“ไก่ย่าง” เป็นเมนูที่หากินได้ง่ายในบ้านเรา เรียกว่าเดินไปตามถนนหรือตรอกซอกซอยไหนก็มักจะเห็นไก่ย่างควันโขมงเปิดขายกันโดยทั่วไป
ความน่ากินของไก่ย่างก็คือ กลิ่นหอมๆ จากการย่างและเครื่องหมักต่างๆ เนื้อนุ่ม ได้รสชาติ ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีเคล็ดลับการหมักไก่และย่างไก่ที่แตกต่างกันไป
ส่วนไก่ย่างชื่อดังของไทยนั้น ก็มีอยู่หลากหลายเจ้า แต่ที่เด่นๆ ส่วนใหญ่ก็จะขายอยู่ตามริมถนนเส้นหลักในจังหวัดต่างๆ เสียมากกว่า เนื่องจากไก่ย่างนั้นเป็นอาหารแห้งที่สามารถพกพาไปกินได้ง่าย ไม่ว่าจะแวะกินหรือซื้อติดไม้ติดมือไปกินระหว่างเดินทางก็สะดวกดี
และนี่คือ “ไก่ย่างแบรนด์ไทย” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีไปทั่วประเทศ
ไก่ย่างวิเชียรบุรี
ริมถนนสายหลัก บริเวณ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ แต่เดิมนั้นเป็นจุดแวะพักสำหรับคนเดินทาง เนื่องจากมีต้นไม้ร่มรื่น พื้นที่เหมาะสำหรับการพัก จึงทำให้มีชาวบ้านมาย่างไก่ ตำส้มตำ และนึ่งข้าวเหนียวเพื่อขายให้กับผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ซึ่งเมนูหลักๆ ที่ผู้คนชื่นชอบก็คือ ไก่ย่าง
ความพิเศษของไก่ย่างวิเชียรบุรี คือ หนังไก่จะแห้งกรอบ ส่วนเนื้อจะนุ่ม กลิ่นหอม รสชาติเค็มมันพอดี รับประทานได้โดยไม่ต้องจิ้มน้ำจิ้มก็ได้ แต่ก็ยังมีน้ำจิ้มที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ก็คือ น้ำจิ้มมะขาม และน้ำจิ้มสูตรกระเทียมดอง ซึ่งเป็นสูตรของ จ.เพชรบูรณ์
ด้วยชื่อเสียงและความนิยมในไก่ย่างวิเชียรบุรี ทำให้เกิดอาชีพที่เอื้อกันต่อมา เช่น การเลี้ยงไก่ การรับจ้างถอนขนไก่ รวมทั้งการจำหน่ายอาหารอื่นๆ ข้าวหลาม เครื่องดื่ม และของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ นับเป็นการสร้างงานและรายได้ให้แก่ชุมชนโดยเฉลี่ยในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก
ไก่ย่างเขาสวนกวาง
ไก่ย่างเขาสวนกวาง เริ่มต้นจากการขายไก่ย่างริมถนน แบบที่เป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน และขายให้กับผู้ที่สัญจรผ่านไปผ่านมาในแถบนั้นได้ชิม และกินคู่กับข้าวเหนียวนึ่ง ต่อมา เมื่อถนนมิตรภาพมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงทำให้การค้าขายไก่ย่างเขาสวนกวางคึกคักขึ้นด้วยเช่นกัน เริ่มมีการพัฒนามาเป็นร้านนั่ง หลังจากที่ขายไก่ย่างเป็นเพิงในสมัยก่อน จนในปี พ.ศ.2517 ก็ได้มีการจัดการประกวดไก่ย่างเขาสวนกวาง ทำให้พ่อค้าแม่ค้าเริ่มหันมาพัฒนารสชาติให้ดีขึ้น
จุดเด่นของไก่ย่างเขาสวนกวางคือ การคัดเลือกไก่ เกรดซี พันธุ์เนื้อ อายุประมาณ 45-50 วัน มีน้ำหนักและขนาดประมาณ 700-800 กรัมต่อตัว นำมาหมักกับสูตรเฉพาะของทางอำเภอประกอบด้วย เกลือแกง ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ ซอสปรุงรส ขิงแก่ กระเทียม พริกไทยป่น น้ำปลา โดยนำมาผสมและคลุกเคล้าให้เข้ากัน บีบนวดให้เข้าถึงเนื้อไก่และทิ้งไว้อย่างน้อย 20 นาที ก่อนนำไก่ทั้งตัวที่หมักแล้วไปย่างบนไฟที่พอเหมาะบนเตา สำหรับน้ำจิ้มก็เป็นสูตรเฉพาะเช่นกัน คือ การใช้น้ำมะขามเปียกต้ม ผสมน้ำปลา พริกแห้งป่น น้ำตาล
ไก่ย่างห้วยทับทัน
ไก่ย่างห้วยทับทัน จะวางขายอยู่ริมฝั่งสองข้างทางของถนนศรีสะเกษ-สุรินทร์ ซึ่งนอกจากจะขายอยู่ตามร้านแล้ว ก็ยังมีบางส่วนที่เดินเร่ขายมายังรถที่จอดรับส่งผู้โดยสารอยู่ด้วย ซึ่งในอดีต ก็ยังมีการนำไก่ย่างเหล่านี้ไปขายบนขบวนรถไฟ เนื่องจากในอำเภอมีสถานีรถไฟ สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี วิ่งผ่าน จนกระทั่งมีการสร้างถนน จึงได้ขยับขยายมาขายอยู่ริมทางเหมือนในปัจจุบัน
ความพิเศษของไก่ย่างที่นี่มีหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ คือ การนำไก่พื้นเมืองหรือที่ชาวห้วยทับทันเรียกว่าเป็น “ไก่สามสายเลือด” เพราะเป็นลูกผสมของไก่ข้ามสายพันธุ์ ได้แก่ ไก่โรดไอส์แลนด์ ร่วมกับไก่ซุปเปอร์ฮาโก้ และผสมกับไก่พื้นเมืองไก่ชน ทำให้ได้ไก่ที่เนื้อค่อนข้างเหนียว เหมาะกับการนำมาทำเป็นไก่ย่าง
ส่วนอีกหนึ่งจุดเด่นที่จะขาดไม่ได้ คือ การนำไม้มะดัน ซึ่งเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปริมลำห้วยทับทัน มาใช้เป็นไม้สำหรับย่างไก่ จึงทำให้ไก่ย่างห้วยทับทัน มีชื่อเรียกอีกอย่างที่ติดปากคนทั่วไปว่า “ไก่ย่างไม้มะดัน”
ไก่ย่างบางตาล
บริเวณสถานีรถไฟคลองบางตาล อ.บ้านโป่ง ขึ้นชื่อเรื่องของข้าวแกงและไก่ย่าง ซึ่งข้าวแกงนั้นก็จะมีแม่ค้าหาบมาขาย ให้ผู้โดยสารบนรถไฟตะโกนสั่งลงมา แล้วจึงตักใส่กระทงยื่นขึ้นไปให้ ส่วนไก่ย่างนั้น แม่ค้าพ่อค้าจะย่างจนสุกจากด้านล่าง แล้วจัดใส่ถาดแบกขึ้นไปขายบนโบกี้รถไฟ ขายไปเรื่อยๆ เมื่อหมดลูกค้าจึงลงรถไฟที่สถานีถัดไป แล้วรอขบวนรถที่สวนกลับมาทางเดิม
จุดเด่นของไก่ย่างบางตาลคือการหมักด้วยกระเทียมพริกไทยเพิ่มกลิ่นหอม ความอร่อยอยู่ที่เนื้อไก่นุ่มไม่แข็งกระด้าง เนื้อสุกไปจนถึงกระดูกไม่แฉะเละ บวกกับเครื่องปรุงที่หมักมาจนซึมซาบเข้าเนื้อใน ส่วนไม้ที่ใช้ประกบเป็นไม้ไผ่ ผ่าเป็น 3 แฉก แยกการย่างเป็นเนื้อส่วนอก ตะโพกติดน่อง แผ่เหมือนรูปพัด สีไก่เมื่อย่างแล้วออกเหลืองสวย หอมกลิ่นพริกไทย เวลากินไม่ต้องจิ้มน้ำจิ้มก็ได้ แต่หากได้กินคู่กับข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ ก็จะยิ่งอร่อย
ไก่ย่างโคราช
ไก่ย่างโคราช หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ไก่ย่างท่าช้าง” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “ไก่ย่างจักราช” เนื่องจากเดิมนั้น กิ่งอำเภอท่าช้าง ที่ขึ้นอยู่กับ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็น อ.จักราช จึงทำให้เปลี่ยนชื่อเรียกจากไก่ย่างท่าช้างมาเป็นไก่ย่างจักราชไปด้วย เดิมนั้นจะวางขายไก่ย่างอยู่ริมทางรถไฟ หน้าสถานีรถไฟท่าช้าง ต่อมาเมื่อมีถนนตัดผ่าน มีความสะดวกสบายมากขึ้น ก็เริ่มมีพ่อค้าแม่ค้ารับไก่ย่างจากหน้าสถานีรถไฟมาขายอยู่ในเมือง จึงทำให้สามารถหาไก่ย่างจักราชกินได้ง่ายมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปยังสถานีรถไฟเหมือนเมื่อก่อน
ไก่ย่างโคราช แตกต่างจากไก่ย่างเจ้าอื่นๆ ตรงที่เวลาหมักไก่ จะใส่เครื่องเทศจีน จำพวกเครื่องพะโล้และผงผสมเครื่องยาจีนลงไปด้วย และยังหมักเครื่องปรุงต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติของเนื้อไก่ เมื่อย่างสุกออกมาแล้วจึงมีกลิ่นที่หอมหวนชวนกิน แตกต่างไปจากไก่ย่างที่อื่นๆ
ไก่ย่างพังโคน
ไก่ย่างพังโคน เป็นภูมิปัญญาของชาว อ.พังโคน จ.สกลนคร ในการประกอบอาหารพื้นบ้าน ทำง่าย ขายคล่อง เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของอำเภอพังโคน ซึ่งผู้คนนิยมซื้อไปกินและซื้อฝากเพื่อนฝูง
ไก่ย่างของ อ.พังโคน มีจุดเด่นที่จะย่างแบบแห้ง ใช้ไก่ขนาดพอเหมาะ หมักสมุนไพร ย่างด้วยถ่านอ่อนๆ โดยโรยขี้เถ้ากลบ ให้ไห้ไฟที่ระอุ จะได้ไก่ที่แห้ง หนังกรอบ หอมไม้ไผ่และตอกที่ใช้ย่างไก่
นอกจากไก่ย่างแบรนด์ดังซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นลิ้นกันดีแล้ว ก็ยังมีไก่ย่างท้องถิ่นเด่นๆ อย่างไก่ย่างภูเวียง จ.ขอนแก่น หรือ ไก่ย่างบ้านแคน ที่อยู่ที่บ้านแคน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร (ในเส้นทางมุ่งหน้าสู่อุบลฯ ก่อนถึงอ.เขืองใน จ.อุบลราชธานี) เป็นไก่ย่างที่ขายอยู่ริมทาง มีจุดเด่นที่ความลงตัวในการหมักไก่ และน้ำจิ้มที่เป็นเอกลักษณ์
ทั้งนี้ไก่ย่างของแต่ละแห่งนั้นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งหน้าตา และรสชาติ ซึ่งใครที่ชอบไก่ย่างแบบไหน ก็เชิญเลือกชิมกันได้ตามชอบ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com