xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยพระพุทธเจ้า“ลัคเนา-สาวัตถี”...วัดเชตวัน แดนธรรมแห่งมหาศรัทธาอันน่าทึ่ง!/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ศรัทธาจากชาวพุทธที่มีต่อวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย
“ดูก่อนพระอานนท์ ชนเหล่าใดเที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ 4 สถาน เหล่านั้นแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุขคติโลกสวรรค์”

จาก : มหาปรินิพพานสูตร

สำหรับชาวพุทธแล้ว การได้ตามรอยพระพุทธเจ้าไปสักการะ“สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” อันได้แก่ สถานที่ประสูติ(ลุมพินี) ตรัสรู้(พุทธคยา) ปฐมเทศนา(สารนาถ) และปรินิพพาน(กุสินารา) ในประเทศอินเดีย-เนปาล ถือเป็นหนึ่งในมงคลสูงสุดของชีวิต
อานันทโพธ์ ต้นโพธิ์อายุกว่า 2,500 ปี ตั้งแต่สมัยพุทธกาล
นอกจากสังเวชนียสถาน 4 แล้ว ในอินเดียยังมีพุทธสถานสำคัญๆ นับจากอดีตตั้งแต่สมัยพุทธกาลตกทอดมาจนถึงปัจจุบันอีกหลากหลายให้พุทธศาสนิกชนได้ไปสักการะ

หนึ่งในนั้นก็คือเมือง “สาวัตถี” ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองหลักของทริปแสวงบุญ “ตามรอยพระพุทธเจ้า : อินเดีย-เนปาล” ของผมและคณะในทริปนี้กับเส้นทางทัวร์วงรอบ “ลัคเนา-สาวัตถี-ลุมพินี-กุสินารา-ลัคเนา” โดยมี “พระครูนิโครธบุญญากร” หรือ “ดร.มหาน้อย”(ดร. พระมหาปรีชา กตปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไทยนิโครธาราม-เนปาล ผู้มากไปด้วยความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลก มาเป็นพระวิทยากรกิตติมศักดิ์บรรยายให้ทั้งข้อมูลความรู้อย่างลึกซึ้ง
“พระครูนิโครธบุญญากร” หรือ “ดร.มหาน้อย”
นอกจากนี้ ดร.มหาน้อย ยังสอดแทรกหลักธรรมคำสอนและคติเตือนใจให้แก่ชาวคณะเราไปตลอดทั้งทริป

สาธุ...

ลัคเนา
ทิวทัศน์ตัวเมืองลัคเนา
จากเมืองไทย(สนามบินสุวรรณภูมิ) เราเดินทางสู่เมืองลัคเนา ประเทศอินเดีย ที่ถือเป็นจุดตั้งต้นของเส้นทางทัวร์แสวงบุญตามรอยพระพุทธเจ้าในทริปนี้

ลัคเนา”(Lucknow) เป็นเมืองเอกแห่งรัฐอุตตรประเทศ หรือ รัฐยูพี (Uttar Pradesh : UP) ลัคเนานอกจากจะเป็นเมืองใหญ่ในอันดับต้นๆของอินเดียที่กำลังโตวันโตคืนแล้ว ยังเป็นประตู(เมืองชุมทาง)สำคัญสู่สังเวชนียสถานแห่งอินเดียเหนือ-เนปาล อันได้แก่สถานที่ประสูติ(ลุมพินี-เนปาล) และสถานที่ปรินิพพาน(กุสินารา-อินเดีย) ซึ่งปัจจุบันจากบ้านเรามีสายการบิน “ไทยสมายล์” บินตรงสู่ “กรุงเทพฯ-ลัคเนา” และ “ลัคเนา-กรุงเทพฯ”
บรรยากาศเมืองลัคเนายามราตรี
เมืองลัคเนามีหลายฉายาให้เรียกขาน ไม่ว่าจะเป็น“เมืองอาหรับราตรี”, “สุวรรณภูมิแห่งบูรพา”,“คอนแสตนโนเปิลแห่งอินเดีย” และ“เมืองเจ้าอาหรับ” ซึ่งต่างก็สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเมืองนี้ โดยเฉพาะกับงานศิลปกรรมสถาปัตยกรรมผสมแบบฮินดู-มุสลิม(แบบเปอร์เซีย)-ยุโรป และแบบ“มุสลิมโมกุล”ที่เป็นชื่อเรียกขานเฉพาะตัว
บารา อิมามบารา หรือ อัครมัสยิด หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์แห่งเมืองลัคเนา
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ในระดับไม่ควรพลาดของลัคเนานั้นก็มี“บารา อิมามบารา”(Bara Imambara) หรือ“อัครมัสยิด” อันสวยงามคลาสสิกและยิ่งใหญ่อลังการรวมถึงมี“รูมิ ดะร์วาซา”(Rumi Darwaza) หรือ “ประตูเตอร์กิซ” ประตูเมืองโบราณเก่าแก่อันงดงามเป็นเอกลักษณ์

และ “อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์”(Ambedkar Memorial Park)อันสวยงามอลังการกับการจารึกเรื่องราวอันน่าทึ่งของชายนักสู้ชนชั้น“จัณฑาล”(พวกนอกวรรณะ) ที่ต้องต่อสู้กับความยากลำบากอย่างหนักหนาสาหัสตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ ก่อนจะได้รับการยกย่องสดุดีให้เป็น “บิดาแห่งอินเดียสมัยใหม่” อันถือเป็น 1 ใน 5 วีรบุรุษคนสำคัญของอินเดียยุคใหม่ เฉกเช่นเดียวกับท่าน “มหาตมะ คานธี” มหาบุรุษนักต่อสู้ในแนวสันติอหิงสาคนสำคัญของโลก และท่าน “เนห์รู”(ยาวาหะราล เนห์รู)นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย
อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์
สาวัตถี

เมืองลัคเนาอยู่ห่างจากสาวัตถีไปทางทิศตะวันออกประมาณ 175 กิโลเมตร สภาพถนนในบางช่วงมีลักษณะเป็นถนน“ลาดยางหมด” คือยางที่ลาดทับหน้าถนนนั้นหมดไปนานแล้ว รถบัสที่เรานั่งไปจึงต้องค่อยวิ่งโขยกเขยกไปในอารมณ์ “สโลว์รถ-สโลว์ไลฟ์” ไปตามสไตล์อินตระเดีย

ท่าน ดร.มหาน้อย บอกว่า เวลานั่งรถในอินเดีย เราไม่ต้องทำอะไรมาก ขอให้“ทำใจ”อย่างเดียว ส่วนใครถ้าไม่ได้นั่งหลับบนรถ ลองนั่งสังเกตวิถีการขับรถของชาวอินเดียดูก็ถือว่าน่าอะเมซิ่งไม่น้อย คือถึงแม้พวกเขาจะขับกันอย่างหวาดเสียวและบีบแตรกันสนั่นระรัวปรู๊น ปร๊าน ไปตลอด แต่กลับไม่มีเรื่องมีราวทะเลาะเบาะแว้ง ชี้หน้าด่าพ่อล่อแม่ ชกต่อย หรือหนักขนาดถึงขั้นยิงกันตายแบบบ้านเรา
วิถีชีวิตชาวบ้านที่เมืองสาวัตถี
จากลัคเนา ผมนั่งรถไปแบบหลับๆตื่นๆ ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงก็มาถึงยังเมืองสาวัตถี ที่วันนี้มีฐานะเป็นอำเภอ กับบรรยากาศของเมืองชนบทเล็กๆของอินเดีย

สาวัตถี(Sravasti-ภาษาบาลีเรียก “สาวัตถี” ภาษาสันสกฤตเรียก“ศราวัสตี”) ในอดีตเป็นเมืองหลวงของ“แคว้นโกศล”ที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นหนึ่งใน 16 แคว้นอันยิ่งใหญ่แห่งชมพูทวีป

เมืองสาวัตถีในสมัยพุทธกาล ที่มี“พระเจ้าปเสนทิโกศล” เป็นผู้ปกครองแคว้นโกศล พระองค์เป็นผู้ที่ให้ความเคารพนับถือพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก
สาวัตถีอีกหนึ่งเมืองสำคัญทางพุทธศาสนาของอินเดีย
สาวัตถีในยุคนั้นนอกจากจะมีพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองแล้ว ยังเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และในหลายประการด้วยกัน(ใครที่เคยอ่านพุทธประวัติในช่วงท้ายๆจะปรากฏเรื่องราวเมืองสาวัตถีอยู่มากพอสมควร) ไม่ว่าจะเป็น

-เมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษาอยู่ยาวนานที่สุดถึง 25 พรรษา(พระพุทธองค์เผยแผ่ประกาศพระพุทธศาสนาอยู่ 45 พรรษา)
สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์
-เมืองที่แสดง “ยมกปาฏิหาริย์”ปาฏิหาริย์สำคัญครั้งสุดท้ายแห่งองค์พระศาสดา(ซึ่งผมจะเขียนบอกเล่านำเสนอในโอกาสต่อไป)

-เมืองที่ปรากฏเรื่องราวของ“องคุลิมาล” มหาโจรที่สุดท้ายกลับตัวกลับใจจนได้เป็นพระอรหันต์

-เมืองที่พระเทวทัต นางจิญจมาณวิกา และนันทมานพถูกธรณีสูบ(ในสมัยพุทธกาลมีผู้ที่คิดร้ายต่อพระพุทธเจ้าและพระพระสาวกจนถูกธรณีสูบ 5 คน ด้วยกัน)
แอ่งน้ำ บริเวณที่เชื่อว่านางจิญจมาณวิกา ถูกธรณีสูบที่นี่
นอกจากนี้สาวัตถียังเป็นเมืองที่มหาอุบาสิกาผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง คือ“นางวิสาขา” ได้สร้าง “วัดบุพพาราม” ถวายแด่พระพุทธเจ้าอันเป็นวัดที่พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับจำพรรษาอยู่ 6 พรรษา

และเป็นเมืองที่มหาอุบาสกผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง คือ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” ได้สร้าง “วัดพระเชตวันวรมหาวิหาร”ที่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญทางการท่องเที่ยวของเมืองสาวัตถี ที่นักแสวงบุญผู้มาเยือนเมืองนี้ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

วัดเชตวัน
ซากโบราณสถาน รอยอดีตอันรุ่งโรจน์ของวัดเชตวัน
วัดพระเชตวันวรมหาวิหาร”หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า“วัดเชตวัน” ในสมัยพุทธกาลวัดแห่งนี้เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด(สูง 7 ชั้น) และเป็นมีความสำคัญที่สุด เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับจำพรรษาอยู่ถึง 19 พรรษา ทำให้มีเรื่องราวสำคัญๆต่างเกิดขึ้นที่วัดแห่งนี้มากมาย

วัดเชตวัน เป็นวัดที่มหาอุบาสก อนาถบิณฑิกเศรษฐี สร้างถวายแด่พระพุทธองค์ด้วยความศรัทธายิ่ง ตามตำนานในพุทธประวัติได้กล่าวเอาไว้ว่า
เส้นทางเดินตามรอยธรรมแห่งพระพุทธองค์ในวัดเชตวัน
...มหาเศรษฐีแห่งกรุงสาวัตถีชื่อ“สุทัตต์” ผู้ใจบุญ ได้ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารและบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือคนอนาถาผู้ยากไร้อยู่เสมอ จึงได้รับการเรียกขานให้เป็น “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” ที่แปลว่าเศรษฐีผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา

ครั้งหนึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้เดินทางไปค้าขายที่กรุงราชคฤห์และได้พบกับพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดา เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธธรรมอย่างยิ่ง จึงได้ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จไปประทับจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี โดยอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ขอซื้อพื้นที่ป่าไม้ของ “อุทยานเชตวัน”(สวนเจ้าเชต) จาก“เจ้าชายเชต” พระญาติของพระเจ้าปเสนทิโกศล
วัดเชตวัน อีกหนึ่งแดนธรรมแห่งศรัทธาในพระพุทธศาสนา
เจ้าชายเชตแม้ไม่เต็มใจ แต่ก็พูดอย่างเสียไม่ได้ว่า ถ้าท่านเศรษฐีสามารถนำเหรียญกหาปณะ(บางตำนานว่าเป็นเหรียญเงิน บางตำนานว่าเป็นเหรียญทอง โดย 1 กหาปณะ เท่ากับ 1 ตำลึง หรือ 4 บาท) มาวางเต็มพื้นที่ที่จะสร้างวัดจึงจะขายที่ให้

อนาถบิณฑิกเศรษฐีเมื่อได้ฟังก็ดีใจ จึงนำเหรียญกหาปณะมาวางเกือบเต็มพื้นที่ เหลือเพียงพื้นที่บางส่วน สุดท้ายเจ้าชายเชตเห็นถึงพลังอันศรัทธาอย่างแรงกล้าของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงยอมลดราคาขายที่ให้ เป็นเงินเท่ากับ 18 โกฏิกหปาณะ(1 โกฏิ เท่ากับ 10 ล้าน)
วัดเชตวัน อีกหนึ่งแดนธรรมแห่งศรัทธาในพระพุทธศาสนา
หลังจากนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ใช้เงินอีก 18 โกฏิกหปาณะ สร้างมหาวิหาร และเงินอีก 18 โกฏิกหปาณะ ทำการเฉลิมฉลอง รวมแล้วอนาถบิณฑิกเศรษฐีใช้เงินในการสร้างอารามที่กรุงสาวัตถีไปทั้งสิ้น 54 โกฏิกหปาณะ พร้อมทั้งได้ตั้งชื่ออารามแห่งนี้ตามชื่อเจ้าของว่า “วัดพระเชตวันวรมหาวิหาร”...

รอยอดีตแห่งมหาศรัทธา
วัดเชตวัน อีกหนึ่งแดนธรรมแห่งศรัทธาในพระพุทธศาสนา
หลังผ่านความเจริญรุ่งโรจน์เป็นอย่างยิ่งในสมัยพุทธกาล หลังจากนั้นในยุคต่อมาวัดเชตวันก็ถึงกาลล่มสลาย เมื่อถูกกลุ่มคนในศาสนาอื่นรุกรานทำลายหมดสิ้นในราวปี พ.ศ. 1671

ปัจจุบันวัดเชตวัน ได้รับการบูรณะฟื้นฟูให้เป็นหนึ่งในโบราณสถาน(พุทธสถาน)สำคัญแห่งเมืองสาวัตถี ที่มีเนื้อที่กว้างขวางกว่า 90 ไร่ ภายในเขตโบราณสถานวัดเชตวัน(ที่มีเจ้าลิงจ๋อปรากฏอยู่ในหลายจุดของวัด) แบ่งเป็น(ซาก)อาคาร และกลุ่มอาคารต่างๆ ที่สำคัญๆก็มี
วัดเชตวัน อีกหนึ่งแดนธรรมแห่งศรัทธาในพระพุทธศาสนา
-“กเรริกกุฎิ”(กะ-เร-ริ-กะ-กุด-ติ) ที่เปรียบได้กับพระอุโบสถ เป็นที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้โอวาทแด่พระภิกษุ(ผู้บริสุทธิ์)

-“แท่นแสดงธรรมและห้องฟังธรรม” ของพุทธอุบาสก-อุบาสิกา ซึ่งในสมัยพุทธกาลเจ้าพระพุทธเจ้าจะเทศน์แยกกันระหว่างฆราวาสกับบรรพชิต
ซากโบราณสถาน รอยอดีตอันรุ่งโรจน์ของวัดเชตวัน
-“เจดีย์อรหันต์ 8 ทิศ” มีลักษณะเป็นซากเจดีย์ทรงกลม

-“ธรรมราธิการ” หรือสถานที่ตัดสินคดีความเปรียบได้ดังศาล(มี 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้น-ศาลฎีกา) ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นพระประธาน ร่วมด้วยคณะลูกขุนที่เป็นพระอัครสาวก พระเถระ พระอรหันต์ และอุบาสก-อุบาสิกา ผู้บรรลุโสดาบัน เมื่อตัดสินคดีความสิ้นสุดจะโยนคำตัดสินลงบ่อบาดาลเพื่อไม่ให้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีก
ปิดทองที่กุฏิพระสวลี
-“กลุ่มกุฏิสำคัญ” ของพระอัครสาวก พระอรหันต์ พระเถระ บุคคลสำคัญอันได้แก่ กุฎีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอนุรุทธ องคุลีมาล และกุฎีพระสิวลีที่อยู่แยกตัวไปไม่ไกล “พระสิวลี”ได้ชื่อว่าเป็นพระแห่งโชคลาภ จึงมีผู้คนนิยมนำทองคำเปลวมาปิดที่ซากอาคารกุฏิของท่าน เพื่อขอในโชคลาภกันเป็นจำนวนมาก
อานันทโพธิ์ ยืนต้นเด่นตระหง่านมากว่า 2,500 ปีที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี
นอกจากนี้ภายในวัดเชตวันยังมี 2 จุดไฮไลท์สำคัญ คือ “อานันทโพธิ์” และ “พระมูลคันธกุฏี

อานันทโพธิ์ หรือ “ต้นโพธิ์พระอานนท์” เป็นต้นโพธิ์ที่พระอานนท์ได้เป็นผู้ดำเนินการปลูก เพื่อเป็นดังสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์
ดร.มหาน้อย นั่งบรรยายใต้ต้นอานันทโพธิ์
โพธิ์ต้นนี้เป็นหน่อเดียวกับ“ต้นโพธิ์ตรัสรู้”ที่พระพุทธองค์ได้ประทับนั่งตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ที่“พุทธคยา” โดยพระโมคคัลละได้นำจีวรไปรับลูกโพธิ์สุกของต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่ยังหล่นไม่ถึงพื้นมาถวายแด่พระอานนท์ แล้วพระอานนท์ได้ถวายให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปลูก แต่พระเจ้าเจ้าปเสนทิโกศลได้ส่งต่อให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกอีกที พร้อมกับดำริว่า ความเป็นพระราชามิได้ดำรงคงอยู่ตลอดไป

ตามตำนานเล่าว่า เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีวางเมล็ดโพธิ์ลงในหลุม ลูกโพธิ์ก็งอกเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในทันที
ใบโพธิ์อ่อน หน่อเนื้อที่สืบทอดมาจากต้นโพธิ์ตรัสรู้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล
ปัจจุบันอานันทโพธิ์ เป็นต้นโพธิ์ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ที่ยังหลงเหลืออยู่รอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ละวันจะมีผู้คนเดินทางไปสักการะโพธิ์โบราณต้นนี้ บ้างก็ไปกราบไหว้ บูชา สวดมนต์ นั่งสมาธิ วิปัสสนา ใต้ต้นอานันทโพธิ์ กันเป็นจำนวนมาก
ศรัทธา สงบ เยือกเย็น ใต้ร่มอานันทโพธิ์
อานันทโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านสยายร่มรื่น แม้จะแผ่กิ่งก้านสาขาแผ่สายร่มรื่น แต่ใต้ต้นโพธิ์กลับไม่มีใบโพธิ์ร่วงหล่นเกลื่อนกลาดให้เห็น เนื่องจากใบโพธิ์ กิ่งโพธิ์ ที่ร่วงหล่นมาจากต้น จะถูกผู้คนที่มาที่นี่เก็บไปบูชา รวมถึงมีคนในพื้นที่คอยเก็บใบโพธิ์ที่ร่วงหล่นขายให้กับนักท่องเที่ยว ใบโพธิ์บางใบ เมื่อปลิดขั้วปลิวหล่นจากต้นยังไม่ทันจะถึงพื้นด้วยซ้ำก็มีผู้ไปรอรับเก็บใบกันกลางอากาศแล้ว

ตัวผมเองเมื่อมีโอกาสได้ไปยืนอยู่ใต้อานันทโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านสยายร่มรื่น เราก็รู้สึกร่มเย็นและสงบนิ่งขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆที่แดดภายนอกยังคงร้อนเปรี้ยงอยู่
ศรัทธาจากชาวพุทธที่มีต่อพระมูลคันธกุฏี
จากอานันทโพธิ์ มาปิดท้ายกันที่อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ คือ “พระมูลคันธกุฏี” อันเป็นกุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้า ซึ่งในตำนานพุทธประวัติระบุว่า เป็นสถานที่ต้นกำเนิด “มงคลสูตร 38 ประการ” ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมอันเป็นมงคลสูงสุดแก่เทวดาและปวงมนุษย์ทั้งหลาย
ศรัทธาจากชาวพุทธที่มีต่อพระมูลคันธกุฏี
พระมูลคันธกุฏี เป็นซากมหากุฏิที่ประทับของพระพุทธองค์ ตั้งอยู่ในบริเวณกลุ่มกุฏิ 4 หลัง 3 ฤดู ด้านหน้าพระมูลคันธกุฏีมีเจดีย์ทรงกลมเล็กๆ 7 ชั้นตั้งอยู่ ซึ่งวันนี้ถูกปิดทองเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งองค์ เช่นเดียวกับบนฐานพระมูลคันธกุฏีที่ถูกปิดทองเหลืองอร่ามในหลายจุดด้วยกัน
ศรัทธาจากชาวพุทธที่มีต่อพระมูลคันธกุฏี
ขณะที่พระมูลคันธกุฏีวันนี้แม้จะเหลือเพียงแต่ซากอาคารอิฐเก่า แต่ว่าก็มีผู้คนจำนวนมากเดินทางมากราบไหว้สักการบูชากันไม่ได้ขาด แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งศรัทธาที่มีต่อวัดเชตวันแห่งนี้
ศรัทธาจากชาวพุทธที่มีต่อวัดเชตวัน
วันนี้แม้วัดพระเชตวันวรมหาวิหาร หรือวัดเชตวันแห่งเมืองสาวัตถี จะเสื่อมสลายหลงเหลือไว้แค่เพียง ซากอาคาร กองอิฐ มูลดิน แต่รอยอดีตของวัดแห่งนี้ยังคงทิ้งเรื่องราวอันวิจิตรเพริศแพร้ว ไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงพลังจากมหาศรัทธาอันยิ่งใหญ่ ซึ่งนักแสวงบุญจากทั่วโลกต่างเดินทางมาตามรอยพระพุทธเจ้า ให้ธรรมะขัดเกลาจิตใจอันนำไปสู่การตื่นรู้เป็นผู้เบิกบานตามหลักธรรมคำสอนขององค์พระบรมศาสดา

...สรรพสิ่งต่างๆในโลกหล้า แม้มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่คำสอนของพระพุทธองค์ยังคงจริงแท้ และดำรงคงอยู่อย่างจีรังยั่งยืนตลอดไป...
เพื่อนร่วมโลกที่อยู่ร่วมกันในวัดเชตวัน
******************************************
เมืองสาวัตถีนอกจากจะมีวัดพระเชตวันวรมหาวิหารเป็นไฮไลท์สำคัญแล้ว เมืองนี้ยังมีพุทธสถานที่สำคัญๆอีกได้แก่ สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี บ้านเกิดขององคุลีมาล(บ้านปุโรหิตย์บิดาองคุลีมาล) และวัดไทยเชตวันมหาวิหาร

สำหรับการเดินทาง “ตามรอยพระพุทธเจ้า : อินเดีย-เนปาล : ลัคเนา-สาวัตถี-ลุมพินี-กุสินารา-ลัคเนา” จากเมืองไทยบินตรงสู่เมือง “ลัคเนา” เมืองหลวงแห่งรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมืองอื่นๆเป็นวงรอบ

ลัคเนา ได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่สังเวชนียสถาน ซึ่งสายการบิน “ไทยสมายล์” ได้เปิดเที่ยวบินตรง “กรุงเทพฯ-ลัคเนา” 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และ“ลัคเนา-กรุงเทพฯ” 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในราคาเริ่มต้นที่ 4,135 บาท(รวมทุกอย่างแล้ว) และจะเพิ่มเป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2560 เป็นต้นไป ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 1181 หรือที่ 0-2118-8888 หรือดูที่ www.thaismileair.com
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น