xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเวลาผ่านยุคสมัย สัมผัสได้ในหนึ่งวัน ที่ “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์
“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” นี่คือชื่อเต็มๆ ของกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยเรา ซึ่งหลายคนคงท่องจำกันได้แค่ท่อนแรก และหลายคนก็ไม่รู้ความหมายของชื่ออันศักดิ์สิทธิ์นี้
จำลองบ้านเรือนในสมัยก่อน
ดังนั้นในครั้งนี้ฉันจึงขอพาย้อนยุคเปิดประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์กันที่ “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์" สถานที่รวบรวมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีความเป็นอยู่ ตั้งแต่เริ่มกรุงรัตนโกสินทร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ล่องเรือดูวิถีชีวิตสองริมน้ำ
“นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” ใช้อาคารบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ข้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งถือเป็นงานสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ นับตั้งแต่มีพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ให้ตัดถนนราชดำเนิน(พ.ศ. 2442) จากพระราชวังดุสิตไปยังพระบรมมหาราชวัง โดยจัดวางรูปแบบตามลักษณะของถนนชองเอลิเซ่ (Champs Elysees) ในปารีส ฝรั่งเศส
ธนาคารสมัยก่อน
อาคาร(เก่า)ของนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ สร้างในช่วง พ.ศ. 2480-2491 เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกผสม ใช้รูปทรงเรขาคณิตเป็นพื้นฐาน คือ สี่เหลี่ยมและวงกลมประกอบกันอย่างกลมกลืน วางอาคารด้านยาวขนานตามแนวถนน สมมาตรกันตลอดแนวถนนราชดำเนินกลาง
จำลองบรรยากาศร้านกาแฟสมัยก่อน
รูปลักษณ์ภายนอกอาคารออกแบบให้แกนสมดุลอยู่กึ่งกลางอาคาร โดยกำหนดให้มีทางเข้าหลักตรงกลาง มีแนวครีบคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนผิวผนังภายนอกอาคารเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนทำผิวไม่เรียบ และเซาะร่องเลียนแบบการเรียงหิน ซึ่งเป็นการเน้นแนวขอบครีบคอนกรีตเสริมเหล็ก และขอบปูนปั้นกรอบหน้าต่างให้เด่นชัดยิ่งขึ้น หลังคาดาดฟ้าของอาคารในส่วนโค้งปลายอาคารทั้งสองด้าน ส่วนกลางอาคารระหว่างโค้งเป็นหลังคาจั่วโครงไม้มุงกระเบื้อง ยกขอบสูงและทำเป็นกันสาด
ร้านค้าต่างๆ
ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้มาบูรณะซ่อมแซมและตกแต่งภายในเมื่อปี พ.ศ.2551 และเปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา ภายในจัดแสดงประวัติศาสตร์ในยุครัตนโกสินทร์ผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งสื่อจัดแสดง หุ่นจำลอง การนำสื่อผสมเสมือนจริง 4 มิติ สื่อมัลติทัช มัลติมีเดีย แอนิเมชั่น ในลักษณะอินเตอร์เอกทีฟ เซลฟ์ เลิร์นนิ่ง ให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจและได้ร่วมสนุกไปกับการจัดแสดงที่ร้อยเรียงเรื่องราวเป็น 9 ห้องด้วยกัน ได้แก่ รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์, เกียรติยศแผ่นดินสยาม, เรื่องนามมหรสพศิลป์, ลือระบิลพระราชพิธี, สง่าศรีสถาปัตยกรรม, ดื่มด่ำย่านชุมชน, เยี่ยมยลถิ่นกรุง, เรืองรุ่งวิถีไทย และดวงใจปวงประชา
จำลองบ้านไม้สมัยก่อน
โดยแบ่งเป็นสองเส้นทาง ฉันเลยจะมาแนะนำในส่วนของเส้นทางที่สองกัน ซึ่งเต็มไปด้วย 2 ห้องใหญ่ นั่นคือ ห้องเรืองรุ่งวิถีไทย และดวงใจปวงประชา สำหรับการเข้าไปเที่ยวชม แต่ละห้องจะมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องคอยบรรยายให้เราได้ฟังเรื่องราวที่ต้องการถ่ายทอดของห้องนั้นๆ

ซึ่งจะเริ่มจาก “ห้องเรืองรุ่งวิถีไทย” ที่มีบ้านเรือนไทยจำลองที่แสดงวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตเอาไว้ ประเพณีต่างๆ ถูกจำลองขึ้นย่อส่วนให้ได้ชมกัน จากนั้นนั่งเรือดูสองริมตลิ่ง ผู้คนสมัยก่อน ฟังเพลงฉ่อยที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสฟังสักเท่าไรในยุคปัจจุบัน ก่อนที่ยุคสมัยค่อยๆ เปลี่ยนไปเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้นจากการนั่งเรือก็กลายมาเป็นรถราง พร้อมย้อนรำลึกความหลัง มีทั้งร้านขายของฝรั่ง ร้านขายยาไทยที่มีชื่อว่า บำรุงชาติสาสนายาไทย ต่อด้วยธนาคารที่เรียกว่า แบงก์สยามกัมมาจล ห.จ.ก. ซึ่งปัจจุบัน คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีสัญลักษณ์ของธนาคารเป็นรูปใบโพธิ์ ต่อจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็จะพาทุกคนเข้าสู่หลุมหลบ ซึ่งจำลองถึงการเปลี่ยนผ่านในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เงินถุงแดง ของ ร.3
เมื่อเดินออกมาจากหลุมหลบภัยก็จะเจอกับร้านต่างๆ ที่จะให้เราได้ร่วมสนุกถ่ายรูปขึ้นปกนิตยสาร ลองชุดที่ห้องเสื้อ หรือทำผมทรงต่างๆ ที่ร้านทำผม นอกจากนั้นยังมีร้านที่จำลองกาแฟโบราณในสมัยก่อนอีกด้วย

สนุกกับยุคซิกซ์ตี้กันแล้วก็มาถึงยังห้อง “ห้องดวงใจปวงประชา” ภายในห้องนี้เราจะได้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 9 รัชกาลในสมัยรัตนโกสินทร์ที่นำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชนชาวไทย ผ่านวีดิทัศน์ และเทคนิคที่ทันสมัย พร้อมทั้งตราตรึงไปกับภาพยนตร์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันที่มีพระมหากรุณาธิคุณปกแผ่ไปทั่วทุกสารทิศ
แสดงพระราชกรณียกิจของ ร.6
หลังจากที่ชมเส้นทางที่สองจบลงไปแล้ว ประมาณ 2 ชั่วโมง ฉันรู้สึกว่ามันช่างรวดเร็วยิ่งนัก ฉันยังคงรู้สึกสนุกตื่นเต้นไม่หาย ครั้งหน้าฉันคงต้องลองเส้นทางที่ 1 กันดูบ้าง นอกจากนั้นหากต้องการค้นคว้าเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่มเติมก็สามารถมาใช้ห้องสมุดที่ชั้นลอยกันได้อีกด้วย ใครที่ต้องการเยี่ยมชมที่นี่ฉันขอแนะนำว่าให้เตรียมเวลา 1 วันให้พร้อมแล้วมาดื่มด่ำความเป็นไทยในยุครัตนโกสินทร์กันอย่างเพลิดเพลินได้ที่ “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์”
บอร์ดแสดงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของโลกและของไทย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” 100 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ 0-2621-0044 เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น.

มีรอบเข้าชมทุกๆ 20 นาที ตั้งแต่เวลา 10.00 - 17.00 น. จำนวนทั้งสิ้น 22 รอบต่อวัน โดยรอบสุดท้ายให้บริการในเวลา 17.00 น. และในกรณีที่ต้องการเข้าชม 2 เส้นทาง รอบสุดท้าย เวลา 15.00 น.
ผู้ใหญ่ และชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท เข้าชมฟรีสำหรับเด็ก (สูงไม่เกิน 120 ซม.) นักเรียน นักศึกษา ป.ตรี (ในเครื่องแบบ หรือแสดงบัตร) พระภิกษุและนักบวช ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป โดยแสดงบัตรประชาชนเพื่อยืนยัน) ผู้พิการ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น