xs
xsm
sm
md
lg

“บึงบอระเพ็ด” ไฮไลท์เด็ดเที่ยว“นครสวรรค์”...ยลนกน้ำเริงร่า ตื่นตาทะเลบัวแดง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
บึงบอระเพ็ด ไฮไลท์สำคัญทางการท่องเที่ยวของนครสวรรค์
เช้าวันหยุด ในวันอากาศซึมเซา

ฟ้าทึม เมฆเทา บรรยากาศขมุกขมัว หม่นเหงา ชนิดที่มักจะตอกย้ำให้คนเดียวดายรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างกระไรปานนั้น

ปกติในเช้าวันหยุดแบบนี้ สภาพการณ์แบบนี้ อากาศสะลึมสะลือแบบนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการนอนหลับอุตุอย่างสุขกายสบายอุราแบบขี้คร้านที่จะตื่น

แต่ในเช้าวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งในเช้าวันพิเศษของผมกับเพื่อนๆ ซึ่งพวกเรามีนัดกันไปล่องเรือ ดูนกน้ำ ชมดอกบัวงาม ที่ “บึงบอระเพ็ด” ไฮไลท์สำคัญทางการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ ดังที่ปรากฏอยู่ในคำขวัญจังหวัดว่า “เมืองสี่แคว แห่มังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็ดปากน้ำโพ”
เส้นทางล่องเรือชมทะเลบัวแดง
“บึงบอระเพ็ด” เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีพื้นครอบคลุม 3 อำเภอใน จ.นครสวรรค์ ได้แก่ อ.เมือง อ.ชุมแสง และ อ.ท่าตะโก

บึงบอระเพ็ดในอดีตถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก จึงได้รับการประกาศให้เป็น “เขตห้ามล่าสัตว์ป่า” ในปี พ.ศ. 2518 ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งโซนให้เป็นเขตพื้นที่หวงห้ามเขตอนุรักษ์ โซนท่องเที่ยว และเขตพื้นที่ที่อนุญาตให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำการประมงได้ เราจึงได้พบเห็นวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านลอยเรืออกหาปลายามเช้า มีลอบดักปลาวางอยู่หลายใบในพื้นที่ที่กำหนด รวมไปถึงบ้างมาเก็บบัวหลวง เก็บไหลบัว สายบัว(บัวสาย) เป็นต้น
ชาวประมงพื้นบ้านออกเรือหาปลาตั้งแต่เช้าตรู่
บึงบอระเพ็ดนอกจากจะมีพืชพันธุ์ไม้น้ำอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมปลาน้ำจืดหลากหลายสายพันธุ์ โดยมีพันธุ์ปลาที่หายาก อย่างเช่น ปลาเสือตอ ปลาเสือพ่นน้ำ ปลากะโห้ เป็นต้น รวมถึงยังเคยเป็นแหล่งอาศัยของจระเข้น้ำจืด ซึ่งมีข้อมูลระบุว่าในอดีตบริเวณ“สะดือบึง”เคยมีจระเข้อาศัยอยู่อย่างชุกชุม สามารถเห็นตัวได้ง่าย แต่ปัจจุบันคาดว่าไม่มีจระเข้ตามธรรมชาติหลงเหลืออยู่ในบึงแล้ว จะมีก็แต่จระเข้เลี้ยงในฟาร์มที่(เผลอ)หลุดมาให้เป็นข่าวฮือฮาบ้างเป็นครั้งคราว
บึงบอระเพ็ด เป็นหนึ่งในแหล่งดูนกชั้นเลิศของเมืองไทย
นอกจากนี้บึงบอระเพ็ดยังมีนกน้ำ นกประจำถิ่น และนกอพยพอาศัยหากินอยู่มากมาย จนได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงนกน้ำของไทย” และเป็นแหล่งชมนกชั้นเลิศ 1 ใน 9 ของโลก นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญยิ่งของเมืองไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีการค้นพบ “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” (White-eyed River-Martin : Pseudochelidon sirintarae หรือ Eurochelidon sirintarae) เป็นครั้งแรกของโลก แต่ปัจจุบันไม่มีถูกพบเห็นมานานมาก คาดว่าอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว มีเพียง “อนุสาวรีย์นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” ตั้งเด่นอยู่ริมบึง ใกล้ๆกับจุดสะพานที่ทอดยาวเดินชมวิว
อนุสาวรีย์นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
บริเวณนี้เป็นจุดนัดพบกับ ลุง“พนม คราวจันทร์ทึก” เพื่อลงเรือล่องชมบึงของเราในเช้าวันนี้

ลุงพนมถือเป็นผู้รอบรู้ กูรูคนดังเรื่องนกแห่งบึงบอระเพ็ด ที่นักดูนกส่วนใหญ่ต่างรู้จักแกเป็นอย่างดี

เมื่อเรือพร้อม คนพร้อม ลุงพนมค่อยบังคับเรือออกจากท่าไปแบบเอื่อยๆด้วยมาดนิ่งสุขุม ท่ามกลางแสงยามเช้าตรู่ที่ค่อยๆเรื่อเรืองขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งบนฟากฟ้ามีนกฝูงหนึ่งเหิรบินยาวเป็นเส้นสายดูคล้ายแปรขบวน มันก็ช่วยสลัดความสะลึมสะลือซึมเซาให้ดูน่ารื่นรมย์มีชีวิตชีวากระไรปานนั้น

“นั่นฝูงนกช้อนหอยดำเหลือบ” ลุงพนมชี้ให้ชมในระหว่างขับเรือ
ฝูงนกช้อนหอยดำเหลือบ
นกช้อนหอยดำเหลือบเป็นหนึ่งในกลุ่มนกหายาก ซึ่งลุงพนมบอกว่า เคยมีนักดูนกหลายๆคนตั้งใจมาเฝ้ารอดูนกชนิดนี้ แต่ไม่เห็น ต้องผิดหวังกลับไป แต่วันนี้เราโชคดีไม่น้อยที่ได้เห็นพวกมันบินเป็นฝูงใหญ่ แปรขบวนเป็นเส้นสายยาว
บัวหลวงดอกโทนบานชูช่อ
จากนั้นเรือแล่นผ่านไปในดงบัวหลวง ใบใหญ่ ดอกใหญ่ให้สีชมพูอ่อนดูสบายตา แต่ว่ามีดอกให้ชมไม่มาก คาดว่าถูกเก็บดอกไปขายเช่นเดียวกับฝักบัวหลวงที่เก็บไปขายให้คนมาซื้อไปแกะเม็ดบัวกินอร่อยเพลินไม่น้อย
ทะเลบัวแดงออกดอกบานสะพรั่ง
นอกจากทุ่งบัวหลวงแล้วที่นี่ยังมี“บัวสาย”หรือ“บัวแดง” ที่ในช่วงนี้มันต่างพร้อมใจกันออกดอกรับแสงแดดยามเช้า เป็นดังทะเลบัวแดงอันสวยงามให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม และเหล่าหมู่นกได้โฉบบินเริงร่าหาเหยื่ออยู่ในฝูงทะเลบัวแดง ดูน่าตื่นตาตื่นใจ
นักท่องเที่ยวล่องเรือชมทะเลบัวแดง
ขณะที่พืชพันธุ์อื่นๆนอกจากบัวหลวง บัวสาย แล้วที่นี่ยังมีพืชพันธุ์อีกกว่า 50 ชนิด ถือเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเหล่าสรรพสัตว์ โดยเฉพาะในบริเวณ“กอสนุ่นกลางน้ำ” ที่ประกอบไปด้วยพืชพันธุ์ลอยน้ำอันหลากหลาย ดูประหนึ่งพรมสีเขียวขนาดยักษ์ลอยปกคลุมเหนือผิวน้ำให้เหล่ามวลหมู่นกออกหาปลา หาหอย กินบนพรมลอยน้ำแห่งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มนกที่มีนิ้วเท้ายาวที่ออกเดินและกระโดดล่าจกเหยื่อ อย่าง นกพริก นกอัญชันคิ้วขาว และ “นกอีแจว” ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งนกน้ำ” เนื่องจากมันมีขนหางยาวสลวยสวยงาม
นกยางเยื้องย่างออกหาเหยือบนผืนหญ้าลอยน้ำ
แต่ทว่า...ในวัฏจักรชีวิตของอีแจวราชินีแห่งนกน้ำนั้น มันมีวิถีที่น่าหดหู่ไม่น้อย เพราะหลังจากที่ตัวเมียออกไข่ และวางไข่ในรังหนึ่งแล้ว มันจะ“แจว” หนีไปหานกตัวผู้ตัวอื่นต่อ ทิ้งให้นกตัวผู้(พ่อ)ต้องฟักไข่และเลี้ยงดูลูกตามลำพัง คนไทยจึงเรียกนกชนิดนี้ว่า“นกอีแจว” สมตามพฤติกรรมของมัน(ตัวเมีย) แต่นี่ก็ถือเป็นกฎของธรรมชาติของนกชนิดนี้ที่มนุษย์เรายากยิ่งจะเข้าใจ

พูดถึงบรรดานกที่เป็นไฮไลท์ของที่นี่แล้ว ในจำนวนประชากรนกนับหมื่นนับแสนตัวที่บึงบอระเพ็ดนั้น มีการสำรวจพบนกในบึงแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 190 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นนำน้ำมากกว่า 100 ชนิด
นกอีโก้ง หากินในดงดอกบัว
โดยนกที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปก็อย่างเช่น นกยางชนิดต่างๆ เช่น นกยางโทน นกยางกรอก นกปากห่างที่มักจะพบเกาะอยู่บนต้นไม้เป็นฝูงใหญ่ในดงนกปากห่างบริเวณแหลมนา นกกระสานวล นกกระสาแดง นกพริก นกอีแจว นกอีโก้งที่ผมพบเจอเยอะที่สุดในทริปนี้ และกลุ่มนกเป็ดต่างๆ อาทิ เป็ดแดง เป็ดหอม เป็ดหัวดำ เป็ดปากสั้น เป็ดปากพลั่ว เป็ดคับแค และ“เป็ดผี” ตัวไม่ใหญ่ที่บัดเดี๋ยวมันก็บิน วิ่ง(บนน้ำ) ว่ายน้ำมาปรากฏให้เห็น และบัดเดี๋ยวมันก็มุดน้ำดำหายไปจากจุดนี้ แล้วไปโผล่อีกทีในจุดที่ยากจะคาดเดา จนทำให้มันถูกเรียกขานว่า “เป็ดผี

ขณะที่ในส่วนของนกหายากใกล้สูญพันธ์ของไทยก็อย่างเช่น นกอ้ายงั่ว นกช้อนหอยขาว นกกระสาแดง นกกาบบัว เป็ดหงส์ เหยี่ยวดำ และนกที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด
ลีลา...นักวิ่ง
สำหรับในวันที่ไปล่องเรือชมบึงบอระเพ็ด มีเพียงนกบางชนิดที่ผมรู้จัก ส่วนที่เหลืออีกจำนวนมาก ผมไม่รู้จัก รู้เพียงแค่มันคือนก ก็ได้ลุงพนมนี่แหละคอยบอกคอยให้ข้อมูล ซึ่งแค่เพียงล่องเรือผ่าน เหลือบตามองผ่าน ลุงพนมก็ทราบแล้วว่านกชนิดนั้นชื่ออะไร เป็นพันธุ์อะไร พร้อมทั้งมีข้อมูลเบื้องต้นอธิบายให้ความรู้เราเพิ่มเติมด้วย มิน่าล่ะ แกถึงถูกยกให้เป็นกูรูนักดูนกแห่งบึงบอระเพ็ด ซึ่งเวลาผมมาเที่ยวที่นี่ทีไรก็จะใช้บริการแกตลอด(หากแกคิวยังว่าง)
ลีลา...เหิรเวหา
ในเช้าวันนี้ ผมกับคณะใช้เวลาล่องเรือท่องบึงบอระเพ็ดอยู่ร่วมๆ 2 ชม. ได้พบเจอทะเลบัวแดงอันสวยงาม และนกจำนวนมาก นกบางชนิดเกิดมาเพ่งเคยได้ยินชื่อของมัน(เนื่องจากผมไม่ใช่นักดูนกจึงไม่รู้จักมัน)นับเป็นอีกหนึ่งความโชคดีบนแง่งามของบึงบอระเพ็ดที่น่าตื่นตาตื่นใจกระไรปานนั้น
คู่นกคู้ทแหวกว่ายหากิน
ก่อนที่เรือจะกลับมาเทียบท่ายังจุดเดิม ณ จุดลงเรือที่อยู่ใกล้ๆกับ “อนุสาวรีย์นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” ที่ตั้งเด่นเป็นอนุสรณ์บอกให้โลกรู้ว่า ครั้งหนึ่งบึงบอระเพ็ดเคยมีนกชนิดนี้

แต่ว่าปัจจุบันเราไม่พบเห็นมันแล้ว

เช่นเดียวกับ “ปลาเสือตอ” ที่ในอดีตเคยเป็นพระเอกของบึงบอระเพ็ด แต่ด้วยความที่มันเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อย จึงถูกจับไปกินไปเป็นจำนวนมาก จนวันนี้กลายเป็นปลาหายสาบสูญ หรือแม้กระทั่ง"ปลากราย"ที่เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ปลาอันโดดเด่นของที่นี่ ซึ่งล่าสุดจากการได้รับรู้ข้อมูลจากชาวบ้านแถวนั้น เขาบอกว่าไม่พบปลากรายที่บึงบอระเพ็ดมาหลายปีแล้ว นั่นรวมไปถึงปลาบางชนิดที่เริ่มพบเจอยากมากขึ้น นกบางชนิดที่ลดน้อยหายไป
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่เหลือเพียงอนุสาวรีย์ให้ชมต่างหน้า
ที่สำคัญก็คือในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของบึงบอระเพ็ด ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ซึ่งมีข้อมูลพื้นฐานระบุไว้ว่าที่นี่(เคย)มีเนื้อที่ 132,777 ไร่ วันนี้ในสภาพความเป็นจริง พื้นที่บึงบอระเพ็ดมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปกว่าข้อมูลตัวเลขข้างต้นอยู่มากโข เนื่องจากบึงบอระเพ็ดวันนี้ได้ถูกบุกรุกจำนวนหลายหมื่นไร่ และมีการบุกรุกมายาวนานจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง จนเกิดเป็นวิกฤติบึงบอระเพ็ดที่น้ำในบึงที่เหลือน้อย ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม ฝูงนก ฝูงปลาลดจำนวนลงไปมาก รวมไปถึงเกิดปรากฏการณ์น้ำแห้งขอดบึงในยามหน้าแล้งอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน
นกยอดหญ้าหัวดำ
ทั้งหลายทั้งปวงนั่นมาล้วนมาจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งถ้าเรายังปล่อยให้มนุษย์ที่เห็นแก่ตัวบางกลุ่ม ยังคงเดินหน้าทำลายทรัพยากรในบึงบอระเพ็ดลงไปอยู่เรื่อยๆ

สักวันหนึ่งบึงบอระเพ็ดอาจกลายเป็นตำนานให้ผู้คนได้เล่าขาน ซึ่งผมได้แต่ภาวนาว่า...

ขออย่าให้มีวันนั้นเกิดขึ้นเลย

***************************************
เตรียมพร้อม
ปฏิทินท่องเที่ยวธรรมชาติบึงบอระเพ็ด

มกราคม-มีนาคม : ฤดูกาลอพยพของนกน้ำ ชมฝูงนกเป็ดน้ำชนิดต่างๆจำนวนมาก รวมทั้งนกหายาก คือ เป็ดเปีย เป็ดหัวดำ และเป็ดดำหัวสีน้ำตาล

เมษายน-มิถุนายน : ช่วงฤดูจับคู่ ทำรัง ของนกทุ่งนับสิบชนิดที่อาศัยอยู่รอบบึงบอระเพ็ด

กรกฎาคม-มิถุนายน : ฤดูนกน้ำทำรังกันมากที่สุด เช่น นกพริก นกอีโก้ง นกอีแจว นกช้อนหอยดำเหลือ และกลุ่มนกยาง

ตุลาคม-ธันวาคม : ช่วงฤดูหนาวบึงบอระเพ็ดจะมีทะเลบัวสายและไม้น้ำดอกสวยขนาดเล็กอีกมากมาย
สะพานทอดยาวชมบึงบอระเพ็ด
นอกจากทุ่งดอกบัวและนกนานาพันธุ์แล้ว บึงบอระเพ็ดยังมี อาคารแสดงพันธ์สัตว์น้ำบึงบอระเพ็ด จัดแดงพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ โดยเฉพาะปลาเสือตอที่หาชมได้ค่อนข้างยากในเมืองไทย โดยผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด โทร. 0-5627-4525

และสามารถสอบถามข้อมูล สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัดนครสวรรค์เชื่อมโยงกับบึงบอระเพ็ด และ ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดนครสวรรค์เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานนครสวรรค์ (พื้นที่รับผิดชอบ นครสวรรค์, พิจิตร) โทร.0-5622-1811-2
ลุงพนม คราวจันทร์ทึก
กำลังโหลดความคิดเห็น