ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามมากมายที่รอให้ค้นหา ทั้งภูเขา ทะเล ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คนและการไปเที่ยวในแต่ละครั้งอาจให้อะไรมากกว่าที่คิด และทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น
โครงการ "อาสาเที่ยว" จึงเกิดขึ้นมาจากความคิดของ โอ๊ก วรพจน์ จันทรนิล และกลุ่มเพื่อนที่รักการท่องเที่ยว ที่มักชวนกันไปเที่ยวในช่วงวันหยุดและพบว่าตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มีขยะอยู่เยอะ จึงอยากทำประโยชน์ให้แก่สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่นการช่วยกันเก็บขยะ จึงคิดโครงการ “อาสาเที่ยว” ขึ้นเพราะอยากให้ทุกคนได้ไปใช้เวลาพักผ่อนในวันหยุด และได้สร้างประโยชน์ให้แก่ธรรมชาติไปพร้อมกัน เป็นการไปเที่ยวที่ได้อะไรมากกว่าการไปเที่ยว
และภายหลังจึงได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้ด้วย ซึ่งสถานที่แรกที่ได้จัดทริปในโครงการอาสาเที่ยวก็คือที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี เป็นทริปที่ชวนกันไปเก็บขยะบริเวณรอบเกาะ ได้ทำจิตอาสาแถมยังได้เที่ยวชมธรรมชาติรอบๆเกาะไปด้วย
ส่วนในครั้งนี้ “อาสาเที่ยว” ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานชุมพร (ดูแลพื้นที่ชุมพร ระนอง) พานั่งเรือเข้าไปสัมผัสวิถีชาวประมงของชาวบ้านบ้านแหลมนาว จ.ระนอง และร่วมกันทำความดีด้วยการช่วยกันทาสีมัสยิด และสร้างเตาเผาขยะให้กับชุมชน
เริ่มต้นกิจกรรมเมื่อไปถึง จ.ระนอง ด้วยการแช่น้ำร้อนยามเช้าเพื่อความผ่อนคลายกันก่อนที่ บ่อน้ำร้อนสวนสาธารณะรักษะวาริน ซึ่งเป็นบ่อน้ำร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีอยู่ 3 บ่อ คือ บ่อพ่อ บ่อแม่ และบ่อลูก ทั้ง 3 บ่อ มีอุณหภูมิสูงประมาณ 65 องศาเซลเซียส
จากนั้นไปยังท่าเทียบเรือบางเบนมุ่งหน้าสู่ เกาะค้างคาว เกาะกำตก (อ่าวเขาควาย) และเกาะญี่ปุ่น เพื่อชื่นชมความงามของทะเลระนองกันต่อ ด้วยการเดินชมหาดทรายขาวสะอาด และดำน้ำชื่นชมความงามของหมู่ปลา และปะการังหลากสีที่เกาะค้างคาว ซึ่งทั้ง 3 เกาะค่อนข้างสงบ เหมาะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง
เที่ยวชมความงามตามแบบฉบับของทะเลใต้กันแล้ว ก็ได้เวลาไปที่จุดหมายของการมาระนองครั้งนี้นั่นก็คือการมาทำความดีและสัมผัสกับวิถีชาวประมงอย่างแท้จริงกันที่ "หมู่บ้านชาวประมงบ้านแหลมนาว" ชุมชนชาวประมงที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี
เมื่อกายพร้อม ใจพร้อมที่จะทำความดี เตรียมสี และอุปกรณ์ต่างๆแล้ว ก็มาแบ่งกลุ่มทำความดีกัน ด้วยการทาสีมัสยิด และสร้างเตาเผาขยะให้ชุมชน
นอกจากจะมีสมาชิกของอาสาเที่ยวที่มาช่วยด้วยความตั้งใจแล้ว ยังมีชาวบ้านในหมู่บ้านแหลมนาว และหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมกันทำความดีในครั้งนี้ด้วย
แล้วไปชื่นชมธรรมชาติเมืองระนองกันต่อด้วยการ พายเรือคายัค เลาะเลียบคลองบางริ้น สัมผัสธรรมชาติในป่าชายเลนกลางเมืองระนอง
จากนั้นไปล่องเรือกันกับ เดอะรอยัลอันดามัน เรือไม้โบราณระนองแห่งเดียวในไทยอายุกว่า 100 ปี ที่จะพาเราย้อนอดีตกลับไปสู่จังหวัดระนองในยุคเหมืองแร่ในปี ร.ศ.109 ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสแหลมมาลายู ได้ทานอาหารโบราณระนองต้นตำรับ และแต่งกายเป็นคนระนองยุคโบราณ
พร้อมชมพระอาทิตย์ตกทะเลทองคำที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดของแหลมมาลายูกลางหัวใจทะเลอันดามัน ปิดท้ายด้วยสัมผัสประเพณีโบราณของชาวเรือระนอง “ลอยพรกพร้าว” พิธีโบราณของชาวเรือ โดยใช้กะลามะพร้าวใส่ดอกดาวเรืองจุดเทียน เพื่อขอบคุณพระแม่คงคาและขอพรเพื่อความสุขในชีวิต
อีกหนึ่งกิจกรรมที่พลาดไม่ได้คือการนั่งสองแถวไม้ระนอง ไปยังจุดหมายแรกที่เป็นท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อย่างเช่น บ้านร้อยปีเทียนสือ แหล่งเรียนรู้ชมชนด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จ.ระนอง สถานที่เก็บรวบรวมประวัติของต้นตระกูล ณ ระนอง อายุกว่า 100 ปี
พระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) พระราชวังที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จประทับแรมจังหวัดระนองของพระมหากษัตริย์ 3 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
ต่อด้วยการเรียนรู้ศาสตร์แห่งการรักษาโรคของชาวจีนดั้งเดิม ที่อยู่คู่กับชาวระนองมากว่าร้อยปีที่ ศาลเจ้าต่ายเต๊เอี๋ย ศาลเจ้าเก่าแก่ของจังหวัดระนอง ที่ชาวระนองให้ความเคารพนับถือมาช้านาน มีองค์ศาลเจ้าต่ายเต๊เอี๋ย หรือ “โปเซ่งต่ายเต่” เป็นองค์พระประธาน
เรียนรู้ ศึกษา ค้นหาความหมายของแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของเมืองระนองกันแล้ว ก็ได้เวลาไปค้นหาต้นตำรับที่แท้จริงของความอร่อยในเมนูถิ่นของระนอง นั่นก็คือ "ซาลาเปาทับหลี" กับ "ซีอิ้ว ตรานกแก้ว" เครื่องปรุงต้นตำรับที่อยู่คู่กับคนระนองมาอย่างยาวนาน และร่วมทำซาลาเปาทับหลี และปลาเต๋าซีอาหารจานเด็ดของเมืองระนองด้วยกัน ปิดท้ายด้วยการเรียนรู้ขั้นตอนกว่าจะมาเป็นกาหยู (เม็ดมะม่วงหิมพานต์) หอมอร่อย
ก่อนกลับแวะสักการะหลวงพ่อดีบุก ณ วัดบ้านหงาว ซึ่งในอดีตเมืองระนอง มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ แร่ดีบุก อุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตของผู้คนผูกพันกับแร่ดีบุกมายาวนาน แร่ดีบุกจึงเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงคนระนอง สร้างความมั่งคั่งมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในแผ่นดินเมืองระนองจนปัจจุบัน
ในการมาเยือน จ.ระนอง กับอาสาเที่ยวครั้งนี้ ไม่เพียงให้เราได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวประมง ท่องไปในแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม หรือพาไปกินอาหารอร่อยเพียงเท่านั้น แต่ได้เพิ่มเติมความสุขให้กับการไปเที่ยว ด้วยการไปทำประโยชน์ให้กับชุมชน ทำให้เราได้เห็นน้ำใจและรอยยิ้ม อิ่มใจทั้งผู้ให้และผู้รับ เรียกได้ว่าอาสาเที่ยวทำให้ได้อะไรมากกว่าแค่ไปเที่ยวจริง ๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com