วัดแต่ละที่แต่ละแห่งย่อมมีตำนานเรื่องเล่าขานกันยาวนาน ซึ่งแต่ละเรื่องก็จะมีความสนใจที่แตกต่างกันไป แต่ที่จังหวัดราชบุรีนั้น มีวัดแห่งหนึ่งที่มีเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ และเป็นที่รวบรวมจิตใจของชาวมอญ ที่ย้ายอพยพมาอยู่ที่แถวนี้ นั่นคือ “วัดไทรอารีรักษ์”
วัดไทรอารีรักษ์ เป็นวัดมอญที่อยู่ใต้สุดของวัดมอญลุ่มแม่น้ำแม่กลอง นับจากเขตบ้านโป่งลงมา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฟากตะวันออก อยู่ใน เขตเทศบาลเมืองโพธาราม จ.ราชบุรี ทางทิศเหนือ ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง สังเกตได้จากใบเสมาซึ่งเป็นหินทรายแดงแผ่นย่อมๆ และกำหนดอายุในสมัยอยุธยาตอนปลาย เข้าใจว่าเดิมเป็นวัดร้าง ชาวมอญที่อพยพมาจากพม่าได้เดินทางมาถึงวัดนี้ซึ่งมีวิหารตั้งอยู่แต่เดิมแล้วจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์ ทำให้สันนิษฐานว่า วัดแห่งนี้อาจจะมีอายุตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา แต่โบสถ์นี้ได้มาสร้างใหม่ในราวรัชกาลที่ ๕
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนั่นก็คือ “อุโบสถ” ของวัดนี้ มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้านภายใน ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมแบบประเพณี แต่แสดงภาพแนวตะวันตก อาทิ เครื่องแต่งกายของผู้คน อาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ ความโดดเด่นอยู่ที่ ด้านบน เขียนเป็นภาพพระอดีตพระพุทธเจ้า ต่ำลงมา ตอนหนึ่ง เขียนเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนแห่พระบรมศพโดยมีหีบศพแบบมอญที่เรียกว่า ลุ้ง ตั้งอยู่ในราชรถ ตอนหนึ่ง เป็นการละเล่นในงานถวายเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า จะเห็นชายนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อราชประแตน ใส่หมวก ถือไม้เท้า (มีหนวดด้วย)
ทำให้หลายคนสันนิษฐานว่า ช่างเขียนอาจจะเคยได้พบเห็น การเสด็จเยือนโพธารามหลายครั้งของรัชกาลที่ ๕ ทำให้เขียนภาพพระองค์ไว้ในภาพจิตกรรมด้วย มีชาวมอญนุ่งโสล่ง แต่ใส่เสื้อราชปะแตนและสวมหมวก สตรีชาวมอญมีผ้าคาดอก คล้องสไบ (คาดสไบเฉียงก็มี ซึ่งอาจจะไม่ใช่ชาวมอญ) มีทั้งชาวจีน กระเหรี่ยง จนถึงชาวไทยแต่งแบบฝรั่ง และมีการเชิดหน้าใหญ่หนังตะลุงคงนิยมมากในสมัยนั้น
และเป็นระยะแรกๆ ที่นำมาเขียนไว้เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้านหน้าอุโบสถ มีรูป 12 นักษัตร แต่จะหาปีกุน-หมู ไม่เจอเพราะช่างได้เขียนเป็นรูปช้าง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าคนเขียนอาจจะเป็นช่างจากทางเหนือ เพราะทางเหนือ ปีกุน คือ ช้าง ซึ่งทางวัดจะไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปในอุโบสถ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวมอญกันมาแต่โบราณ เพราะอุโบสถถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญ เพราะใช้ในการประกอบพิธีอุปสมบทพระ และการทำอุโบสถสังฆกรรม
รอบอุโบสถ จะมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ในกำแพงแก้ว ทรงเป็นแบบพื้นบ้าน นอกกำแพงแก้ว มี เจดีย์ใส่กระดูก มีทั้งทรงระฆัง และทรงอื่นๆ ยังมีที่ดูคล้ายธาตุลาวด้วย คงจะเป็นที่บรรจุอัฐิของชาวลาวที่อยู่ ในชุมชนมอญนี้
นอกจากที่เต็มไปด้วยความสวยงามของอุโบสถแล้ว วิหารของวัดไทรอารีรักษ์ มีความพิเศษหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบลาวซึ่งอาจจะเป็นชาวลาวสร้างมาก่อนก็เป็นได้ และทำให้สันนิษฐานได้ว่า วิหารนี้คงมีมาก่อนโบสถ์ และเกี่ยวเนื่องไปถึงพระประธานที่เป็นปางป่าเลยไลน์ขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าแกนในคงสร้างด้วยศิลาแลง
สิ่งโดดเด่นภายในวิหาร คือ “เก๋งจีนขนาดใหญ่” สร้างเป็นมณฑปครอบรอย พระพุทธบาทโลหะซึ่งมีรอยสนิม ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าพระพุทธบาทโลหะนี้คงจะเคยอยู่กลางแจ้งมาก่อน
“เก๋งจีน” ที่ตั้งอยู่ภายในวิหารนั้นเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ สูงเกือบ 5 เมตร มีรูปทรงแบบจีน แต่มีหลังคาลดชั้นที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะไทย มีภาพกิจกรรมเรื่องสามก๊กประดับอยู่บนผนัง สิ่งนี้แสดงถึงความสมานฉันท์ กลมเกลียวของทุกชนชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตโพธาราม เพราะมี เก๋งจีนสร้างครอบรอยพระพุทธบาท อยู่ในวิหารทรงลาว สร้างในวัดมอญ ประวัติเก๋งจีน สันนิษฐานว่าคงสร้างมาราว 100 กว่าปี โดยชาวจีนเขตตลาดบน ของเมืองโพธาราม ซึ่งร่ำรวยจากการทำการค้าฟูกนุ่น (ที่นอนนุ่น - โพธารามเคยเป็นแหล่งผลิตฟูกนุ่นสำคัญ มีโรงงานถึง 10-15 โรงงานเลยทีเดียว ปัจจุบันเหลือไม่กี่แห่ง และเป็นงานในครัวเรือนเท่านั้น) ซึ่งเก๋งจีนถือว่าเป็นโบราณสถานที่ยังสมบูรณ์ ให้ชมกันได้
นอกจากสถานที่ที่มีความสำคัญแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีประเพณีที่น่าสนใจอย่าง ลอยกระทงสาย ซึ่งเป็นประเพณีแบบชาวมอญ ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เขตบ้านโป่ง-โพธาราม ที่หลายคนเรียกว่า กระทงสาย (ลอยถาด) เป็นประเพณีพื้นบ้านอันงดงาม อันปรากฏเฉพาะในลุ่มแม่น้ำกลองย่าน คนมอญเขต บ้านโป่ง-โพธาราม จ.ราชบุรี เท่านั้น นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ความเรียบง่าย แฝงถึงความประหยัด จนเกิดเป็นภาพสวยงาม ที่เห็นกระทงลอยเกาะกลุ่มเป็นเส้น-เป็นสายอยู่กลางลำน้ำแม่กลองในคืน วันเพ็ญเดือนสิบสอง
ถือว่าเป็นวัดที่ยังคงมีความสำคัญเรื่องเล่าตำนานและประเพณีที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวมอญในย่านนี้ เพียงแค่นี้วัดเล็กๆ แห่งนี้ก็เป็นวัดยิ่งใหญ่ในแง่ความรู้สึกได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดไทรอารีรักษ์ ตั้งอยู่เลขที่ 15 ถนนโชคชัย ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี-ราชบุรี โทร. โทรศัพท์ 0-3451-1200 หรือโทร 1672 เที่ยวเมืองไทยเบอร์เดียว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com