xs
xsm
sm
md
lg

”สลากย้อมเมืองลำพูน” งานบุญครั้งใหญ่ของผู้หญิง หนึ่งเดียวในโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สลากย้อม ประเพณีเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวแห่ง จ.ลำพูน
จังหวัดลำพูนจัดงาน “สลากย้อมเมืองลำพูนหนึ่งเดียวในโลก” ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ย. 59

จังหวัดลำพูนร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สภาวัฒนธรรมลำพูน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน เทศบาลเมืองลำพูน วันพระธาตุหริภุญชัย และชาวจังหวัดลำพูน ร่วมกันจัดงาน “สลากย้อมเมืองลำพูนหนึ่งเดียวในโลก” ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2559

ที่มาของสลากย้อมเมืองลำพูน เกิดขึ้นที่จังหวัดลำพูน เมื่อมีประเพณีการทานสลากภัตร ซึ่งเป็นการทำบุญประจำปีก่อนออกพรรษา คนล้านนามักจะจัดงานทานสลากภัตรที่ลำพูนก็จะเริ่มที่วัดพระธาตุหริภุญชัยในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 วัดต่างๆ ก็จะจัดแต่ก็อยู่ที่ความพร้อมของแต่ละวัดไม่จำเป็นต้องจัดทุกปี

ส่วนผู้ที่ทานสลาก ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมว่าจะทานอย่างไร ถ้าเป็นสลากธรรมดาก็เป็นสลากที่ทำง่ายๆ เหมือนสังฆทานสมัยก่อนเรียกว่า ก๋วยขี้ปุ๋ม เรียกตามลักษณะของก๋วยอ้วนกลม สลากโชค คือ สลากที่มีค่ามียอดปัจจัยมากอาจตกแต่งอย่างสวยงาม ใครจะถวายทานก็ได้หรือจะทำทุกครั้งก็ได้ ไม่กำหนดว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงที่เป็นเจ้าภาพ อาจเป็นคณะศรัทธารวมกันหรือกลุ่มต่างๆ มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพก็ได้

การทานสลากก็แล้วแต่เจตนาว่าจะทานไปหาใคร ซึ่งก็มี 1.ทานหาคนตาย 2.ทานเพื่อตัวเองเอาไว้ใช้ภายหน้า ซึ่งสลากทั้งสองประเภทที่กล่าวมาแล้วสามารถทำได้แล้วแต่เจตนาของเจ้าภาพ

ส่วน “สลากย้อม” ซึ่งเป็นสลากหนึ่งที่นำมาถวายทานในกิจกรรมงานสลากภัตร แต่ได้วางจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนให้ไว้สำหรับผู้หญิงที่เป็นเจ้าภาพได้เท่านั้น กุศโลบายที่สำคัญคือจะจัดทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะความยิ่งใหญ่ก็คือสลากจะต้องสวยงาม อลังการ ใช้จตุปัจจัยในการเตรียมงานมาก ใครจะทำได้ต้องมีความมุมานะอย่างสูง

ขณะที่ของใช้ที่ใส่เข้าไปในสลากย้อมก็คือเครื่องใช้ของผู้หญิงทั้งหมดเช่น แว่น หวี แป้งทาหน้า เครื่องสำอาง สร้อยแหวนเงินทองใส่ไปหมด สิ่งของเหล่านี้เมื่อถูกพระรับทานไปแล้วเจ้าของก็จะขอบูชาคืน ส่วนอีกประเภทหนึ่งก็คือ การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา คือเครื่องใช้ของสงฆ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
วัดพระธาตุหริภุญชัย
สำหรับคำว่า “สลากย้อม” ก็คือการเรียกชื่อตามสิ่งของก็คือสลากของผู้หญิงคนนี้จะต้องตกแต่งสีสันให้สวยงามก็คือ ย้อมสีตรงปลายเรียวไม้ไผ่อย่างสวยงามหลากหลายสี ของใช้ที่นำมาแขวนก็จะต้องแต่งหย้องประดับย้อมสี เพื่อให้สมกับการทานครั้งยิ่งใหญ่ของผู้หญิง ในสมัยโบราณจะทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น มีเหตุผลดังต่อไปนี้คือ เปรียบเหมือนกับการบวชของผู้ชายที่ทำได้เพียงครั้งเดียว เพราะการทานสลากย้อมต้องบอกบุญกับญาติมิตร มีการเตรียมงานอย่างใหญ่หลวง เชิญชวนคนมารับเอาบุญรับอานิสงส์ด้วย ซึ่งการบวชของผู้ชายก็เหมือนกันทำได้เพียงครั้งเดียว สลากย้อมก็นำคติความเชื่อนี้มาเป็นต้นแบบ เชื่อว่าได้ทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เพื่อเอาไว้ส่งเสริมบารมีในชาติหน้าภพหน้า เพราะเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ใช้การเตรียมงานร่วมเดือน

ลักษณะพิเศษของสลากย้อม คือ จะต้องนำประวัติของผู้หญิงที่มาเป็นเจ้าภาพมาแต่เป็นครรโลงเล่าตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้คนที่มาเที่ยวได้รับรู้ถึงประวัติของผู้ทานสลากย้อมก็เหมือนกับการเรียกขวัญ (ฮ้องขวัญ) พระนาคตามประเพณีล้านนาที่นำประวัติมาเล่าเป็นทำนองเทศน์ล้านนา เพื่อให้รู้ว่ากำลังจะทำความดีสละทุกอย่างเข้าร่มพระพุทธศาสนา

สลากย้อมต้องมีการแห่ มีขบวนแห่ซึ่งคนล้านนานิยมมาก การแห่คือการบอกบุญ บอกฟ้าดิน บอกเทวดา บอกสังคม บอกทุกอย่าง ว่าการทำความดีครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก ผู้คนที่พบเห็นจะสรรเสริญร่วมอนุโมทนาได้บุญกุศลร่วมกัน

กิจกรรมภายในงานที่จะจัดขึ้นครั้งนี้ อาทิ ถนนสายวัฒนธรรม จำหน่ายของกิน ของใช้ และของฝาก มีการแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงละคร การประกวดต้นสลาดย้อม การประกวดแห่ต้นสลากย้อม การประกวดการฮ่ำกะโลง

สำหรับงาน “สลากย้อมเมืองลำพูนหนึ่งเดียวในโลก” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2559 ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ อาจารย์บารเมศ วรรณสัย สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน วัดพระธาตุหริภุญชัย โทร.08-7714-4448
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น