกล่อม, “ปลากระบอกทอด”รสดี เคี้ยวเพลิน, “ยำสาหร่ายผมนาง” ที่เป็นเมนูอาหารถิ่นเฉพาะของที่นี่กับสาหร่ายผมนางที่มีขนาดเส้นเล็กเนื้อละเอียดกว่าที่เกาะยอสงขลา, “ปลาโอ ตูมิ” ที่เป็นการผัดน้ำขลุกขลิกแบบปลากระป๋อง
น้ำบูดูสูตรพิเศษ
และที่ให้ไปเลย 5 ดาว นั่นก็คือ “น้ำบูดู-ผักแกล้ม”กับน้ำบูดูสูตรพิเศษ(ผมเพิ่งเคยกินที่นี่เป็นครั้งแรก) ต่างจากที่อื่นเพราะใส่มะพร้าวคั่ว กุ้งสดสับ หน้าตาดูคล้ายน้ำพริกกะปิ แต่ให้รสชาติอร่อยเด็ดนัก จากนั้นเราปิดท้ายด้วยขนมรังนกที่กินคู่กับชาสมุนไพร“ใบขลู่”(พืชพื้นบ้าน)อย่างสุดฟิน

นอกจากอาหารตามที่กล่าวมาแล้ว ที่นี่ยังมีอาหารพื้นบ้านเด็ดๆประเภทชุดใหญ่ไฟกระพริบสำหรับนักท่องเที่ยวให้เลือกอิ่มอร่อยกันอีก อย่างเช่น ปลากะพงสดๆตกจากกระชัง(หากมานอนโฮมสเตย์จะได้กินปลากะพงปิ้งย่าง) ปูดำสดนึ่งกินกับน้ำจิ้มรสเด็ด(เป็นเมนูสั่งเพิ่มเติม) กุ้งกุลา กุ้งแชบ๊วยสดๆ ปลาดุกทะเลที่นำมาผัดฉ่าเยี่ยมไปเลย ปลาขี้ตังสดๆที่ชาวบ้านที่นี่นิยมนำมาแกงส้มอร่อยนัก และ“หอยกัน” ที่นักท่องเที่ยวสามารถไปทดลองเก็บหอยกันสดๆจากป่าชายเลนขึ้นมาทำกินกันได้

ล่องเรือ
ป่าชายเลนยะหริ่งกับวิถีนก วิถีคน
หลังอิ่มอร่อยมื้อเที่ยงแบบจัดเต็มจนหนังท้องเริ่มตึงหนังตาเริ่มหย่อน ภวังค์(ใกล้)หลับได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาเมื่อแบกีบอกว่าถึงเวลาไปล่องเรือออกเที่ยวกันแล้ว

จากนั้นเมื่อทุกคนลงเรือเรียบร้อย เรือหางยาวนำเที่ยวค่อยๆไปตีวงผ่านหน้าตัวหนังสือ “ไอเลิฟบางปู” ที่ถือเป็นหนึ่งในจุดถ่ายรูปสัญลักษณ์ของที่นี่ แล้วเรือได้ค่อยๆล่องไปตามลำคลอง ผ่านพื้นที่ป่าชายเลนเกิดใหม่ที่สามารถมองเห็นโกงกางต้นเตี้ยๆขึ้นอยู่ในไปในสองฝั่งคลอง
ลุงแวอูเซ็ง(คนขวา)ไกด์นำเที่ยวกิตติมศักดิ์
ลุงแวอูเซ็งผู้รุ่มรวยอารมณ์ขันที่มาเป็นไกด์(กิตติมศักดิ์)ให้กับเรือลำที่ผมนั่ง บอกว่า ในอดีตพื้นที่ป่าชายเลนแถบนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน แต่ธรรมชาติได้จัดสรรก่อกำเนิดเป็นป่าชายเลนขึ้นมา ซึ่งยังประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้เป็นอย่างมาก

ระหว่างเส้นทางในช่วงแรกๆผมเห็น“นกกระยางขาว” และ“นกกาน้ำ”ตัวสีดำ อยู่พอสมควรบ้างบินโฉบไปมา บ้างเกาะอยู่บนต้นไม้ และบ้างก็ออกลงหากินในน้ำ โดยเฉพาะกับเจ้านกกาน้ำที่ลงไปดำผุดดำว่ายหาอาหารกิน ซึ่งลุงแวอูเซ็งบอกว่านี่เป็นแค่ออร์เดิร์ฟ เดี๋ยวเมื่อล่องเรือไปถึง“เกาะนก” เราจะได้เจอไฮไลท์ของจริงกัน
ล่องเรือลอดไปในป่าโกงกางอันร่มรื่น
แต่ก่อนที่จะไปถึงเกาะนก ระหว่างนี้เรือได้แล่นเข้าสู่ช่วงลอยต่อของป่าชายเลนเกิดใหม่กับป่าชายเลนผืนเก่า ซึ่งเต็มไปด้วยต้นโกงกางที่สูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนพวกเรา(บนเรือ)ต่างคิดว่านี่คือ“อุโมงค์โกงกาง” ที่เป็นไฮไลท์สำคัญของที่นี่ แต่ลุงแวอูเซ็งเบรกไว้ก่อน บอกว่า “ยังไม่ถึง ของดีต้องใจเย็นๆ”

ลอดอุโมงค์โกงกาง เก็บหอยกัน

หลังจากนี้เรือได้แล่นลอดไปในลำคลองเล็กๆที่ดูร่มรื่นไปด้วยโกงกางต้นใหญ่ๆจำนวนมาก ก่อนที่ลุงแวอูเซ็งจะบอกว่าเตรียมตัว เพราะเรือกำลังจะวิ่งลอดอุโมงค์โกงกางแล้ว
อุโมงค์โกงกาง ไฮไลท์สำคัญของป่าชายเลนยะหริ่ง
อุโมงค์โกงกางมีความยาวประมาณ 700-800 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร เบื้องบนปกคลุมไปด้วยโกงกางต้นสูงใหญ่ใน 2 ฟากฝั่งที่โน้มตัวลงมาคารวะสายน้ำ เกิดเป็นลักษณะของอุโมงค์ต้นไม้ที่ถูกเรียกขานให้เป็น “อุโมงค์โกงกาง”อันสวยงามน่าทึ่ง และมีไม่กี่แห่งในเมืองไทย
หอยกัน
ในอุโมงค์โกงกางที่มีรากมากมายแผ่สยายทิ้งตัวค้ำยันต้นไว้นั้น ถือเป็นแหล่งอยู่อาศัยชั้นดีของ “หอยกัน” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“ลอแก” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอาหารทะเลดาวเด่นของที่นี่ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านจับไปกินไปขายแบบพอเพียง
ล่องเรือลอดอุโมงค์โกงกาง
สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาล่องเรือลอดอุโมงค์โกงกางจะได้ทดลองเก็บหอยกัน ซึ่งหากใครพักค้างนอนโฮมสเตย์ที่ชุมชนบางปูสามารถเก็บหอยกันไปต้ม ลวก ปิ้งย่าง หรือผัดเผ็ดกินกันได้อย่างเอร็ดอร่อย

ปากอ่าวปัตตานี
ล่องเรือออกปากอ่าวปัตตานี
หลังลงลุยโคลนเลนเก็บหอยกัน และเดินให้รากโกงกางนวดเท้ากันเป็นที่เพลิดเพลินแล้ว เรือของเรามุ่งหน้าแล่นต่อไปสู่บริเวณปากอ่าวปัตตานี ซึ่งระหว่างทางผมได้เห็นภาพวิถีการทำประมงพื้นบ้านของชาวชุมชนอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการตีปลาไล่ปลากระบอก การวางข่ายดักกุ้งหอยปูปลา การดักปลาด้วย”ซั้ง” และการเก็บหอยแครงที่เป็นเอกลักษณ์ คือจะใช้กะละมังวางไว้บนห่วงยาง(ยางในรถยนต์) แล้วชาวบ้านก็จะนั่งย่อตัวโผล่มาแค่คอ ถีบโคลนเลนใต้น้ำไปเรื่อยๆเพื่อควาญหาจับหอยมาใส่ไว้ในกะละมัง ซึ่งวันนี้ที่อ่าวปัตตานียังมีมีหอยแครงจากธรรมชาติให้จับอยู่มากพอสมควร
ป่าชายเลนยะหริ่งที่เต็มไปด้วยต้นโกงกางสูงใหญ่(มองจากจุดชมวิว)
เรือยังคงแล่นเลาะริมป่าชายเลนบริเวณปากอ่าวปัตตานีไปเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเราก็มาถึงยัง “จุดชมวิวอ่าวปัตตานี” ที่ชาวบ้านสร้างเป็นพื้นแคร่ไม้ไผ่ไว้ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวปากอ่าวปัตตานี พักผ่อน รับลมทะเล ชมผืนป่าโกงกางอันหนาแน่นร่มรื่น ท่ามกลางสายลมปากอ่าวที่พัดเย็นชื่น ชนิดที่ชวนให้ผมอยากจะจมจ่อมอยู่ที่นี่นานๆ แต่เนื่องจากว่าเวลาไม่คอยท่า เพราะเราไม่ได้มานอนโฮมสเตย์จึงจำใจต้องจรจากลาจากปากอ่าวกลับเข้าสู่ฝั่งอีกครั้ง
รอยยิ้มของนักท่องเที่ยวที่มาสัมผัสในมนต์เสน่ห์แห่งอ่าวปัตตานี
ไอเลิฟบางปู

ในเส้นทางขากลับนี้เรือวิ่งเข้ามาในคลองอีกสายหนึ่ง ระหว่างทางเรือได้แล่นผ่าน“เกาะนก” ที่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของเส้นทางล่องเรือของชุมชนบางปู
ต้นไม้บนเกาะนก มีนกกาน้ำเกาะอยู่เป็นจำนวนมาก
บนเกาะนกมีต้นไม้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยนกจำนวนมากนับพันนับหมื่น นำโดยนกกระยางและนกกาน้ำมาลงเกาะ แบบที่ใครที่มัน ซึ่งพวกมันจะอออกหากินยามเช้า และกลับคืนถิ่นมาเกาะต้นไม้ในที่ของตัวเองบนเกาะนกในยามเย็น

เป็นวิถีของนกที่แม้พวกมันจะถูกมองว่าเป็นสัตว์ที่ช่างมีอิสรเสรีในการกางปีกโบยบินจนใครหลายๆคนอดอิจฉาไม่ได้ แต่เจ้านกพวกนี้มันก็มีกรอบแห่งชีวิตที่เป็นระเบียบชัดเจน
นกกระยาง เฝ้าดักหาเหยื่อ
ผ่านพ้นจากเกาะนกมา เรือได้แล่นเข้ามาสู่คำลองสายเดิม กลับคืนมาสู่จุดเริ่มต้นลงเรือในแบบเส้นทางวงรอบ มองเห็นตัวหนังสือ “ไอเลิฟบางปู”อยู่เบื้องหน้า ซึ่งหลังการได้กลับมาท่องเที่ยวสัมผัสกับสิ่งน่าสนใจต่างๆที่บางปูอีกครั้ง ผมก็ได้แต่อยากว่า

“บางปู ไอเลิฟยู เธอยิ่งดูยิ่งมีเสน่ห์”
กระยางเหินฟ้า
**************************************************
กลุ่ม“การท่องเที่ยวโดยชุมชน ชุมชนท่องเที่ยวบางปู” ตั้งอยู่ที่ “บ้านบาลาดูวอ” ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีหิ่งห้อยให้ชมในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. สาหร่ายผมนางมีให้กินในช่วง เม.ย - พ.ค.

ปัจจุบันมีโฮมสเตย์ให้พัก 1 หลัง พักได้สูงสุด 30 คน ราคา 200 บาท/คน(รวมอาหารเช้า) ค่าเรือนำเที่ยว 600 บาท/7 คน และมีแพคเกจท่องเที่ยวราคา 600 บาท/คน รวมที่พักโฮมสเตย์ อาหาร 2 มื้อ เรือ 2 เที่ยว รับสำหรับ 10 คนขึ้นไป ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คมกริช เจะเซ็ง(แบกี) โทร.088-389-4508,064-269-1815

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ใน จ.ปัตตานี เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานจังหวัดนราธิวาส(รับผิดชอบพื้นที่นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) โทร. 0-7352-2411 , 0-7354-2345
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น