ประเทศไทยของเรานั้น เป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรมและประเพณีที่มีอยู่อย่างมากมายและหลากหลาย โดยแต่ละประเพณีนั้นก็ต่างมีความงดงามของขนบธรรมเนียมและพิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป และบางประเพณีก็ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะและไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ประเพณีบวชนาคช้าง” ประเพณีพื้นบ้านอันขึ้นชื่อของจังหวัดสุรินทร์
“ประเพณีบวชนาคช้าง” นับเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่มีเอกลักษณ์ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ประเพณีบวชนาคช้างนั้นเป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวกูย หรือ ชาวกวย ซึ่งเป็นชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้าง ที่ได้สืบทอดวิถีชีวิตจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี และที่บ้านตากลางแห่งนี้ก็เป็นที่รู้จักของผู้คนในชื่อ “หมู่บ้านช้าง” นั่นเอง
การบวชนาคช้างนั้นไม่ได้เป็นการนำช้างมาบวช แต่เป็นการบวชของผู้ชายในหมู่บ้าน เพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ และเข้าไปศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนา โดยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการมีช้างเข้ามาร่วมในพิธีปฏิบัติด้วย ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาวกูย ที่มีความเกี่ยวข้องกับช้างมาตั้งแต่โบราณ อีกทั้งยังมีขั้นตอนในการดำเนินพิธีที่แตกต่าง ซึ่งสามารถเห็นได้แค่ที่บ้านตากลางแห่งเดียวเท่านั้น
ประเพณีบวชนาคช้างจะถูกจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 13-15 ค่ำเดือน 6 ของทุกๆ ปี เมื่อหนุ่มชาวกูยทุกๆ คนที่ออกไปทำงานต่างถิ่นต่างแดนได้มีอายุครบบวช ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ต้องเดินทางกลับมาบ้านเกิดเพื่อเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวกูยแล้ว หากลูกหลานคนใดต้องการจะบวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ก็ต้องกลับมาบวชที่บ้านตากลางแห่งนี้เท่านั้น หากบวชที่อื่นก็ไม่ถือว่าการบวชนั้นสำเร็จ ประเพณีนี้จึงเป็นประเพณีสำคัญของทุกๆ คนในหมู่บ้าน เป็นพิธีอุปสมบทหมู่ที่งดงามอย่างมีเอกลักษณ์
ในวันแรกนั้นจะมีการทำพิธีปลงผมนาค หลังจากนั้นก็จะเป็นการทำพิธีทำขวัญ โดย คุณนันทวัช ศาลางาม เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ สาขาบ้านตากลาง เล่าให้ฟังว่า
“เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของนาคตามแบบประเพณีบวชนาคช้างของชาวกูยที่มีมาแต่โบราณนั้น จะเน้นให้มีสีสันสดใส จะเว้นอยู่สีเดียวคือสีดำ และเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแต่ละชิ้นนั้นก็ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งและแตกต่างกันออกไปอีก ”
นาคจะต้องแต่งหน้าทาปาก นุ่งโสร่งสวมเสื้อขาวสว่าง คลุมผ้าสี และสวมกระโจมนาคหรือชฎานาค ซึ่งแต่ละชิ้นนั้นก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป อาทิ “ผ้าหลากสี” เปรียบดังแสงรุ้ง 7 สีของผู้มีบุญวาสนา “เสื้อสีขาวสว่าง” คือการไม่หมกมุ่นในที่มืด
และ “กระโจมนาค” หรือ “ชฎานาค” ที่ทำจากไม้ไผ่และตกแต่งด้วยกระดาษสี ห้อยนุ่นไว้ด้านข้างนั้น มีความหมายว่า ยอดที่แหลมเปรียบดั่งสมองอันหลักแหลมในการศึกษาพระธรรม กระดาษสีเปรียบดั่งความเปลี่ยนแปลงของแสงสี ไม่ให้เราหลงละเลิงไปกับมันเพราะทุกอย่างมีทั้งดีและไม่ดี มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และ “นุ่น” ที่ห้อยไว้ด้านข้างของกระโจมนาค ถูกใช้แทนต่างหู เปรียบได้ว่าอย่าได้เป็นคนหูเบา อีกทั้งยังมีเครื่องประดับอื่นๆ อีกเช่น สังวาล, ตรึม, กำไล (เครื่องประดับโบราณ) ซึ่งปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นได้สูญหายไปหมดแล้ว จึงมีการใส่สร้อยทองแทน
เสร็จจากแต่งกายแล้วนาคก็จะเข้าสู่ “ปะรำทำขวัญนาค” ซึ่งนาคแต่ละคนนั้นก็จะต้องมีนาคเพื่อนที่เข้าอุปสมบทพร้อมกันมาเข้าพิธีทำขวัญด้วย และจะมีแต่นาคเจ้าภาพเท่านั้นที่สวมกระโจมนาคเข้าพิธีทำขวัญ หลังจากเสร็จพิธีสู่ขวัญนาค นาคเจ้าภาพก็จะต้องไปเข้าพิธีสู่ขวัญนาคของเพื่อนนาคด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณของชาวกูย
ในส่วนของปะรำทำขวัญนาค ก็จะมีบายศรี กรวยบวงสรวงเจ้าที่ เครื่องบวงสรวงต่างๆ เช่น ข้าวต้มมัด 8 คู่ ไก่ต้ม เหล้า เป็นต้น ซึ่งในขณะประกอบพิธีทำขวัญนาคนั้น นาคเจ้าภาพและนาคเพื่อน จะต้องถือเคียวและเต้าปูนไว้ตลอดพิธีสู่ขวัญด้วย ซึ่งเคียวมีความหมายคือ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเต้าปูน คือความหนักแน่น อีกทั้งบาตรก็จะมีการตกแต่งให้เป็นรูปม้า ซึ่งจะหมายถึง ม้ากัณฐกะ พาหนะที่สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงใช้เดินทางไปแม่น้ำอโนมานและทรงปลงผมที่แม่น้ำแห่งนั้น
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีทำขวัญนาคแล้ว ก็จะเข้าสู่พิธีการที่มีความเกี่ยวข้องกับช้างในวันที่ 2 โดยช้างแต่ละเชือกนั้นก็จะถูกควาญช้างตกแต่งลวดลายลงบนผิวหนังอย่างสวยงามด้วยปูนขาวและขมิ้น แต่ในปัจจุบันก็มีการนำชอล์กสีมาวาดลวดลายด้วยเช่นกัน หลังจากถูกแต่งแต้มจนออกมาสวยงามจนแล้วเสร็จ ควาญช้างก็จะนำช้างไปรับนาคที่บ้าน
ก่อนนาคขึ้นสู่หลังช้างก็ต้องมีการทำพิธีคารวะพ่อแม่และช้าง ซึ่งในการขึ้นช้างไปประกอบพิธีนั้นชาวกูยมีความเชื่อว่า การบวชนั้นถือเป็นการเดินทางเข้าสู่ทางธรรม ก็จะมีเหล่ามารมาผจญอาจทำให้เกิดอันตรายได้ขณะเดินทางไปทำพิธีอุปสมบท ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์มงคลและเป็นสัตว์ใหญ่หากขึ้นหลังช้างแล้วก็จะไม่มีอันตรายใดๆ มากล้ำกราย
เมื่อครั้งอดีต ชาวกูยทั้งหมู่บ้านจะพร้อมใจกันแห่นาคช้าง ไปประกอบพิธีอุปสมบทที่ดอนบวชอันเป็นเกาะกลางแม่น้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่เรียกว่าวังทะลุ เป็นจุดที่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกัน โดยจะใช้พื้นที่ในจุดนี้ทำพิธีอุปสมบทนาคแทนโบสถ์ เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีโบสถ์ จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า ”สิมน้ำ” แต่ในปัจจุบันจะประกอบพิธีอุปสมบทเป็นภิกษุ ที่พระอุโบสถวัดแจ้งสว่าง บ้านตากลาง
โดยนาคแต่ละคนนั้นจะขึ้นช้างที่บ้าน และแห่นาคไปพร้อมขบวนแห่ของครอบครัว และไปฉันเพลร่วมกันที่วัดแจ้งสว่าง หลังเสร็จจากการฉันเพลก็จะไปรวมกันที่ศูนย์คชศึกษา อันเป็นที่ตั้งของ "ศาลปะกำ" ศาลศักดิ์สิทธิ์ของชาวกูย เพื่อที่จะประกอบพิธีบวงสรวงบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยจะมีหมอช้างเป็นผู้นำในการประกอบพิธี ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ที่เล่าไว้ว่าหากชาวกูยจะประกอบพิธีใดๆ ก็จะต้องมาบวงสรวงศาลปะกำให้พิธีดังกล่าวสำเร็จลุล่วง หากไม่บวงสรวงก็จะเกิดอาเพศ
เสร็จจากการบวงสรวงศาลประกำแล้ว ก็จะเป็นการจัดขบวนแห่นาคช้างไปประกอบพิธีที่ดอนบวช โดยจะมีหมอช้างเป็นผู้นำในการบวงสรวงศาลปู่ตา ซึ่งพ่อแม่นาค นาค ช้าง และชาวบ้านจะไปรวมกันที่ดอนบวชแห่งนี้ โดยในปัจจุบันการประกอบพิธีที่บริเวณดอนบวช คือการไปบวงสรวงศาลปู่ตาเพื่อเป็นการบอกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจะกลับไปประกอบพิธีอุปสมบทที่โบสถ์วัดแจ้งสว่าง
ไฮไลต์เด่นของประเพณีบวชนาคช้างนั้น คือช่วงเวลาของการแห่นาคช้าง เพราะถือได้ว่าเป็นพิธีการที่ยิ่งใหญ่ โดยจะเริ่มต้นขบวนแห่กันที่ศูนย์คชศึกษา ขบวนนาคช้างจะประกอบไปด้วยช้างมากมายที่เป็นพาหนะสำหรับพระสงฆ์และนาคทุกคนของหมู่บ้าน โดยมีเหล่าญาติพี่น้องเพื่อนพ้องของนาคก็จะมาร่วมขบวนแห่ด้วยเช่นกัน ตลอดสองข้างทางจะทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวทุกคน มารอดูรอชมขบวนและรอเก็บเหรียญโปรยทานที่นาคจะโปรยลงมาจากหลังช้าง โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ตั้งหน้าตั้งตารอเก็บเหรียญโปรยทาน
อีกทั้งยังมีดนตรีบรรเลงเพลงตลอดระยะทางในการแห่ขบวนบวชนาคช้าง ซึ่งจะมีผู้คนมากม่ายมาเต้นมาฟ้อนนับได้ว่าเป็นบรรยากาศคึกคักน่าชม และแม้อากาศจะร้อนแค่ไหน ชาวบ้านทุกๆ คนก็ยังคงมีแต่รอยยิ้มของความสุขที่ได้ร่วมงานบุญ และความมุ่งมั่นอันเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่จะร่วมขบวนแห่ในครั้งนี้ เพื่อเดินทางไปยังดอนบวชซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านตากลางไปประมาณ 4 กิโลเมตร
นับได้ว่าประเพณีบวชนาคช้างนั้น เป็นประเพณีที่มีทั้งความสวยงามและยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถชมได้ที่ไหน โดยเฉพาะในช่วงเวลาของขบวนแห่ที่ต้องมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้งหนึ่ง และคู่ควรกับการอนุรักษ์รักษาไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นประเพณีพื้นบ้านอันงดงามที่บรรพบุรุษสร้างไว้
**********************************************************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบ จ.สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ) โทร.0-4451-4447-8
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com