xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลปะสามประสาน จีน-ไทย-ทิเบต ที่ “วัดโพธิ์แมน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วัดโพธิ์แมนคุณาราม
บรรยากาศคึกคักของช่วงเทศกาลตรุษจีนแบบนี้ ทำให้ฉันคิดถึงการออกไปไหว้พระทำบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคลกันพร้อมหน้าพร้อมตากับคนในครอบครัว และพอมีเวลาว่างพร้อมกัน ฉันเลือกที่จะมายัง “วัดโพธิ์แมน” เพื่อทำบุญในวันหยุดแสนสุขแบบนี้

“วัดโพธิ์แมน” หรือในชื่อเต็มๆ ว่า “วัดโพธิ์แมนคุณาราม” ตั้งอยู่ในซอยสาธุประดิษฐ์ 19 นี่เอง ที่ฉันเลือกมาที่วัดนี้ ก็เพราะว่าที่นี่ไม่ใช่วัดจีนธรรมดา แต่เป็นวัดจีนที่มีการผสมผสานศิลปะจีน-ไทย-ทิเบต เอาไว้อย่างลงตัว และไม่สามารถหาชมได้ง่ายๆ ที่วัดอื่น
พระศรีอารยเมตไตรย์โพธิสัตว์  ภายในวิหารหน้า
วัดโพธิ์แมน หรือที่เรียกเป็นภาษาจีนว่า "โพวมึ้งป่ออึงยี่" เป็นวัดจีนในพุทธศาสนานิกายมหายาน สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2502 โดยผู้สร้างวัดนี้ก็คือ “พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ)” อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปที่ 6 เจ้าอาวาสรูปแรกเป็นผู้นำสร้าง พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่ศรัทธาก็ร่วมมือกันสร้างด้วย มาจนถึงวันนี้ก็นับอายุของวัดได้เกือบ 60 ปี แล้ว

ความโดดเด่นของวัดโพธิ์แมนคุณารามนี้ก็เป็นอย่างที่ฉันบอกไปแล้วว่า อยู่ที่สถาปัตยกรรมภายในวัดที่เป็นศิลปกรรมแบบจีน-ไทย-ธิเบต ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวงดงาม โดยพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ) เจ้าอาวาสรูปแรกนั้นเป็นผู้ออกแบบสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดด้วยตนเอง
ท้าวธตรฐมหาราช หรือธฤตราษฎระ หนึ่งในท้าวจตุโลกบาล
พอมาถึงวัดแล้ว ที่เห็นได้โดดเด่นเลยก็คือศิลปะแบบวัดจีน ซึ่งเริ่มจาก “วิหารหน้า” ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ด้านหน้าวิหารมีจารึกอักขระภาษาธิเบต ส่วนภายในเป็นที่ประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรย์โพธิสัตว์ และพระเวทโพธิสัตว์ที่อยู่ด้านหลัง อีกทั้งยังมีท้าวจตุโลกบาลอยู่ประจำ 4 มุมของวิหารด้วย ท้าวจตุโลกบาลนี้ก็เรียกว่าเป็นมหาเทพผู้รักษาโลกและพระพุทธศาสนา ซึ่งวัดพุทธในประเทศจีนนิยมสร้างไว้ในวิหาร

ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 นั้นก็ได้แก่ ท้าวธตรฐมหาราช หรือธฤตราษฎระ (ถี่กกเทียงอ้วง) ทรงเครื่องทรงแบบขุนพลจีนโบราณ รูปกายสีแดง มือถือพิณ ส่วนท้าววิรุฬหกมหาราช หรือวิรูธกะ (เจงเชียงเทียงอ้วง) มีรูปกายสีขาว ถือร่ม องค์ถัดมาคือ ท้าววิรุฬปักข์มหาราช หรือวิรูปากษะ(ก่วงมักเทียงอ้วง) มีรูปกายสีดำ ถือกระบี่และงู และองค์สุดท้ายคือท้าวเวสสุวัณ (กุเวร) มหาราช หรือไวศรวณะ (ตอบุ๋งเทียงอ้วง) มีรูปกายสีเขียว ถือเจดีย์ไว้ในมือข้างหนึ่ง
อุโบสถวัดโพธิ์แมน
สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวิหารหน้าจนครบแล้ว ฉันเดินผ่านเข้าไปยัง “อุโบสถ” ของวัดโพธิ์แมน บรรยากาศก็คล้ายกับหลุดเข้าไปอยู่ในหนังจีนกำลังภายในอย่างไรอย่างนั้น เพราะอุโบสถศิลปะแบบจีน และลวดลายต่างๆ ที่อยู่บนกำแพงและประตูรอบๆ อุโบสถ แล้วก็ยังมีพระจีนในชุดจีวรสีส้ม ดูราวกับฉันกำลังจำมาฝึกกำลังภายในที่วัดเส้าหลินกันเลยทีเดียว
พระปรมาภิไธยย่อ ภปร ประดิษฐานอยู่ที่หน้าบันของอุโบสถ
ก่อนจะเข้าไปด้านในอุโบสถ แนะนำให้ยืนชมความงามด้านนอกเสียก่อน ด้านบนหลังคาโบสถ์เป็นหลังคาสามชั้นลดหลั่นกัน และบนหลังคาชั้นบนสุดมีเจดีย์ยอดฉัตรที่ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ด้านล่างลงมายังมีตราธรรมจักร อีกทั้งยังมีกวางตัวเล็กตัวน้อยยืนอยู่ตามจุดต่างๆ บนหลังคาโบสถ์ การมีตราธรรมจักรและกวางนี้เองที่น่าจะเป็นส่วนผสมแบบไทย เพราะไม่ค่อยจะพบตราธรรมจักรและกวางในสถาปัตยกรรมแบบจีนเท่าไรนัก

และอย่าลืมสังเกตตราพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร" ที่ประดิษฐานอยู่ที่หน้าบันของอุโบสถด้วย เพราะเป็นตราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธียกฉัตรเจดีย์พระอุโบสถนั่นเอง
พระพุทธวัชรโพธิคุณ พระประธานในอุโบสถ
ส่วนด้านอุโบสถนั้นก็งดงามไม่แพ้ด้านนอก หากเข้ามาด้านในแล้วก็จะพบกับ "พระพุทธวัชรโพธิคุณ" พระประธานองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระประธานองค์นี้สีทองอร่าม ด้านข้างเป็นเสาสีแดงสดมีมังกรสีทองพันตัวรอบเสาดูน่าเกรงขาม และเมื่อมองไปด้านบนหลังคา หากเพ่งมองดีๆ จะเห็นหมู่พระพุทธรูป 1,000 องค์ ประดิษฐานอยู่ด้านบนด้วย
ภาพพระอรหันต์ 500 รูป ที่ทำจากโมเสก
ส่วนผนังด้านข้างของอุโบสถทั้งสองด้านยังประดับตกแต่งด้วยรูปพระอรหันต์ 500 รูปที่หากมองไกลๆ อาจจะดูเหมือนรูปวาดธรรมดา แต่เมื่อเดินมามองดูใกล้ๆ ก็จะรู้ว่าแท้จริงแล้วภาพนี้เป็นภาพโมเสกขนาดใหญ่สีสันสดใสสวยงามมากทีเดียว

สักการะพระประธานเสร็จแล้ว ฉันก็ออกมาเดินดูรอบๆ อุโบสถอีกครั้ง ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ว่า แม้ว่าที่นี่จะเป็นวัดจีน แต่รอบอุโบสถก็ยังมีใบเสมาคล้ายๆ กับวัดไทย โดยที่มุมอุโบสถทั้ง 4 มุมจะมีใบเสมาหินอ่อนอยู่ 2 ใบ ใบหนึ่งเป็นแกะสลักเป็นเครื่องหมายรูปวัชระธิเบต และอีกใบหนึ่งแกะสลักเป็นรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 เป็นการผสมผสานระหว่างจีน-ไทย-ธิเบตที่เห็นได้ชัดเจน
ใบเสมาหินอ่อนที่มุมอุโบสถทั้ง 4 มุม
แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดจีนแล้วก็ต้องมีเทพเจ้าต่างๆ ที่ชาวจีนเคารพนับถือ ซึ่งก็อยู่ด้านหลังโบสถ์นั่นเอง ที่นี่ฉันได้สักการะพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และพระกษิติครรภโพธิสัตว์ นอกจากนั้นที่ศาลาด้านหลังนี้ก็ยังมีสรีระของเจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโพธิ์แมนคุณาราม และผู้ออกแบบวัดที่ฉันกล่าวไปแล้วตอนต้น ให้สักการะกันด้วย

ภายในศาลาที่ประดิษฐานสรีระของเจ้าคุณโพธิ์แจ้งนั้นก็ยังมีประวัติของท่านอย่างละเอียด ทำให้ฉันได้ทราบว่าท่านเป็นชาวจีน เกิดเมื่อ พ.ศ.2444 ที่เมืองเก๊กเอี๊ย มณฑลกวางตุ้ง เมื่อบวชเข้ามาเป็นพระสงฆ์แล้วก็ได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรม รวมทั้งเรียนรู้อรรถธรรมจากพระอาจารย์หลายท่าน จนนับได้ว่าเป็นปราชญ์และเป็นพระมหาเถระผู้มีเมตตาธรรมต่อประชาชนทั่วไป
เจ้าคุณโพธิ์แจ้งมหาเถระ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโพธิ์แมนคุณาราม
ตลอดเวลาที่ท่านเป็นพระสงฆ์อยู่ในประเทศไทย ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ถึง 7 วาระด้วยกัน ซึ่งในอดีตยังไม่เคยมีปรากฏว่ามีพระสงฆ์จีนนิกายรูปใดที่ได้รับเกียรติสูงเช่นนี้มาก่อน โดยสมณศักดิ์สูงสุดของท่านก็คือพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ นั่นเอง

นอกจากจะได้มาไหว้พระทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองในช่วงตรุษจีนแบบนี้แล้ว ก็ยังได้มาชมศิลปะที่ผสมผสานกันระหว่าง จีน-ไทย-ทิเบต ที่หาชมได้ยากกันในวัดแห่งนี้ด้วย นับว่าเป็นการมาทำบุญที่อิ่มอกอิ่มใจ อิ่มบุญ และอิ่มตาไม่น้อย
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
* * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดโพธิ์แมนคุณาราม ตั้งอยู่ที่ 323 ถ.สาธุประดิษฐ์ ซอย 19 เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120 หรือสามารถเข้ามาทางซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 24 ได้ วัดเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. สอบถามโทร.0-2211-7885, 0-2211-2363 www.pumenbaoensi.com
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น