xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวตามไก่...คลาสสิกเก๋ไก๋ ในเมืองต้องห้าม...พลาดพลัส “ลำปางplusลำพูน” /ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน พระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกาหรือปีไก่
ปีนี้ พ.ศ. 2560 เป็นปีระกา หรือปีไก่

สำหรับคนไทยเราถือว่าคุ้นเคยกับไก่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาหารเกี่ยวกับไก่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไก่ย่าง ไก่ทอด แกงไก่ กระเพราไก่ ฯลฯ

นอกจากนี้ในบ้านเรายังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับไก่อยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งบางแห่งนั้นถือว่าไม่ธรรมดาเอาเสียเลย โดยเฉพาะในสองจังหวัด“ลำ”ของภาคเหนือ คือ“ลำปาง”และ“ลำพูน” ที่ทาง“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย”(ททท.) ได้คัดสรรจับคู่ให้เป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยว “เมืองต้องห้ามพลาด...plus”(เมืองต้องห้าม...พลาดพลัส) ภายในแนวคิด “เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา”
ชามตราไก่หนึ่งในสัญลักษณ์เลื่องชื่อของลำปาง
ดังนั้นเพื่อเป็นการเถลิงศกรับศักราชใหม่ รับปีไก่-ระกา ผมจึงขอพาไปรู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับไก่ในเส้นทาง “ลำปาง plus ลำพูน” ซึ่งจะมีที่ไหนบ้าง ขอเชิญทัศนากันได้

ลำปาง

จังหวัดลำปางนอกจากจะมีฉายาอันลือลั่นว่า “เมืองรถม้า”แล้ว ลำปางยังได้ชื่อว่า “เมืองไก่” อีกด้วย
ประติมากรรมชามตราไก่ที่ทำไว้ให้นั่งท่องเที่ยวเข้าไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ที่ จ.ลำปาง
เนื่องจากจังหวัดลำปางนอกจากจะมีชื่อดั้งเดิมว่า“เขลางค์นคร”แล้ว ยังมีชื่อเก่าแก่อีกชื่อหนึ่งว่า “กุกกุฏนคร” (อ่านว่า กุก-กุ-ตะ-นคร ซึ่ง กุกกุฏ แปลว่า ไก่) ซึ่งตามตำนานได้กล่าวเอาไว้ว่า

...เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกโปรดสัตว์มาจนถึงเมืองนี้ พระอินทร์ได้ทราบก็เกรงว่าชาวเมืองจะตื่นไม่ทันทำบุญกับพระพุทธองค์ จึงแปลงกายเป็นไก่สีขาวขันปลุกชาวเมืองให้ตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อหุงหาอาหาร และเพื่อให้ทันออกมาทำบุญตักบาตร รวมถึงเพื่อให้ ทราบว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตื่น เพื่อทำงานตามหน้าที่ ที่ตนเองรับผิดชอบ...

นั่นจึงเป็นที่มาของ “กุกกุฏนคร” ชื่อเก่าแก่ของจังหวัดลำปาง
ตราสัญลักษณ์จังหวัดลำปางรูปไก่ขาวในซุ้มมณฑป
ด้วยเหตุนี้ลำปางจึงใช้รูป“ไก่ขาว” หรือ “ไก่เผือก” ยืนเด่นเป็นสง่าอยู่กลางซุ้มมณฑป(ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง) เป็นตราสัญลักษณ์จังหวัด ซึ่งสามารถบ่งบอกความเป็นเมืองลำปาง อดีต “กุกกุฏนคร” ได้อย่างชัดเจน
เสาสะพานรัษฎาภิเศก ด้านหน้าประดับรูปครุฑ ด้านข้างประดับรูปไก่ขาว
นอกจากรูปไก่ขาวในตราจังหวัดแล้ว ลำปางยังมีสัญลักษณ์แห่งไก่ปรากฏเด่นชัดอยู่ทั่วไปในจังหวัดนี้ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายชื่อถนน เกาะกลางถนน หรือในอีกหลายๆจุด รวมไปถึงรูปไก่ขาวที่ประดับอยู่ด้านข้างเสา “สะพานรัษฎาภิเศก” สะพานเก่าแก่อันสวยงามสุดคลาสสิกคู่เมืองลำปาง(ส่วนด้านหน้าเสาสะพานประดับรูปครุฑ) ซึ่งก็ทำให้ใครหลายๆคนเรียกสะพานแห่งนี้สั้นๆว่า “สะพานตราไก่”
ลวดลายไก่ขาวที่ประดับไว้ที่ข้างเสาสะพานรัษฎาภิเศก
เสน่ห์แห่งไก่ในลำปางยังไม่หมดแค่นี้ เพราะลำปางนั้น ยังมีอีกหนึ่งฉายาอันแสนเก๋ไก๋นั่นก็คือ “ลำปาง เมือง ช้าง ม้า ก๋าไก่” อันหมายถึงสัตว์ 3 ชนิดที่เป็นดังเอกลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดลำปาง
เสน่ห์แห่งช้างไทยที่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งทำให้ลำปางถูกเรียกขานว่าเป็นเมืองช้าง ม้า ก๋าไก่
โดยช้างนั้นมาจาก “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” หรือ “สถาบันคชบาลแห่งชาติ”(ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร) แหล่งเลี้ยงช้าง ฝึกช้าง และอนุรักษ์ช้าง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระบือไกลไปถึงเมืองนอกเมืองนา ที่นี่เราจะได้สนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับความน่ารักแสนรู้ของจากไทย ผ่านการแสดงโชว์ความสามารถอันหลากหลายต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความความมหัศจรรย์ของช้างไทย ที่น่าทึ่งและน่าประทับใจกระไรปานนั้น
ลำปางเมืองรถม้า
ส่วนม้ามาจาก“รถม้า” ซึ่งปัจจุบันลำปางเป็นจังหวัดเดียวในเมืองไทยที่ยังคงมีรถม้าวิ่งอยู่ จนทำให้ลำปางได้รับฉายาให้ว่า“เมืองรถม้า” อันลือลั่น ควบคู่ไปกับคำกล่าวขานที่ว่า “หากมาเที่ยวลำปางแล้วไม่ได้นั่งรถม้า ก็เท่ากับว่ามาไม่ถึงจังหวัดลำปาง”
ชามตราไก่หนึ่งในสัญลักษณ์เลื่องชื่อของลำปาง
ขณะที่ไก่ที่เป็นไฮไลท์ของบทความตอนนี้ นอกจากเรื่องราวความเป็นเมืองไก่ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ลำปางยังขึ้นชื่อมีเสียงโดดเด่นเป็นเอกอุในเรื่องของ “ชามตราไก่” หรือ “ชามก๋าไก่” ผลิตภัณฑ์เซรามิกเลื่องชื่อของเมืองลำปางที่ได้สืบสานมรดกทางภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดลำปาง
กระบวนการทำชามตราไก่มีให้ชมกันสดๆที่ พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี จ.ลำปาง
สำหรับความเป็นมาของชามตราไก่อันสุดคลาสสิกของลำปางนั้น มีข้อมูลระบุว่า

...แรกเริ่มเดิมที ชามตราไก่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ก่อนจะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ด้วยการส่งจากเมืองจีนมาจำหน่ายให้แก่ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีความนิยมใช้แพร่หลายมากขึ้น
กระบวนการทำชามตราไก่มีให้ชมกันสดๆที่ พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี จ.ลำปาง
กระทั่งในช่วงราวก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชามตราไก่มีความต้องการจากผู้ซื้อในเมืองไทยมาก พ่อค้าชาวจีนจึงสั่งชามตราไก่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทำให้ชามตราไก่ขาดตลาด ชาวจีนที่เคยทำชามไก่ในประเทศจีนและได้อพยพมาอยู่เมืองไทยจึงได้ก่อสร้างโรงงานและเตาเผาชามตราไก่ขึ้น

โดยที่จังหวัดลำปางนั้น ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า ในช่วงราวๆปี พ.ศ. 2500 กลุ่มชาวจีนที่นำโดยนายซิมหยู แซ่ฉิม ได้ร่วมกันก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาแห่งแรกในจังหวัดลำปาง และได้ผลิตชามตราไก่ออกขาย อันเป็นการเปิดตำนานของชามตราไก่ในจังหวัดลำปาง...
ผลิตภัณฑ์เซรามิกไก่ลำปาง
หลังจากนั้นมาชามตราไก่ลำปางก็ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบันชามตราไก่ได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์จังหวัดลำปางควบคู่ไปกับความเป็นเมืองเซรามิกอันขึ้นชื่อ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายไปถึงเมืองนอกเมืองนา
พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี แหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ เรื่องเซารามก และชามตราไก่ แห่ง จ.ลำปาง
สำหรับแหล่งชม-ช้อปงานเซรามิกและชามตราไก่นั้นก็มีอยู่ทั่วไปในจังหวัดลำปาง ส่วนใครถ้าอยากเลือกซื้อเซรามิกสวยๆงามๆควบคู่ไปกับชมกระบวนการผลิต เรียนรู้ความเป็นมาของชามตราไก่ และงานเซรามิกต่างๆ “พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี”ที่ตั้งอยู่ที่ถนนวัดจองคำ ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง
ชวนตามรอบชามตราไก่ในพิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี จ.ลำปาง
พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เพราะที่นี่ได้รวบรวมเรื่องราวต้นกำเนิดชามตราไก่ในลำปางไว้ให้ศึกษาเที่ยวชม อีกทั้งยังมีสิ่งน่าสนใจเด่นๆอย่าง ชามตราไก่ที่เล็กที่สุดในโลก ชามตราไก่ใบยักษ์ ชามตราไก่ทองคำ และ“เตามังกร”เตาเผาโบราณ ที่ปัจจุบันหาชมไม่ได้ง่ายๆ
ชามตราไก่เล็กจิ๋วขนาดเมล็ดข้าวสารที่ พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี จ.ลำปาง
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ของลำปางเมืองไก่ ที่เวลาผมไปทีไร มักจะต้องหิ้วชามตราไก่และงานเซรามิกฝีมือดีของที่นี่ติดไม้ติดมือกลับบ้านมาทุกทีไป

ลำพูน
พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน พระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกาหรือปีไก่
จากลำปางเมืองไก่ เราไปต่อยังจังหวัดติดกันอย่าง“ลำพูน” เมืองเล็กๆอันสงบงาม ที่น่ายลไปด้วยไออดีตแห่งนครหริภุญชัยอันสุดแสนจะคลาสสิก

ลำพูนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งพระธาตุปีไก่ เพราะเป็นที่ประดิษฐาน “พระธาตุหริภุญชัย” พระธาตุประจำปีของคนเกิดปีไก่หรือปีระกา ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาโบราณในเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด หรือการไหว้พระธาตุประจำปีนักษัตร(12 นักษัตร) ซึ่งคนที่เกิดปีไก่เพื่อความเป็นสิริมงคลสูงยิ่งของชีวิต ให้ไปนมัสการ “พระธาตุหริภุญชัย” ที่ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร” หมู่ 1 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน
พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน พระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกาหรือปีไก่
พระธาตุหริภุญชัย เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดลำพูน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูน และเป็นหนึ่งในพระธาตุสำคัญแห่งดินแดนล้านนา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. 1607 โดย พระเจ้าอาทิตยราชเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประกอบด้วย ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง ซึ่งตามตำนานพระธาตุหริภุญชัยกล่าวว่า ลักษณะขององค์พระธาตุที่สร้างแรกเริ่มเดิมทีเป็นไปตาม พุทธทำนาย คือ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาท สูง 12 ศอก(6 เมตร) มีซุ้มทวาร เข้า- ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทศิลาแลงสี่เหลี่ยมอยู่มุมละองค์

ครั้นเมื่อพญามังราย เข้ามายึดเมืองหริภุญชัยไว้ในครอบครอง ทรงโปรดให้บูรณะองค์พระธาตุหริภุญชัย ปรับปรุงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด ต่อมาในราวปี พ.ศ. 1990(บางข้อมูลระบุปี พ.ศ. 1986) สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้บูรณะพระธาตุหริภุญชัยครั้งใหญ่ มีการปรับรูปทรงเป็นเจดีย์ดังรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน
พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน พระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกาหรือปีไก่
องค์พระธาตุหริภุญชัย ปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆัง(ทรงกลม)แบบล้านนาอันสวยงามสมส่วน องค์พระธาตุบุทองจังโกสีทองงดงามอร่ามตา ฐานชั้นล่างสุด เป็นฐานเขียง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป 3 ชั้น ถัดจากฐานเขียง เป็นฐานบัวลูกแก้วหรือฐานปัทม์

ส่วนกลาง เป็นชั้นที่ถัดจากบัวลูกแก้วขึ้นไป ทำเป็นฐานเขียงกลมซ้อนกัน 3 ชั้น และถัดขึ้นไปทำเป็นฐานกลมมีลักษณะ คล้ายมาลัยเถาซ้อนกัน 3 ชั้นรองรับองค์ระฆังส่วนกลาง โดยรอบระฆังทำเป็นลายดุนรูปดอกไม้สี่กลีบ และระหว่างลายดอกไม้สี่กลีบ มีการทำเป็นลายดุนนูน เป็นรูปพระพุทธรูป ส่วนบนถัดจากองค์ระฆังขึ้นไปเป็นส่วนบัลลังก์ก้านฉัตรปล้องไฉน ปลียอดบนสุดเป็นฉัตร 9 ชั้น

ทุกๆปีในวันเพ็ญเดือนหกจะมีการจัดงาน “ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย” โดยจะมีการอัญเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จาก“ดอยมะข้อ”มาเข้าร่วมการสรงน้ำตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณ ซึ่งนอกจากชาวจังหวัดลำพูนแล้ว ก็ยังมีประชาชนคนไทยในจังหวัดต่างๆและชาวต่างชาติเดินทางมาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น
กู่ไก่ จ.ลำพูน (ภาพจากหนังสือเจ้าพ่อกู่ช้าง)
นอกจากพระธาตุปีไก่แล้ว ในลำพูนยังมี “กู่ไก่” ซึ่งเป็น(สุสาน)เจดีย์ที่ฝังซากร่างของสัตว์คู่บารมีของพระนางจามเทวี อันได้แก่ “กู่ช้าง” “กู่ม้า” “กู่แมว” และ “กู่ไก่” อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุซากร่างของไก่แก้วสีขาวคู่บารมีของพระนางจามเทวีและคู่ขวัญของเมืองหริภุญไชย ที่หลังวัดไก่แก้ว ชุมชนไก่แก้ว อ.เมือง ให้ผู้คนไปสักการะบูชากัน

และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์แห่งไก่ในสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองต้องห้าม...พลาดplus “ลำปางplusลำพูน” เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา ซึ่งทั้ง 2 จังหวัด นอกจากจะอวลไปด้วยกลิ่นอายของเสน่ห์วันวานอันสุดแสนจะคลาสสิกแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับไก่ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

***************************************
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวในบทความ และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดลำปางและลำพูนเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานลำปาง (พื้นที่รับผิดชอบลำปาง,ลำพูน) โทร.0-5422-2214-15 เปิดทุกวัน เวลา 08.30น.-16.30น.
กำลังโหลดความคิดเห็น