มาเยือนอีสานใต้มีอะไรให้เที่ยวได้เยอะแยะ "ตะลอนเที่ยว" นึกในใจขณะที่เดินทางมาร่วมทริปของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่พามาเยือน "บุรีรัมย์-สุรินทร์" ที่จับคู่กันเป็น "เมืองต้องห้าม...พลาด plus" เที่ยวทั้งทีต้องเที่ยวให้ครบแพ็คคู่ สำหรับการเที่ยวในบุรีรัมย์นั้นได้เคยนำเสนอไปในครั้งก่อนแล้ว (คลิกอ่าน“บุรีรัมย์” เท่ระเบิด! เที่ยว 3 ภูเขาไฟ ตามหา“นกกระเรียนพันธุ์ไทย”ที่เคยสูญพันธุ์) คราวนี้จะพาเที่ยว "สุรินทร์" กันบ้าง
สำหรับที่เที่ยวในจังหวัดสุรินทร์ที่ “ตะลอนเที่ยว” จะพาไปวันนี้ เริ่มกันที่ใจกลางเมืองสุรินทร์ก่อนเลย ที่ “วัดบูรพาราม” (อ.เมือง) อยู่ใกล้กับศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ วัดนี้ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุรินทร์ มีอายุราว 200 ปี สร้างโดยพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม)
ที่วัดบูรพาเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระชีว์” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสุรินทร์ หลวงพ่อพระชีว์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในวิหารจัตุรมุขด้านหลังพระอุโบสถ คาดว่าสร้างขึ้นพร้อมกับวัด ในราว 200 ปีมาแล้ว โดยคนสุรินทร์ต่างกราบไหว้และนับถือท่านเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองสุรินทร์ตลอดมา
ส่วนบริเวณด้านข้างพระอุโบสถนั้น เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์กัมมัฎฐาน-อัฐิธาตุ” ที่ประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล พระเกจิอาจารย์ผู้ล่วงลับ หลวงปู่ดุลย์นั้นเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเก่งเรื่องปฏิบัติภาวนา มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพศรัทธามากมาย อีกทั้งหลวงปู่ดุลย์ยังเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพารามแห่งนี้อีกด้วย
ไหว้พระคู่บ้านไปแล้ว มาไหว้ “ศาลหลักเมือง” ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก แต่เดิมศาลหลักเมืองเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องธรรมดา ภายในมีก้อนหินที่สันนิษฐานว่าเป็นเสมาหินโบราณที่แตกหัก หรือเศษของจารึกหินทรายในสมัยขอม
แต่ปัจจุบัน ศาลหลักเมืองสุรินทร์เป็นศาลรูปปราสาทรูปปรางค์ สถาปัตยกรรมขอมประยุกต์ สร้างในปี 2511 ส่วนเสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์ แกะเป็นลวดลายพระพรหมสี่หน้า โดยในปี 2515 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเจิมเสาหลักเมืองสุรินทร์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หลังจากนั้นจึงอัญเชิญเสาหลักเมืองกลับมาที่สุรินทร์ และมีการเฉลิมฉลองสมโภชในปี 2516
ออกไปนอกเมืองสุรินทร์กันสักนิด มาที่ “วนอุทยานพนมสวาย” (อ.เมือง) ห่างจากตัวเมืองไป 22 กม. เขาพนมสวายเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นภูเขาไฟ (ปัจจุบันดับสนิทแล้ว) มีลักษณะเป็นภูเขาเตี้ยๆ มี 3 ยอด คือ เขาชาย (เขาพนมเปราะ) เขาหญิง (เขาพนมสรัย) และเขาคอก (เขาพนมกรอล) ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบันชาวสุรินทร์ถือว่าเขาพนมสวายเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถานที่แสวงบุญ โดยทุกวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 จะมีประเพณีเดินขึ้นเขาพนมสวายจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี (ในปีนี้เพิ่งผ่านไปเมื่อต้นเดือนเมษายน)
จากบริเวณจุดจอดรถก่อนที่จะไปเขาทั้ง 3 ยอด เราแวะมาที่เจดีย์หลวงปู่ดุลย์เพื่อมากราบสักการะรูปเหมือนและอัฐิของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล เกจิแห่งเมืองสุรินทร์เพื่อเป็นสิริมงคลกันก่อน ก่อนจะไปที่ “เขาคอก” ที่อยู่ใกล้ๆ กัน บนยอดเขาคอกเป็นคือศาลาอัฐมุขที่ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และใกล้ๆ กันนั้นมีศาลาเจ้าแม่กวนอิมให้สักการะกันด้วย
จากนั้นเดินเท้าไปที่ "เขาชาย" ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระใหญ่” หรือ “พระพุทธสุรินทรมงคล” พระพุทธรูปปางประทานพร หน้าตักกว้าง 15 ม. ความสูง 21.50 ม. อีกทั้งบันไดทางขึ้นสู่องค์พระยังมีระฆังแขวนเรียงรายตลอดเส้นทาง ซึ่งหากนับรวมระฆังทั้งหมดมีจำนวนถึง 1,080 ใบ เลยทีเดียว ด้านบนเขายังสามารถมองเห็นร่องรอยของปากปล่องภูเขาไฟในอดีตได้อีกด้วย
ส่วนบริเวณ "เขาหญิง" นั้น เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานบนยอดเขา และยังมีสระน้ำโบราณ 2 สระที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเต่าศักดิ์สิทธิ์
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องไม่พลาดถ้ามาเยือนสุรินทร์ ก็คือการมาเที่ยวชมปราสาทหินที่เก่าแก่และงดงามไม่แพ้ที่ไหนๆ มีปราสาทหินหลายแห่งในเมืองสุรินทร์ แต่ในวันนี้ “ตะลอนเที่ยว” ขอพาไปชมกัน 2 แห่ง คือ “กลุ่มปราสาทตาเมือน” และ “ปราสาทตาควาย” ใน อ.พนมดงรัก
สำหรับ “กลุ่มปราสาทตาเมือน” เป็นโบราณสถานศิลปะขอมที่อยู่ริมชายแดนไทย-กัมพูชา ประกอบไปด้วยปราสาท 3 หลังที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือนหรือปราสาทบายกรีม เชื่อว่าในอดีตที่นี่เคยเป็นชุมชนโบราณเพราะเป็นเส้นทางผ่านช่องเขาสำคัญระหว่างเมืองพระนครไปยังพิมายปุระ
“ปราสาทตาเมือนธม” เป็นปราสาทที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด เป็นโบราณสถานสมัยบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 ปราสาทแห่งนี้ประกอบด้วยอาคารหลายหลัง ได้แก่ ปราสาทประธาน ซึ่งมีหลักฐานสำคัญคือศิวลึงค์ซึ่งเป็นโขดหินธรรมชาติ หรือ “สวยมภูลึงค์” และมีท่อโสมสูตรหรือท่อน้ำมนต์จากการสักการะศิวลึงค์ ต่อจากปราสาทประธานไปยังระเบียงคด
นอกจากนั้นยังมีบรรณาลัยหรือหอเก็บคัมภีร์ 2 หลัง มีปราสาทวิหารอีก 2 องค์สร้างด้วยหินทราย ซึ่งปราสาทหลังหนึ่งพบว่ามีการจารึกภาษาขอมบนหินข้างเสาประตู มีระเบียงคด และสระน้ำกรุด้วยศิลาแลงอยู่ภายนอกอาคารอีกด้วย
ห่างกันไป 340 ม. เป็นที่ตั้งของ “ปราสาทตาเมือนโต๊ด” ปราสาทขนาดเล็กที่เชื่อว่าเป็นอโรคยาศาล หรือสถานที่รักษาพยาบาลของชุมชน เป็นอโรคยาศาล 1 ใน 102 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อช่วยอาณาประชาราษฎร์ ตัวปราสาทก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบ และมีสระน้ำขนาดเล็กอยู่บริเวณใกล้ๆ อีกหนึ่งสระ
ส่วน “ปราสาทตาเมือน (บายกรีม)” เป็นปราสาทหลังเล็กที่สุด อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธมไป 750 ม. ตัวปราสาทก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาว เชื่อว่าเป็นธรรมศาลาหรือที่พักสำหรับคนเดินทาง เรียกได้ว่ากลุ่มปราสาทตาเมือนนี้มีความสมบูรณ์ในด้านของการอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้คนที่ใช้เส้นทางผ่านช่องเขา แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้ในอดีตคงจะมีชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ หรือเป็นทางผ่านที่สำคัญในภูมิภาคแห่งนี้ในราวพุทธศตวรรษที่ 18
มาปิดท้ายกันที่ “ปราสาทตาควาย” หรือปราสาทตากระเบย (กระบือ) ที่อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนไปราว 20 กม. อยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาเช่นกัน ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานสร้างด้วยศิลาแลง ส่วนตัวปราสาทก่อขึ้นไปโดยใช้หินทราย มีทางเข้า 4 ทาง เชื่อว่าสร้างขึ้นเป็นศาสนสถานเพื่อบูชาพระศิวะ โดยภายในมีก้อนหินที่สันนิษฐานว่าเป็นศิวลึงค์ธรรมชาติคล้ายๆ กับที่ปราสาทตาเมือนธม ส่วนหลังคาก่อเป็นทรงพุ่มยอดปรางค์ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น ปราสาทตาควายยังเป็นปราสาทหลังเดียวโดดๆ ไม่มีอาคารประกอบอื่นๆ และไม่มีลวดลายแกะสลักใดๆ ทำให้เชื่อว่าเป็นปราสาทที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ดี
แต่ทั้งนี้ กลุ่มปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควาย ทั้งสองปราสาทริมชายแดนสุรินทร์-กัมพูชา ยังไม่มีการตกลงเรื่องการแบ่งแนวพรมแดนที่ชัดเจน ปราสาททั้งสองแห่งนี้จึงอยู่ภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศในการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ดังนั้นถ้าใครจะไปเยือนปราสาทหินทั้งสองแห่ง ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทหารที่ดูแลพื้นที่ อย่าเดินสะเปะสะปะจะหลงเข้าไปในเขตแดนของกัมพูชาเอาได้ แต่สำหรับที่รักปราสาทหิน สนใจความเป็นมาและประวัติศาสตร์ ก็ไม่ควรพลาดชมปราสาททั้งสองนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
นักท่องเที่ยวที่สนใจท่องเที่ยวในจังหวัดสุรินทร์ หรือต้องการสอบถามเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว ที่กิน ที่พัก สามารถสอบถามได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ (ดูแลบุรีรัมย์, สุรินทร์) โทร.0 4451 4447-8
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com