โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)

วสันต์ฤดู...
เมื่อฝนโปรยสายลงมา ฟ้าชุ่มฉ่ำ ดินชุ่มน้ำ พื้นป่าทั่วไทยต่างพลิกฟื้นจากที่เคยแห้งแล้งกลับมาเขียวขจีมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
สำหรับป่า“ภูสอยดาว”นอกจากจากความเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำแล้ว ในช่วงหน้าฝนอย่างนี้ยังมีความพิเศษแตกต่างเมื่อธรรมชาติได้สรรค์สร้างความมหัศจรรย์เล็กๆขึ้น ด้วยการเนรมิตให้เหล่ามวลหมู่“ดอกหงอนนาค”ที่หลับใหล ต่างทยอยกันผลิบานออกดอกปูพรมดารดาษไปด้วยสีชมพูอมม่วง อวดโฉมความงามท่ามกลางลานสนอันกว้างใหญ่

รอคอยให้ผู้รักความท้าทายเดินทางฝ่าด่านความสมบุกสมบันและสูงชันขึ้นไปพิชิตภูสอยดาว พร้อมกับทัศนาความสวยงามของทุ่งดอกหงอนนาคที่น่าเพริศแพร้วกระไรปานนั้น
5 เนิน ไม่เพลินเลย
ภูสอยดาว ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ สถานที่พักค้างของผมกับคณะในค่ำคืนแรก ก่อนที่เช้าวันถัดไปพวกเราจะตื่นกันแต่เช้า เพื่อออกเดินทางขึ้นไปพิชิตเขาภูสอยดาว กับเส้นทางขึ้นเขาที่ลำบากโหดหินไม่น้อย

หลังจัดเตรียมสัมภาระให้ลูกหาบช่างกิโล และแบกของล่วงหน้านำไป ผมกับคณะก็มาตั้งต้น ถ่ายรูปหมู่ before กันก่อนขึ้นเขา ตรงบริเวณด้านหน้า“น้ำตกภูสอยดาว” อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวอันโดดเด่นของอุทยานฯแห่งนี้
ต่อจากนั้นก็ได้เวลารวบรวมพลังลมปราณ แล้วออกเดินขึ้นเขาระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ไปบนเส้นทางที่สูงชัน มีทางเดินในแนวระนาบราบๆ แค่ประมาณไม่ถึง 10% ซึ่งในระหว่างทางจะต้องผ่านเนินสำคัญ 5 เนิน ไล่เรียงไปตามลำดับ คือ

1.“เนินส่งญาติ” ที่มีเรื่องเล่ากันว่า เคยมีคนเดินขึ้นมาถึงที่นี่แล้ว หมดแรงไปต่อไม่ไหว เลยต้องส่งให้ญาติไปต่อ ส่วนเขาเดินกลับ
2. “เนินปราบเซียน” เนินนี้ไม่ว่าเซียนหรือเทพเดินป่าก็โดนปราบหมดแหละ
3.“เนินป่าก่อ” ตั้งชื่อตามสภาพภูมิประเทศที่มีต้นก่อหรือต้นโอ๊คขึ้นอยู่มาก
4.“เนินเสือโคร่ง” มาจากชื่อต้นกำลังเสือโคร่งที่มีอยู่แถวนั้นหลายต้น เปลือกของมันชาวบ้านนำมาต้ม ดองเหล้า บำรุงกำลังได้ดีทีเดียว

และ 5. “เนินมรณะ” เนินสุดท้ายที่มีสภาพต่างไปจากเนินอื่นๆ คือเป็นเนินโล่งชันดิกมีแต่ทุ่งหญ้าและไม้พุ่มเล็กๆไร้ต้นไม้ใหญ่ให้อาศัยร่มเงา อีกทั้งยังมีลมพัดแรง ในวันที่แดดแรงๆช่วงที่กำลังเดินขึ้นเดินนี้มันช่างโหดหินสุดติ่งดีจริงๆ แต่นั่นยังไม่เท่ากับบางปีที่อากาศร้อนมากๆ ที่นี่จะเกิดไฟป่าเผาผลาญ บรรยากาศมันช่างน่ากลัวสมชื่อเนินมรณะเสียจริงๆ

ทั้ง 5 เนินนี้ หากถามว่าเนินไหนเหนื่อยสุด บางคนบอกว่า เนินส่งญาติสิ เพราะเป็นเนินแรกที่ร่างกายเราอยู่ระหว่างการปรับตัวในการเดินขึ้นเขาชัน ส่วนบางคนก็ยกให้เนินมรณะเพราะมีความสูงชัน ร้อนแล้ง แถมยังต้องใช้ มือเป็นเท้าที่ 3 เท้าที่ 4 ช่วยปีนป่ายอีกต่างหาก งานนี้ก็ว่ากันไป ส่วนตัวผม ถือว่าเหนื่อยทุกเนินนั่นแหละ
ทุ่งดอกหงอนนาคสุดสวย

เมื่อเดินชนะเนินมรณะแล้ว อีกไม่นานก็จะถึงจุดหมายบนลานสนให้เราได้ถ่ายรูปคู่กับป้าย “ผู้พิชิตลานสนภูสอยดาว” ที่ระดับความสูง 1,633 เมตร อันเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ขึ้นไปพิชิต

ขณะที่ยอดสูงสุดของภูสอยดาวนั้นอยู่ที่ 2,102 เมตร ใครอยากพิชิตต้องขอให้เจ้าหน้าที่นำทางเป็นพิเศษ ใช้เวลาเดินจากลานสนไป-กลับ ร่วมๆวัน โดยทางอุทยานฯจะเปิดให้ขึ้นเฉพาะช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ของทุกปี

ลานสนภูสอยดาวมีเนื้อที่ราว 3,000 ไร่ เป็นลานสนที่มีความพิเศษหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลานสนสามใบตามธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เป็นลานสน 2 แผ่นดิน เพราะมีอาณาเขตติดประเทศลาวมีหลักกิโลเมตรแบ่งเขตแดนชัดเจน ที่สำคัญคือเป็นลานสนที่มากไปด้วยมวลหมู่ดอกไม้ โดยเฉพาะมวลมหา“ดอกหงอนนาค” ที่บานเป็นทุ่งใหญ่ จนได้ชื่อว่า“ภูสอยดาวเป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกหงอนนาคที่ใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดในเมืองไทย”

ดอกหงอนนาคมีชื่อเรียกอื่นๆเช่น หญ้าหงอนเงือก น้ำค้างกลางเที่ยง ถือเป็นนางเอกแห่งวสันต์ฤดูบนภูสอยดาว เพราะเป็นพืชล้มลุกที่แม้มีดอกออกทั้งปี แต่มันจะออกดอกมากในช่วงหน้าฝน มีทั้งดอกสีชมพูอมม่วง สีม่วงน้ำเงิน และสีขาว ซึ่งบนภูสอยดาวจะเป็นดอกหงอนนาคสีชมพูอมม่วง และมีหงอนนาคดอกสีขาวขึ้นแซมบ้างอยู่นิดหน่อยชนิดนับต้นได้ เพียงแต่ว่าต้องสอดส่ายสายตาหาดูให้ดี

หงอนนาคเป็นดอกไม้ที่หุบยามเช้า แต่จะบานในเมื่อมีแสงแดด และส่วนล่างของดอกมักจะมีน้ำค้างเกาะติดอยู่เป็นหยดใสสวยงาม จนได้ชื่อว่า “น้ำค้างกลางเที่ยง”
หงอนนาคบนภูสอยดาวจะเบ่งบานเต็มที่ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. สำหรับการขึ้นมาพิชิตลานสน เราจะได้ใกล้ชิดดอกหงอนนาคแบบสุดๆ เพราะที่ลานกลางเต็นท์นอนนั้น แวดล้อมไปด้วยทุ่งดอกหงอนนาค ชนิดเดินไปไม่กี่ก้าวก็ได้ถ่ายรูปกับดอกหงอนนาคสวยๆกันแล้ว

ใช่ว่าจะมีแต่ทุ่งดอกหงอนนาคแสนสวยเท่านั้น บนลานสนภูสอยดาว ยังมีดอกไม้ กล้วยไม้ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ สร้อยสุวรรณา เอนอ้า ชมพูนุช ชมพูเชียงดาว เหลืองพิศมร เอื้องแซะภูกระดึง มณีเทวา(กระดุมเงิน) เป็นต้น (สอบถามช่วงออกดอกบานของดอกไม้ กล้วยไม้ชนิดต่างๆได้จากอช.ภูสอยดาว)

นับได้ว่าภูสอยดาวเป็นอีกหนึ่งสวรรค์ของคนรักดอกไม้ ที่นักท่องเที่ยวต้องดูแต่ตา มืออย่างต้อง ถึงแม้อยากจะใกล้ชิดดอกหงอนนาคใจแทบขาด แต่ก็ต้องเดินชมในเส้นทางที่ทางอุทยานฯกำหนด หรือรอยเส้นทางเก่าที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อการเหยียบย่ำทำลายดอกหงอนนาคและดอกไม้อื่นๆ
หลักเขตไทย-ลาว

นอกจากดอกไม้ ป่าสน บนลานสนยังมีอีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลท์คือ “หลักเขตชายแดนไทย-ลาว” หรือหลักเขต 2 แผ่นดิน ที่อยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ทางด้านหลังไปประมาณ 1 กม.
หลักเขต 2 แห่งดินแห่งนี้ เป็นการก่อสร้างกันอย่างเท่าเทียม คือให้คนไทย 30 คน คนลาว 30 คน มาช่วยกันก่อหลักเขตกันคนละครึ่ง และแต่ละชาติต้องขนปูนขนทรายมาเอง แล้วก่อสร้างหลักเขตหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวที่ดูแล้วแนบเนียนไม่มีตำหนิให้ระคายตา

หลักเขตถือเป็นจุดถ่ายรูปชั้นดี ส่วนเลยหลักเขตเข้าไปทางฝั่งลาวแถวๆริมหน้าผา(มีเส้นทางเดินชัดเจน) ก็เป็นจุดรับสัญญาณโทรศัพท์เพียงจุดเดียวบนลานสน ที่ใครและใครหลายๆคน จะมาโทรศัพท์ อัพรูป โพสต์รูป โพสต์สเตตัสลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม กันมือเป็นระวิง ชนิดที่ถ้าทำไม่สำเร็จคืนนั้นอาจนอนไม่หลับ

ในเส้นทางเดินชมหลักเขต ยังมีเส้นทางเดินชมธรรมชาติเป็นวงรอบในระยะทาง 2.28 กิโลเมตร พาไปสัมผัสกับความสวยงามสง่าของต้นสนสามใบ ที่ในช่วงหน้าฝนด้านล่างจะแวดล้อมไปด้วยทุ่งดอกหงอนนาค ส่วนหน้าหนาวก็จะมีดอกไม้พืชพันธุ์ชนิดอื่นๆขึ้นทดแทนกันมา

ส่วนใครที่ชอบชมวิว บนลานสนมีจุดชมวิวเลาะเลียบหน้าผาหลายจุดให้ทัศนา รวมไปถึงจุดชมพระอาทิตย์ตก ที่ในวันท้องฟ้าอากาศเป็นใจ นี่นับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับฟ้าที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว

และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์แห่งภูสอยดาวที่ในช่วงหน้าฝนอย่างนี้ ภูสอยดาวจะเปล่งศักยภาพความงามสูงสุดออกมาผ่านทุ่งดอกหงอนนาคที่สวยที่สุดในเมืองไทย

ขณะที่การเดินขึ้นไปพิชิตยอดภูสอยดาว แม้มันจะสูงชัน ยากลำบากโหดหิน แต่เมื่อเราขึ้นไปพิชิตมันได้แล้ว สิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากความงดงามของธรรมชาติก็คือ
ภูสอยดาวสอนให้เราได้เรียนรู้ว่า การต่อสู้กับความยากลำบากจากอุปสรรคที่เผชิญผ่าน สิ่งสำคัญคือการพิชิตใจตัวเอง

******************************************
อุทยานฯภูสอยดาว เปิดให้เที่ยวชมตั้งแต่ 1 ก.ค. - 15 ม.ค. ของทุกฤดูกาล สำหรับช่วงที่ดอกหงอนนาคบานเต็มที่จะอยู่ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. (ควรโทร.สอบถามข้อมูลทุ่งดอกหงอนนาคบานจากทางอุทยานฯก่อน)
ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ “อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว” โทร. 0-5543-6001 หรือ ททท.สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบพื้นที่แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1127
หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลใหม่จากบทความ...ใกล้ตา ไกลตีน ปีนพิชิต “ภูสอยดาว”...ชมทุ่งดอกหงอนนาคสวยที่สุดในเมืองไทย
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
วสันต์ฤดู...
เมื่อฝนโปรยสายลงมา ฟ้าชุ่มฉ่ำ ดินชุ่มน้ำ พื้นป่าทั่วไทยต่างพลิกฟื้นจากที่เคยแห้งแล้งกลับมาเขียวขจีมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
สำหรับป่า“ภูสอยดาว”นอกจากจากความเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำแล้ว ในช่วงหน้าฝนอย่างนี้ยังมีความพิเศษแตกต่างเมื่อธรรมชาติได้สรรค์สร้างความมหัศจรรย์เล็กๆขึ้น ด้วยการเนรมิตให้เหล่ามวลหมู่“ดอกหงอนนาค”ที่หลับใหล ต่างทยอยกันผลิบานออกดอกปูพรมดารดาษไปด้วยสีชมพูอมม่วง อวดโฉมความงามท่ามกลางลานสนอันกว้างใหญ่
รอคอยให้ผู้รักความท้าทายเดินทางฝ่าด่านความสมบุกสมบันและสูงชันขึ้นไปพิชิตภูสอยดาว พร้อมกับทัศนาความสวยงามของทุ่งดอกหงอนนาคที่น่าเพริศแพร้วกระไรปานนั้น
5 เนิน ไม่เพลินเลย
ภูสอยดาว ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ สถานที่พักค้างของผมกับคณะในค่ำคืนแรก ก่อนที่เช้าวันถัดไปพวกเราจะตื่นกันแต่เช้า เพื่อออกเดินทางขึ้นไปพิชิตเขาภูสอยดาว กับเส้นทางขึ้นเขาที่ลำบากโหดหินไม่น้อย
หลังจัดเตรียมสัมภาระให้ลูกหาบช่างกิโล และแบกของล่วงหน้านำไป ผมกับคณะก็มาตั้งต้น ถ่ายรูปหมู่ before กันก่อนขึ้นเขา ตรงบริเวณด้านหน้า“น้ำตกภูสอยดาว” อีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวอันโดดเด่นของอุทยานฯแห่งนี้
ต่อจากนั้นก็ได้เวลารวบรวมพลังลมปราณ แล้วออกเดินขึ้นเขาระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ไปบนเส้นทางที่สูงชัน มีทางเดินในแนวระนาบราบๆ แค่ประมาณไม่ถึง 10% ซึ่งในระหว่างทางจะต้องผ่านเนินสำคัญ 5 เนิน ไล่เรียงไปตามลำดับ คือ
1.“เนินส่งญาติ” ที่มีเรื่องเล่ากันว่า เคยมีคนเดินขึ้นมาถึงที่นี่แล้ว หมดแรงไปต่อไม่ไหว เลยต้องส่งให้ญาติไปต่อ ส่วนเขาเดินกลับ
2. “เนินปราบเซียน” เนินนี้ไม่ว่าเซียนหรือเทพเดินป่าก็โดนปราบหมดแหละ
3.“เนินป่าก่อ” ตั้งชื่อตามสภาพภูมิประเทศที่มีต้นก่อหรือต้นโอ๊คขึ้นอยู่มาก
4.“เนินเสือโคร่ง” มาจากชื่อต้นกำลังเสือโคร่งที่มีอยู่แถวนั้นหลายต้น เปลือกของมันชาวบ้านนำมาต้ม ดองเหล้า บำรุงกำลังได้ดีทีเดียว
และ 5. “เนินมรณะ” เนินสุดท้ายที่มีสภาพต่างไปจากเนินอื่นๆ คือเป็นเนินโล่งชันดิกมีแต่ทุ่งหญ้าและไม้พุ่มเล็กๆไร้ต้นไม้ใหญ่ให้อาศัยร่มเงา อีกทั้งยังมีลมพัดแรง ในวันที่แดดแรงๆช่วงที่กำลังเดินขึ้นเดินนี้มันช่างโหดหินสุดติ่งดีจริงๆ แต่นั่นยังไม่เท่ากับบางปีที่อากาศร้อนมากๆ ที่นี่จะเกิดไฟป่าเผาผลาญ บรรยากาศมันช่างน่ากลัวสมชื่อเนินมรณะเสียจริงๆ
ทั้ง 5 เนินนี้ หากถามว่าเนินไหนเหนื่อยสุด บางคนบอกว่า เนินส่งญาติสิ เพราะเป็นเนินแรกที่ร่างกายเราอยู่ระหว่างการปรับตัวในการเดินขึ้นเขาชัน ส่วนบางคนก็ยกให้เนินมรณะเพราะมีความสูงชัน ร้อนแล้ง แถมยังต้องใช้ มือเป็นเท้าที่ 3 เท้าที่ 4 ช่วยปีนป่ายอีกต่างหาก งานนี้ก็ว่ากันไป ส่วนตัวผม ถือว่าเหนื่อยทุกเนินนั่นแหละ
ทุ่งดอกหงอนนาคสุดสวย
เมื่อเดินชนะเนินมรณะแล้ว อีกไม่นานก็จะถึงจุดหมายบนลานสนให้เราได้ถ่ายรูปคู่กับป้าย “ผู้พิชิตลานสนภูสอยดาว” ที่ระดับความสูง 1,633 เมตร อันเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ขึ้นไปพิชิต
ขณะที่ยอดสูงสุดของภูสอยดาวนั้นอยู่ที่ 2,102 เมตร ใครอยากพิชิตต้องขอให้เจ้าหน้าที่นำทางเป็นพิเศษ ใช้เวลาเดินจากลานสนไป-กลับ ร่วมๆวัน โดยทางอุทยานฯจะเปิดให้ขึ้นเฉพาะช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ของทุกปี
ลานสนภูสอยดาวมีเนื้อที่ราว 3,000 ไร่ เป็นลานสนที่มีความพิเศษหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลานสนสามใบตามธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เป็นลานสน 2 แผ่นดิน เพราะมีอาณาเขตติดประเทศลาวมีหลักกิโลเมตรแบ่งเขตแดนชัดเจน ที่สำคัญคือเป็นลานสนที่มากไปด้วยมวลหมู่ดอกไม้ โดยเฉพาะมวลมหา“ดอกหงอนนาค” ที่บานเป็นทุ่งใหญ่ จนได้ชื่อว่า“ภูสอยดาวเป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกหงอนนาคที่ใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดในเมืองไทย”
ดอกหงอนนาคมีชื่อเรียกอื่นๆเช่น หญ้าหงอนเงือก น้ำค้างกลางเที่ยง ถือเป็นนางเอกแห่งวสันต์ฤดูบนภูสอยดาว เพราะเป็นพืชล้มลุกที่แม้มีดอกออกทั้งปี แต่มันจะออกดอกมากในช่วงหน้าฝน มีทั้งดอกสีชมพูอมม่วง สีม่วงน้ำเงิน และสีขาว ซึ่งบนภูสอยดาวจะเป็นดอกหงอนนาคสีชมพูอมม่วง และมีหงอนนาคดอกสีขาวขึ้นแซมบ้างอยู่นิดหน่อยชนิดนับต้นได้ เพียงแต่ว่าต้องสอดส่ายสายตาหาดูให้ดี
หงอนนาคเป็นดอกไม้ที่หุบยามเช้า แต่จะบานในเมื่อมีแสงแดด และส่วนล่างของดอกมักจะมีน้ำค้างเกาะติดอยู่เป็นหยดใสสวยงาม จนได้ชื่อว่า “น้ำค้างกลางเที่ยง”
หงอนนาคบนภูสอยดาวจะเบ่งบานเต็มที่ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. สำหรับการขึ้นมาพิชิตลานสน เราจะได้ใกล้ชิดดอกหงอนนาคแบบสุดๆ เพราะที่ลานกลางเต็นท์นอนนั้น แวดล้อมไปด้วยทุ่งดอกหงอนนาค ชนิดเดินไปไม่กี่ก้าวก็ได้ถ่ายรูปกับดอกหงอนนาคสวยๆกันแล้ว
ใช่ว่าจะมีแต่ทุ่งดอกหงอนนาคแสนสวยเท่านั้น บนลานสนภูสอยดาว ยังมีดอกไม้ กล้วยไม้ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ สร้อยสุวรรณา เอนอ้า ชมพูนุช ชมพูเชียงดาว เหลืองพิศมร เอื้องแซะภูกระดึง มณีเทวา(กระดุมเงิน) เป็นต้น (สอบถามช่วงออกดอกบานของดอกไม้ กล้วยไม้ชนิดต่างๆได้จากอช.ภูสอยดาว)
นับได้ว่าภูสอยดาวเป็นอีกหนึ่งสวรรค์ของคนรักดอกไม้ ที่นักท่องเที่ยวต้องดูแต่ตา มืออย่างต้อง ถึงแม้อยากจะใกล้ชิดดอกหงอนนาคใจแทบขาด แต่ก็ต้องเดินชมในเส้นทางที่ทางอุทยานฯกำหนด หรือรอยเส้นทางเก่าที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อการเหยียบย่ำทำลายดอกหงอนนาคและดอกไม้อื่นๆ
หลักเขตไทย-ลาว
นอกจากดอกไม้ ป่าสน บนลานสนยังมีอีกจุดหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลท์คือ “หลักเขตชายแดนไทย-ลาว” หรือหลักเขต 2 แผ่นดิน ที่อยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ทางด้านหลังไปประมาณ 1 กม.
หลักเขต 2 แห่งดินแห่งนี้ เป็นการก่อสร้างกันอย่างเท่าเทียม คือให้คนไทย 30 คน คนลาว 30 คน มาช่วยกันก่อหลักเขตกันคนละครึ่ง และแต่ละชาติต้องขนปูนขนทรายมาเอง แล้วก่อสร้างหลักเขตหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวที่ดูแล้วแนบเนียนไม่มีตำหนิให้ระคายตา
หลักเขตถือเป็นจุดถ่ายรูปชั้นดี ส่วนเลยหลักเขตเข้าไปทางฝั่งลาวแถวๆริมหน้าผา(มีเส้นทางเดินชัดเจน) ก็เป็นจุดรับสัญญาณโทรศัพท์เพียงจุดเดียวบนลานสน ที่ใครและใครหลายๆคน จะมาโทรศัพท์ อัพรูป โพสต์รูป โพสต์สเตตัสลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม กันมือเป็นระวิง ชนิดที่ถ้าทำไม่สำเร็จคืนนั้นอาจนอนไม่หลับ
ในเส้นทางเดินชมหลักเขต ยังมีเส้นทางเดินชมธรรมชาติเป็นวงรอบในระยะทาง 2.28 กิโลเมตร พาไปสัมผัสกับความสวยงามสง่าของต้นสนสามใบ ที่ในช่วงหน้าฝนด้านล่างจะแวดล้อมไปด้วยทุ่งดอกหงอนนาค ส่วนหน้าหนาวก็จะมีดอกไม้พืชพันธุ์ชนิดอื่นๆขึ้นทดแทนกันมา
ส่วนใครที่ชอบชมวิว บนลานสนมีจุดชมวิวเลาะเลียบหน้าผาหลายจุดให้ทัศนา รวมไปถึงจุดชมพระอาทิตย์ตก ที่ในวันท้องฟ้าอากาศเป็นใจ นี่นับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับฟ้าที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์แห่งภูสอยดาวที่ในช่วงหน้าฝนอย่างนี้ ภูสอยดาวจะเปล่งศักยภาพความงามสูงสุดออกมาผ่านทุ่งดอกหงอนนาคที่สวยที่สุดในเมืองไทย
ขณะที่การเดินขึ้นไปพิชิตยอดภูสอยดาว แม้มันจะสูงชัน ยากลำบากโหดหิน แต่เมื่อเราขึ้นไปพิชิตมันได้แล้ว สิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากความงดงามของธรรมชาติก็คือ
ภูสอยดาวสอนให้เราได้เรียนรู้ว่า การต่อสู้กับความยากลำบากจากอุปสรรคที่เผชิญผ่าน สิ่งสำคัญคือการพิชิตใจตัวเอง
******************************************
อุทยานฯภูสอยดาว เปิดให้เที่ยวชมตั้งแต่ 1 ก.ค. - 15 ม.ค. ของทุกฤดูกาล สำหรับช่วงที่ดอกหงอนนาคบานเต็มที่จะอยู่ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. (ควรโทร.สอบถามข้อมูลทุ่งดอกหงอนนาคบานจากทางอุทยานฯก่อน)
ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ “อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว” โทร. 0-5543-6001 หรือ ททท.สำนักงานแพร่ (รับผิดชอบพื้นที่แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1127
หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลใหม่จากบทความ...ใกล้ตา ไกลตีน ปีนพิชิต “ภูสอยดาว”...ชมทุ่งดอกหงอนนาคสวยที่สุดในเมืองไทย
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com