"ลำพูน" จังหวัดเล็กๆ ทางภาคเหนือ ที่แม้จะถูกมองผ่านในสายตาของคนส่วนใหญ่ แต่ที่นี่กลับมีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแผ่นดินล้านนา มีศาสนสถาน วัดวาอารามจำนวนมาก รวมถึงมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่น่าสนใจ ชวนให้เดินทางมาศึกษาและเที่ยวชมกัน
โดยหนึ่งในสถานที่ที่ “ตะลอนเที่ยว” อยากชวนให้เดินทางไปเที่ยวเพื่อตามหาแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากการสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ “ชาวปกาเกอะญอ” ที่มีความผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ที่ "ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม" ตั้งอยู่ที่ ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งจะทำให้การ “แอ่วเหนือครั้งใหม่ ไม่เหมือนเดิม” ตามโครงการร่วมมือระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) และบริษัท โลเคิล อไลค์
เพียงแค่ก้าวแรกที่เข้ามาที่ชุมชนนี้ก็จะรู้สึกถึงความสงบเงียบทั้งกายและใจแล้ว ชาวปกาเกอะญอที่นี่น่ารัก ยิ้มเก่ง และมีน้ำใจมากๆ พวกเขาอพยพจากแม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ด้วยความศรัทธาในหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ. 2514 และเปลี่ยนจากการนับถือผีมาเป็นศาสนาพุทธแทน ถึงแม้ว่าหลวงปู่ครูบาวงศ์จะมรณภาพไปแล้ว แต่ว่าทุกวันนี้พวกเขาก็ยังนับถือและยึดถือปฏิบัติตามสิ่งที่หลวงปู่ฯ สอนไว้เสมอ
สถานที่แรกที่อยากแนะนำก็คือ “วัดพระบาทห้วยต้ม” วัดที่ใหญ่ที่สุดของ อ.ลี้ และเป็นวัดประจำชุมชนของชาวปกาเกอะญอ ภายในวัดมีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง มีศาสนสถานที่น่าสนใจมากมาย เช่น วิหารครอบรอยพระพุทธบาทห้วยต้ม โดยหลวงปู่ครูบาวงศ์ได้สร้างรอยพระบาทจำลองครอบของจริงไว้
และ วิหารพระเมืองแก้ว ที่ประดิษฐานพระสรีระของหลวงปู่ครูบาวงศ์และพระพุทธรูปปางเปิดโลก ตกแต่งวิหารสวยงามด้วยสีขาว (แทนความสะอาดบริสุทธิ์ของศีล) สีทอง (แทนปัญญา) โดยรอบเป็นหน้าต่างกระจก (แทนความสว่างเกิดเป็นสมาธิ) และจะมีประเพณีแห่พระสรีระของหลวงปู่ฯ ทุกวันที่ 17 พ.ค. ของทุกปี
ห่างออกไป 1 กม. ยังมี “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” ที่นับเป็นส่วนหนึ่งของวัดพระบาทห้วยต้ม แต่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่มีความสูงจากพื้นถึงบัวยอดฉัตร 71 เมตร มีฐานกว้าง 1 ไร่ บนยอดฉัตรของเจดีย์ทำด้วยทองคำหนัก 25 กิโลกรัม เป็นพระเจดีย์ประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะเมีย สีเหลืองทองงามอร่ามตั้งโดดเด่นเห็นได้แต่ไกล
สร้างจำลองรูปแบบและมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับเจดีย์ชเวดากองที่ประเทศพม่า สร้างขึ้นโดยหลวงปู่ครูบาวงศ์ ซึ่งแต่เดิมสถานที่ตรงนี้มีการขุดค้นพบมูลและเขาของพระโคอุศุภ (พระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า) ซึ่งกลายสภาพเป็นหิน ท่านก็เลยอธิษฐานสร้างครอบมูลและเขาของพระโคไว้
วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่นี่ก็มีเอกลักษณ์โดดเด่นน่าสนมากๆ เช่นกัน เพราะทั้งชุมชนเขาจะกินมังสวิรัติกัน ตามความศรัทธาที่เกิดจากคำสอนของหลวงปู่ครูบาวงศ์ที่บอกว่า “ถ้าเราเบียดเบียนสัตว์อีก สัตว์ก็จะมาเบียดเบียนเราอีก โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมาอีก ถ้าเรากินมังสวิรัติเราก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร”
ซึ่งหากได้มาพักโฮมสเตย์ที่ชุมชนนี้กันสักคืนสองคืนก็จะได้กิน “ขันโตกมังสวิรัติ” กันอย่างอิ่มหนำ รสชาติของทุกเมนูรับรองว่าอร่อยจนลืมภาพอาหารมังสวิรัติแบบเดิมๆ ไปได้เลย
มีทั้ง ต้มยำเห็ดใส่หมูยอเจที่ทำจากเห็ดหอม, เต้าหู้ทอดจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ดเจที่รสชาติคล้ายกับน้ำจิ้มข้าวมันไก่, ผัดผักรวมมิตรเจ และที่ไม่พลาดไม่ได้ก็คือ “มุ่ยและซู” น้ำพริกดำ (พริกกะเหี่ยงที่ไปตากจนแห้งและเผาให้ดำ) ของชาวปกาเกอะญอ จิ้มกับผักท้องถิ่นสดๆ
ดีท็อกซ์ร่างกายด้วยการกินมังสวิรัติไปแล้ว ตื่นเช้ามาก็จะได้มาดีท็อกซ์จิตใจต่อด้วยการร่วม “ประเพณีตักบาตรผัก” คนที่นี่เขาจะตื่นแต่เช้ามาตักบาตรกันทุกวัน ของที่นำมาใส่ก็จะมีทั้งของสดของแห้งที่เป็นมังสวิรัติ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ข้าวเหนียวหรือข้าวสวย กับข้าวหรือขนมที่เป็นเจ ดอกไม้สดพร้อมดอกไม้ธูปเทียน และน้ำสะอาดสำหรับถวายและกรวดน้ำ
ความน่าสนใจของประเพณีก็คือ พระสงฆ์จะไม่เดินออกไปรับบาตรด้านนอกวัด แต่จะเห็นชาวบ้านถอดรองเท้าตั้งแต่หน้าประตูวัดแล้วเดินเท้าเปล่าภายในวัด (เพราะมีความเชื่อว่าการที่เดินติดเอาทราย เอาอะไรจากวัดออกไปเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นบาป) เพื่อเข้ามารวมตัวกันที่ศาลาภายในวัดพระบาทห้วยต้ม
และทำการถวายข้าวพระพุทธ ถวายข้าวพระสงฆ์ โดยผู้ชายจะเริ่มเดินนำข้าวมาใส่บาตรหน้าพระสงฆ์นับ 10 รูป ที่จะวางเรียงรายอยู่บนอาสน์สงฆ์ ตามด้วยคนเฒ่าคนแก่ แล้วผู้หญิงกับเด็กจึงใส่ตาม จากนั้นจะรับพร กรวดน้ำ พร้อมกันทั้งชุมชน
ที่สำคัญยังมีการ “ถวายสังฆทานผัก” กันทุกวันพระอีกด้วย และมีการเวียนเทียนในช่วงเย็น สามารถเวียนเทียนได้ที่วัดพระบาทห้วยต้มและที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย แล้วแต่ว่าใครใกล้ที่ไหนก็ไปที่นั่น วันพระจึงเปรียบเสมือนเป็นวันหยุดงานของคนในชุมชน พวกเขาจะแต่งตัวด้วยชุดพื้นบ้านปกาเกอะญอ ที่เป็นชุดผ้าทอลวดลายสวยงามที่ทอด้วยกี่เอว แล้วตกแต่งด้วยพู่ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น
โดยผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่เป็นชุดกระโปรงสีขาว แต่ผู้หญิงคนที่แต่งงานแล้วก็จะใส่เป็นเสื้อกับผ้าถุง ส่วนผู้ชายจะใส่เสื้อและโสร่ง และใช้เวลามารวมตัวทำกิจกรรมกันภายในเขตวัดเกือบทั้งวันก็ว่าได้
เสร็จจากการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าแล้ว ก็จะมีตลาดที่จะขายของสดและของแห้ง ทั้ง ผักพื้นบ้านต่างๆ, ไส้กรอกวุ้นเส้น, แพนเค้ก, กับข้าวมากมาย, กล้วยทอดพริกทอด แต่ทุกอย่างจะเป็นมังสวิรัติเท่านั้น ซึ่งของทุกอย่างขายถูกมากๆ 5 บาท 10 บาท ก็ซื้อได้แล้ว แถมยังน่าตาน่ากินและรสชาติอร่อยถูกปากจริงๆ รวมถึงมีโซนเสื้อผ้าและของใช้อีกด้วย
ที่ชุมชนพระบาทห้วยต้มจึงเรียกว่าเป็น “ชุมชนแห่งพระพุทธศาสนา” ที่มีการปลูกฝังให้ลูกหลานรักในการทําบุญ มีธรรมะในหัวใจ และใช้หลักธรรมะในการดํารงชีวิต ถ้าหากได้มาเที่ยวแล้วได้จะได้ซึมซับความงดงามของวิถีชิวิตชาวปกาเกอะญอที่มีต่อพระพุทธศาสนาผ่านผู้คนในชุมชน และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญๆ มากมาย
แต่ใช่ว่าสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนฯ จะมีแต่ศาสนสถานเท่านั้น เพราะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอให้ได้ชมกันอีก ที่ “ศูนย์หัตถกรรมบ้านห้วยต้ม” เป็นศูนย์รวมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อเอาไว้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ คนในชุมชนสร้างขึ้น เป็นรายได้ให้แก่ช่าวบ้าน เช่น ผ้าที่ทอด้วยมือ, สร้อยคอ, เครื่องเงิน เป็นต้น โดยให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม และซื้อไว้เป็นที่ระลึก เมื่อได้มาเยี่ยมเยียนที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม
หรือไปดูความเป็นอยู่ของชาวปกาเกอะญอที่ “ชุมชนน้ำบ่อน้อย” ที่มีชาวบ้านชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ 50 หลังคาเรือน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 พวกเขาอยู่กันอย่างเรียบง่ายตามแบบโบราณที่ไม่พึ่งไฟฟ้าและน้ำประปา บ้านมุงด้วยหญ้าคาและใบตองตึง ยกพื้นสูงเพราะยังคงใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า จักสาน เก็บของ หรือทำกิจกรรมต่างๆ กันที่ใต้ถุนบ้าน นอกจากนั้นยังมีอาชีพทำนาและปลูกพืชผักด้วย
ภายในชุมชนมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านที่นี่นับถือเป็นอย่างมาก นั้นคือ “น้ำบ่อน้อย” ที่ชาวบ้านขุดเจอโดยบังเอิญ โดยตัวบ่อมีความกว้างเล็กน้อย ลึกประมาณศอกหนึ่ง ภายในมีน้ำตลอดเวลา ชาวบ้านเข้าใจว่าแถวนี้น่าจะมีน้ำจึงได้ลองขุดเจาะบ่อใหญ่ใกล้ๆ บ่อน้ำนี้แต่ไม่พบเจอน้ำแม้แต่หยด
เคยมีการนำน้ำในบ่อไปตรวจแต่ก็พบว่า น้ำสะอาด ไม่มีเชื้อแบคทีเรียหรือสารเจือปน สามารถดื่มกินได้ แถมยังมีความสดชื่น และเชื่อว่าสามารถรักษาโรคปัดเป่าสิ่งไม่เป็นมงคลได้ เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านที่นี่
เรียกได้ว่าหากได้เดินทางมาเยือนยัง “ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม” แล้วจะรู้สึกว่าเป็นการเที่ยวสไตล์ใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม เพราะจะได้ซาบซึ้งไปกับวีถีชีวิตและวัฒนธรรมอันหลากหลายของชาวปกาเกอะญอ ที่มีความผูกพันต่อพระพุทธศาสนา ถือเป็นเรื่องที่น่ายกย่องเป็นอย่างมาก
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้ที่สนใจอยากเข้าไปเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวปกาเกอะญอ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง พื้นที่รับผิดชอบ จังหวัดลำปางและลำพูน โทร. 0-5422-2214 หรือติดต่อผ่านทาง บริษัท โลเคิล อไลค์ โทร. 08-1139-5593
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com