โดย : หนุ่มลุกทุ่ง
“สะพานเหล็ก” เป็นอีกหนึ่งย่านในเมืองกรุงที่ฉันผ่านบ่อยๆ แต่กลับไม่เคยไดมีโอกาสแวะไปเยือน ในความทรงจำของฉันย่านแห่งนี้เป็นแหล่งขายอุปกรณ์เกมส์ ของเล่น โมเดลการ์ตูน ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ชื่นชอบมาเดินชมและเลือกซื้อในบรรยากาศร้านค้าร้านขายมากมายที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมและเหนือคลองโอ่งอ่าง ในช่วงสะพานดำรงสถิต-สะพานพิทยเสถียร
จนกระทั่งเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ.2558 ทางสำนักงานกรุงเทพมหานครได้มีการเข้ามาปรับปรุงทัศนียภาพ เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะกลางเมือง โดยมีการปรับปรุงรื้อถอนสิ่งก่อสร้างตลอดริมคลองและสร้างเป็นทางเดินเลียบคลองทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมกับมีการนำต้นไม้ให้ดูสวยงาม
ในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ฉันจึงจะมาเดินเล่นที่ย่านสะพานเหล็ก เพื่อดูทิวทัศน์ปรับปรุงใหม่และมาดูว่าแหล่งขายอุปกรณ์เกมส์ ของเล่น โมเดลการ์ตูน จะยังอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ แต่ก่อนที่จะไปเดินชมกันนั้น ฉันก็จะขอเล่าประวัติคร่าวๆ ของย่านแห่งนี้ให้ได้ฟังกันก่อน
“สะพานเหล็ก” คือ สะพานข้ามคลองรอบกรุงในช่วงคลองโอ่งอ่าง เมื่อครั้งอดีตสะพานส่วนใหญ่ที่ใช้ข้ามคลองนั้นเป็นสะพานไม้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ขยายถนนเจริญกรุงและได้มีการสร้างสะพานด้วยเหล็กขึ้นสองแห่ง และเนื่องจากยังไม่ได้พระราชทานชื่อสะพาน ชาวบ้านจึงเรียกสร้างใหม่ว่า “สะพานเหล็ก”
แต่เนื่องจากการสร้างสะพานเหล็กในครั้งนั้น ต้องมีการย้ายประตูและกำแพงวังบางส่วนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในเวลาต่อมาจึงได้มีการโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า "สะพานดำรงสถิตย์" เพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสำหรับสะพานเหล็กอีกแห่งพระราชทานนามว่า "สะพานพิทยเสถียร" เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาซึ่งมีวังที่ประทับตั้งอยู่ใกล้กับสะพาน
สำหรับ “คลองโอ่งอ่าง” นั้นก็คือส่วนหนึ่งของ “คลองรอบกรุง” ที่ถูกขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเดิม โดยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือที่ตำบลบางลำพู ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ใกล้กับวัดจักรวรรดิราชาวาส คลองรอบกรุงนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ อาทิ คลองวัดเชิงเลน , คลองบางลำพู โดยชื่อคลองโอ่งอ่างเป็นชื่อคลองในช่วงสุดท้ายก่อนจะไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งค้าขายโอ่งเเละเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน
อารัมภบทมายืดยาว ฉันก็เดินทางมาถึงย่านสะพานเหล็กสักที ทิวทัศน์แรกที่ฉันได้เห็นนั้นก็คือ คลองโอ่งอ่างที่ทอดยาว มีทางเดินและต้นไม้ปลูกประดับเลียบคลองทั้ง 2 ฝั่ง มองแล้วดูโปร่งโล่งสบายตา เหมาะกับการเดินเล่นยามเย็น ในส่วนของร้านค้าร้านขายอุปกรณ์เกมส์ ของเล่น โมเดลการ์ตูน ก็ยังคงมีอยู่ให้ได้เดินเลือกซื้อเลือกชมภายใน “สะพานเหล็กสแคว์” และ “ออลเวย์วัน” (Always One) ที่สามารถเดินเข้าได้จากฝั่งถนนเลียบคลองได้เลย
สำหรับบรรยากาศภายในสะพานเหล็กสแคว์และออลเวย์วันนั้น ฉันขอบอกว่าเหมือนได้ไปยืนอยู่ที่ย่านอากิฮาบาระ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากภายในอาคารถูกตกแต่งด้วยโปสเตอร์ภาพยนตร์หรือการ์ตูนน่ารักๆ และคลาคล่ำไปด้วยร้านค้าร้านขายอุปกรณ์เกมส์ ของเล่น โมเดลการ์ตูน ที่ตั้งเรียงรายให้ได้เลือกซื้อเลือกชม แต่ที่โดดเด่นสะดุตาฉันที่สุดก็คงจะเป็น “ร้านขายโมเดล” ที่แต่ละร้านมีตู้โชว์โมเดลตั้งเรียงรายให้ได้เดินชมอย่างเพลินเพลิน โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโมเดลตัวการ์ตูนจากการ์ตูนดังหลายๆ เรื่อง อาทิ เซเลอร์มูน ไอ้มดแดง วันพีช และยังมีโมเดลโมตัวละครในภาพยนตร์ดังๆ ที่ถูกส่งตรงมาจากเมืองนอก หรือไม่ก็เป็นของมือสองให้ได้เลือกชมเลือกซื้อ มีราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่น
และก็ยังมีร้านขายของเล่น โดยเฉพาะ “รถบังคับ” ที่มีมากมายหลายขนาดหลากรูปแบบให้ได้ซ้อเลือกชม และที่ขาดไม่ได้ก็คือร้านอุปกรณ์เกมส์ ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ยังไม่หายไปไหน ฉันได้มีโอกาสทักทายพ่อค้าแม่ขาย และได้รู้มาว่า “ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวจะคิดว่า หลังจากการปรับภูมิทัศน์บรรดาร้านอุปกรณ์เกมส์ ของเล่น โมเดลการ์ตูนนั้นหายไปด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วย่านสะพานเหล็กแห่งนี้ก็ยังเป็นแหล่งขายอุปกรณ์เกมส์ ของเล่น โมเดลการ์ตูนเหมือนเดิม” และฉันก็ยังคงเห็นนักศึกษาหรือผู้คนที่ชื่นชอบในอุปกรณ์เกมส์ ของเล่น โมเดล มาเดินดูเดินชมอยู่บ้างแม้จะดูบางตาแต่ก็ไม่ถึงกับเงียบเหงา
หลังจากเดินชมโมเดลมากมายสารพัดตัวละครจนเต็มอิ่ม ฉันก็เดินออกมาชมทิวทัศน์ริมคลองโอ่งอ่างอีกครั้ง ทางเดินโล่งเดินสะดวกบรรยากาศโปร่งโล่ง เป็นทิวทัศน์ใหม่ที่สบายตาจริงๆ หากริมคลองทุกคลองในกรุงเทพเป็นแบบนี้ก็คงจะดีไม่น้อย และฉันขอบอกว่าใครที่ชื่นชอบอุปกรณ์เกมส์ ของเล่น โมเดลการ์ตูน ก็ไม่ต้องไปไหนไกล เพราะย่านสะพานเหล็กก็ยังคงเป็นแหล่งขายขึ้นชื่ออยู่เหมือนเดิม ในบรรยากาศใหม่ที่งดงาม
*****
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 48, หรือสาย 21, 40, ปอ.529 , ปอ.542 ลงป้ายคลองถมแล้วเดินมาไม่ไกลมาก
* * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com