“เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ”
ฉายานี้เป็นของ “บุรีรัมย์” จังหวัดแห่งอีสานใต้ที่มากมายไปด้วยอารยธรรมขอมโบราณ มีปราสาทหินที่ยิ่งใหญ่และงดงาม ยิ่งในตอนนี้บุรีรัมย์ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองปราสาทสองยุค” ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชู “บุรีรัมย์” ให้เป็น 1 ใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด จากความโดดเด่นของปราสาทหินยุคโบราณ และ “ปราสาทสายฟ้า” หรือทีมสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่มี “สนามฟุตบอลไอ-โมบาย สเตเดียม” เป็นความภาคภูมิใจของชาวบุรีรัมย์ ก็ยิ่งทำให้ตอนนี้บุรีรัมย์กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่คึกคักขึ้นกว่าเดิมหลายขุม
ส่วนฉายาถิ่นภูเขาไฟนั้นก็สมชื่อ เพราะที่บุรีรัมย์นี้มีภูเขาไฟมากถึง 6 แห่งด้วยกัน!
แต่ไม่ต้องตกใจไป ภูเขาไฟเหล่านี้เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทสิ้นฤทธิ์เดชแล้ว และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของบุรีรัมย์ไปเสียด้วย เดี๋ยววันนี้ “ตะลอนเที่ยว” จะพาไปเยือนภูเขาไฟเหล่านี้ 3 ใน 6 แห่งด้วยกัน
แห่งแรกเป็นดังสัญลักษณ์ของบุรีรัมย์ก็ว่าได้ คือที่ “เขาพนมรุ้ง” อันเป็นที่ตั้งของปราสาทหินพนมรุ้ง (อ.เฉลิมพระเกียรติ) ที่หลายๆ คนคงเห็นภาพของปราสาทแห่งนี้จากละคร “นาคี” ที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง ปราสาทพนมรุ้งสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ โดยสร้างเพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างอย่างต่อเนื่องกันมาหลายสมัยตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15-18
ไฮไลท์เด่นของปราสาทพนมรุ้งคือเส้นทางเดินสู่ปราสาทเป็นทางยาว สองข้างทางมีเสานางเรียงตั้งอยู่เรียงราย และมีบันไดสูงชันขึ้นสู่ตัวปราสาท ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสรวงสวรรค์ ส่วนบริเวณปราสาทประธานก็งดงามไปด้วยภาพแกะสลักหินชิ้นเยี่ยมไม่ว่าจะเป็น “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” และภาพ “ศิวนาฏราช” รวมไปถึงภาพแกะสลักหินเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และงดงาม
และในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ก็จะมีงานประเพณียิ่งใหญ่จัดขึ้นนี้คือ “งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง” (31 มี.ค.-2 เม.ย.)โดยมีกิจกรรมสำคัญคือการบวงสรวงองค์พระศิวะและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้ง และมีขบวนแห่พาหนะเทพ ผู้พิทักษ์ประจำทิศทั้ง 10 ได้แก่ ขบวนหงส์ ช้าง โค ระมาด คชสีห์ นกยูง นาค ม้า รากษส กระบือ และขบวนเสด็จพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี ที่สำคัญ “น้องแต้ว” จากละครเรื่องนาคีก็จะมาร่วมงานนี้ด้วย
นอกจากนั้นแล้วที่พนมรุ้งนี้ยังมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์ให้ชมกันทุกปี คือปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องบานประตูในเดือน เม.ย. และ ก.ย. และปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องบานประตู ในเดือน มี.ค. และ ต.ค. ในช่วงเวลาดังกล่าว พระอาทิตย์จะขึ้น-ตก สาดแสงลอดทะลุซุ้มประตูของตัวปราสาททั้ง 15 ช่อง เป็นแนวเดียวกัน เป็นความมหัศจรรย์และแสดงถึงความสามารถของผู้ออกแบบและสร้างปราสาทพนมรุ้งได้เป็นอย่างดี
ภูเขาไฟแห่งที่สองที่ได้ไปเยือนคือที่ “เขาอังคาร” (อ.เฉลิมพระเกียรติ) ที่อยู่ไม่ไกลจากเขาพนมรุ้งมากนัก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ “วัดเขาอังคาร” ซึ่งมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่และใบเสมาหินทรายสลักภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักรสมัยทวารวดีหลายชิ้น วัดเขาอังคารเป็นวัดที่สวยงามแห่งหนึ่งในบุรีรัมย์ สร้างประยุกต์จากสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ ภายในวัดมีอุโบสถ 3 ยอดที่รายด้วยพระพุทธรูปจำนวน 109 องค์ และมีพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งอีกด้วย
ส่วนภูเขาไฟแห่งที่สามที่ได้ไปเยือน คือ “เขากระโดง” (อำเภอเมือง) หรือที่ปัจจุบันจัดทำเป็น “วนอุทยานเขากระโดง” ซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยของปากปล่องภูเขาไฟให้เห็นได้ชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถเดินบนสะพานแขวนเพื่อชมทัศนียภาพของปากปล่องภูเขาไฟที่มีลักษณะเป็นหลุมลึกได้ อีกทั้งบนยอดเขากระโดงยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทรบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์ และมีมณฑปรอยพระพุทธบาทจำลองให้ผู้ที่ศรัทธาได้มากราบไหว้กัน
ไม่เพียงมีภูเขาไฟเก๋ๆ เท่านั้น ชาวบุรีรัมย์ยังใช้ประโยชน์จากดินภูเขาไฟมาสร้างคุณค่าให้แก่สินค้าท้องถิ่นอย่าง “ผ้าภูอัคนี” ของชาวบ้านเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ ชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้กับเขาอังคาร ชาวบ้านจึงนำเอาดินภูเขาไฟมาใช้ย้อมเส้นฝ้ายให้มีสีน้ำตาลแดง แล้วนำมาทอเป็นผืนผ้า เป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หรือผ้าตัดเสื้อ จนกลายเป็นเอกลักษณ์สุดเก๋ไม่เหมือนที่ไหน ภายหลังยังเพิ่มสีสันเอาหินภูเขาไฟมาย้อมได้เป็นสีเทาอมฟ้า และเอาเปลือกไม้ในท้องถิ่นมาย้อมเป็นสีสันต่างๆ สวยงามมากขึ้นไปอีก ซื้อไปฝากใครแล้วเล่าที่มาให้ฟัง รับรองว่าต้องประทับใจแน่ๆ
สำหรับคนชอบดอกไม้สวยๆ ชอบถ่ายรูปเซลฟี่ บุรีรัมย์ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ คือที่ “เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท แอนด์ แอดเวนเจอร์ แคมป์” (อ.คูเมือง) ที่มีอุทยานไม้ดอกจัดแสดงพันธุ์ไม้นานาชนิดให้ชมกันถึง 6 โรงเรือน สำหรับโรงเรือนแห่งแรกจะจัดแสดงพันธุ์ไม้ตามฤดูกาลต่างๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้กำลังจัดเทศกาล “Vintage of Garden” มีดอกไฮเดรนเยียจัมโบ้ และไฮเดรนเยียกลีบซ้อนที่จัดแสดงให้ชมเป็นครั้งแรกของเอเชีย สวยงามน่ารักมากๆ อีกทั้งยังมีดอกไม้อื่นๆ อีกนานาชนิด อาทิ บีโกเนีย ไฮยาซีน ลิลลี่ เทียนนิวกินี อะซาเลีย มัสแครี่ เดฟฟอดิล ฯลฯ
ส่วนบริเวณด้านนอกที่เป็นเกษตรฟาร์มก็กำลังมีดอกคอสมอสหรือดาวกระจายเบ่งบานอยู่ในแปลงปลูก ซึ่งทางเพ ลา เพลิน ตั้งใจจะปลูกดอกคอสมอสให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันตลอดปีในพื้นที่กว่า 2 ไร่ โดยดอกคอสมอสใช้เวลาในการปลูกราว 30-40 วัน และจะเบ่งบานให้ชมประมาณ 15 วัน ก่อนที่จะปลูกหมุนเวียนต่อไป เรียกได้ว่าไปช่วงไหนก็ได้ชมดอกไม้สวยๆ แน่นอน
มาปิดท้ายการเที่ยวบุรีรัมย์กันแบบธรรมชาติๆ กันที่ “เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน” (อ.ประโคนชัย) ที่เคยเป็นสนามบินเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังได้ใช้เป็นอ่างเก็บน้ำและกลายเป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำ จึงกลายเป็นแหล่งดูนกไปโดยปริยาย
ที่นี่มีนกไม่ต่ำกว่า 214 ชนิด มีทั้งนกน้ำ นกป่า และนกทุ่ง มีนกที่สำคัญได้แก่ นกกระสาปากเหลือง นกกาบบัว นกอ้ายงั่ว นกเป็ดหงส์ นกเป็ดปากพลั่ว เป็นต้น แต่ที่ “ตะลอนเที่ยว” คาดหวังว่าจะได้เห็นมากที่สุดในวันนี้ก็คือ “นกกระเรียนพันธุ์ไทย” สัตว์ป่าสงวนที่ครั้งหนึ่งเคยสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติของไทยนานหลายสิบปี
แต่ในปี 2554 ทางสวนสัตว์นครราชสีมาได้ริเริ่มโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ จนในขณะนี้นกกระเรียนพันธุ์ไทยได้มีชีวิตรอดในธรรมชาติ และได้จับคู่ทำรังให้กำเนิดลูกนกสืบต่อมาอีกด้วย ซึ่งในวันที่เรามาเยือนเป็นช่วงเวลาเย็นที่นกเริ่มกลับรังกัน แต่พี่เจ้าหน้าที่ก็ยังสามารถชี้ตำแหน่งของเจ้านกกระเรียนพันธุ์ไทยตัวเมียในป่าหญ้าบริเวณรังของมันให้เราดูได้ “ตะลอนเที่ยว” ใช้กล้องซูมสุดชีวิตก็ยังเห็นเจ้านกกระเรียนไทยหัวสีแดงสดใสมาได้ตัวกระจิ๊ด แต่โชคดีที่ได้เห็นเป็นคู่เพราะเจ้าตัวผู้บินกลับรังมาหาเมียของมันพอดี น่าชื่นใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นสัตว์ป่าที่เคยสูญพันธุ์กลับมามีชีวิตอยู่ตรงหน้าของเราอีกครั้ง
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในบุรีรัมย์เท่านั้น เมืองปราสาทสองยุคแห่งนี้ยังมีสถานที่ให้ท่องเที่ยวอีกเยอะแยะรอให้มาสัมผัสกัน
*****************************************
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่กิน ที่พักในจังหวัดบุรีรัมย์ได้ที่ ททท.สุรินทร์ (ดูแลบุรีรัมย์, สุรินทร์) โทร.0 4451 4447
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com