xs
xsm
sm
md
lg

มากกว่าสวนดอกไม้ “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ตระการตาพรรณไม้ เรียนรู้ เดินตาม งานของพ่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยากาศสวยๆ ที่  “อุทยานหลวงราชพฤกษ์”
อากาศช่วงนี้เหมาะกับการขึ้นเหนือไปชมดอกไม้สวยๆ กัน อย่างที่ จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าพูดถึงสวนดอกไม้ที่สวย น่าเดินเที่ยว ใครๆ ก็คงต้องนึกถึง “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” นอกจากจะมีดอกไม้สวยๆ ให้เดินชมกันแล้ว ที่นี่ยังแฝงเรื่องราวคำสอนของในหลวงร.9 ให้ดำเนินรอยตาม ที่นี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สวนดอกไม้เท่านั้น แต่เป็นมากกว่าสวนที่จะทำให้ผู้ที่เข้ามาชมได้ลึกซึ้งและเรียนรู้ไปกับโซนต่างๆ ที่ถูกจัดแสดงไว้
“อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ที่หมายถึง สวนของพระมหากษัตริย์
“อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ตั้งอยู่ที่ ต. แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีเนื้อที่กว้างขว้างกว่า 500 ไร่ เป็นที่รวบรวมพรรณไม้นานาชนิดทั่วทุกมุมโลก โดยมีการจัดแสดงเป็นสวนต่างๆ ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้สวยงามและภูมิสถาปัตยกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่การจัดแสดง โดยแบ่งอุทยานออกเป็นส่วนต่างๆ คือ สวนไทย สวนนานาชาติ และสวนองค์กรต่างๆ เดิมที ในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ใน พ.ศ.2549 และทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ “มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549” ซึ่งเป็นงานที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในคราวนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้ามาบริหารจัดการและใช้ประโยชน์พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 จนได้รับชื่อพระราชทานว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ที่หมายถึง สวนของพระมหากษัตริย์
สวนเกษตรทฤษฏีใหม่
เลี้ยงไก่ให้ได้ชมกัน
โดยเริ่มแรกเมื่อเข้าไปชมจะรับรู้ได้ถึงความงามของดอกไม้นานาชนิด ความร่มรื่นเขียวขจีที่เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ที่นี่มีโซนต่างๆ มากมายให้ชม เที่ยวทั้งวันไม่มีเบื่อ โดยเราจะเลือกโซนเด่นๆ มานำเสนอ อย่างโซน “สวนเกษตรทฤษฏีใหม่” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยใช้แนวคิดแห่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารงานในการทำการเกษตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้มีชีวิตอยู่โดยหลุดพ้นบ่วงแห่งความยากจน โดยที่นี่จำลองในการแบ่งพื้นที่ การเกษตรออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกนั้น ให้ขุดสระกักเก็บ ส่วนที่สอง ให้ปลูกข้าว ส่วนที่สาม ให้ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น เก็บดอกผลไว้กินไว้ขาย เสริมสร้างรายได้ส่วนหนึ่งอีกทาง และส่วนที่สี่ เป็นพื้นที่สำหรับใช้สร้างสิ่งปลูกสร้างเช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ยุ้งฉาง เป็นต้น
เรือนกล้วยไม้ บานสะพรั่ง
เรือนพืชไม้เมืองหนาว
จากนั้นไปต่อที่ไฮไลท์สุดฮิตกันอย่าง "เรือนกล้วยไม้" ชมความงดงามของกล้วยไม้กว่า 30,000 ต้น กล้วยไม้ทั้งพันธุ์แท้และพันธุ์ผสมที่กำลังบานสะพรั่งมีสีสันสวยงาม ที่ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้จัดแสดงไว้เต็มพื้นที่ของเรือนกล้วยไม้ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีเรือนพืชไม้เมืองหนาว ที่จัดแสดงดอกไม้ต่างๆ สวยงามในอากาศเย็นๆ ให้เดินชมกันอีกด้วยบอกว่าเป็นสถานที่ที่ไม่ควรพลาดถ้าได้มาเยือนอุทยานหลวงราชพฤกษ์แห่งนี้
อาคารโลกแมลง”  ที่จัดแสดงแมลงชนิดต่างๆ
ผีเสื้อชมกันอย่างใกล้ชิด
ถ้าพูดถึงดอกไม้ก็ต้องนึกสิ่งมีชีวิตที่คู่กันอย่างแมลง โดยที่นี่ได้จัดอาคารที่จัดแสดงแมลงต่างๆไว้ ทั้ง แมลงที่ไม่มีชีวิตและมีชีวิตให้ได้ชม อย่างที่ “อาคารโลกแมลง” จัดแสดงแมลงหลากหลายชนิดให้ได้ชม บางตัวก็หายากไม่เคยเห็นมาก่อน บางตัวก็สวยสดงดงาม แถมยังมีความรู้ให้ได้รู้จักกับแมลงต่างๆ อีกด้วย จากนั้นไปเดินชมอาคารที่แมลงมีชีวิต เต็มไปด้วยผีเสื้อหลากหลายพันธุ์ที่บินว่อนทั่วอาคาร รับรองว่าใครชอบผีเสื้อ ต้องถูกใจที่นี่อย่างแน่นอน
สวนภูฎาน ที่จัดแสดงในสวนนานาชาติ
เดินไปชม “สวนนานาชาติ” กันต่อ โดยพื้นที่จัดแสดงในส่วนนี้จะประกอบด้วย การจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับและพืชสวนจากนานาประเทศ สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยมีแนวคิดหลักในการจัดสวนที่สะท้อนถึงภูมิหลังเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสภาพชีวิตของประชาชนในประเทศนั้น ๆ
หอคำหลวง
และมาถึงไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดทั้งปวงอย่าง “หอคำหลวง” เป็นส่วนแสดงสำคัญที่โดดเด่นและสง่างามที่สุด เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งคำว่า “หอคำ” หมายถึง พระตำหนักของกษัตริย์ในอาณาจักรล้านนา ส่วนคำว่า “หลวง” นั้นก็หมายถึง ใหญ่ นั่นเอง หอคำหลวง ถือว่าสถาปัตยกรรมล้านนาที่สง่างาม อาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก 2 ชั้น สีน้ำตาลแดง ที่ผ่านกระบวนการคิด การออกแบบ จากช่างสิบหมู่พื้นบ้านล้านนานับสิบคน ที่ถ่ายทอดผลงานอภิมหาสถาปัตยกรรมล้านนา จนเป็นเลื่องลือแก่ผู้พบเห็น
นิทรรศการ “7 ทศวรรษ กษัตริย์นักพัฒนา” ณ หอคำหลวง
ส่วนด้านล่างนั้นยังจัดนิทรรศการ “7 ทศวรรษ กษัตริย์นักพัฒนา” ณ หอคำหลวง นิทรรศการที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ พระวิริยะอุตสาหะในการทรงงานเพื่อพสกนิกรของพระราชาผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ชมวีดีทัศน์ประกอบเพลงในบทเพลงพระราชาผู้ทรงธรรมและบทเพลงคำสอนของพ่อที่แสดงให้ถึงการสนองงานตามแนวพระราชดำริ การพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ซึ่งนิทรรศการนี้จะเปิดให้เข้าชมเพียงวันละ 6 รอบเท่านั้น
จากนั้นยังมีโซนอีกมากมายอย่างเช่น “สวนไทย” หรือ “สวนพรรณไม้เขตร้อนชื้น” ส่วนการแสดงของประเทศไทย ที่รวมรวมของดีของไทยในด้านพันธุ์ไม้ เทคโนโลยีด้านการเกษตรที่คิดค้นขึ้นโดยภูมิปัญญาไทย ซึ่งประกอบด้วย สวนไม้ผล สวนผัก สวนสมุนไพร สวนไม้น้ำ สวนบอนไซ ไม้ดัด อาคารเรือนกระจกปรับอุณหภูมิ สวนต้นไม้ประจำจังหวัด สวนไม้ในวรรณคดี สวนต้นไม้ในพุทธประวัติ พืชพรรณไม้หายาก พันธุ์ไม้แปลก เป็นต้น

ชมต่างๆ ทุกโซนแล้วก็มาอย่างโซนด้านหน้าสุด ที่ พระพุทธรูปสมถวิปัสนากรรมฐาน 2 องค์ ที่ได้จากการหลอมใบโพธิ์ทองแดงที่พสกนิกรเขียนคำถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในช่วงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ 2549 ประดิษฐานอยู่บริเวณลานต้นโพธิ์แห่งความจงรักภักดี พระอุปคุต ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นเลิศทางอิทธิฤทธิ์ ปกป้องคุ้มครองภัย

นอกจามชมความสวยงามและเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในอุทยานแห่งนี้แล้วที่นี่ยังได้จัดงานอุทยานหลวงราชพฤกษ์ (ROYAL PARK RAJAPRUEK) “เมื่อดอกไม้ในสวนของพ่อบาน...เรียนรู้ เดินตาม งานของพ่อ” ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานและแนวพระราชดำริ เผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ นับเป็นการจัดงานเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เรียนรู้ และซาบซึ้งในพระจริยวัตร พระอัจฉริยภาพ หลักการทรงงานที่ประชาชนชาวไทยต้องนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปอย่างที่พ่อต้องการ

ที่นี่ไม่ใช่เป็นสวนดอกไม้เพียงธรรมดาเท่านั้น แต่ยังเป็นสวนดอกไม้ที่เดินตามรอยปรัชญาของในหลวงร.9 ดังชื่อ “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ที่หมายถึง สวนของพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง
*****************************************

“อุทยานหลวงราชพฤกษ์ (Royal Park Rajapruek) เปิดบริการทุกวัน วันจันทร์-พฤหัสบดี เปิดเวลา 08.00 - 18.00 น. วันศุกร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดเวลา 08.00 - 19.00 น. ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-5311-4110-5 ติดตามการอัพเดทกิจกรรมในงานได้ทางแฟนเพจ “อุทยานหลวงราชพฤกษ์”
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น