แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านไปกว่า 100 วันแล้ว ที่ปวงชนชาวไทยได้เสียพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ไปจากแผ่นดินไทย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์เคยทำ เคยสร้าง ยังคงหล่อเลี้ยงปากท้องและหัวใจของคนไทยให้งอกงามอยู่เสมอ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช พระองค์ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการทรงหาแนวทางแก้ปัญหาให้ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารและชาวไทยภูเขาบนที่สูง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทรงมีพระราชดำริว่า "ช่วยชาวเขา ให้ช่วยตัวเองในการปลูกพืชที่มีประโยชน์และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น"
ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาเกษตรที่สูงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงส่งเสริมให้ปลูกพืชเมืองหนาว รวมถึงพัฒนาข้าวนาที่สูง หรือข้าวไร่ และธัญพืชเมืองหนาว อาทิ ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น แทนการบุกรุกพื้นที่ป่าทำไร่เลื่อนลอยหรือปลูกฝิ่น
อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวเป็นหนึ่งหน่วยงานที่ได้ร่วมบูรณาการส่งเสริมและพัฒนาการทำเกษตรบนพื้นที่สูงตามแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 โดยเฉพาะการวิจัยพัฒนาพืชการเกษตรที่สำคัญคือ พันธุ์ข้าว ให้เหมาะกับสภาพการณ์แต่ละช่วง ซึ่งทางกรมการข้าวได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง ร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน ดำเนินการส่งเสริมการปลูกข้าวบนพื้นที่สูง ตามแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9
พร้อมขยายผลการพัฒนาข้าวนาที่สูง ข้าวไร่ และธัญพืชเมืองหนาวเหล่านี้ไปสู่เกษตรกร โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ ยกระดับคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวบนพื้นที่สูง ลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญเป็นการลดการรุกป่า ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ชาวบ้านได้มีอาหารบริโภคอย่างพอเพียง
เนื่องจากเกษตรกรบนที่สูงอาศัยน้ำฝนในการทำการเกษตร ดังนั้นต้องบริหารจัดการการใช้เทคโนโลยีการผลิตและเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัย ได้ค้นคว้าวิจัยจนรับรองพันธุ์ข้าวไร่ 5 สายพันธุ์ แยกเป็น ข้าวเหนียว 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ซิวแม่จัน พันธุ์อาร์258 และพันธุ์ขาวโป่งไคร้ และข้าวเจ้า 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์เจ้าฮ่อ และพันธุ์น้ำรู
นอกจากนั้นยังรับรองพันธุ์ข้าวสาลี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สะเมิง1, พันธุ์สะเมิง2, พันธุ์แพร่60 และพันธุ์ฝาง60 รวมถึงรับรองพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สะเมิง1 และพันธุ์สะเมิง2 ให้เป็นพืชทางเลือกสำหรับเกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะข้าวสาลีพันธุ์ฝาง60 ที่เกษตรกรในพื้นที่อ.สะเมิง เลือกปลูกเป็นการค้าเพิ่มขึ้น
ที่บ้านทุ่งหลวง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ในหลวง ร.9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาในพื้นที่และได้พัฒนาด้านการเกษตรต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเมื่อปี 2524 ซึ่งเป็นที่แน่นนอนว่าหลังจากวันนั้นชาวบ้านในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยให้มีรายได้ตลอดปีไม่เพียงเฉพาะแค่ช่วงทำนาเท่านั้น
อำนาจ ภูวินสกุล ชาวปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง วัย 33 ปี เกษตรกรรุ่นที่ 3 ที่ได้นำแนวทางพระราชดำริด้านการพัฒนาส่งสริมการปลูกข้าวบนพื้นที่สูงและธัญพืชเมืองหนาวมาใช้ต่อจากรุ่นปู่และรุ่นพ่อ ที่เคยเฝ้ารับเสด็จเมื่อปี 2524 เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านทุ่งหลวงจะปลูกข้าวเป็นหลัก แต่ต้องอาศัยน้ำฝนปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์บือชอมีหรือข้าวไก่ป่า พันธุ์บือเนอมูหรือข้าวหอมดอย และพันธุ์บือพะโด๊ะหรือข้าวเม็ดใหญ่ ข้าวที่ได้จะเก็บไว้กินเองส่วนหนึ่งและนำขายให้กับชาวม้งใกล้เคียง
หลังจากหมดช่วงฝนแล้ว ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคมชาวบ้านก็จะว่างงานและทำให้ขาดรายได้ จึงได้รวมกลุ่มกันประมาณ 50 คน แล้วนำแนวทางพระราชดำริของในหลวง ร.9 มาใช้ เริ่มจากการหันมาปลูกข้าวสาลีพันธุ์ฝาง 60 ใบนพื้นที่กว่า 40 ไร่ หลังช่วงเก็บเกี่ยวทำนาข้าว
และได้ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง จ.เชียงใหม่ คอยให้การสนับสนุนเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยให้ชาวบ้านยืมเมล็ดพันธ์ข้าวไปใช้ในการเพราะปลูก ซึ่งภายหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วค่อยนำเมล็ดพันธุ์ไปคืนเท่าที่ขอยืมมา รวมถึงให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวสาลีอีกด้วย
ซึ่งข้าวสาลีเป็นธัญพืชเมืองหนาวที่ปลูกง่ายใช้ระยะเวลาเพียง 120 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว แถมยังมีต้นทุนไม่สูง ไร่ละประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น นอกจากนั้นยังดูแลง่ายไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงและยังไม่ต้องใช้น้ำเยอะอีกด้วย เมื่อได้ข้าวสาลีแล้วศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางจะรับซื้อ โดยมีราคาประกัน กิโลกรัมละ 27-28 บาท
รวมถึงมีการนำข้าวสาลีมาแปรรูปให้เป็นผลผลิตในรูปแบบขนมปังโฮลวีต คุกกี้ ขนมปังไส้ถั่วแดงหลวง และจำหน่ายเข้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวางเช่นกัน ทำให้ในปัจจุบันทุกคนมีรายได้ตลอดปี มีรายได้ถึงไร่ละราว 12,000-14,000 บาท
นอกจากชาวบ้านจะปลูกข้าวแล้ว ยังมีการปลูกไม้ผล เช่น สาลี่ อะโวคาโด บ๊วย ผักเมืองหนาว กะหล่ำ ผักกาดขาว สลัดแก้ว กวางตุ้ง และมันเทศญี่ปุ่น ส่งให้กับโครงการหลวง ช่วยเพิ่มรายได้ 8,000-10,000 บาทต่อไร่อีกด้วย
อำนาจ พูดถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้นำแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 มาปฏิบัติว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมากที่ได้มาอยู่ที่ประเทศไทย ที่มีในหลวงที่ห่วงใยทุกข์สุขของประชาชน แม้จะอยู่ไกลแค่ไหน แต่พระองค์ก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือ และช่วยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชาวบ้านที่นี่รักในหลวง ร.9 มากๆ
สำหรับศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 1 ก.ย. 2521 ตามพระราชประสงค์ของในหลวง ร.9 ที่ให้แก้ปัญหาการปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนและเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ และชาวไทยที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงที่ประกอบอาชีพการเกษตรอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก
ในอดีตเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2525 พระองค์ได้เสด็จมาทรงงาน ณ อาคารทรงงาน และได้พระราชทานรถไว้ให้ได้ใช้งาน ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงยังคงมุ่งวิจัยและขยายผลเทคโนโลยีด้านข้าวนาที่สูง ข้าวไร่ และธัญพืชเมืองหนาวไปสู่เกษตรกรบนพื้นที่สูงอย่างต่อเนื่อง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว 202 หมู่ที่ 10 บ้านปางดะ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ 50250 โทร. 0-5337-8093 และ 0-5337-8094
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“¡“√∂ ËߢÈÕ¡Ÿ≈¢Ë“« “√¥È“π°“√∑ËÕ߇∑’ˬ«-Õ“À“√¡“‰¥È∑’Ë °Õß ∫°.¢Ë“«∑ËÕ߇∑’ˬ« ·ø°´Ï 0-2629-4467 Õ’‡¡≈Ï travel_astvmgr@hotmail.com