อากาศหนาวๆ ก็ต้องเก็บกระเป๋าไปขึ้นเหนือ แต่จะเลือกไปขึ้นดอยขึ้นภูที่ไหน ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ส่วน “ตะลอนเที่ยว” ขอเลือกตรงดิ่งมาที่ จ.พะเยา และ จ.เชียงราย สองจังหวัดที่อยู่ติดกัน และมีขุนเขาสวยงามให้ชมหลายแห่ง
ซึ่งในทริปนี้ เรามาตั้งต้นกันที่ “ภูลังกา” แหล่งดูทะเลหมอกชื่อดังของ จ.พะเยา
“ภูลังกา” ตั้งอยู่ในวนอุทยานภูลังกา ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา มี “ยอดภูลังกา” เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งเราต้องนั่งรถขับเคลื่อน 4 ล้อขึ้นไป เพราะเส้นทางในช่วงท้ายเป็นถนนลูกรังวิบากสมบุกสมบัน จากนั้นเมื่อไปถึงจุดจอดรถตีนภู ต้องเดินเท้าขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1 กม.กว่าๆ ผ่านป่าโปร่งและป่าทุ่งหญ้า ซึ่งระหว่างทางจะมีทางแยก นำสู่“ลานหินล้านปี” ที่เป็นลานหินโบราณ อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้แปลกๆหายาก ขณะที่ในเส้นทางเดินหลักนั้นจะพาไปสัมผัสกับยอดภู 2 ลูก ได้แก่ “ภูนม” ที่เป็นดังสัญลักษณ์แห่งภูลังกา มีความสูงประมาณ 1,600 เมตร ส่วนภูลูกที่สองคือ “ภูลังกา” ที่มียอดสูงสุด 1,720 เมตร
ทั้งบนยอดภูนมและภูลังกาเป็นป่าทุ่งหญ้า โล่งแจ้ง สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบตัว 360 องศา บนนี้จึงเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก และจุดชมทะเลหมอกชั้นดีที่มีคนเดินทางขึ้นมาชมกันไม่ได้ขาด
แต่ถ้าไม่อยากนั่งรถผ่านถนนวิบากมากนัก ก็ยังมีอีกจุดที่สามารถชมทะเลหมอกสวยๆ ของภูลังกาได้ประทับใจไม่แพ้กัน นั่นคือที่ “ภูลังการีสอร์ท” เป็นหนึ่งในที่พักวิวเทพ ตั้งอยู่ริมเขาเบื้องล่างเป็นแอ่งกระทะ และหากเช้าวันไหนที่อากาศเป็นใจ เมื่อมองลงไปยังหุบเขาแอ่งกระทะก็จะเห็นทะเลหมอกลอยอ้อยอิ่งอย่างสวยงามท่ามกลางภูเขาน้อยใหญ่ หรือจะเลือกไปนั่งจิบกาแฟอุ่นๆ ดูทะเลหมอกงามๆ ที่ร้านกาแฟ “Magic Mountain” ซึ่งอนู่ติดกับภูลังการีสอร์ท ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีไม่น้อยเลย
อิ่มเอมใจกับทะเลหมอกงามๆ แล้ว ก็ออกเดินทางกันต่อ ตรงไปที่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา ที่นี่มีวัดเก่าแก่ สวยๆ งาม ให้ได้ยลกันหลายวัด เริ่มต้นจากหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว“อันซีนไทยแลนด์” แห่งเมืองพะเยานั่นก็คือ "พระเจ้านั่งดิน" ที่ประดิษฐานอยู่ที่ "วัดพระเจ้านั่งดิน" ต.เวียง อ.เชียงคำ (ห่างจากตัวอำเภอเชียงคำ 4 กม.)
พระเจ้านั่งดิน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีความแปลกเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นหนึ่งเดียวไม่เหมือนที่ไหนๆ เพราะเป็นพระประธานที่ประดิษฐานอยู่บนพื้น ไม่มีฐานชุกชีรองรับเหมือนกับพระประธานองค์อื่นๆ
สำหรับความเป็นมาของพระเจ้านั่งดินนั้น มีเรื่องเล่าขานว่า ในอดีตเมื่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เสร็จได้วางท่านไว้บนพื้นราบ ครั้นต่อมามีชาวบ้านพยายามสร้างฐานชุกชีให้อัญเชิญท่านขึ้นตั้งอยู่บนนั้น แต่ปรากฏว่าพยายามเท่าไหร่ก็ยกไม่ขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกสืบต่อกันมาว่า "พระเจ้านั่งดิน"
ในอำเภอเชียงคำยังมีอีกหนึ่งวัดสำคัญนั่นก็คือ “วัดนันตาราม” ที่ตั้งอยู่ที่บ้านดอนไชย ในเขตสุขาภิบาลเมืองเชียงคำ
วัดนันตารามเป็นวัดที่โดดเด่นไปด้วยงานศิลปกรรมแบบไทยใหญ่ ตัววิหารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีการฉลุไม้ตกแต่งลวดลายอย่างสวยงาม ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญๆอยู่หลายองค์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธรูปหยกขาว,พระเจ้าแสนแส้, พระพุทธรูปเกสรดอกไม้ และพระพุทธปฏิมาประธาน พระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนปางมารวิชัย ทำจากทองสำริดทรงเครื่องแบบไทใหญ่ ประทับบนสิงหบัลลังก์ไม้ที่แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม
และอีกวัดที่น่าแวะไปคือ “วัดพระธาตุสบแวน” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระธาตุเจดีย์ที่มีความเก่าแก่คือ “พระธาตุสบแวน” อายุราว 800 ปี ศิลปะแบบล้านนา ภายในองค์พระธาตุบรรจุเส้นพระเกศาและกระดูกส่วนคางของพระพุทธเจ้าไว้
ซึ่งหากสักการะองค์พระธาตุเสร็จแล้ว อย่าลืมแวะมาดู “ต้นจามจุรียักษ์” ที่อยู่ด้านข้างวัด (อยู่ในโรงเรียนอนุบาลเชียงคำ) ที่มีรูปทรงสวยงาม แผ่กิ่งก้านสาขาออกมาโดยรอบ
ออกจาก อ.เชียงคำ เราก็ใช้ทางหลวงหมายเลข 1093 เพื่อมุ่งไปสู่ จ.เชียงราย แต่ระหว่างเส้นทางนั้นต้องผ่าน อ.ภูซาง ซึ่งเป็นอำเภอชายแดนไทย-ลาว และยังเป็นอำเภอสุดท้ายของพะเยา ก่อนจะเข้าสู่ จ.เชียงราย
โดยที่ อ.ภูซาง เป็นที่ตั้งของ “อุทยานแห่งชาติภูซาง” ซึ่งมีไฮไลท์คือ “น้ำตกภูซาง” ที่มีความแปลกพิศวงเพราะเป็นน้ำตกอุ่นหนึ่งเดียวในไทยจนได้รับการยกย่องให้เป็น “อันซีนไทยแลนด์”
น้ำตกภูซาง มีอุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส เป็นน้ำตกหินปูนอันสวยงาม มีชั้นเดียว สูง 20 กว่าเมตร ไหลเป็นสายฟูฟ่องลงมาสู่ธารน้ำเบื้องล่าง ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติและแมกไม้อันร่มรื่น ภายใต้กันจัดตกแต่งภูมิทัศน์อย่างเป็นระเบียบ น่าพักผ่อนหย่อนใจของอุทยานฯ ใครที่ขับรถผ่านก็จะสามารถมองเห็นน้ำตกจากริมถนนได้เลย
ต้นกำเนิดของน้ำตกอุ่นภูซางมาจาก "บ่อซับน้ำอุ่น” ที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินของพรุน้ำจืดที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งทางอุทยานฯได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติจากน้ำตกภูซางสู่บ่อซับน้ำอุ่น โดยมีการทำเส้นทางให้เดินอย่างสะดวกสบาย ระหว่างทางผ่านพื้นป่าอันร่มรื่น มากไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของอุทยานฯแห่งนี้
พ้นจาก อ.ภูซาง จ.พะเยา ก็เข้าสู่เขต อ.เทิง จ.เชียงราย อันเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง “ภูชี้ฟ้า” โดยระหว่างเส้นทางของทางหลวงหมายเลข 1093 จะลัดเลาะภูเขาไปตลอดเส้นทาง ผ่านหมู่บ้าน ทิวเขา และทิวทัศน์งดงามที่สามารถมองออกไปได้สุดลูกหูลูกตา
เมื่อพูดถึง “ภูชี้ฟ้า” แน่นอนว่าหลายคนจะต้องนึกถึงภาพทะเลหมอกอลังการในยามเช้า ซึ่งภูชี้ฟ้านั้นอยู่ในเขตวนอุทยานภูชี้ฟ้า บ้านร่มฟ้าไทย อ.เทิง จ.เชียงราย บนรอยต่อของเส้นแบ่งพรมแดนไทย-ลาว เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่นที่เป็นดังหลังคาเชียงราย มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,628 เมตร มีรูปพรรณสัณฐานอันโดดเด่นด้วยลักษณะเป็นหน้าผาตัด ยอดภูเป็นเหลี่ยมแหลมทิ่มแทงฟ้า
นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปชมทิวทัศน์และทะเลหมอกที่ภูชี้ฟ้ากันตั้งแต่เช้ามืดท่ามกลางอากาศหนาวเย็นและลมพัดแรง โดยจากบริเวณจุดจอดรถจะต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 700 เมตรก็จะถึงยอดภูชี้ฟ้า แต่ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวมักแวะรอชมพระอาทิตย์ขึ้นระหว่างทาง เพื่อให้เห็นจุดชมวิวมุมยอดนิยมที่ปรากฏเป็นภาพสัญลักษณ์ของภูชี้ฟ้า นั่นคือจุดที่สามารถมองเห็นยอดแหลมของภูที่ชี้พุ่งไปสู่ท้องฟ้า ท่ามกลางทะเลหมอกหนาเป็นปุย พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า และแนวยอดภูเบื้องล่างได้อย่างลงตัวงดงาม
หลังจากดวงตะวันค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้า แสงแดดสีส้มจะสาดส่องทำให้ทะเลหมอกกลายเป็นสีทอง เป็นภาพที่น่าประทับใจยิ่งนัก เราสามารถเดินขึ้นไปชมความงามนี้ได้บนยอดภูชี้ฟ้าที่มีลักษณะเป็นยอดหน้าผาตัด มองลงไปเห็นทิวทัศน์ได้หลายมุม โดยเฉพาะภาพทะเลหมอกยามเช้าของที่นี่ในยามฟ้าเปิดเรียกได้ว่ามีความสวยงามเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศเลยทีเดียว
และห่างจากภูชี้ฟ้าออกไปอีกราว 25 กิโลเมตร ก็จะมาถึง “ดอยผาตั้ง” ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านผาตั้ง ต.ปอ อ.เวียงแก่น เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่นเช่นเดียวกับภูชี้ฟ้า มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,635 เมตร โดยเป็นภูเขากั้นเขตแดนไทย-ลาว ถือเป็นจุดชมวิวชั้นดีที่ชมพระอาทิตย์ได้ทั้งในยามเช้าและเย็น โดยในตอนเช้าก็จะได้ชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นอย่างสวยงาม ส่วนยามเย็นถือเป็นจุดชมทิวทัศน์และจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งามไม่แพ้ใคร
จากจุดจอดรถสามารถเดินขึ้นภูเขามายังจุดชมวิวบริเวณเนิน 102 และเนิน 103 ได้ไม่ไกลนัก ใครขี้เกียจเดินจะนั่งบนหลังม้าชมวิวที่ชาวบ้านแถบนั้นเขาจัดไว้บริการก็ได้ และระหว่างทางขึ้นไปสู่จุดชมวิวยังมี “ผาบ่อง” ที่เป็นดังประตูสยามสู่ประเทศลาว มีลักษณะเป็นช่องหินขนาดใหญ่ที่คนเดินลอดได้อยู่ในแนวหน้าผา มองไปเห็นวิวประเทศลาวได้อย่างชัดเจน
ไม่ไกลจากผาบ่องยังมี “ช่องเขาขาด” เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวสวยๆ มีลักษณะเป็นช่องเขาแคบๆ ที่ขาดแยกออกจากกัน สามารถไปยืนรับลมชมวิวของประเทศลาวได้เป็นอย่างดี เลยช่องเขาขาดขึ้นมาจะเป็นเนิน 102 เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตก ที่มองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกลงดงาม
ใครที่กำลังมองหาภูเขางามๆ สำหรับไปพักผ่อนหย่อนใจในช่วงหน้าหนาวแบบนี้ “ตะลอนเที่ยว” แนะนำเส้นทางพะเยา-เชียงราย เส้นนี้เลย เพราะจะได้ชมทะเลหมอกจนอิ่มใจ กับภูเขาสวยๆ และอากาศดีๆ ที่สามารถสูดเข้าไปได้จนชุ่มฉ่ำใจ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดพะเยาและเชียงรายเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย (พื้นที่รับผิดชอบ เชียงราย,พะเยา) โทร.0-5371-7433,0-5374-4674-5
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com