xs
xsm
sm
md
lg

“ภูหลวง”แดนมหัศจรรย์พรรณไม้ ตื่นตาตื่นใจรอยตีนไดโนเสาร์“อันซีนไทยแลนด์”/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ภูหลวง ดินแดนมหัศจรรย์พรรณไม้ ในช่วงที่กุหลาบแดงออกดอกบานสะพรั่ง
ป่าส่วนใหญ่ในบ้านเราอาจดูไม่น่าพิสมัยเมื่อยามหน้าร้อน แต่นั่นย่อมไม่ใช่กับป่าที่ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง” แห่งจังหวัดเลย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนมหัศจรรย์พรรณไม้” อันน่าตื่นตาตื่นใจ

เพราะเมื่ออากาศบนยอดภูหลวงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนแบบไร้รอยต่อ เหล่า กล้วยไม้ ดอกไม้ บุปผานานาพันธุ์ แห่งคิมหันต์ฤดูต่างก็พากันผลิบานออกดอกสะพรั่ง แต้มสีสันความงามให้กับภูหลวง ชนิดที่ใครซึ่งเป็นผู้นิยม ชื่นชอบ รักถนอมบุปผา ควรจะหาโอกาสขึ้นไปเที่ยวป่าภูหลวงในช่วงหน้าร้อนดู แล้วจะรู้ว่าการได้พบดอกไม้ กล้วยไม้หายาก บานสะพรั่งให้เห็นกับตาจะจะตามธรรมชาตินั้นมันน่าตื่นตาตื่นใจขนาดไหน
ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของผืนป่าที่ภูหลวง
ตามรอยตีนไดโนเสาร์อันซีนไทยแลนด์

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ภูหลวง” มีพื้นที่ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อำเภอภูหลวง ภูเรือ และด่านซ้าย

ภูหลวงมีความหมายว่า ภูเขาที่สูงใหญ่ หรือภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน มีระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร บนยอดภูหลวงมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี
น้ำเต้าฤาษี
สำหรับเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ศึกษาพันธุ์ไม้บนภูหลวง ทางเขตรักษาพันธุ์ฯได้เปิดหน่วยโคกนกระบา(1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ให้เป็นพื้นที่หลักสำหรับการท่องเที่ยว มีทั้งเส้นทางระยะสั้น ระยะกลาง และระยะไกล โดยเส้นทางหลักที่ผมไปเดินในทริปนี้เป็นเส้นทางผาเตลิ่น ที่อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 4 กม.

เส้นทางเดินป่าผาเตลิ่นเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจยิ่ง สองข้างทางมีดอกไม้ กล้วยไม้
กำลังออกดอกบานสะพรั่ง ไม่ว่าจะเป็น กุหลาบแดง(Rhododendron simsii) กุหลาบขาว(Rhododendron lyi) ที่ออกดอกบานชูช่อสีขาวนวล สำเภางาม ตะขาบขาว สิงโตใบพาย น้ำเต้าฤาษี ส้มแปะ บานอ้า สร้อยระย้า ก๊อกมอง พืชประเภทกาฝาก และโดยเฉพาะกับเอื้องตาเหินที่มีให้ชมกันเพียบ ทั้งตามต้นไม้ ตามซอกหิน ถือเป็นหนึ่งในดาวเด่นของดอกไม้ประจำฤดูร้อนบนภูหลวง
ส้มแปะ
นอกจากดอกไม้ กล้วยไม้ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของภูหลวงยามหน้าร้อนที่มีให้ชมกันเกือบตลอด 2 ข้างทางแล้ว ในเส้นทางสายนี้ก่อนจะถึงจุดรอยเท้าไดโนเสาร์ มีจุดชมวิวเด่นๆให้ไปยืนชมความงามกัน 2 จุด

จุดแรกคือ “ผาสมเด็จ” จากจุดนี้เมื่อมองออกไปจะเห็นแนวเทือกเขา(ทางฝั่งซ้าย)ทอดยาว มีแนวชั้นหินเผยเป็นชั้นๆดังแนวกำแพงธรรมชาติ เบื้องล่างเป็นทิวทัศน์ของท้องทุ่งนา มีขุนเขา(ที่มองไกลๆเห็นลูกเล็กๆ) 2 ลูกเป็นจุดรวมสายตาคือ ผาบ่าว(ลูกเล็ก)และผาสาว(ลูกใหญ่กว่า)
005
ทิวทัศน์บนยอดภูหลวงเมื่อมองจากผาสมเด็จ
เลยจากผาสมเด็จไปอีกประมาณ 1.5 กม. เป็น “ผาเตลิ่น” อีกหนึ่งหน้าผาไฮไลท์ของภูหลวง

ผาเตลิ่น เป็นภาษาถิ่น เตลิ่นหมายถึงลาดลื่น เป็นการตั้งชื่อตามลักษณะของหน้าผาที่เป็นแนวผาทอดยาวลงมาเป็นชั้นๆคล้ายขั้นบันได
ผาเตลิ่น อีกหนึ่งผาไฮไลท์ของภูหลวง
ผาเตลิ่นเป็นจุดชมวิวชั้นดีเหมือนผาสมเด็จ บางมุมมีกุหลาบแดงออกดอกบานสะพรั่งเหมือนผาสมเด็จ แต่มีความต่างกันตรงที่ผาเตลิ่นมีชะง่อนหินบนแนวสันริมผาให้นั่ง ยืน แอ๊คท่ากันหลายจุด

จากผาเตลิ่นเดินไปอีกประมาณ 700 เมตร จะพบกับ “รอยตีนไดโนเสาร์* ที่เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินป่าในทริปนี้
เส้นทางเดินป่าตามรอยไดโนเสาร์
รอยตีนไดโนเสาร์ภูหลวง เท่าที่มีการสำรวจพบ พบว่ามีอยู่ประมาณ 15 รอย เป็นรอยตีนที่ถูกระบุว่าเป็นการค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ครั้งแรกในเมืองไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2528 (ย้ำว่าเป็นการค้นพบรอยตีน ไม่ใช่การค้นพบโครงกระดูกหรือซากฟอสซิลอื่นๆที่มีการค้นพบมาก่อนหน้านั้น)
วัดรอยเท้า ไดโนเสาร์อันซีนไทยแลนด์
ในจำนวนรอยตีนไดโนเสาร์กลุ่มนี้ มีรอยไฮไลท์คือรอยตีนไดโนเสาร์ที่ถูกยกให้เป็น“อันซีนไทยแลนด์” อันโด่งดังซึ่งมีรอยลึกและชัดเจน มีนิ้ว 3 นิ้วคล้ายรอยตีนนก ที่ปลายของแต่ละนิ้วมีร่องรอยเล็บแหลมคม นักวิชาการระบุว่าเป็นรอยตีนของไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อ “คาร์โนซอร์” ที่มีความสูงประมาณ 1.8 เมตร เดินเร็วประมาณ 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง(เร็วเป็น 2 เท่าของคนเดิน) มีอายุประมาณ 100-140 ล้านปี
เก็บภาพรอยเท้าไดโนเสาร์อันซีน
นักท่องเที่ยวที่มาเจอกับรอยตีนเจ้ากะปอมยักษ์ตัวนี้ หลายๆคนนิยมนำเท้าของตัวเองมาเทียบเพื่อวัดขนาด เป็นการวัดรอยตีนของคนกับไดโนเสาร์ เท่านั้นยังไม่พอ บางคนลงทุนถึงขนาดนำใบหน้าของตัวเองไปเทียบขนาดกับรอยตีนไดโนเสาร์เลยทีเดียว

ภูหลวง ดินแดนมหัศจรรย์พรรณไม้

นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาเตลิ่น ชมดอกไม้ กล้วยไม้ ชมวิวริมผา และสัมผัสกับรอยตีนไดโนเสาร์อันซีนแล้ว บนภูหลวงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอันโดดเด่น ได้แก่
ป่าสนแปกดำ
-เส้นทางไป“แปกดำ”(6.5 กม.) ระหว่างทางผ่าน “ลานสุริยัน”(1,870 เมตร) เป็นลานหินกว้างขนาดใหญ่ มีหินรูปร่างแปลกตามากหลาย ตามโขดหินมีกล้วยไม้จำนวนมากให้เลือกชม เช่น เอื้องตาเหิน เอื้องลีลา รองเท้านารีอินทนนท์ ส่วนแปกดำเป็นป่าสนสามใบที่ขึ้นเรียงราย มีลักษณะพิเศษลำต้นของลำต้นเป็นสีดำหมด
รองเท้านารีอินทนนท์
-เส้นทางไป “โคกพรหมจรรย์” (2.5 กม.) เส้นทางนี้เพื่อนผมหลายๆคน มันชอบชื่อนี้มาก บางคนฟังแล้วหูผึ่ง บางคนฟังแล้วไอ คุกๆๆ โคกพรหมจรรย์ ทำไมถึงชื่อนี้? นั่นเป็นเพราะในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนต้นกุหลาบขาวในบริเวณนี้จะออกดอกสีขาวบานสะพรั่งขาวสะอาดไปทั่วทั้งเนิน กลายเป็นที่มาของชื่อ “โคกพรหมจรรย์
ช่วงหน้าร้อนพบดอกกุหลาบขาวเป็นจำนวนมากได้ที่โคกพรหมจรรย์
-เส้นทางเดินใกล้ๆที่ทำการหน่วยฯ มี “โคกนกกระบา” เป็นไฮไลท์ โคกนกกระบาเป็นหินทรายที่ถูกสายลม ฝน แดด กัดกร่อน เกิดเป็นก้อนหินรูปร่างประหลาดคล้าย“นกกระบา” นอนกกไข่อยู่กับพื้น โดยเจ้านกกระบานี้เป็นชื่อภาษาถิ่น ของ “นกตบยุง” ซึ่งเป็นนกกลงาคืนชนิดหนึ่ง
โคกนกกระบา
-เส้นทางดูดอกไม้บริเวณที่ทำการหน่วยฯ เหมาะสำหรับคนขี้เกียจเดินหรือไม่อยากเดิน แต่เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจมาก เพราะมันเต็มไปด้วย “ดอกกุหลาบแดง” (Rhododendron simsii) ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ภูหลวงจะบานสะพรั่งสีแดงสดใสไปทั่วบริเวณ
กุหลาบแดงสัญลักษณ์แห่งภูหลวง
นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ ดอกไม้น่าสนใจอีกมากหลายให้ เดินก้มๆ เงยๆ ด้อมๆ มองๆ สอดส่ายสายตาชื่นชมในความงามกันอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น เอื้องตาเหิน สร้อยระย้า เอื้องแววมยุรา รองเท้านารีอินทนนท์(บานนอกฤดูกาล) รองเท้านารีปีกแมลงปอหรือรองเท้านารีสุขะกุล(บานนอกฤดูกาล) สิงโตสยาม และเอื้องสำเภางาม เป็นต้น
สิงโตสยาม
นับเป็นจุดที่หลายคนคาดไม่ถึงจริงๆ ซึ่งการชมกล้วยไม้ ดอกไม้ป่า บนภูหลวงสำหรับบางคนแล้ว นอกจากมันจะเบ่งบานสวยงามปรากฏทางสายตาแล้ว มันยังเบ่งบานไปถึงจิตใจอีกด้วย
สิงโตใบพาย
**************************************************

*คำว่ารอยตีนไดโนเสาร์ ไม่ใช่คำไม่สุภาพ หากแต่เป็นคำเรียกขานทางวิชาการ เช่นเดียวกับคำเรียก รอยตีนสัตว์ รอยตีนเสือ รอยตีนหมี เป็นต้น
กุหลาบแดง
ในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. บนภูหลวงจะบานสะพรั่งไปด้วยกุหลาบแดง กุหลาบขาว และดอกไม้ กล้วยไม้อื่นๆอีกมากมาย ผู้สนใจเที่ยวชมดอกไม้บนภูหลวงสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง โทร.0-4280-1955 และสามารถสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ในจังหวัดเลย เชื่อมโยงกับภูหลวงได้ที่ ททท.เลย โทร. 0-4281-2812, 0-4281-1405

หมายเหตุ -บทความนี้เรียบเรียงข้อมูลใหม่จากบทความ...ตามรอยกะปอมยักษ์รอยแรกในไทย-มหัศจรรย์พันธุ์ไม้ ที่ “ภูหลวง”
กำลังโหลดความคิดเห็น