“พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์” สถานที่ที่รวบรวมเรื่องราว เหตุการณ์ ความเป็นมาและวิถีชีวิต ของ “เมืองหล่มสัก” ชุมชนที่มีประวัติมาช้านานและมีความสำคัญอย่างมากของจังหวัดเพชรบูรณ์ มาจัดแสดงไว้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
ที่เขียนชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า”หล่มศักดิ์” แทนการใช้ “หล่มสัก” ก็เพื่อให้ระลึกว่าดั้งเดิมนั้นเคยเขียนว่า “หล่มศักดิ์” นั่นเอง ทุกห้องในอาคารโคโรเนียล 2 ชั้นนี้ จึงเป็นเหมือนห้องรับแขกของเมืองหล่มสักที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของคนหล่มในทุกๆ ด้าน โดยภายในมีห้องจัดแสดงทั้งหมด จำนวน 10 ห้องได้แก่
1. ห้องประชาสัมพันธ์
เป็นห้องแรกของพิพิธภัณฑ์ เป็นห้องขนาดเล็กที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ที่มาเยือนได้รู้จักเมืองหล่มสักดีขึ้น โดยในห้องนี้จะมีแผนผังห้องจัดแสดงทั้ง 10 ห้อง ของพิพิธภัณฑ์ พร้อมทั้งมีพนักงานต้อนรับคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับห้องต่างๆ ซึ่งในวันเสาร์จะแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของคนหล่มดูสวยงามอีกด้วย
2. ห้องภาพยนตร์
เมื่อก้าวเข้าสู่ห้องนี้ผู้ที่ได้มาเยือนจะเหมือนได้ย้อนกลับไปรู้จักกับ “เมืองหล่มสัก” ในอดีต โดยนำเสนอเรื่องราวสั้นๆ ผ่านจอภาพยนตร์ ซึ่งมีความพิเศษอยู่ที่เก้าอี้นั่งที่สามารถหมุนได้รอบด้าน และจอฉายภาพยนตร์ที่มีอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งช่วยให้ผู้ชมได้อรรถรสมากขึ้น เพราะจะให้ความรู้สึกเหมือนเราได้เข้าไปนั่งอยู่ตรงกลางระหว่างการสนทนาของตัวละครนั่นเอง
3. ห้องเมืองหล่มสักในอดีต
ในห้องนี้จะจำลองภาพเมืองหล่มสักในอดีต ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่สำคัญต่างๆ ถึง 9 แห่ง มาให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ได้แก่ ร้านตัดผม นายปรีชา ขาแหย่ง, โรงสูบฝิ่นหล่มสัก, ร้านกาแฟมุ้ยหลี (ร้านยายคำมวล), โรงหนังเบญจบันเทิง, บ่อน้ำสร้าง, น้ำซึมบ่อทรายหรือน้ำสร้างทราย, หอนาฬิกาเมืองหล่มสัก, แท่งคอนกรีต อนุสรณ์การสร้างถนนมิตรภาพสายพิษณุโลก-หล่มสัก, โรงเรียนศักดิ์วิทยาคาร
4. ห้องเสน่ห์เมืองหล่มสัก
นอกจากความสวยงามของอาคารบ้านเรือนและของกินอร่อยๆ แล้ว เสน่ห์อีกอย่างของเมืองหล่มสักก็คือ อาชีพของผู้คนในเมืองนี้นั่นเอง ซึ่งในห้องนี้ได้ยก 2 อาชีพที่น่าสนใจมา ได้แก่ อาชีพสามล้อถีบ โดยนำเรื่องราวของ “น้าใหญ่” คนขับสามล้อถีบคันสุดท้ายที่ปัจจุบันนี้ยังคงถีบสามล้ออยู่แถวถนนคนเดินไทหล่ม แม้จะอายุถึง 60 ปีแล้วก็ตามมาให้ศึกษา
และอาชีพตีมีด ของ "กลุ่มตีมีดโบราณบ้านใหม่" ที่มีพื้นเพและบรรพบุรุษมาจากเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งมีดที่ตีจากที่นี่ จะแตกต่างจากที่อื่น เพราะจะขึ้นมีดจากแหนบรถยนต์และแต่ละเล่มจะสลักชื่อของผู้ที่เป็นคนตีขึ้นมาด้วย อาชีพนี้ก็ยังคงมีให้เห็นเช่นกัน
5. ห้องหล่มสักเมื่อวันวาน
ห้องนี้เรียกได้ว่าเป็นห้องที่รวบรวมภาพความทรงจำของเมืองหล่มสักทั้งอดีตและปัจจุบัน มานำเสนอเป็นกำแพงภาพ โดยฝั่งซ้ายเป็นภาพ “วันนี้ที่หล่มสัก” และฝั่งขวาเป็นภาพ “หล่มสักในวันวาน” เปรียบเทียบให้เห็นถึงการพัฒนาด้านต่างๆ มากมาย ทั้งอาคารบ้านเรือน การแต่งกาย วิถีชีวิต ฯลฯ
รวมถึงยังนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาที่เมืองหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ นับว่าเป็นความภูมิใจของคนหล่มเสมอมา และยังมีหุ่นขี้ผึ้งสาวไทหล่ม ที่สวมเสื้อเบี่ยงแพร นุ่งผ้าซิ่นหัวแดงตีนก่าน เกล้าผมมวย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์การแต่งกายอันโดดเด่นของผู้หญิงไทหล่มโบราณ ยืนเด่นอยู่กลางห้องนี้อีกด้วย
6. ห้องจังหวัดหล่มศักดิ์
ห้องนี้บอกเล่าเรื่องราวการปกครองของเมืองหล่มสัก ที่ในสมัยใช้ยศ “เจ้าเมือง” โดยจัดแสดงผ่านหุ่นขี้ผึ้งของเจ้าเมืองหล่มสักคือ พระสุริยวงษา (เทศ สุวรรณภา) ขนาดเท่าคนจริง แต่งกายด้วยเครื่องแบบเหมือนเจ้าเมืองในสมัยก่อน พร้อมทั้งจำลองศาลา 8 เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่ทำการศาลจังหวัดในสมัยก่อนด้วย
7. หัองวัฒนธรรมล้านช้าง
เรื่องราววิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมของคนไทหล่ม เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์มากๆ ซึ่งในห้องที่ 7 นี้ ได้รวบรวมทั้ง ประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีการกวนข้าวทิพย์, ประเพณีการแห่ปราสาทผึ้ง, ประเพณีการล่องเรือไฟน้อย รวมถึงยังมีลักษณะบ้านคนไทหล่มสมัยเก่า ที่เป็นบ้านไม้สองชั้น หลังคาจั่วเหมือนบ้านคนไทยทั่วไป แต่ที่สำคัญจะต้องยกใต้ถุนสูง เพราะคนไทหล่มจะมีวิถีชีวิตใต้ถุนบ้านเป็นส่วนมาก และมักจะใช้หินมารองเสาเพื่อป้องกันปลวกกิน แทนการขุดฝังเสาลงไปในดินอีกด้วย
รวมถึงยังมีผนังงานศิลปกรรมไทหล่มที่เรียกว่า “ฮูปแต้ม” (รูปแต้ม) ซึ่งก็คือ ภาพเขียนสีบนผนังโบสถ์หรือสิม ที่เกิดจากการที่ช่างพื้นเมืองใช้นิ้วมือแทนการใช้พู่กัน จุ่มสีแล้ววาดลวดลายตามจินตนาการลงบนผนังสิม โดยได้จำลองรูปแต้มบนผนังวัดศรีษะเกษ ต.บ้านโสก ที่วาดโดยช่างในละแวกนี้ 4 คน ปัจจุบันเหลือเพียง ลุงเปลื่อง แก้วคำ วัย 78 ปี ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นศิลปินแต้มฮูปคนสุดท้ายที่บอกเล่าเรื่องราว
8. ห้องไทหล่ม
คนไทหล่ม ก็คือคนเชื้อสายลาวที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่ล้านช้าง เมืองหลวงพระบาง เรื่อยลงมาทางใต้จนถึงเมืองหล่ม จ.เพชรบูรณ์ ดังนั้นผู้ชายบรรพบุรุษของคนไทหล่มในสมัยก่อนจึงนิยมสักลายตั้งแต่หัวเข่าขึ้นมาถึงขาหนีบ เพื่อเอาไว้อวดสาวๆ แต่จะเว้นที่พุงไว้ไม่สักลาย จึงเรียกว่า “ลาวพุงขาว” ปัจจุบันนี้เหลือลาวพุงขาวที่ยังมีชีวิตอยู่คนเดียว ก็คือ ปู่เกียน คำเนียม หรือโซ้นเหลียน อายุ 104 ปี (กันยายน 2558)
ส่วนผู้หญิงไทหล่มสมัยโบราณจะมีคำเรียกว่า “สาวนุ่งซิ่นหัวแดง ตีนก่าน” ซึ่งหมายถึงการนุ่งผ้าซิ่นนั่นเอง ซึ่งซิ่นหัวแดงตีนก่าน ถือเป็นซิ่นที่มีลักษณะโดดเด่นและเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของสาวไทหล่ม ส่วนสาวไทหล่มโบราณที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันในวัย 90 ปี ก็คือ นางปั่น มารอด (สกุลเดิม พรมหลวง) ในห้องนี้จึงมีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าตัวจริงของลาวพุงขาวและสาวนุ่งซิ่นจัดแสดงอยู่นั่นเอง
9. ห้องของกินบ้านเฮา
เป็นห้องจัดแสดงอาหารพื้นบ้านของเมืองไทหล่มและอาหารแนะนำต่างๆ โดยการจำลองอาหารเหล่านั้นทั้งสีสันและน่าตาเสมือนของจริง ซึ่งแบ่งเป็นอาหารพื้นบ้านทั้ง เมี่ยงค้น น้ำพริกขี้ปู ซุปใบมะม่วง ข้าวเหนียวหัวหงอก ฯลฯ และอาหารชวนชิมที่ทั้งอร่อยและมีเรื่องราวน่าจดจำมากมาย เช่น หนมเส้นไทหล่ม กินไปบีบไป, ไส้กรอกตาลเดี่ยว ย่างไปกินไป หรือลูกชิ้นทอดเจ๊เกี้ย รถลงปุ๊บกินลูกชิ้นปั๊บ
10. ห้องเฮ็ดเวียกเฮ็ดงาน
เป็นการจำลองอาชีพการทำงานของคนไทหล่มมาไว้ในห้องจัดแสดง เช่น การร่อนทองคำ ที่บ่อทองเมืองหล่มสัก ต.น้ำก้อ จึงนิยมเรียกกันว่า “น้ำก้อ บ่อคำ” (คำ = ทอง) โดยชาวบ้านจะใช้กระทะเหล็กร่อน ได้ทองเนื้ออ่อนเพียงน้อยนิดปีละ 1 บาทเท่านั้น
ในห้องนี้ยังจัดแสดง “ตำนานมะขามหวานเมืองหล่ม” ซึ่งก็คือ มะขามหวานปากดุก ลำต้นสูงใหญ่ ใบดก แต่กิ่งโน้มลงมาเกือบถึงพื้น สามารถใช้มือเก็บฝักได้เนื้อสีน้ำตาลทอง รสชาติหอมหวาน มีลักษณะฝักเป (แบน) เป็นฝักดาบหรือโค้งเล็กน้อย ต่างจากมะขามหวานเพชรบูรณ์ที่ฝักโค้งใหญ่
พบมะขามหวานปากดุกต้นแรกและต้นเดียวที่ บ้านของลุงเพชร ดวงจันทร์ ต.ปากดุก อ.หล่มสัก ปัจจุบันมะขามต้นนี้ได้ล้มตายไปแล้ว และน่าเสียดายที่ไม่มีการขยายพันธุ์ไว้ จึงหากินไม่ได้แล้ว แต่ว่ากันว่ามะขามหวานปากดุกในตำนานมีรสคล้ายมะขามหวานพันธุ์ประกายทอง ที่อร่อยอันดับต้นๆ ของมะขามหวานเมืองเพชรบูรณ์เลย
“พิพิธภัณฑ์หล่มศักดิ์” สามารถเดินทางมาได้จากถนนสระบุรี-หล่มสัก เข้าสู่ถนนสามัคคีชัย สี่แยกหอนาฬิกาถนนรณกิจ และถนนสุริยะวงษา เปิดให้เข้าชมฟรี โดยเปิดวันพุธ-วันศุกร์ วันละ 4 รอบ รอบที่ 1 เวลา 9.00-10.00 น. รอบที่ 2 เวลา 10.30-11.30 น. รอบที่ 3 เวลา เวลา 13.30-14.30 น. รอบที่ 4 เวลา 15.00-16.00 น. และวันเสาร์ เวลา 17.00-21.00 น. ให้เข้าชมโดยไม่กำหนดรอบ (หยุดวันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) หากเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน สอบถามเพิ่มเติม โทร. 056-701333
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com