สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเส้นทางการท่องเที่ยว “ฤดูที่แตกต่าง บนเส้นทาง Route 12: Relaxing Summer” เส้นทางที่เปิดประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวสามารถได้ท่องเที่ยวได้ทุกฤดู มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมด 321 แห่ง แต่ละฤดูจะมีไฮไลต์ของสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน สำหรับ Relaxing Summer เป็นการท่องเที่ยวบนเส้นทางหลวงหมายเลข 12 ในอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
รศ.ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ได้ศึกษาวิจัยเส้นทางหลวงหมายเลข 1: (พิษณุโลก-หล่มสัก) ในโครงการที่มีชื่อว่า “การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชนตามเส้นทางถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 12” Development path to participatory community along the road. Royal land No. 1: (Phitsanulok- Lomsak): ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้สามารถท่องเที่ยวบนเส้นทางหลวงแห่งนี้ได้ทั้ง 3 ฤดู 321 แห่ง แต่ละฤดูจะมีความพิเศษของสถานที่ท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน
ฤดูร้อนนี้ คณะผู้วิจัยได้เปิดตัวเส้นทางการท่องเที่ยวงานวิจัยดังกล่าวที่มีชื่อว่า “ฤดูที่แตกต่าง บนเส้นทาง Route 12 (Season Change at Route12)” รศ.ดร.จิรวัฒน์ ผู้วิจัยได้ให้คำนิยามว่าเป็นช่วง Relaxing summer มีสถานที่ท่องเที่ยวสั้นๆ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 17 กิโลเมตร เริ่มกันที่ เขาสมอแคลง จากหลักฐานโบราณคดีพบว่า เป็นชุมชนเก่าร่วมสมัยทวารวดี ลพบุรี สุโขทัย และอยุธยา เขาสมอแคลงเป็นภูเขาลูกเดียวพบร่องรอยชุมชนโบราณและวัดโบราณหลายแห่ง มีพระพุทธบาทจำลองตะแคงที่วัดพระพุทธบาทเขาสมอแคลง เป็นรอยพระพุทธบาทติดอยู่ผนังเชิงเขาสมอแคลง ตั้งอยู่บนเชิงเขาทางทิศตะวันออกเขาสมอแคลง ห่างจากพื้นล่างประมาณ 300 เมตร รอยพระพุทธบาทมีขนาดกว้าง 72 เซนติเมตร ยาว 165 เซนติเมตร มีการแกะสลักติดแผ่นหินตะแคง และอยู่บนก้อนหินซ้อนเรียงกันหลายก้อน มีบันไดเพื่อให้ประชาชนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท เมื่อสักการะพระพุทธบาทเขาสมอแคลงแล้ว แวะกินผัดไทยวังทองเป็นอาหารที่นิยมมาก จนเป็นเอกลักษณ์ของอาหารชาววังทอง ร้านผัดไทยแต่ละร้านมีสูตรวิธีปรุงไม่เหมือนกัน หากเดินทางต่อไปที่ทางหลวงหมายเลข 12 สายพิษณุโลก - หล่มสัก มาถึงโรงเรียนบ้านแก่งจูงนาง ประมาณ กม.ที่ 32-33 เลี้ยวขวาเข้าไปยังเส้นทางถนนบ้านแก่งจูนาง-บ้านรักไทย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก อีกประมาณ 15 กิโลเมตร จะพบกับน้ำตกไผ่สีทองมีถึง 9 ชั้น แต่ละชั้นสวยงามหลดหลั่นกันไป จากนั้นแวะสวนทุเรียนหลงรักไทย กินทุเรียนพันธุ์หลง-ลินที่ปลูกในจังหวัดพิษณุโลก
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่กล่าวมา อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะเชื่อมโยงให้กับชุมชนได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว และเป็นต้นแบบให้กับการทำงานวิชาการที่เข้าถึงชุมชนได้เป็นอย่างดี ส่งผลทางเศรษฐกิจภาพรวมของภูมิภาคเป็นอย่างดีในอนาคตอันใกล้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com