ททท. ชู “สงกรานต์วิถีไทย ร่วมใจประหยัดน้ำ” เน้นทำบุญตักบาตร เคารพผู้ใหญ่ แต่งไทยท้องถิ่น รณรงค์“พรมแทนสาด”เล่นน้ำอย่างสุภาพ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับนโยบายรัฐบาล รณรงค์เล่นสงกรานต์เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยชูแคมเปญ “สงกรานต์วิถีไทย ร่วมใจประหยัดน้ำ” สร้างการสืบทอดประเพณีอย่างไทย ทำบุญ ตักบาตร รดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่ และประพรมน้ำแทนการสาด พร้อมทั้งส่งเสริมการแต่งกายอย่างสุภาพ ด้วยผ้าไทยท้องถิ่น
ทั้งนี้ นายวิษณุ เจริญศิลป์ รองผู้ว่าการ ททท.ด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวว่า เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ปี 2559 นี้ ททท. ได้ส่งเสริมการจัดงานในพื้นที่ต่างๆ กระจายไปทั่วประเทศ โดยมีทั้งหมด 13 พื้นที่ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 24 เมษายน 2559 และจะมีพิธีเปิดเทศกาลฯ ในวันที่ 10 เมษายน 2559 ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ อีกทั้ง ได้จัดกิจกรรมสงกรานต์วัดโพธิ์ ตั้งแต่วันที่ 10 - 12 เมษายน 2559 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร มุ่งเสนอขายนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ และสร้างการรับรู้ประเพณีสงกรานต์อย่างไทยที่มีเอกลักษณ์ (Thainess) ซึ่ง 13 พื้นที่ที่ ททท. ส่งเสริมการเล่นสงกรานต์อย่างไทย ได้แก่
1. งานเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ : มหัศจรรย์ มรดกจารึก 3 แผ่นดิน
- ขบวนพาเหรดเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ : มหัศจรรย์ มรดกจารึก 3 แผ่นดิน
วันที่ 10 เมษายน 2559 ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
- เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์สงกรานต์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
วันที่ 10 - 12 เมษายน 2559 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
2. สงกรานต์กรุงเทพฯ
- ประเพณีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์
วันที่ 12-13 เมษายน 2559 ณ บริเวณถ.วิสุทธิกษัตริย์ (สี่แยกบางขุนพรหม)
- ประเพณีสงกรานต์บางลำพู
วันที่ 13-14 เมษายน 2559 ณ บริเวณสวนสันติชัยปราการ ถ.พระอาทิตย์
3. สงกรานต์ จังหวัดสมุทรปราการ
- สงกรานต์พระประแดง จ.สมุทรปราการ
วันที่ 22 - 24 เมษายน 2559 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง จ.สมุทรปราการ
4. เทศกาลวันสงกรานต์ ชุมชนมอญสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
วันที่ 12 - 17 เมษายน 2559 ณ วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
5. สงกรานต์สุโขทัย เที่ยวได้ครึ่งเดือน จังหวัดสุโขทัย
- งานประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว
วันที่ 7 เมษายน 2559 ณ วัดหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
- งานประเพณีสรงน้ำโอยทาน สงกรานต์ศรีสัชนาลัย
วันที่ 8 - 12 เมษายน 2559 ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
- งานสงกรานต์มหามงคล น้ำมนต์ทะเลหลวง ประจำปี 2559
วันที่ 9 - 11 เมษายน 2559 ณ ทุ่งทะเลหลวง อ.เมือง จ.สุโขทัย
- งานประเพณีสงกรานต์ และ เทศกาลอาหารเมืองสวรรคโลก
วันที่ 11 - 15 เมษายน 2559 ณ เวทีกลางแม่น้ำยม วัดสว่างอารมณ์วรวิหาร อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
- งานย้อนอดีตมหาสงกรานต์ กรุงสุโขทัย ประจำปี 2559
วันที่ 12-14 เมษายน 2559 ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย
- งานประเพณีสงกรานต์เสื้อลายดอก ถนนข้าวตอกสุโขทัย
วันที่ 12-15 เมษายน 2559 ณ บริเวณเมืองสุโขทัยและสวนสาธารณสุโขทัย จ.สุโขทัย
- งานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง สรงน้ำเจ้าหมื่นด้ง
วันที่ 17-19 เมษายน 2559 ณ บริเวณอนุสาวรีย์เจ้าหมื่นด้ง ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
6. “2559 สมโภช 60 รอบนักษัตร 720 ปี เมืองเชียงใหม่” และ “งานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ประจำปี 2559”
วันที่ 12 - 16 เมษายน 2559 ณ บริเวณทั่วเมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
7. สงกรานต์ รื่นรมย์ บุญปีใหม่ไทย - ลาว จังหวัดนครพนม
วันที่ 11 - 15 เมษายน 2559 ณ บริเวณถนนข้าวปุ้น และลานพนมนาคา เขตเทศบาลเมืองนครพนม จ.นครพนม
8. สงกรานต์แห่นางดาน จังหวัดนครศรีธรรมราช
วันที่ 11 - 15 เมษายน 2559 ณ บริเวณสวนศรีธรรมาโศกราชและหอพระอิศวร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
9. สงกรานต์กรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- สงกรานต์กรุงเก่า เล่นน้ำกับช้าง
วันที่ 13 - 15 เมษายน 2559 บริเวณถนนศรีสรรเพชญ์ บริเวณด้านหน้า ททท. พระนครศรีอยุธยา
- สงกรานต์กรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 13 เมษายน 2559 ณ บริเวณถนนหน้าเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
- สงกรานต์มอญ
วันที่ 14 เมษายน 2559 ณ บริเวณวัดทองบ่อ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
10. เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ สุพรรณบุรี ประจำปี 2559
วันที่ 13 - 15 เมษายน 2559 ณ เวทีกลางน้ำสถานีขนส่งจังหวัด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
11. มหาสงกรานต์อีสานหนองคาย จังหวัดหนองคาย
วันที่ 6 - 18 เมษายน 2559 ณ บริเวณถนนเจนจบทิศ, ลานน้ำพุพญานาค, ถนนประจักษ์
และวัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.หนองคาย
12. งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน จังหวัดชลบุรี
วันที่ 16 - 17 เมษายน 2559 ณ บริเวณชายหาดบางแสน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
และ 13. งานสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว
วันที่ 5 - 15 เมษายน 2559 ณ บริเวณบึงแก่นนครและถนนศรีจันทร์ อ.เมืองจ.ขอนแก่น
นอกจากนี้ ยังมีการสืบสานประเพณีสงกรานต์ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ งานสงกรานต์ถนนกล้วยตาก จ.พิจิตร สงกรานต์ “ดอกลมแล้งบาน” สงกรานต์เมืองแป้ นุ่งหม้อห้อมแต้งามต๋า จ.แพร่ ประเพณียกธงสงกรานต์บ้านเบญพาด อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ประเพณีก่อพระทราย-นาเกลือและงานกองข้าวนาเกลือ จ.ชลบุรี งานประเพณีสงกรานต์และแห่ต้นดอกไม้ บ้านอาฮี อ.ท่าลี่ จ.เลย ประเพณีสงกรานต์ออน เดอะ บีช จ.ภูเก็ต สงกรานต์หรรษาท่าเมือง จ.ระนอง เป็นต้น พร้อมกันนี้ ททท. ได้ออกแคมเปญ “สงกรานต์วิถีไทย ร่วมใจประหยัดน้ำ” ส่งเสริมการสืบสานสงกรานต์ตามขนบประเพณีไทยท้องถิ่น ได้แก่ การทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังเทศน์ในวันขึ้นปีใหม่ไทย สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่ การประพรมน้ำให้กันอย่างสุภาพด้วยน้ำอบ ไม่สาดน้ำหรือใช้อุปกรณ์ฉีดน้ำความดันสูง พร้อมทั้งส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยท้องถิ่น อาทิ ผ้าหม้อห้อม ผ้าขาวม้า ผ้าลายดอก ผ้าฝ้าย และแต่งกายอย่างมิดชิดไม่ล่อแหลม ซึ่งเป็นการสืบสานประเพณีสงกรานต์อย่างไทยที่ถูกต้อง มีเอกลักษณ์และน่าชื่นชม
สำหรับกิจกรรมสำคัญในวันที่ 10 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันเปิดเทศกาลฯนั้น ททท. ได้จัดขบวนแห่ “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ : มหัศจรรย์ มรดกจารึก 3 แผ่นดิน” โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 - 18.00 น. เคลื่อนจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ - ถนนราชดำเนินกลาง - ถนนราชดำเนินใน - ถนนหน้าพระลาน - ถนนมหาราช และสิ้นสุดที่สวนนาคราภิรมย์ โดยมีแนวบอกเล่าเรื่องราวของ มหัศจรรย์มรดกจารึก 3 แผ่นดิน ได้แก่
1.จารึกริเริ่ม รัชสมัยที่ 3 : ศิลาจารึกมรดกโลก (รัชกาลที่ 3 ) เป็นการเล่าขานตำนานสงกรานต์ ที่กล่าวถึงเรื่องราวตำนานธรรมบาลกุมารกับนางสงกรานต์ทั้ง 7 ที่ถูกจารึกในแผ่นศิลา 7 แผ่น ผนึกไว้บนผนังกำแพง ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) 2. จารึกแผ่นดิน รัชสมัยที่ 5 : 13 เมษาสงกรานต์ไทย (รัชกาลที่ 5) เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันสงกรานต์ และ 3. จารึกเพื่อนบ้าน รัชสมัยที่ 7 : สงกรานต์เพื่อนบ้าน (รัชกาลที่ 7 ) ซึ่งเป็นการฉลองสงกรานต์เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้ง 3 รัชสมัย ได้ถ่ายทอดเป็นขบวนแห่ ร่วมด้วยนักแสดงกว่า 1,200 คน มี 3 ตอน แบ่งเป็น 4 ขบวน ได้แก่ ขบวนที่ 1 “ศิลาจารึกมรดกไทย” เป็นขบวนเชิญตราสัญลักษณ์การจัดงาน(โดย เต้ย พงศกร เมตตาริกานนท์) และศิลาจารึกวัดโพธิ์ ขบวนที่ 2 ขบวนรถธรรมบาลกุมาร (เพ็ชร ฐกฤต ตวันพงค์) และนางสงกรานต์ทั้ง 7 โดยแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ เป็นนางสงกรานต์วันพุธ นาม มณฑาเทวี เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) ขบวนที่ 3 ทัศนามหาสงกรานต์วิถีไทย 5 ภาค เป็นขบวนสงกรานต์วิถีชนชาติไทยใจบุญทั้ง 5 ภาค ที่จะได้ออกมาสักการะและทำบุญปีใหม่ ประกอบด้วย
1. ภาคเหนือ ประเพณีสลุงหลวง จ.ลำปาง 2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ จ.เลย 3. ภาคกลาง สงกรานต์ไทยมอญ จ.ราชบุรี 4. ภาคตะวันออก ประเพณีศรีมหาราชาและกองข้าว จ.ชลบุรี และ 5. ภาคใต้ ประเพณีแห่นางดาน จ.นครศรีธรรมราช และขบวนที่ 4 ขบวนความสัมพันธ์สองแผ่นดินของสองฝั่งโขงระหว่างไทยกับลาว นำเสนอความสัมพันธ์ของพระธาตุสองแผ่นดินที่เชื่อมโยงกันระหว่าง พระธาตุพระพนม จังหวัดนครพนม ที่เชื่อมความสัมพันธ์ด้วยสายสิญจน์ ไปยังพระธาตุศรีโครตบอง สปป.ลาว ถือเป็นการเปิดตัวเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ประจำปี 2559 อย่างเป็นทางการ โดยระหว่างการเคลื่อนขบวนจะมีการแสดงเบิกโรงประจำจุดการแสดงเวทีหน้าลานพลับพลาหมหาเจษฎาบดินทร์ และเวทีหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกด้วย
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com