โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ฉันเป็นคนที่ชอบชมดอกไม้ เพราะมันสวยงามและทำให้จิตใจเบิกบาน และฉันก็โชคดีตรงที่ว่าในเมืองกรุงนั้นมีสวนสาธารณะต่างๆ มากมาย ที่ฉันสามารถไปชมดอกไม้ได้อย่างเพลินใจ อาทิที่ สวนหลวง ร.9,สวนหลวง ร.8 ,สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และในบางครั้งก็จะมีบางสถานที่ ที่สามารถชมดอกไม้ได้ได้อย่างสวยงามในบางช่วงเวลาอีกด้วย โดยในครั้งนี้ฉันจะเดินทางไปชมทุ่งทานตะวันริมถนนประเสริฐมนูกิจ หรือถนนเกษตร-นวมินทร์ ที่รู้จักกันในชื่อ “ทุ่งทานตะวัน เกษตร -นวมินทร์” หรือ “ทุ่งทานตะวันหลัง โรงเรียนสตรีวิทยา 2”
แต่ก่อนจะไปชมทานตะวันนั้น เรามาทำความรู้จักกับทานตะวันกันก่อนดีกว่า “ทานตะวัน” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Helianthus annuus” เป็นไม้ดอก ที่มีดอกมีสีเหลืองขนาดใหญ่ และเมื่อออกดอกแล้วดอกจะหันไปทางทิศตะวันออกเพื่อทานกับแสงตะวัน ซึ่งคำว่า “ทานตะวัน” ก็แปลว่า การกั้นขวางตะวันหรือต่อต้านกั้นตะวัน ไม้ดอกสีเหลืองใหญ่ชนิดนี้ จึงได้ชื่อว่า “ดอกทานตะวัน”
ต้นทานตะวันนั้นเป็นพืชท้องถิ่นของอเมริกากลาง มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการปลูกดอกทานตะวันในประเทศเม็กซิโกตั้งแต่ประมาณ 2600 ปีก่อนคริสตกาล เข้ามาในประเทศในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยชาวฝรั่งเศสนำมาปลูก ปัจจุบันในประเทศไทยมีการปลูกทานตะวันเป็นท้องทุ่งจำนวนมาก และได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คึกคักที่ใครหลายคนชื่นชอบ
และฉันยังได้รู้ว่าอีกว่า “คนที่ชอบดอกทานตะวัน จะเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองมากและถือดีในความรู้ความสามารถของตนไม่น้อย ชอบพึ่งพาตัวเองมากกว่าคนอื่นเป็นคนตั้งเป้าหมายในชีวิตสูง” ใครที่ชอบดอกทานตะวันจะเป็นแบบที่ในหนังสือเขียนไว้รึเปล่านะ
เมื่อฉันมาถึงก็ได้พบกับทุ่งทานตะวันที่ออกดอกสีเหลืองเบ่งบานอย่างดงามท้าแสงแดด บริเวณด้านหลังโรงเรียนสตรีวิทยา ตั้งเป็นแนวยาวอยู่ริมถนนประเสริฐมนูกิจหรือที่เรียกกันว่าถนนเกษตร -นวมินทร์ บรรยากาศที่ทุ่งทานตะวันนั้นเต็มไปด้วยผู้คนมากมายที่ได้แวะเวียนมาชม มีทั้งมาเป็นคู่ มาคนเดียว มากับเพื่อน แต่ละคนต่างเดินชมกันอย่างเพลิดเพลินและถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก พร้อมยิ้มแฉ่งแข่งกับดอกทานตะวันโพสท่าทางหลากอิริยาบถกันอย่างสนุกสนาน อีกทั้งช่วงนี้ก็เป็นช่วงฤดูหนาว จึงทำให้บรรยากาศในการเดินชมทุ่งทานตะวันไม่ร้อนมากแม้จะอยู่กลางแสงแดดยามกลางวัน
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงได้มีทุ่งทานตะวันมาอยู่กลางกรุงได้อย่างไร ซึ่งฉันได้รู้คำตอบมาว่า ทุ่งทานตะวันแห่งนี้ สำนักงานเขตลาดพร้าวเป็นผู้รับผิดชอบและดูแล โดยได้มีการขอพื้นที่จำนวน 25 ไร่ จาก สำนักงานหมู่บ้านเสนานิเวศน์ บริษัทสยามประชาคาร ที่ได้ยกเลิกโครงการสร้างหมู่บ้านจัดสรรด้วยปัจจัยหลายอย่างและพื้นที่ได้กลายเป็นที่รกร้าง จึงได้มีการนำต้นทานตะวันปลูกเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้พื้นที่รกร้างให้กลายเป็นแหล่งผักผ่อนหย่อนใจกลางกรุงเทพฯ โดยมีการนำต้นทานตะวันมาปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเมล็ดทานตะวันที่นำมาปลูก เป็นเมล็ดพันธุ์ทานตะวันลูกผสมแปซิฟิก (อะควอร่า 6) ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ ทนแดด ทนแล้งและมีดอกใหญ่
และช่วงนี้ทุ่งทานตะวันเกษตร –นวมินทร์ ก็ได้เบ่งบานอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “โครงการทุ่งทานตะวันเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งได้มีการหยอดเมล็ดทานตะวันไว้ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2557 และพื้นที่ดังกล่าวจะมีการพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาชมและศึกษา โดยได้ปลูกทานตะวัน จำนวน 10 ไร่ และจะพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ จำนวน 10 ไร่ ปลูกนาข้าว จำนวน 1 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัวและทำปุ๋ยหมักจากกิ่งไม้ย่อย จำนวน 4 ไร่
และใครที่มาย่านนี้ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้องกันด้วยนะ เพราะที่ละแวกทุ่งทานตะวันบริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ ก็ยังมีร้านอาหารมากมายให้ได้ลองลิ้มชิมรส หลังจากหมดพลังไปกับการโพสท่าถ่ายรูปกับดอกทานตะวันกันอีกด้วย
(คลิกติดตามเรื่องกินใกล้ๆ “ทุ่งทานตะวัน เกษตร –นวมินทร์” ได้ที่ลิงค์นี้)
ฉันขอแอบกระซิบว่า ใครที่จะมาชมทุ่งทานตะวันก็รีบกันหน่อยเพราะดอกทานตะวันนั้นจะเบ่งบานให้ชมอยู่ได้ไม่นาน ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงปลายสัปดาห์หน้า แต่อย่าได้รอช้า รีบๆ มายิ้มแฉ่งแข่งทานตะวันกัน ถ่ายรูปอัพลงโลกโซเชียลเรียกคะแนนไลค์ได้ไม่น้อยทีเดียว แต่ถ้าหากพลาดการบานของดอกทานตะวันในครั้งนี้ ก็ต้องรอไปถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการปลูกทานตะวันให้ได้ชมกันอีกครั้ง
******************************************************************************************************************************************************************
“ทุ่งทานตะวัน เกษตร -นวมิทร์” ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร -นวมินทร์) ระหว่างแยกซอยเสนานิเวศน์และแยกสุคนธสวัสดิ์
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 178,156
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com