สพร. ร่วมกับเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ จัดกิจกรรม Museum Family On Tour รับปิดเทอม ชวนนักเที่ยวตะลุยอาณาจักรโบราณเพชรบุรี - ราชบุรี ย้อนรอยเส้นทางทวารวดีบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ เปิดมิติใหม่แห่งการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น พร้อมจัดกิจกรรมต่อยอดองค์ความรู้ยกระดับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) พร้อมด้วย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี และเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดเพชรบุรี-ราชบุรี ร่วมจัดกิจกรรม “Museum Family On Tour ตอน ย้อนรอยเส้นทางทวารวดี ภาค 1” ภายใต้โครงการ Museum Family ปี 3 นำผู้เข้าร่วมกิจกรรม 40 คน ร่วมเดินทางสู่อาณาจักรโบราณที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการเข้ามาของวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี ได้แก่ วัดมหาธาตุวรวิหาร, อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี, สถูปทุ่งเศรษฐี, เมืองโบราณคูบัว, ถ้ำฤาษีเขางู และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมทวารวดีในสถานที่จริง
นายประชา สุขสบาย นักจัดการความรู้อาวุโส ฝ่ายเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ สพร. เปิดเผยว่า “กิจกรรม Museum Family On Tour ภายใต้โครงการ Museum Family ปี 3 ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยมีการค้นคว้าข้อมูลเรื่องวัฒนธรรมทวารวดีไว้ล่วงหน้า เมื่อได้รับฟังบรรยายจากวิทยากรท่ามกลางโบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ พร้อมศึกษาโบราณวัตถุอย่างใกล้ชิด ยิ่งทำให้บรรยากาศการเรียนรู้ประวัติศาสตร์มีความสนุกสนาน สอดคล้องกับพันธกิจของ สพร. คือการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แบบ Play + Learn = เพลิน อีกทั้งเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ยังเกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วม โดยการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ให้มีความลึกซึ้ง เพื่อตอบข้อสงสัยและสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้มาเรียนรู้ด้วยกระบวนการใหม่ๆ อย่างมีสีสัน ถือเป็นการยกระดับการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น”
ด้าน นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า ทวารวดีคือวัฒนธรรมสำคัญสมัยแรกของดินแดนประเทศไทยที่เข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากอินเดีย การเข้ามาของวัฒนธรรมทวารวดีเมื่อ 1,500 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนเดิมที่เคยนับถือผีเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท โดยพุทธศาสนาได้เข้ามาพร้อมกับตัวอักษร ทำให้บรรพบุรุษบนแผ่นดินสยามประเทศมีตัวอักษรใช้ และยังทำให้เกิดระบบกษัตริย์ที่ส่งผลให้การปกครองเป็นระบบมากขึ้น อีกทั้งร่องรอยของวัฒนธรรมทวารวดีเป็นรากฐานของศิลปวัฒนธรรมไทย ที่ยังมีหลักฐานปรากฏให้เห็นในยุคปัจจุบัน ทั้งโบราณสถานและศิลปวัตถุ ที่มีความงดงามและทรงคุณค่า
“การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทำให้คนไทยยุคปัจจุบันสามารถยึดโยงตนเองกับสถานที่ได้ว่า ตัวตนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะช่วงเวลาหลายพันปีที่ผ่านมาเกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมกันมาเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นเราในยุคปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าคนไทยดำเนินชีวิตอยู่บนความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน หากมีการศึกษาเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรรมที่คนโบราณทิ้งไว้ให้ ก็จะก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ไปสู่สิ่งใหม่ๆ ได้ โดยยังคงรักษารากของความเป็นไทยให้คงอยู่ต่อไป” นายศิริพจน์สรุป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com