xs
xsm
sm
md
lg

ปั่นเที่ยวชมสวนเเบบมีสไตล์ ไม่ไร้สาระ ณ บ้านบางพลับ จ.สมุทรสงคราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศร่มรื่น ระหว่างทางปั่นจักรยานชมสวน ท่องฐานการเรียนรู้
“สมุทรสงคราม” จัดว่าเป็นจังหวัดเล็กๆ ใกล้กรุงเทพฯ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายให้ได้เลือกไปเยี่ยมเยือน และในครั้งนี้ฉันและเพื่อนๆ ชักชวนกันมาเที่ยวที่ “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบางพลับ” ที่ตั้งอยู่บ้านบางพลับ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จ.สมุทรสงคราม ซึ่งที่นี่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และได้รับการสนับสนุนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ชวนให้มาเที่ยวกัน

พวกเราเริ่มต้นการเที่ยวในทริปนี้ ด้วยการมาติดต่อที่ “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบางพลับ” มีคุณสมทรง แสงตะวัน เป็นผู้ออกมาต้อนรับแบบยิ้มแย้มแจ่มใส โดยคุณลุงสมทรงนั้น เป็นเกษตรกรและคุณครูประจำศูนย์การเรียนรู้ และเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ อีกทั้งคุณลุงยังเคยได้รับรางวัลครูภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรกรรมรุ่นที่ 2 ประจำปี 2545 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ อีกด้วย
“คุณสมทรง แสงตะวัน” ผู้นำเที่ยวตะลอนชมสวน
ก่อนอื่นคุณลุงสมทรงเล่าถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ให้พวกเราฟังว่า ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างอาชีพให้คนในชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะมีฐานในการเรียนรู้ ตั้งอยู่ตามบ้านของสมาชิกของศูนย์เรียนรู้ฯ ในพื้นที่ละแวกบ้านบางพลับให้เราได้ไปเยี่ยมชม

หลังจากนั้น คุณลุงสมทรงก็พาพวกเราไปเลือกจักรยานที่จะเป็นพาหนะคู่ใจ สำหรับการตะลอนเพื่อไปเยี่ยมชมยังฐานการเรียนรู้ต่างๆ ระหว่างทางที่ปั่นจักรยานไปยังฐานการเรียนรู้นั้น บรรยากาศสองข้างทางช่างร่มรื่น มีสวนต่างๆ มากมายให้ได้ชม อาทิ สวนมะพร้าว สวนกล้วย สวนลิ้นจี่ สวนส้มโอ ทำให้ฉันและเพื่อนๆ เพลิดเพลินเป็นอย่างมาก
มะพร้าวน้ำหอมปอกให้ดื่มน้ำชื่นใจกันสดๆ
เมื่อปั่นจักรยานกินลมชมวิวได้สักพัก ก็มาถึงศูนย์การเรียนรู้แห่งแรก แม้ระยะทางจะไม่ไกลมาก แต่ก็ทำให้ฉันกับเพื่อนๆ มีอาการหอบกันเล็กน้อย แต่ความรู้สึกเหนื่อยก็หายไปทันที เมื่อได้ลองลิ้มชิมรส มะพร้าวน้ำหอมหวานเย็นชื่นใจ ที่คุณลุงสมทรงและเพื่อนๆ เตรียมไว้ให้
“มะพร้าวน้ำหอม” หอมเย็นชื่นใจ
สำหรับมะพร้าวน้ำหอมที่เราได้ดื่มไปนั้น ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน อีกทั้งประเทศไทยก็เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญติดอันดับต้นๆ ของโลก และมีจุดเด่นเรื่องกลิ่นหอมมากกว่ามะพร้าวของประเทศอื่นๆ อีกทั้งจังหวัดสมุทรสงครามยังถือได้ว่า เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่ขึ้นชื่ออีกด้วย
 “คุณลุงสมพร เกตุแก้ว” ณ “บ้านพญาซอ”
หลังจากดื่มน้ำมะพร้าวกันแล้ว ฉันและเพื่อนๆ ก็เข้าไปฐานศูนย์การเรียนรู้แห่งแรกที่ “บ้านพญาซอ” โดยเป็นบ้านของคุณลุงสมพร เกตุแก้ว ซึ่งเป็นช่างทำซออู้ ที่มีประสบการณ์การทำซอมายาวนานกว่า 20 ปี โดยมีเอกลักษณ์เด่นคือ การแกะสลักซอให้เป็นลวดลายที่งดงาม
มะพร้าวซอและอุปกรณ์ในการแกะสลักและทำซอ
คุณลุงสมพรเล่าถึงวิธีการทำซอให้ฟังว่า “จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแหล่ง “มะพร้าวซอ” หรือมะพร้าวที่เป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว การทำซอจะเลือกผลมะพร้าวที่ได้รูปทรงที่ดีที่สุด มาคัดแล้วนำมาแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายตัวละคร ลายพุดตาน ลายเทพเทวดา อย่างประณีต แล้วนำมาขึงหนังปิดกะลา และขึงสายให้เรียบร้อย” ซึ่งแต่ละลวดลายที่ฉันได้เห็นนั้นงดงามสมคำร่ำลือจริงๆ
 “พี่สถาพร ตะวันขึ้น” ฐานการเรียนรู้ “บ้านฅนเอาถ่าน”
เสร็จจากการเยี่ยมชมบ้านพญาซอเเล้ว ฉันเเละเพื่อนๆ ก็ปั่นจักรยานเพื่อไปชม ฐานการเรียนรู้ต่อไปที่ฐาน "บ้านฅนเอาถ่าน" โดยมีพี่สถาพร ตะวันขึ้น ให้การต้อนรับ และพาพวกเราไปเรียนรู้วิธีการทำถ่านที่ไม่ธรรมดา คุณพี่สถาพรเล่าให้ฟังว่า “เป็นที่รู้กันดีว่าถ่านสามารถนำมาใช้ดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ จึงได้คิดค้นวิธีการทำถ่านให้ออกมามีรูปลักษณ์ที่สวยงามเหมาะแก่การนำไปใช้ โดยมีการนำผลไม้ชนิดต่างๆ ที่หาได้ไม่ยากจากสวนต่างๆ ในละแวกบ้านบางพลับมาเผาเป็นถ่าน เเละรูปลักษณ์ของผลไม้ที่นำมาเผานั้นก็ยังคงรูปเดิม อีกทั้งยังสวยงามกว่าถ่านท่อนไม้ธรรมดาๆ เหมาะที่จะนำไปใช้งานมากกว่า” เมื่อฉันรับรู้เเล้วก็คิดว่า ช่างเป็นภูมิปัญญาที่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้อย่างมากมาย
“เนื้อส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่” สีเหลืองน้ำผึ้ง รสชาติหวานนุ่ม
หลังจากนั้น ฉันและเพื่อนๆ ก็ปั่นจักรยานลัดเลาะริมสวนมาเรื่อยๆ เเละเเวะเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ “ส้มโอปลอดสารพิษ” โดยเป็นสวนส้มโอของคุณลุงสมทรง ลุงบอกกับพวกเราว่า “สวนแห่งนี้ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ เป็นส้มโอไร้เมล็ด ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี โดยจะใช้ขี้แดดนาเกลือแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งขี้แดดนาเกลือนั้นเป็นสาหร่ายตะไคร่น้ำที่จับตัวกันเป็นแผ่นในนาเกลือ และตกตะกอนแห้งสนิทในนาเกลือ โดยในขี้แดดนาเกลือมีคุณสมบัติทางเคมี มีธาตุอาหารฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ผลที่ได้จึงทำให้ส้มโอเปลือกบาง เนื้อส้มโอมีสีเหลืองออกน้ำผึ้ง มีรสชาติหวานนุ่ม” ฉันและเพื่อนๆ ได้ลองชิมแล้ว รสชาติก็หวานอร่อย เหมือนที่คุณลุงบอกไว้จริงๆ
 “คุณลุงสมทรง” เก็บน้ำตาลมะพร้าวให้ชม
เมื่อได้ชิมส้มโอกันจนอิ่มท้องเเล้ว คุณลุงสมทรงก็พาฉันเเละเพื่อนๆ ปั่นจักรยานไปชม “สวนมะพร้าวน้ำตาล” โดยคุณลุงสมทรง ได้สาธิตวิธีการปาดน้ำตาลมะพร้าวสดๆ จากต้นให้ได้ชมกันด้วย ซึ่งทำเอาฉันกับเพื่อนๆ รู้สึกตื่นเต้น เพราะได้เห็น “จั่นมะพร้าว” หรือ “ช่อดอกมะพร้าว” ที่มีน้ำตาลมะพร้าวไหลออกมา
“จั่นมะพร้าว” หรือ “ช่อดอกมะพร้าว”
สำหรับวิธีการเก็บน้ำตาลมะพร้าวนั้นก็ไม่ยากเลย เพียงแค่ตัดบริเวณปลายจั่นมะพร้าว และนำกระบอกไปรองรับน้ำตาลที่ไหลออกมา ก็จะได้น้ำตาลมะพร้าวสดๆ จากต้น หลังจากจะนำเอาไปแปรรูปเป็นน้ำตาลมะพร้าวเเละนำมาจำหน่าย
ผลไม้แช่อิ่มน่าลิ้มลอง ที่ฐานการเรียนรู้  “ผลไม้กลับชาติ”
ขณะปั่นจักรยานเพื่อไปฐานการเรียนรู้ถัดไป ฉันคิดในใจว่า วันนี้ช่างเป็นวันเเห่งความหวานสำหรับฉันจริงๆ เพราะฐานต่อไปฉันก็ต้องไปลองลิ้มชิมรสความหวานของผลไม้เเช่อิ่ม ที่ฐานการเรียนรู้ “ผลไม้กลับชาติ” ที่ฐานเเห่งนี้มีผลไม้เเช่อิ่มจำหน่าย ที่มีไฮไลต์พิเศษคือ การนำผลไม้รสฝาดและขม มาทำให้มีรสหวานโดยไม่เสียสรรพคุณ เช่น บอระเพ็ดที่มีรสขม ใครๆ ก็ไม่กล้าชิม แต่ที่ฐานแห่งนี้กลับเปลี่ยนรสชาติให้บอระเพ็ดมีรสชาติหวานได้ ด้วยการนำมาแช่อิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์อย่างมาก และยังมีผลไม้ชนิดอื่นๆ อาทิ มะระขี้นก พริก กระชาย มะนาว ให้ได้ชิมเเละร่วมพิสูจน์กัน
 “คุณลุงอุดม มีคง” ผู้สืบสานภูมิปัญญาการทำ “ว่าวจุฬาไทย”
ในที่สุดฉันเเละเพื่อนๆ ก็ปั่นจักรยานมาถึงฐานสุดท้าย “บ้านว่าวจุฬา” ที่ฐานแห่งนี้ฉันได้ชมวิธีการทำว่าวจุฬาไทย จากคุณลุงอุดม มีคง ผู้ซึ่งสืบสานภูมิปัญญาการทำว่าวจุฬาไทย ฉันได้ดูวิธีทำว่าวเเล้วดูเหมือนเรียบง่าย แต่ความเป็นจริงเเล้วต้องมีความประณีตทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเลือกไม้ไผ่ การขึ้นโครงและการติดกระดาษ ทุกขึ้นตอนล้วนเเล้วเเต่มีความสำคัญต่อการจะทำให้ว่าวขึ้นลมได้ ฉันจึงทึ่งในความอดทนเเละความประณีตของคุณลุงเสียจริง
บรรยากาศ “ประเพณีตักบาตรขนมครก”
เฉันยังรู้มาว่า ที่บ้านบางพลับ อำเภอบางคนทีแห่งนี้ ยังมีการสืบทอดประเพณี “ตักบาตรขนมครก” ที่จะจัดขึ้นที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยเป็นประเพณีที่สืบสานกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 เเละในปัจจุบันก็ยังเป็นประเพณีที่มีอยู่หนึ่งเดียวในประเทศไทยอีกด้วย ฉันจึงคิดว่าในปีหน้า ฉันจะมาร่วมงานตักบาตรขนมครกสักครั้งในชีวิต

สำหรับการมาเที่ยวของฉันและเพื่อนๆ ในครั้งนี้ นับได้ว่าคุ้มค่ามากๆ เพราะได้ทั้งท่องเที่ยว ได้ชิมผลไม้นานาชนิด อีกทั้งยังได้เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นับวันยิ่งจะเลือนหายไป และฉันก็ภูมิใจที่ยังมีคุณลุงสมทรงและสมาชิกศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ยังสืบทอดภูมิปัญาอันทรงคุณค่าเหล่านี้ ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบางพลับ” จึงถือเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ที่ใครหลายคนไม่ควรพลาด

**********************************************************************************

สอบถามรายละเอียดได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสมุทรสงคราม โทร.0-3475-2847 หรือสายด่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 1672
 
กำลังโหลดความคิดเห็น