คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัด"นิทรรศการ พิศเมืองเพชร: ผ่านสายตาสถาปัตย์ศิลปากร" ซึ่งได้นำเอาผลงานศิลปะหลากหลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปสถาปัตย์เมืองเพชรบุรีมาจัดแสดงไว้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้-9 มีนาคม 2559 ณ ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานในพิธีพร้อมด้วย ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีม.ศิลปากร รศ.ดร. ชัยสิทธิ์ ด่านกิตติกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากรและผู้แทนสถานฑูต ร่วมเปิดนิทรรศการ “พิศเมืองเพชร ผ่านสายตาสถาปัตย์ศิลปากร” ณ ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นิทรรศการครั้งนี้ได้นำเอาผลงานของคณาจารย์ และนักศึกษา ตลอดจนศิลปิน นักออกแบบ จากศิลปากร ที่ศึกษาผ่านงานต้นแบบสถาปัตย์ชั้นครูของเมืองเพชรบุรี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และรอดพ้นจากการทำลายของสงครามเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา จนมีผู้กล่าวว่า "เพชรบุรี คืออยุธยาที่มีลมหายใจ"
ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเหล่านั้นได้แก่ ผลงานภาพถ่ายวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ผลงานการเขียนแบบจากการวิจัยภาคสนามที่เก็บรายละเอียดของสถาปัตยกรรม ผลงานหุ่นจำลองขนาดใหญ่ที่แสดงรายละเอียดที่งดงามขององค์ประกอบสถาปัตยกรรม ผลงานการเก็บข้อมูลเชิงอนุรักษ์แบบ "Vernadoc" ผลงานการนำเอาศิลปะต้นแบบเช่นลวดลายจิตรกรรมฝาผนังของวัดในเมืองเพชรนำมาประยุกต์ให้เป็นศิลปะสร้างสรรค์ และผลงานโครงไม้ไผ่ที่ประยุกต์ภูมิปัญญาพื้นบ้านให้เป็นงานศิลปะสมัยใหม่
อ.นันทพล จั่นเงิน อ.ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม และ ผอ.หอศิลปะและสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร ม.ศิลปากร กล่าวว่า ผลงานภาพถ่ายภายในงานนั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นภูมิวัฒนธรรมต่างๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการถ่ายภาพทางอากาศ (Drone) ที่ถ่ายในมุมสูง เช่นที่ อ.บ้านแหลม ที่มีนาเกลือเยอะจะเห็นมีการไล่เฉดสีของแสงแตกต่างกันไป แต่เมื่อถ่ายในมุมสูงจะเห็นอีกมิติในเฉดสีต่างๆ หรือแม้กระทั่งตัวสถาปัตยกรรม ที่มีองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมในปัจจุบันและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ประกอบกันได้อย่างลงตัวนั่นเอง
ในส่วนของ สถาปัตยกรรมเมืองเพชร มีการหยิบยกตัวอย่างสถาปัตยกรรมจากวัดใหญ่สุวรรณาราม ซึ่งมีอาคารหลักๆอยู่ 2 อาคาร คือพระอุโบสถและระเบียง ส่วนอีกอันหนึ่งคือศาลาการเปรียญ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นมีมุขประเจิด คือเสาที่ทะลุมาถึงหลังคาและมีรูปทรงตามแบบฉบับอยุธยาตอบปลายคือทรงแอ่นท้องสำเภา ส่วนสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นได้หยิบยกเรือนไทยทรงดำ(เรือนทรงกระดองเต่าถือ) โดยเป็นเรือนของกลุ่มของคนไทยดำที่อพยพมาจากเวียดนาม มาเพชรบุรีประมาณ200ปี ปัจจุบันเหลือเพียงหลังเดียวในประเทศไทย ซึ่งโครงสร้างไม้ไผ่ภายในนิทรรศการ ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเรือนทรงกระดองเต่าและเป็นการแบ่งพื้นที่นิทรรศการออกเป็นสัดส่วน
ส่วนผลงานการเก็บข้อมูลเชิงอนุรักษ์แบบ VERNADOC นั้น ผศ.สุดจิต สนั่นไหว อ.ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า เป็นการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นโดยใช้วิธีสำรวจรังวัดและถ่ายทอดการเขียนแบบในกระดาษตามแบบฉบับดั้งเดิมของยุโรปในยุคเรเนซองส์ โดยมีการนำมาจัดแสดงในพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมในพื้นถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลจริง เป็นเสมือนการแปะฉลากบนอาหารใครผ่านไปผ่านมาก็เกิดความภาคภูมิใจ
ด้านภาพวาดลายเส้น : ถิ่นฐานบ้านช่อง อ.พัฒนปกรณ์ ลีลาพฤทธิ์ อ.ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม ม.ศิลปากร กล่าวว่า ภาพวาดลายเส้นเหล่านี้เป็นลายเส้นเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ช่วงระหว่าง อ.เมืองถึง อ.บ้านแหลม เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตผ่านลายเส้นของศิลปิน 4 ท่านทั้งหมด 18 ภาพ
ส่วนของการประยุกต์ศิลปะเมืองเพชรนั้น ผศ.ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.ศิลปากร มองว่าเพชรบุรีมีศักยภาพมากพอที่จะนำภูมิปัญญามาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในเชิงอนุรักษ์อย่างควบคู่กันไป จึงได้ทำการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่าในเขตเมืองเพชรนั้น ยังมีส่วนที่มีความน่าสนใจทางด้านศิลปะวัฒนธรรมอยู่มาก จึงเกิดการรวบรวมศาสตร์ที่ใกล้เลือนหายไปของเมืองเพชรไม่ว่าจะเป็นช่างปั้น ช่างทองซึ่งมีความแตกต่างจากที่อื่น โดยอาศัยความรู้ด้านการออกแบบกราฟิกเป็นตัวขยายผลและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอ.สอนกราฟิกที่สนใจในเรื่องของศิลปะไทย นำโดยผศ.อาวิน อินทรังษี อ.ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อ.อาวิน กล่าวว่า โดยการเริ่มเก็บข้อมูลลวดลายไทยที่อยู่ตามสถาปัตยกรรมหรือจิตรกรรม มาสร้างสรรค์ลงมาในงานออกแบบต่างๆ เป็นการถอดแบบจากลวดลายไทยกราฟิกต่างๆ ในเพชรบุรีและปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเพื่อให้สามารถนำศิลปะไทยมาใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยที่ไม่รู้สึกล้าสมัย
ในส่วนศิลปะการผูกไม้ไผ่ของคุณกรกต อารมณ์ดี ศิลปินผูกไม้ไผ่ นักศึกษาปริญญาเอกคณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร เล่าว่า แรกเริ่มนั้นพื้นเพตนเองเป็นคนเพชรบุรี มีคุณปู่ประกอบอาชีพการทำว่าวจุฬา จึงได้เรียนรู้การผูกไม้ไผ่ การเหลาการประกอบไม้ไผ่มาตั้งแต่เด็ก พอโตมาจึงเริ่มทำงานศิลปะโดยใช้โครงสร้างไม้ไผ่ ผ่านองค์ประกอบทางด้านสถาปัตย์ และจึงเริ่มพัฒนามาสู่งานสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารที่ทำมาจากไม้ไผ่ จะเห็นได้ว่าคุณกรกตนั้นสามารถตอบโจทย์งานศิลปะสามารถนำองค์ความรู้ในท้องถิ่นนำมาประยุกต์ใช้ได้เข้ากับสมัยปัจจุบัน
อ.นันทล ยังกล่าวถึงท้ายไว้ว่า เมื่อได้รับชมนิทรรศการนี้แล้ว คาดหวังว่าอย่างน้อยให้ผู้เข้าชมฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเมื่อย้อนกลับมามองท้องถิ่นของตน ว่าภายในท้องถิ่นของตนนั้นมีของดีอยู่ต่างๆนา แล้วมีมุมมองผ่านงานท้องถิ่นเหล่านั้นอย่างไร และที่สำคัญจะนำงานเหล่านั้นมาประยุกต์ใช่อย่างไร นั้นถือได้ว่าเป็นประเด็นหลักที่คาดไว้ว่าผู้เข้าชมจะสามารถเรียนรู้ได้ในประเด็นนี้
ผู้ที่สนใจเข้าชมงาน "พิศเมืองเพชร ผ่านสายตาสถาปัตย์ศิลปากร" สามารถชมได้ตั้งแต่วันนี้-9 มีนาคม 2559 นอกจากนั้นยังสามารถร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ดังนี้ วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00-17.00 น. ละเลงศิลป์ให้มีศิลป์ กิจกรรมการเขียนสีน้ำ โดยกลุ่มอาจารย์รุ่นใหม่และนักศึกษาสถาปัตย์ ศิลปากร วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00-17.00 น. ผูกไผ่ให้เป็นศิลป์ กิจกรรมการสอนมัดขึ้นโครงรูปร่าง รูปทรงและทำหุ่นจำลองด้วยวิธีการผูกมัดจากภูมิปัญญาเงื่อนว่าวไทย โดยคุณกรกต อารมย์ดี ศิลปินผูกไม้ไผ่และทีมงาน นักศึกษาสถาปัตย์ ศิลปากร วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม เวลา 13.00-17.00 น. กิจกรรมเผยแพร่วิธีทำพวงมโหตรแบบพื้นบ้าน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนลูกหลานคนเมืองเพชร โดยแบ่งเป็น 4 รอบ รอบที่หนึ่ง 13.00-14.00 น. รอบที่สอง 14.00-15.00 น. รอบที่สาม 15.00-16.00 น. และรอบที่สี่ 16.00-17.00 น.
กิจกรรมทั้งหมดนั้นไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมทั้งสิ้นและควรสำรองที่นั่ง เนื่องจากมีจำนวนจำกัด สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งในการเข้าร่วมกิจกรรมโดยส่ง ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ ชื่อกิจกรรม รอบและจำนวนผู้ที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมมาที่ ผ่ายนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โทร 0-2214-6630-8 ต่อ 533 E-mail : exh_activity@bacc.or.th
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com