xs
xsm
sm
md
lg

น่าทึ่ง!!! สิ่งมหัศจรรย์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง ล่าสุดพบสิ่งมีชีวิต 163 ชนิดพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กะท่าง
WWF เผย การค้นพบสิ่งมีชีวิต 163 ชนิดพันธุ์ใหม่ ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง อาทิ งูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงิน ตุ๊กแกรูปร่างหน้าตาคล้ายมังกร กะท่างหรือจิ้งจกน้ำ กล้วยศรีน่าน เป็นต้น

รายงาน “สิ่งมหัศจรรย์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง” (Species Oddity) ฉบับล่าสุดของ WWF เผยให้เห็น การค้นพบอันน่าตื่นเต้นของทีมนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำงานวิจัยในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง กับการค้นพบสิ่งมีชีวิต 163 ชนิดพันธุ์ใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เช่น

ทั้งนี้ สามารถแบ่งสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่ออกได้เป็น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 9 ชนิดพันธุ์ ปลา 11 ชนิดพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 14 ชนิดพันธุ์ พืช 126 ชนิดพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 3 ชนิดพันธุ์ โดยพื้นที่ที่ค้นพบได้แก่ ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศพม่า ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย
การสำรวจแม่น้ำโขงในโครงการนี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540
สำหรับการสำรวจซึ่งดำเนินการโดย WWF นั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบทั้งหมดในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง มีจำนวนมากถึง 2,409 ชนิดพันธุ์

Jimmy Borah ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าของ WWF ประจำภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า “พื้นที่ลุ่มน้ำโขง เปรียบเสมือนสนามแม่เหล็กที่ดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์จากทั่วโลก ให้เข้ามาสำรวจและศึกษาถึง ความหลากหลายทางชีวภาพอันน่ามหัศจรรย์ในพื้นที่ นักวิทยาศาสตร์เองก็เป็นเหมือนวีรบุรุษผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อแข่งขันกับเวลาที่เหลือน้อยลง และเพื่อช่วยอนุรักษ์สัตว์หายากเหล่านี้”

จุดเด่นที่น่าสนใจของรายงาน สิ่งมหัศจรรย์ใหม่แห่งลุ่มน้ำโขง (Species Oddity) มีดังนี้
งูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงิน (Parafimbrios)
•งูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงิน หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Parafimbrios สามารถพบได้ตามพื้นที่หน้าผาที่สูงชันทางตอนเหนือของประเทศลาว โดยมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า สามารถพบงูชนิดดังกล่าวได้เพียงพื้นที่เดียว แต่จากการค้นพบล่าสุด พบว่ามีงูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงินอยู่ในพื้นที่อื่นด้วยเช่นกัน ซึ่งสร้างความหวังให้กับนักวิทยาศาสตร์ถึงโอกาสการอยู่รอดที่มากขึ้น
กิ้งก่าเขาหนามภูเก็ต (Acanthosaura phuketensis)
•กิ้งก่าเขาหนามภูเก็ต หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Acanthosaura phuketensis มีจุดเด่นคือแผงหนามยาวจากหัวถึงกลางสันหลัง สามารถพบได้ในป่าของจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันจำนวนมีจำนวนลดลง โดยมี สาเหตุจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและตกเป็นเหยื่อของการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
กล้วยศรีน่าน (Musa nanensis)
•กล้วยศรีน่าน หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Musa nanensis เป็นกล้วยพันธุ์หายาก สามารถพบได้ทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่จากปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าที่มากขึ้นส่งผลให้กล้วยศรีน่านอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
อึ่งขนาดเล็ก (Leptolalax isos)
•อึ่งขนาดเล็กซึ่งมีขนาดลำตัวยาวเพียง 3 เซนติเมตร หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Leptolalax isos สามารถพบได้ในประเทศกัมพูชาและประเทศเวียดนาม แต่จากสถานการณ์การทำป่าไม้ การขยายพื้นที่เกษตรกรรม และการก่อสร้างโครงการพลังงานน้ำขนาดใหญ่ ทำให้จำนวนของอึ่งชนิดพันธุ์ดังกล่าวมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
กะท่าง (Tylototriton anguliceps)
•กะท่าง หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Tylototriton anguliceps มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังสีส้มสลับดำที่นูนขึ้นมาเป็นทางยาว โดยสามารถพบได้ในจังหวัดเชียงราย ผิวหนังส่วนที่นูนขึ้นมานี้มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อสารกำจัดศัตรูพืช และปัจจุบันกะท่างกำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยที่ถูกทำลายลง
ตุ๊กแก (Gekko bonkowskii)
•ตุ๊กแก หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Gekko bonkowskii มีลักษณะเด่นคือ ส่วนหางจะเป็นปล้องสีฟ้าอ่อนสลับปล้องสีดำ สามารถพบได้ตามเทือกเขาที่ห่างไกลในประเทศลาว นักวิทยาศาสตร์ซึ่งศึกษาและสำรวจหินย้อยภายในถ้ำเป็นผู้ค้นพบตุ๊กแกชนิดพันธุ์ดังกล่าว การค้นพบครั้งนี้ เชื่อกันว่าอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่มากขึ้นถึงวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานในบริเวณเทือกเขาอันนัม
ดอกไม้ (Impatiens kingdon-wardii)
•ดอกไม้ ซึ่งมีลักษณะพิเศษที่มีวงกลีบเลี้ยง 2 ด้านยื่นขึ้นมาด้านข้างคล้ายกับหูของตัวการ์ตูนมิกกี้ เม้าส์หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Impatiens kingdon-wardii โดยสามารถพบได้บริเวณยอดเขาวิกตอเรีย ซึ่งตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาชิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า การค้นพบนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศพม่า ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการปกป้อง
ค้างคาว (Murina kontumensis)
•ค้างคาว ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีขนาดเล็กและมีขนหนาปกคลุมหัวและช่วงแขนด้านหน้า หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ Murina kontumensis สามารถพบได้บนที่ราบสูงตอนกลางของประเทศเวียดนาม

ปัจจุบัน ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างมากจากกระแสการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมือง การสร้างถนน ไปจนถึงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ รวมไปถึงปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งกำลังคุกคามความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่หลายหมื่นหลายพันให้อาจต้องสูญหายไปก่อนจะได้รับการค้นพบ

“นักสะสมสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่หายาก ยินยอมจ่ายเงินจำนวนหลายล้านบาท เพื่อให้ได้ครอบครองสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่มีคุณค่าเหล่านี้ ตลาดใหญ่ที่สำคัญคือบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศไทย และประเทศพม่า เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาและปรับการทำงานเพื่อปิดตลาดการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ให้หมดไป รวมไปถึงปิดฟาร์มเพาะเลี้ยงเสือและหมี ที่คอยป้อนสัตว์ให้กับตลาดค้าสัตว์ป่า” Jimmy Borah ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม
งูหัวสีสายรุ้งเหลือบเงิน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ WWF ได้นำเสนอ โครงการ เพื่อหยุดยั้งการค้าขายสัตว์ป่าและปิดตลาดค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรจากประเทศต่าง ๆ WWF มีปณิธานที่ชัดเจนว่าจะลดจำนวนการค้าสัตว์ป่า ซึ่งกำลังคุกคามความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ช้าง เสือ และแรด ผ่านการทำงานสนับสนุนกลไกด้านกฎหมาย การประสานความร่วมมือระหว่างชายแดน และการเพิ่มมาตรการกดดันการซื้อขายสินค้าจากสัตว์ป่าข้ามชายแดนให้เข้มข้นมากขึ้น
******************************************

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก WWF
กำลังโหลดความคิดเห็น