ประวัติศาสตร์การรถไฟของไทยได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2433 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมรถไฟ อยู่ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ และพระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟ ระหว่างสถานีกรุงเทพฯ-อยุธยา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 การรถไฟจึงได้ถือเอาวันที่ 26 มีนาคม เป็นวันสถาปนาของรถไฟ ตั้งแต่บัดนั้น
เราจะไม่พูดถึงว่านับแต่ปี 2539 เป็นต้นมา รถไฟไทยได้พัฒนาไปอย่างไรบ้าง แต่เราจะมาพาไปชม “สถานีรถไฟ” หลายๆ แห่งในเมืองไทยที่มีความสวยและความคลาสสิกน่าไปเยี่ยมชมหากว่ามีโอกาสเดินทางไปกัน
สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)
แน่นอนว่าหากพูดถึงสถานีรถไฟสุดคลาสสิก ต้องนึกถึง “สถานีรถไฟกรุงเทพ” หรือ “หัวลำโพง” ที่เพิ่งจะมีอายุครบ 100 ปี เมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2559 ที่ผ่านมา
“สถานีกรุงเทพ” เป็นสถานีรถไฟหลักที่สำคัญที่สุดในประเทศ โดยเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2453 หรือในสมัย ร.5 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2459 ในสมัย ร.6 ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเข้าสู่สถานีด้วยพระองค์เอง
สำหรับสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของสถานีหัวลำโพงก็คือหลังคารูปทรงโดมที่เราเห็นจนชินตา เป็นการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ มาริโอ ตามานโญ ลักษณะของสถานีเป็นโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะแนวเรอเนสซองส์ โดยมีลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟของเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และวัสดุในการก่อสร้างก็นำเข้ามาจากเยอรมันด้วยเช่นกัน
ภายในอาคารทรงโดมมีการตกแต่งกระจกสีที่ช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ที่ช่วยเพิ่มความสว่างสดใสให้ตัวอาคารในเวลากลางวัน มีนาฬิกาเรือนใหญ่ที่มีความเก่าแก่เท่ากับตัวอาคาร ในส่วนของที่ทำการกองโดยสารซึ่งอยู่ทางด้านขวามือของสถานีนั้น ก็มีลวดลายปูนปั้นที่งดงามอยู่ตามบันไดและเสาอาคาร ได้เห็นเมื่อไรก็รู้สึกได้ถึงความคลาสสิกเมื่อนั้น
สถานีรถไฟหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
อีกหนึ่งสถานีรถไฟสุดสวยเป็นที่เลื่องลือก็คือ “สถานีรถไฟหัวหิน” อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์สุดคลาสสิกยิ่งนัก
สถานีรถไฟหัวหินยังคงรูปแบบอาคารไม้อันสวยงามอ่อนช้อยทาด้วยสีครีมและสีแดง และสิ่งที่โดดเด่นก็คือ ใกล้กับตัวสถานีเป็นที่ตั้งของ “พลับพลาหลวง” หรือ “พลับพลาสนามจันทร์” ซึ่งเป็นพลับพลาจัตุรมุขที่สร้างขึ้นในสมัย ร.6 เดิมอยู่ในพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ใช้เป็นที่เสด็จประทับทอดพระเนตรกองเสือป่าและลูกเสือทั่วประเทศที่ฝึกซ้อมยุทธวิธีเป็นประจำทุกปี
หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระองค์ การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้รื้อถอนนำมาสร้างใหม่ที่สถานีรถไฟหัวหิน และเรียกชื่อใหม่ว่า “พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ” เป็นดังเอกลักษณ์อยู่คู่สถานีรถไฟหัวหินมาเนิ่นนาน
สถานีรถไฟบ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่
“สถานีรถไฟบ้านปิน” อ.ลอง จ.แพร่ มีความโดดเด่นตรงที่เป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวของไทยที่สร้างในสไตล์ “เฟรมเฮาส์” แบบบาวาเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในแคว้นบาวาเรียนของประเทศเยอรมัน สถานีแห่งนี้สร้างในสมัย ร.6 โดยนายช่างชาวบาวาเรียนออกแบบสถานีแห่งนี้โดยใช้ไม้สักเป็นวัสดุสำคัญผสมผสานกับเรือนปั้นหยาแบบไทยๆ ออกมาเป็นสถานีรถไฟบ้านปินอันเป็นเอกลักษณ์และน่ารักไม่เหมือนใคร
สถานีรถไฟแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของ ร.5 แต่แล้วเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2457 ในรัชสมัยของ ร.6 ควบคุมการก่อสร้างโดยการรถไฟหลวงแห่งสยาม ซึ่งมีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการ และมีนายช่างชาวเยอรมันชื่อ เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง จนออกมาเป็นสถานีรถไฟสไตล์เยอรมันแบบเฟรมเฮาส์แห่งเดียวในไทยนั่นเอง
“สถานีรถไฟนครลำปาง” อ.เมือง จ.ลำปาง
“สถานีรถไฟนครลำปาง” อ.เมือง จ.ลำปาง ได้ชื่อว่าเป็นสถานีรถไฟในบรรยากาศย้อนยุค ด้วยบรรยากาศของตัวอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้นที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยภาคเหนือกับยุโรป รั้วระเบียงอาคารชั้นบนและเหนือวงกบประตูและหน้าต่างเป็นไม้ฉลุลายสวยงาม ส่วนทางเข้าห้องโถงชั้นล่างซึ่งเป็นห้องจำหน่ายตั๋วและทางขึ้นชั้นบนเป็นประตูรูปโค้งขนาดใหญ่ งดงามและได้รับการดูแลอย่างดีจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2536
ด้านหน้าสถานียังมีหัวรถจักรโบราณตั้งเด่นอยู่ที่เกาะกลางตรงทางเข้า โดยหน้าสถานีนี้ยังเป็นจุดจอดรถม้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของลำปางอีกด้วย โดยทางจังหวัดลำปางก็ได้จัดงานรำลึกประวัติศาสตร์รถไฟ รถม้าลำปาง ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรถไฟรถม้าลำปาง ซึ่งเป็นพาหนะสำคัญที่ชาวลำปางใช้สัญจรตั้งแต่อดีต ตั้งแต่รถไฟสายเหนือจากกรุงเทพฯ มาสู่นครลำปาง เป็นขบวนแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 ในสมัย ร.6
สถานีสวรรคโลก อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
อีกหนึ่งสถานีรถไฟที่มีความคลาสสิกแบบเรียบง่ายคือ “สถานีรถไฟสวรรคโลก” อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ที่อดีตเคยเป็นหัวเมืองที่สำคัญของสุโขทัย สถานีรถไฟตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมืองสวรรคโลก โดยทางรถไฟที่มุ่งหน้ามาสวรรคโลกนี้เป็นทางรถไฟสายรองในระบบรถไฟระหว่างเมือง แยกมาจากสายเหนือที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้ววิ่งผ่านสถานีรถไฟคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย มาสุดปลายทางที่สถานีรถไฟสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยนี่เอง
สำหรับตัวสถานีสวรรคโลกนี้มีอายุร้อยกว่าปีแล้ว ยังคงรูปแบบเดิมในสมัยเมื่อแรกสร้าง แต่ได้ปรับปรุงซ่อมแซมทาสีให้ดูใหม่สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ ด้านในยังมีบรรยากาศเก่าๆ จากตัวสถานีและอุปกรณ์ต่างๆ ของพนักงานรถไฟ
สถานีรถไฟกันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง
"สถานีรถไฟกันตัง" อ.กันตัง จ.ตรัง ที่นี่เป็นสถานีรถไฟสถานีสุดท้ายบนเส้นทางรถไฟฝั่งอันดามัน ซึ่งเริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการมายาวนานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2456 ในสมัยที่กันตังยังเป็นจุดรับ-ส่งสินค้ากับต่างประเทศที่บริเวณท่าเรือกันตัง โดยจากบริเวณสถานีจะมีรางรถไฟต่อไปเป็นระยะทางอีกประมาณ 500 เมตรก็จะถึงท่าเรือกันตัง แต่ปัจจุบันรางรถไฟส่วนนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว
แม้วันเวลาจะผ่านมาเกือบ 100 ปีแล้ว แต่สถานีกันตังก็ยังคงตั้งตระหง่านโดดเด่นชวนมองอยู่ไม่เสื่อมคลาย โดยตัวสถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองสลับน้ำตาล ตัวอาคารแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านหน้ามีมุขยื่นตกแต่งมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุให้บรรยากาศคลาสสิคเป็นอย่างยิ่ง
"สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชย" กรุงเทพฯ
แม้จะยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์และยังไม่ได้เปิดให้ใช้บริการ แต่ก็ต้องขอพูดถึง “สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชย” ที่ว่ากันว่าเป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลกสักหน่อย
สำหรับสถานีสนามไชยนี้เป็นโครงการสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค โดยช่วงสถานีนี้จะอยู่ใจกลางพื้นที่อนุรักษ์เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ใต้แนวถนนสนามไชย บริเวณวัดพระเชตุพนฯ ตัวสถานีจึงจำลองเป็นห้องในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการประดับด้วยเสาสดุมภ์ที่ตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างทางเดิน ลงลายกระเบื้องเป็นดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลว พื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงเมือง ประดับด้วยเสาเสมาของพระบรมมหาราชวัง ส่วนเพดานเป็นลายฉลุแบบดาวล้อมเดือนปิดทองคำเปลว โดยฝีมือของ รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ปี 2537 ที่ได้รับแรงบันดาลมาจากวัดและวังรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ก็ทำให้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งนี้สวยไม่แพ้ต่างประเทศเลยจริงๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com