“หัวหิน”แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก หลายคนมุ่งหน้ามาหัวหินเพื่อมาเที่ยวพักผ่อน สัมผัสกับสายลม แสงแดด แต่ใครจะรู้ว่าเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ยังคงมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีโบราณของชุมชนชาวประมงซ่อนไว้อีกด้วย
ซึ่งงานประเพณีที่ว่านั้นก็คืองาน “ทำบุญ แห่เรือ ส่งเคราะห์ทางทะเล” เป็นส่วนหนึ่งของงานทำบุญประจำปีศาลเจ้าแม่ทับทิมและงานพิธีส่งเคราะห์ทางทะเล ที่ชาวหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำสืบทอดต่อกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน โดยเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุคลที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงเจ้ากรรมนายเวร และวิญญาณเร่ร่อนที่ชาวประมงมักพบเห็นเมื่อออกเรือไปในทะเล อีกทั้งยังเป็นการทำบุญลอยเคราะห์ให้กับตนเองและครอบครัวผ่านประเพณีนี้
คุณนันทพล จิรลภัสปรีดา หรือลุงน้อย เจ้าของร้านอาหารชาวเลซีฟู้ด หัวหิน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะจัดงานเล่าให้ฟังถึงประเพณีนี้ว่า เป็นงานเดือนสิบที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ อาทิตย์ สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ของทุกปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 27-28 กันยายนที่ผ่านมา โดยในวันเสาร์ที่ 27 กันยายนที่ผ่านมามีการแห่เรือส่งเคราะห์ไปรอบเมืองหัวหิน และวันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน เป็นพิธีทำบุญศาลเจ้าแม่ทับทิมและทำพิธีปล่อยเรือส่งเคราะห์ลงทะเล
ประเพณีลอยเรือส่งเคราะห์เป็นประเพณีที่ชาวเลอำเภอหัวหินทำสืบทอดต่อกันมายาวนานตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า จนตอนนี้มาถึงรุ่นหลานแล้ว ในสมัยก่อนมักเล่ากันว่าชาวประมงที่ออกเรือไปมักพบเห็นวิญญาณกลางทะเล ชาวบ้านเชื่อว่าอาจเป็นวิญญาณของบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วที่ผู้คนนำมาลอยอังคารในทะเล แล้วไม่ทำบุญให้ ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันทำประเพณีนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการทำบุญให้กับคนตาย รวมไปถึงทำบุญสะเดาะเคราะห์ให้กับคนเป็น ก็คือญาติพี่น้องและคนในครอบครัว รวมไปกับงานทำบุญประจำปีศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวเล
ลุงน้อยยังบอกอีกว่า “เหตุที่ต้องจัดงานรวมเข้ากับงานทำบุญประจำปีศาลเจ้าแม่ทับทิมก็เพราะว่า เจ้าแม่เป็นที่พี่งของคนทะเล จะเห็นได้จากพัทยาก็มีเขาสามมุกมีเจ้าแม่ทับทิม ปราณบุรีก็มีเจ้าแม่ทับทิม และหัวหินก็มีเจ้าแม่ทับทิม ที่คอยปกป้องคุ้มครองชาวเล ดังนั้นชาวเลจะให้ความเคารพนับถือมาก เราจึงได้รวมงานนี้เข้าเป็นงานเดียวกันเพื่อให้เป็นงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์กับหัวหิน”
“ในพิธีส่งเคราะห์นั้น เราจะส่งตุ๊กตาเป็นตัวแทนแล้วนำลงเรือ โดยจะนำตุ๊กตาส่งเคราะห์เขียนชื่อบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ หรือเขียนชื่อตนเอง และคนในครอบครัวติดไปกับตุ๊กตาแล้วนำไปใส่ในเรือ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าถ้าเขียนชื่อตนเองหรือบุคคลในครอบครัวติดไปกับตุ๊กตาที่จะนำไปลอย จะช่วยลอยความทุกข์ ความโศก สิ่งไม่ดีออกไปได้ ซึ่งตุ๊กตาส่งเคราะห์จะเป็นตุ๊กตาชาย-หญิง ถ้าผู้หญิงทำบุญก็ให้เขียนชื่อติดไปกับตุ๊กตาผู้หญิง แต่ถ้าเป็นผู้ชายก็ให้เขียนไปกับตุ๊กตาผู้ชาย”
สำหรับตุ๊กตาส่งเคราะห์นั้นจะเป็นตุ๊กตาปั้น ในสมัยก่อนจะใช้ตุ๊กตาที่ปั้นขึ้นจากดินเหนียว เพราะสมัยนั้นดินเหนียวหาง่าย พอนำไปส่งเคราะห์แล้วดินเหนียวก็จะละลายหายไปกับน้ำทะเล ต่อมาดินเหนียวหายากขึ้นเราก็ใช้ใช้ตุ๊กตาเป็นพลาสติกมาแทน แต่เมื่อนำไปลงนำแล้วตุ๊กตาลอยขึ้นมาแล้วกลับเข้าฝั่ง ก็ทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแล้วสกปรก แต่ปัจจุบันได้มีการรณรงค์ไม่ใช้ตุ๊กตาพลาสติก เราก็ได้ทำพิมพ์ตุ๊กตาขึ้นมา แล้วใช้ปูนปลาสเตอร์มาทำเป็นตุ๊กตาส่งเคราะห์แทน เพราะเวลานำไปส่งเคราะห์ปูนปลาสเตอร์ก็จะละลายหายไปกับน้ำทะเล ไม่ก่อให้เกิดสิ่งสกปรก
เมื่อชาวบ้านเขียนชื่อบนตุ๊กตาแล้ว ก็จะนำตุ๊กตาส่งเคราะห์ไปใส่ไว้ในเรือที่ถูกประดับประดาอย่างสวยงามไว้แล้ว โดยเรือจะเป็นเรือไม้ที่ชาวบ้านไม่ใช้แล้ว หรือเป็นเรือที่ทำขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในงานนี้ นำมาทาสีตกแต่งด้วยอุปกรณ์ต่างๆ อย่างสวยงาม โดยในวันงานจะมีการนำเรือลงไปรอที่ท่าน้ำ จากนั้นชาวบ้านจะร่วมกันนำอาหารมาทำบุญที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม เมื่อได้เวลาก็นิมนต์พระมาทำบุญศาลเจ้าแม่ทับทิม และสวดบทอุทิศส่วนกุศลต่างๆ ให้กับงานลอยเรือส่งเคราะห์
สิ้นบทสวดชาวบ้านนับร้อยจะแห่กันลงไปชายหาด เพื่อช่วยกันเข็นเรือที่บรรทุกตุ๊กตาส่งเคราะห์เต็มลำออกไปในทะเล ซึ่งการที่ชาวบ้านช่วนกันเข็นเรือออกไปนั้น เรียกว่า “ส่งเคราะห์” ให้ออกไปในทะเล จากนั้นจะมีเรือลากเรือส่งเคราะห์ออกไปให้ห่างจากฝั่ง ซึ่งชาวประมงจะดูระยะให้ไกลจากฝั่งพอสมควร จากนั้นจึงจมเรือลงไปใต้ทะเล
ซึ่งสาเหตุที่ต้องนำเรือส่งเคราะห์ไปจมให้ไกลจากฝั่งนั้นก็เพราะว่าถ้าจมเรือในระยะที่ใกล้ฝั่ง ในช่วงหน้ามรสุม หรือช่วงมีพายุ เรือที่จมไปก็จะลอยเข้าฝั่งทำให้เกิดสิ่งสกปรก และชาวบ้านมีความเชื่ออีกด้วยว่าถ้าลอยเอาสิ่งไม่ดีออกไปแล้ว ก็ไม่ควรเอากลับเข้ามา แต่หากนำเรือลอยในระยะที่ไกลจากฝั่ง เวลามีลมหรือพายุ เรือก็จะไม่สามารถลอยกลับเข้ามาในฝั่งได้ ส่วนเรือที่จมลงไปในทะเลนั้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งสกปรกแก่ท้องทะเล เพราะต่อไปซากเรือเหล่านั้นก็สามารถเป็นปะการังเทียมให้กับฝูงปลาได้ ส่วนตุ๊กตาก็จะละลายหายไปกับน้ำทะเล
งาน “ทำบุญ แห่เรือ ส่งเคราะห์ทางทะเล” แม้จะเป็นงานประเพณีเล็กๆ ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนงานประเพณีในที่อื่นๆ แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งงานที่น่าสนใจ และไม่น่าเชื่อว่าในเมืองตากอากาศชื่อดังอย่างหัวหินจะยังคงมีประเพณีเล็กๆ ที่สืบทอดความเชื่อของชาวเลที่ส่งต่อกันมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงถือเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของหัวหินที่น่าประทับใจไม่น้อยกว่าแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ โทร.0-3251-3885 หรือ 0-3251-3871
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com