xs
xsm
sm
md
lg

รักนะ “ลัคเนา”(จบ)...ตื่นตาเมืองพระลักษณ์ กับอะเมซิ่งอินเดียอันชวนหลงรัก/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์
“งานแต่งงานของใครก็ไม่รู้ ?!?”

“เจ้าบ่าว-เจ้าสาว เจ้าภาพเป็นใครก็ไม่รู้ ?!?”

รู้แต่ว่าหลังจากที่ผมเดินเข้าไปเป็นแขกไม่ได้รับเชิญในงานแต่งนี้แบบงงๆ ไปจนถึงต้องจำจรจากลา นี่คืออีกหนึ่งห้วงเวลาอันน่าจดจำแห่ง“ลัคเนา” เมืองที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึก“รักนะ”ได้อย่างไม่ยากเย็น แม้ว่าเราจะเพียงแค่ได้มาในสัมผัสในช่วงระยะเวลาสั้นๆก็ตามที

1.
หอนาฬิกาในย่านเมืองเก่าลัคเนา
ลัคเนา”(Lucknow) เป็นเมืองหลวงแห่งรัฐอุตตรประเทศ หรือ รัฐยูพี (Uttar Pradesh : UP) ในประเทศอินเดียทางตอนเหนือ ปัจจุบันลัคเนาได้พัฒนาเติบโตขึ้นชั้นเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน คมนาคม แห่งอินเดียตอนเหนือ และเป็นเมืองใหญ่อันดับต้นๆของประเทศอินเดีย อีกทั้งยังเป็นประตูสำคัญสู่สังเวชนียสถาน 4 เพราะลัคเนาเป็นทางผ่านและเป็นเมืองที่เชื่อมต่อไปยังสังเวชนียสถาน 4

จากบ้านเราปัจจุบันมีสายการบิน “ไทยสมายล์” เปิดบินตรง “กรุงเทพฯ-ลัคเนา”- “ลัคเนา-กรุงเทพฯ” สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เชื่อมเมืองไทยกับเมืองหลวงของรัฐยูพี ประตูสู่สังเวชนียสถาน 4 ให้ใกล้กันยิ่งขึ้น
พ่อค้าน้อยผู้มากไปด้วยรอยยิ้ม
ลัคเนา เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน เดิมมีชื่อว่า“เมืองลักษมันปุระ”(Lakshmanpur)ได้ชื่อว่าเป็น“เมืองพระลักษณ์” หนึ่งในตัวละครสำคัญแห่งมหากาพย์“รามายณะ”ของอินเดีย หรือ“รามเกียรติ์”ของบ้านเรา
บารา อิมามบารา อลังการงานสถาปัตยกรรมคู่เมืองลัคเนา
เมืองลัคเนามีความโดดเด่นในเรื่องของงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมผสมผสานทั้งแบบฮินดู-มุสลิม(แบบเปอร์เซีย)-ยุโรป และแบบ“มุสลิมโมกุล” ที่เป็นชื่อเรียกขานเฉพาะของงานสถาปัตยกรรมคลาสสิกโดยรวมของเมืองนี้

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่ถือเป็นพระเอก เป็นไฮไลท์ต้องห้ามพลาดของเมืองลัคเนา นั่นก็คือ “บารา อิมามบารา”(Bara Imambara) หรือ“อัครมัสยิด” อันสวยงามคลาสสิกและยิ่งใหญ่อลังการรวมถึงมี“รูมิ ดะร์วาซา”(Rumi Darwaza) หรือ “ประตูเตอร์กิซ” เป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวอันโดดเด่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน(ซึ่งผมได้นำเสนอไปในตอนที่แล้ว)
ประตูเตอร์กิซ
นอกจากนี้ไม่ไกลจากบารา อิมามบาราและประตูเตอร์กิซ ยังเป็นที่ตั้งของ “โชตา อิมามบารา”(Chota Imambara) ที่เป็นที่ตั้งของวังท่าน “โมฮัมหมัด อาลี ซาฮา”(Mohamad Ali Saha) นาวาบองค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ของลัคเนา
โชตา อิมามบารา
โชตา อิมามบารา มีฟังก์ชันลักษณะเดียวกับบารา อิมามบารา คือ เป็นทั้งวังของนาวาบและมีมัสยิดอยู่ภายในอาณาบริเวณเดียวกัน แต่ว่าโชตามีขนาดเล็กกว่าบารามาก แต่ว่าเป็นประเภทเล็กดีรสโต “Small is Beautiful” จึงถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวดาวเด่นในระดับน้องๆบารา อิมามบารา
วังนาวาบในโชตา อิมามบารา
ภายในโชตา อิมามบารา โดดเด่นไปด้วยกลุ่มอาคารสีขาว ด้านหนึ่งเป็นที่ตั้งของมัสยิด ส่วนในแนวแกนหลักของผังนั้นไปสิ้นสุดยังวังของท่านโมฮัมหมัด ซึ่งมีการจำลองแบบให้คล้าย “ทัชมาฮาล” สิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งอินเดีย โดยมีสระน้ำนำสายตาเข้าไปสู่ตัววัง
สิ่งของทรงคุณค่าที่จัดแสดงในวังนาวาบ โชตา อิมามบารา
วังของนาวาบโมฮัมหมัด แม้เป็นวังเล็กๆแต่ภายในตกแต่งอย่างงดงามวิจิตร มีข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่งอันสวยงามให้ชมกันอย่างมากมาย เต็มทั่วภายในบริเวณโถงของวัง โดยเฉพาะกับโคมไฟรูปแบบต่างๆที่มีห้อยแขวนให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมความงามกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
สถาปัตยกรรมเก่าแก่ตรงข้ามโชตา อิมามบารา
ขณะที่อาคารเก่า 3 ชั้น ดูคล้ายซุ้มประตูเมืองสีขาวอมฟ้าจางๆ ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโชตา อิมามบารา เดิมนั้นเป็นที่อยู่ของเลขาท่านาวาบ แต่ปัจจุบันเป็นที่อยู่ของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งงานสถาปัตยกรรมที่มีความคลาสสิกสวยงามไม่น้อย

2.
บ้านคอนสแตนเตีย ด้านหน้า
ในเมืองลัคเนายังมีงานสถาปัตยกรรมระดับมาสเตอร์พีชชั้นเลิศให้เที่ยวชมกันอีกนั่นก็คือ “บ้านคอนสแตนเตีย”(Constantia House)” บ้านพักของนายพลมาร์ตินแห่งบริษัท“อินเดียตะวันออก”(อีสต์อินเดีย)ของอังกฤษ
งานศิลปะประดับบ้านคอนสแตนเตีย
ปัจจุบันบ้านคอนสแตนเตียและบริเวณโดยรอบได้ปรับเปลี่ยนเป็นโรงเรียนกินนอนของนักเรียนชายล้วน แต่ตัวอาคารบ้านคอนสแตนเตียก็ยังคงที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปคลาสสิก ก็ยังคงความสง่าสวยงามอลังการอยู่เหนือกาลเวลา

ที่นี่เมื่อผมได้เดินเขามา บรรยากาศมันช่างดูเหมือนกับว่าเรากำลังยืนอยู่ในยุโรปมากกว่าที่อินเดีย และบ้านหลังนี้มันก็ไม่ต่างอะไรจากวังชัดๆ
บ้านคอนสแตนเตีย ด้านหลัง
นอกจากนี้บ้านคอนสแตนเตียยังถือเป็นอนุสรณ์เตือนใจคนรุ่นหลัง ถึงการเข้ามาทำการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกที่เริ่มต้นจากการเข้ามาค้าขายในประเทศอินเดีย(รวมถึงประเทศอื่นในเอเชีย) ก่อนที่ภายหลังจะค่อยๆตะล่อมยึดครองอินเดียให้ตกเป็นเมืองภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในที่สุด
งานศิลปะประดับบ้านคอนสแตนเตีย
ก่อนที่ท่าน“มหาตมะ คานธี” จะเป็นผู้นำชาวอินเดียลุกขึ้นต่อสู้ในแนวทางอหิงสาปลดแอกจากอังกฤษได้สำเร็จ โดยวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 ถือเป็นวันประกาศอิสรภาพที่อินเดียเป็นเอกราช เป็นอิสระจากอังกฤษโดยสมบูรณ์

ส่งผลให้มหาตมะ คานธี ได้กลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลก และเป็นวีรบุรุษอันดับหนึ่งของอินเดียยุคใหม่มาจนถึงทุกวันนี้
รูปปั้น ดร. อัมเบดการ์ แห่ง อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดกา
พูดถึงวีรบุรุษของชาวอินเดียแล้ว เมืองลัคเนาเป็นที่ตั้งของ “อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์”(Ambedkar Memorial Park) ซึ่งท่าน ดร.อัมเบดการ์ ถือเป็น 1 ใน 5 วีรบุรุษคนสำคัญของอินเดียยุคใหม่ โดยหลายๆคนยกให้ท่านเป็นคนสำคัญของอินเดีย รองจากท่าน มหาตมะ คานธี และ “เนห์รู”(ยาวาหะราล เนห์รู) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย

แต่ชื่อเสียงของ ดร. อัมเบดการ์ กับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสำหรับชาวต่างชาติ นอกจากนี้เรื่องราวชีวิตของท่านนั้นก็แสนรันทดหดหู่ ถึงขนาดมีคนนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งใครที่อยากทราบเรื่องราวของ ดร.อัมเบดการ์ แบบเจาะลึก สามารถไปค้นหาอ่านกันได้ในกูเกิ้ล
รูปปั้น ดร. อัมเบดการ์ แห่ง อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดกา
ดร. อัมเบดการ์ หรือชื่อเต็ม “ดร. บาบาสาเฮบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์” (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1891 ท่านเป็น“จัณฑาล” ที่ต้องต่อสู้กับความยากลำบากอย่างสาหัสมาตั้งแต่เด็กจนโต โดยเฉพาะการสู้กับการถูกดูถูกเหยียดหยามของชาวอินเดีย อันเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องของวรรณะ
อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดกา
แต่ด้วยความเป็นนักสู้ กอปรกับความเป็นคนฉลาดอย่างสุดยอด ดร.อัมเบดการ์ ได้ฟันฝ่าอุปสรรคความยากลำบากทั้งปวงจากการเป็นจัณฑาล ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของอินเดีย เป็นประธานรัฐสภาคนแรกของอินเดีย และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดีย ซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ในอินเดียทุกวันนี้ก็มาจากการออกกฎหมายของ ดร.อัมเบดการ์ ในยุคอินเดียสร้างประเทศใหม่

นอกจากนี้ ดร.อัมเบดการ์ ยังได้ชื่อว่า เป็น “บิดาแห่งอินเดียสมัยใหม่” เป็นหนึ่งในรัฐบุรุษของอินเดีย ที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคม ต่อสู้เพื่อผู้ยากไร้โดยเฉพาะพวกจัณฑาลที่เป็นพวกนอกวรรณะที่สังคมอินเดียรังเกียจ(อย่างมาก)
คนอินเดีย เซลฟี่กับ ดร. อัมเบดการ์
ในบั้นปลาย ดร.อัมเบดการ์ ได้เปลี่ยนศาสนาจากฮินดูมานับถือศาสนาพุทธโดยท่านได้นำพวกอธิศูทร(ชื่อที่ชาวอินเดียใช้เรียกพวกจัณฑาล)กว่า 5 แสนคน เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะพร้อมกันในงานฉลองพุทธชยันตี เมืองนาคปุระ ในปี ค.ศ. 1956 ทำให้พวกเขาหลุดจากวงโคจรของความเป็นจัณฑาล ยิ่งทำให้ท่านดร.อัมเบดการ์ ได้รับการยกย่องมากยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำชาวพุทธของอินเดียยุคใหม่เป็นคนแรก

ด้วยความเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญ(มาก)ของอินเดีย ที่เมืองลัคเนาจึงได้สร้าง“อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์” ไว้เพื่อรำลึกถึงความยิ่งใหญ่และคุณงามความดีของท่าน
อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์
อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์ เป็นอนุสรณ์สถานที่มีความยิ่งใหญ่อลังการ ก่อสร้างด้วยงานสถาปัตยกรรมอินเดียร่วมสมัย ภายในอาณาบริเวณมีมากมายหลายสิ่งให้ชวนชม นำโดย “หอเกียรติยศ ดร.อัมเบดการ์” เป็นอาคารโดมขนาดใหญ่

ภายในจัดแสดงเรื่องราวช่วงสำคัญๆ โดยเฉพาะเรื่องราวทางพุทธศาสนา ของ ดร.อัมเบดการ์ ผ่านประติมากรรมนูนต่ำ รวมถึงมีไฮไลท์เป็นประติมากรรมสำริด ดร.อัมเบดการ์ ขนาดใหญ่ นั่งอยู่บนเก้าอี้อย่างสง่างาม ซึ่งชาวอินเดียนิยมมาถ่ายรูปคู่ และเซลฟี่กับท่านกันเป็นจำนวนมาก
03 ลานทางเดินประติมากรรมช้าง อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์
ส่วนบริเวณด้านบน(ด้านนอก)ของหอเกียรติยศนั้นก็มีทางเดินให้เดินขึ้นไปชมวิวอันสวยงามกว้างไกลของอนุสรณ์สถานแห่งนี้

ขณะที่อีกหนึ่งจุดไฮไลท์ในอนุสรณ์สถานแห่งนี้ก็คือ บริเวณรูปปั้น ดร.อัมเบดการ์ ในท่ายืนอย่างสง่างาม ซึ่งในบริเวณลานด้านหน้ารูปปั้นนั้นมีประติมากรรมช้าง ยืนชูงวงเรียงรายอยู่ใน 2 ฟากฝั่งดูสวยงามโดดเป็นเอกลักษณ์ไม่น้อย
03 ลานทางเดินประติมากรรมช้าง อนุสรณ์สถาน ดร.อัมเบดการ์
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆบางส่วนของเมืองลัคเนา ซึ่งผมกับเพื่อนได้มีโอกาสไปเที่ยวชมตามที่ได้เล่ามาแล้ว เมืองลัคเนายังมี “ฮาซรัทเกนจ์”(Hazzatganj) เป็นย่านแหล่งช้อปปิ้งสำคัญของเมือง กับสินค้าสไตล์อินเดียหลากหลาย โดยเฉพาะเสื้อผ้า ชุดส่าหรี ราคาไม่แพง ที่ดูจะเป็นสินค้าซึ่งเข้าตาคณะเรามากที่สุด
สีสันที่ย่านฮาซรัทเกนจ์
ส่วนอีกหนึ่งเรื่องที่ชวนให้พูดถึงก็คือ ในการเดินทางไปยังฮาซรัทเกนจ์ บริษัททัวร์ที่พาเราไปอยากให้เราสัมผัสกับความเป็นอินเดียแบบเต็มที่ จึงเลือกใช้บริการรถสามล้อให้นั่งไปและกลับ
ฮาซรัทเกนจ์ เป็นย่านแหล่งช้อปปิ้งสำคัญของเมือง
โดยขาไปนั่งสามล้อเครื่องหรือรถตุ๊กๆ ส่วนขากลับนั่งรถสามล้อถีบ ซึ่งหนึ่งนั้นใช้แครื่องยนต์ ส่วนอีกหนึ่งนั้นในแรงคนถีบ แต่ว่าการบริการของรถทั้งสองประเภทนั้นมีความเหมือนกันตรงที่ต่างก็ซิ่งเร็วบรื๋อพอๆกัน แถมยังขับแบบโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียน(รถถีบก็โฉบเฉี่ยวใช่ย่อย) ชนิดที่เราต่างนั่งกันไปลุ้นกันไป นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ในอินเดียที่ยากจะมีประเทศใดลอกเลียนแบบได้

3.
ซุ้มประตูทางเข้างานแต่งงานที่จัดอย่างอลังการ
หลังเที่ยวช้อปปิ้งที่ฮาซรัทเกนจ์เป็นจุดสุดท้ายในคืนวันสุดท้ายของทริป เมื่อกับมาถึงยังโรงแรมที่พัก ฝั่งตรงข้ามโรงแรมที่เป็นสวนสาธารณะ มีการจัดงานแต่งงานอย่างใหญ่โตในอารมณ์ประมาณปิดศาลากลางแต่งงานแบบบ้านเรา
บรรยากาศงานแต่งงานของคู่รักชาวอินเดียที่จัดอย่างเอกเกริก
งานนี้ไกด์ของเราแนะนำว่า ถ้าใครอยากสัมผัสอักหนึ่งวิถีของชาวอินเดีย สามารถเข้าไปร่วมในงานแต่งงานของคนอินเดียได้ ซึ่งคนอินเดียนั้นน่ารักมาก จะต้อนรับอาคันตุกะ โดยเฉพาะกับน้องท่องเที่ยวต่างถิ่นเป็นอย่างดี มีการเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี
ผู้หญิงอินเดียแต่งตัวจัดเต็มมาร่วมงานแต่งงาน
นั่นจึงทำให้ผมกับน้องผู้ร่วมอุดมการณ์อีก 2 คน ลองเสี่ยงเดินดุ่มๆเข้าไปในงานแต่งงานของชาวอินเดียที่เป็น “งานแต่งงานของใครก็ไม่รู้ ?!?”

“เจ้าบ่าว-เจ้าสาว เจ้าภาพเป็นใครก็ไม่รู้ ?!?”

รู้แต่ว่าหลังจากที่ผมเดินเข้าไปเป็นแขกไม่ได้รับเชิญในงานแต่งนี้แบบงงๆ

แต่เมื่อได้เข้าไปมีโอกาสร่วมงาน นอกจากผมจะได้สัมผัสกับวิถีการแต่งงานของคนอินเดีย(คนมีเงิน) ที่จัดงานอย่างอลังการ ตกแต่งสถานที่อย่างกับพระราชวัง มีวงดนตรีอินเดียมาร้อง บรรเลง สร้างสีสันให้กับงาน ส่วนอาหารนั้นยกบุฟเฟต์มาให้แขกเหรื่อกินกันเต็มอิ่ม และมีโอกาสได้เห็นคนอินเดีย โดยเฉพาะผู้หญิงแต่งชุดส่าหรี่สีสันฉูดฉาดมาร่วมงานอย่างจัดเต็มแล้ว
พิธีสักการะพระพิฆเณศในงานแต่งงาน
รวมถึงได้เห็นพิธีกรรมบูชาพระพิฆเนศ มีคนแต่งตัวเป็นมาทำหน้าที่ประกอบพิธี และพิธีการสู่ขอที่มีขบวนแห่แบบเดียวกับบ้านเรา แต่ว่าจะกลับกัน เนื่องจากเจ้าสาวจะต้องมาเป็นผู้สู่ขอเจ้าบ่าว
บรรยากาศงานแต่งงานของคู่รักชาวอินเดียที่จัดอย่างเอกเกริก
นอกจากนี้ก็ยังมีสิ่งสำคัญที่ได้ประสบพบเจอจากงานแต่งงานคืนนั้นก็คือ มิตรไมตรี ความน่ารักของคนอินเดีย ที่ต้องรับอาคันตุกะต่างแดนอย่างพวกผมกันเต็มที่ ชวนกินอาหารเครื่องดื่ม(แบบบุปเฟ่ต์) อีกทั้งยังมีคนมาทักทาย รวมถึงขอถ่ายรูปคู่ ขอเซลฟี่ ขอถ่ายวีฟี่หมู่ และพาเที่ยวชมงาน(เพื่อนเจ้าบ่าวพาน้องช่างภาพให้ไปถ่ายรูปเจ้าบ่าว-เจ้าสาว และพิธีสำคัญที่บนเวทีอย่างใกล้ชิด)

ขณะที่ผู้ชายอินเดียหลายๆคนในงานแต่งนี้ แม้จะไว้หนวดหน้าตาเข้มดูดุดัน แต่ตอนที่พวกเขาพูดคุยยิ้มแย้มนั้น น่ารักเป็นอย่างยิ่ง แถมยังมาขอถ่ายรูปหมู่แบบชนิดที่ผมอดจะเขินจนหน้าดำไม่ได้
เจ้าบ่าว-เจ้าสาว ชื่นมื่น
สำหรับงานแต่งงานคืนนั้นนับเป็นหนึ่งในความทรงจำดีๆแห่งเมืองลัคเนาที่แม้กระทั่งวันนี้ ผมยังไม่รู้ว่า เป็นงานแต่งงานของใคร

แต่สิ่งที่ผมรับรู้ได้จากการแต่งงานในคืนนั้นตั้งแต่มีโอกาสเข้าไปร่วมงานแบบงงๆ ไปจนถึงต้องจำจรจากลา ว่า นี่คืออีกหนึ่งห้วงเวลาแสนงามอันน่าจดจำแห่งเมือง’“ลัคเนา”

เมืองที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึก“รักนะ”ได้อย่างไม่ยากเย็น

เป็น“รักแรกพบ”อันน่าประทับใจ และจะติดแน่นฝังตรึงในความทรงจำของผมไปอีกนาน
สีสันเมืองลัคเนา
**************************************************
“ลัคเนา”(Lucknow) เป็นเมืองหลวงแห่งรัฐอุตตรประเทศ หรือ รัฐยูพี (Uttar Pradesh : UP) ในประเทศอินเดียทางตอนเหนือ ซึ่งล่าสุดสายการบิน “ไทยสมายล์” ได้เปิดเที่ยวบินตรง “กรุงเทพฯ-ลัคเนา” 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ได้แก่ วันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ และเส้นทาง“ลัคเนา-กรุงเทพฯ” 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์เช่นกัน คือวันพุธ ศุกร์ และอาทิตย์ มีราคาเริ่มต้นที่ 4,910 บาท ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 1181 หรือที่ 0-2118-8888
กำลังโหลดความคิดเห็น